SLVR ค่ะท่านผู้ชม!!

สวัสดีค่ะท่านผู้ชมและท่านผู้อ่านที่เคารพรักทั้งหลาย พักนี้มิรู้เป็นไง ไปไหนทำอะไร ทำไมมันเจอะเจอแต่คำย่อ แถมเป็นภาษาต่างด้าวซะอีก จะรีบถีบ..ส่งให้ไปอาเซียนหรือไงไม่รู้? ยิ่งเชี่ยวชาญชำนาญการจนหาระดับไม่ได้อยู่ด้วย!
วันนี้พบกับคำว่า SLVR ค่ะ แต่ขอโทษค่ะที่มิได้เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ นานาที่ใช้กันในห้องสมุดหรอกนะ แต่ไปเกี่ยวข้องกับสื่อยอดฮิตชนิดที่ทุกครัวเรือนต้องมีไว้เพื่อความบันเทิงของชีวิตในทุกระดับ นั่นคือ“โทรทัศน์หรือทีวี” ค่ะท่านผู้ชม แล้วคำย่อที่ว่านี้ก็เกี่ยวข้องกับละครโทรทัศน์ที่ทุกท่านชมกันอยู่ทุกวี่ทุกวันนั่นละ
ละครโทรทัศน์นั้นเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงทุกครัวเรือน มีบทบาทในการสะท้อนความเป็นไปของสังคม แล้วก็ยังมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อสังคมด้วยโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน แต่เดิมผู้ชมละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มแม่บ้านแต่ปัจจุบันมีผู้ชมทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ผู้สร้างและผลิตละครโทรทัศน์ก็พยายามที่จะผลิตละครออกมาสนองตอบความนิยมให้ผู้ชมได้ติดตาม ควบคู่กับการหารายได้จากค่าโฆษณาสินค้าสารพัดรูปแบบ
การสร้างละครโทรทัศน์นั้นก็มีหลากหลายแนว เช่น แนวดรามา เป็นละครที่มีความขัดแย้งรุนแรงเป็นแกนหลักใช้การแสดงสมจริง แนวซิทคอม เป็นละครแนวตลกขบขัน แนวคอมเมดี้ เป็นละครเบาสมอง เป็นต้น เนื่องจากละครที่สร้างหรือผลิตส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาโดยลักษณะและธรรมชาติที่มีความขัดแย้งเป็นเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้ละครมี SLVR ประกอบอยู่ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง นั่นคือ
S-Sex > การแสดงเรื่องราวทางเพศที่ไม่เหมาะสม  ลามก อนาจาร หยาบโลน
L-Language > ภาษาที่ไม่เหมาะสม ใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง ดูหมิ่นเหยียดหยาม
V-Violence > ความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การทำร้ายร่างกาย การทารุณกรรม ความโหดเหี้ยม การฆ่าฟัน การทำลายล้าง
R-Representation = การใช้ภาพตัวแทน คือการใช้ตัวละครแสดงเพื่อสื่อความหมายในเชิงดูถูก เหยียดหยาม ล้อเลียน เยาะเย้ย ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เกิดอคติ การแบ่งแยก
สำหรับประเด็นของ SLVR นี้ก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงการจัดเรตติ้งสำหรับกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเราด้วยเพื่อความเหมาะสมของการนำเสนอสื่อกับกลุ่มผู้ชม โดยมีการจัดแบ่งกลุ่มรายการแล้วแสดงสัญญลักษณ์ไว้ตอนต้นรายการที่รับชม ระบุระดับความเหมาะสมโดยเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็นต้นมา ท่านทั้งหลายที่ดูทีวีเป็นประจำย่อมจะเห็นกันโดยถ้วนหน้า แต่ขอนำมาฉายซ้ำอีกสักครั้งก็แล้วกัน เริ่มจาก
อักษร ก > เป็นรายการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน (อายุ 2-6 ปี)
อักษร ด > เป็นรายการสำหรับเด็ก (อายุ 2-12 ปี)
อักษร ท > เป็นรายการทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย
อักษร น > เป็นรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ
อักษร น13 > เป็นรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 13 ปี
อักษร น18 > เป็นรายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 18 ปี
อักษร ฉ >  เป็นรายการเฉพาะไม่เหมาะแก่เด็กและเยาวชน
ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมหรือวางกฎเกณฑ์ต่างๆไว้แล้วก็ตามแต่ผู้สร้างหรือผู้ผลิตละครโทรทัศน์ก็ยังมิใคร่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาสักเท่าใดนัก ยิ่งเป็นข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งเป็นการกระตุ้นคนดู (หรือเรียกแขก)ให้เข้ามารับชมเพิ่มขึ้น ได้ยืดละครออกไปอีกหลายตอนได้รับค่าโฆษณามากขึ้นตามไปอีกซึ่งนับว่าคุ้มในแง่การตลาดและในแง่ธุรกิจ แต่ในแง่สังคม,จริยธรรมและศีลธรรมแล้วเสื่อมถอยอย่างยิ่ง ที่กล่าวมานี้เป็นสาระโดยย่นย่อ หากต้องการสาระแบบเต็มๆ ขอแนะนำให้ไปอ่านจากหนังสือชื่อ ข้อเสนอแนะการผลิตละครโทรทัศน์ไทย : การศึกษาประเด็น SLVR ในละครโทรทัศน์ต่างประเทศ ผลงานของ นลินี สีตะสุวรรณ ที่ห้องสมุดเรามีค่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร