สมุดไทย สมุดฝรั่ง ต่างมาพบกันที่..??

ในยุคที่เรายังไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นตัวหนังสือนั้น มนุษย์ใช้วิธีการเล่าเรื่องราวด้วยวิธีจากปากต่อปากสืบต่อๆกันมา หรือเรียกว่า “มุขปาฐะ” จนกระทั่งริเริ่มคิดประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ แล้วหาวิธีการและวัสดุที่จะนำมาใช้ในการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เริ่มตั้งแต่จารึกไว้บนแผ่นหิน แผ่นไม้ ใบไม้จนพัฒนามาเป็นกระดาษที่ใช้กันทุกวันนี้
สำหรับของไทยเรานั้นก็เริ่มจากศิลาจารึกในยุคของพ่อขุุนรามคำแหงในสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยาก็เริ่มมีการจารึกลงใบลานและสมุดข่อย ซึ่งเป็นกระดาษที่ทำจากต้นข่อย ทำเป็นแผ่นยาวๆหน้าแคบ แล้วพับทบไปมาคล้ายผ้าจีบแล้วจารึกเรื่่องราวต่างๆด้วยลายมือเขียน เรื่่องที่จารึกนั้นมีทั้งพงศาวดาร ตำรายา คาถา บทสวดต่างๆ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน วรรณกรรม  เป็นต้น ซึ่งเราเรียกว่า สมุดข่อย หรือ “สมุดไทย” การเก็บรักษาก็จะมีห้องที่ใช้เก็บสมุดเหล่านี้เรียกว่า หอสมุด หรือ ห้องสมุด จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 เราเริ่มรับเทคโนโลยีการพิมพ์และกระดาษจากชาติตะวันตกเข้ามา โดยมีชาวต่างชาติได้หล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นพร้อมแท่นพิมพ์ แต่เป็นการพิมพ์เผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์เข้ามาก่อนโดยนักสอนศาสนาหรือคณะมิชชันนารี จนต่อมามีโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์เกิดขึ้น เริ่มจากการรับจ้างพิมพ์ประกาศของราชการและการออกหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ ภายหลังได้ลดบทบาทการออกหนังสือพิมพ์ และหันไปพิมพ์หนังสือที่เป็นความรู้และวรรณกรรมแทน โดยการนำเอกสารดั้งเดิมที่เป็นสมุดข่อยหรือสมุดไทย นำมาพิมพ์เป็นเล่มด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยในยุคนั้น จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง เพื่อให้ต่างจากสมุดไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้ เรามีโรงพิมพ์ของชาวต่างชาติที่พิมพ์หนังสือภาษาไทยออกมาเผยแพร่และจัดจำหน่ายที่มีชื่อเสียง 2 แห่งคือ โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ที่จะพิมพ์หนังสือประเภทร้อยแก้ว เช่น ตำราการศึกษาต่างๆ หนังสือแปล เช่นพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ซึ่งมีคนนิยมอ่านมาก และโรงพิมพ์นี้ยังเป็นผู้จัดพิมพ์ อักขราภิธานศรับท์ หรือ Dictionary of the Siamese Language ซึ่งถือเป็นพจนานุกรมเล่มแรกของไทย  ส่วนโรงพิมพ์อีกแห่งหนึ่งคือ โรงพิมพ์หมอสมิธ จะพิมพ์วรรณกรรมร้อยกรองเป็นหลัก และเล่มที่โด่งดังที่สุดก็คือเรื่อง พระอภัยมณี ของสุนทรภู่
ย้อนกลับมาที่คำว่า “สมุด” อีกครั้ง ในสมัยโบราณคำว่า สมุด นั้นหมายถึงหนังสือเป็นเล่มๆที่ใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆด้วยการเขียนด้วยลายมือที่เราเรียก สมุดไทย ครั้นต่อมาเราก็มีการพิมพ์เป็นเล่มหนังสือด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่แทนการเขียนด้วยมือ ในสมัยก่อนเราเรียก สมุดฝรั่ง แล้วทั้งสมุดไทยและสมุดฝรั่ง ก็คือหนังสือที่รวมเป็นเล่มนั่นเอง ส่วนสถานที่เก็บรวบรวมนั้นก็ยังใช้คำว่า “ห้องสมุด” หรือหอสมุด ที่ใช้กันมาแต่ดั้งแต่เดิมมิได้เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดและที่เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันมาจนบัดนี้  แต่ในปัจจุบันคำว่า สมุด เราจะนึกถึงสมุดของนักเรียนหรือสมุดบันทึกที่เป็นกระดาษเปล่าใช้สำหรับจดบันทึกด้วยลายมือ ใช้แยกต่างหากกับตัวเล่มหนังสือที่มีข้อความและเรื่องราวต่างๆที่เป็นเล่ม  มิได้หมายรวมเป็นเล่มหนังสือดั่งแต่ก่อนนี้แล้ว

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร