ของสะสมที่เรียกว่า "เป้ง"
เมื่อมีผู้ถามผู้เขียนว่าสะสมอะไรบ้าง ก็จะตอบว่า สะสมแสตมป์ เหรียญกษาปณ์ และเป้ง ก็มักจะถูกย้อนถามว่า “เป้ง” คืออะไร ไม่เคยรู้จัก ผู้เขียนเคยค้นข้อมูลบางส่วนไว้ จึงขอแนะนำให้เพื่อน ๆ รู้จักดังนี้
เป้ง หรือ ลูกเป้ง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า opium weight หรือ animal shaped weight หมายถึง ตัวถ่วงน้ำหนักหรือลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ใช้กับเครื่องชั่งโบราณที่มีจานแขวนไว้ 2 ด้าน หรือที่เรียกว่าตราชู เป้งหรือลูกเป้งที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์(สมัยก่อนเขียนว่าสำริด) มีรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น สิงห์ นก เป็ด หงส์ ช้าง รวมทั้งรูปนักษัตรต่าง ๆ ในสิบสองราศรี เป็นต้น เป้งมีขนาดแตกต่างกัน ขนาดเล็กที่สุดอาจเท่าเมล็ดถั่ว ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม วิธีใช้คือ วางของที่จะชั่ง เช่น ฝิ่น เงิน ทอง หรือสิ่งของที่ซื้อขายกันในตลาด เช่น พริก กระเทียม ยา สมุนไพร ไว้ที่จานใบหนึ่งของตราชู แล้ววางเป้งที่เป็นตัวถ่วงน้ำหนักไว้ที่จานอีกใบหนึ่งของตราชู วางเป้งขนาดต่าง ๆ จนทำให้แขนของตราชูขนานกับพื้นทั้งสองข้างก็จะทราบว่าของที่ชั่งนั้นมี น้ำหนักเท่าไหร่
มนุษย์รู้จักใช้เป้งมานานนับตั้งแต่ีมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ ต้องวัดน้ำหนักกัน ซึ่งลักษณะของลูกตุ้มที่ใช้ถ่วงน้ำหนักมีความแตกต่างกันตามยุคสมัย เช่น เป็นลูกกลม ๆ เป็นแท่งสี่เหลี่ยม เป็นก้อน เป็นรูปกลมแบนเหมือนเบี้ย เป็นต้น วัสดุที่ใช้ทำมีหลายประเภท เช่น หิน โลหะ กระเบื้องดินเผา เป็นต้น
ในแถบเอเชีย ประเทศ พม่ามีการใช้ระบบชั่งน้ำหนักที่ใช้เป้งเป็นตัวถ่วงน้ำหนักมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยพะโค พุกาม ส่วนใหญ่มีใช้กันแพร่หลายในแถบตอนเหนือของไทย ได้แก่ พม่า ลาว ล้านนา และเชียงใหม่ ต่อมามีเครื่องชั่งชนิดอื่นที่ใช้งานได้สะดวกกว่า เครื่องชั่งแบบตราชูจึงหมดความนิยมไป แต่ก็ัยังมีการใช้กันอยู่บ้าง เช่น ที่รัฐฉานของพม่า ที่จังหวัดเชียงตุง เป็นต้น
เป้ง นอกจากจะใช้เป็นลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักแล้ว คนล้านนายังใช้แทนค่าเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับเงินตรา ใช้เป็นตัวนำโชค หรือเครื่องรางได้อีกด้วย บางคนจะใช้เป้งที่เป็นรูปสัตว์ที่เป็นมงคลกับราศรีเกิดของตนเองใส่ในถุงเป้ง ที่มีสีที่เป็นมงคลกับราศรีเกิดของตนเองอีกเช่นกัน พกติดตัวไว้เพื่อเป็นศิริมงคล เช่น คนเกิดปีเถาะ ใช้เป้งรูปกระต่าย ถุงเป้งเป็นสองชั้น ชั้นนอกสีขาว ชั้นในสีเหลือง สายที่ใช้ผูกปากถุงเป็นสีแดง เป็นต้น
เป้งตัวแรกที่ผู้เขียนรู้จัก ผู้เขียนซื้อมาจากร้านให้เช่าพระเครื่องที่ตลาดขายอาหารตอนกลางคืนบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อประมาณยีสิบห้าปีมาแล้ว บังเอิญไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ กินข้าวเสร็จเขาแวะดูพระเครื่องต่อ ก็เลยตามไปด้วย เห็นเป้งวางอยู่หนึ่งตัวเลยถามคนขายว่าอะไร เขาตอบว่าเป็นเป้งทำจากสัมฤทธิ์ เห็นว่าสวยดีก็เลยซื้อมา กะว่าจะเอาไว้ทำเป็นที่ทับกระดาษ หลังจากนั้นไม่นานมีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนกลุ่มเดิมนั่นแหละ เที่ยวไปเรื่อย ๆ ขี้นเหนือไปถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วเที่ยวเลาะทางด้านตะวันตกของไทยลงมา เรื่อย ๆ แถบจังหวัดตาก และข้ามด่านแม่สอดเข้าไปในชายแดนของพม่า ไปแถววัดอะไรของพม่าก็จำไม่ได้ ไปเจอเป้งอีก 3 ตัว เลยซื้อกลับมา จึงมีเป้งรวม 4 ตัวตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาอีกหลายปี มีโอกาสได้แต่งงาน คุณสามีก็มีนิสัยชอบพระเครื่องอีก มักจะไปเดินสนามพระเครื่องเป็นประจำ ซึ่งก็จะมีเป้งขายด้วยเหมือนกัน เจอเป้งทีไรจะโทร.กลับมาถามว่าซื้อไหม ก็เลยซื้อมาเรื่อย ๆ แต่ก็จะดูว่าสวยไหม ของแท้หรือเปล่า ที่บ้านมีแล้วหรือยัง เข้าชุดกับของที่มีอยู่หรือไม่ และที่สำคัญเงินในกระเป๋ามีพอใช้หรือเปล่า ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ว่าจะซื้อตัวละไม่เกิน 400 บาท ยกเว้นตัวที่อยากได้จริง ๆ หรือที่หายากแล้วเท่านั้น หรือบางครั้งก็จะใช้วิธีซื้อเหมามาทั้งหมด
การสะสมเป้งเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์อย่างหนึ่ง คือคุณสามีจะมีหน้าที่เป็นผู้สรรหา คัดเลือก ผู้เขียนจะมีหน้าที่จ่ายเงินและเป็นเจ้าของ น้องโมเดล(ลูกสาว)จะช่วยถ่ายรูปเป้งให้ ส่วนน้องไอเีดีย(ลูกชาย)จะเป็นคนช่วยเชียร์และวิจารณ์ จึงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างหนึ่ง และคุณสามีมักจะขอยืมเป้งไปโชว์ที่ทำงานคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อมีงานแสดงของสะสม และส่งรูปเป้งที่น้องโมเดลถ่ายไปให้เพื่อน ๆ ดู จึงเป็นความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนฝูงอีกด้วย
😛 แล้วคุณละค่ะมีของสะสมอะไรบ้าง มาแบ่งปันกันดูบ้างซิ 😆
อ้างอิง
เป้งหรือลูกเป้ง. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2554. เข้าถึงได้จาก http://pralanna.com/boardpage.php?topicid=38738.
ลูกเป้ง. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2554. เข้าถึงได้จาก http://lannaka2.blogspot.com/p/blog-page.html.
วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. เป้งล้านนา. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2554. เข้าถึงได้จาก http://lannaworld.com/story/narrative/narrative14.php.
One thought on “ของสะสมที่เรียกว่า "เป้ง"”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
มรดกน้องไอเดีย