ประวัติวัดทุ่งผักกูด
เมื่องานปิดทองฝังลูกนิมิตที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปทำบุญที่วัดทุ่งผักกูด ได้เดินผ่านบอร์ดประชาสัมพันธ์ของทางวัด ผมอ่านแล้วเห็นข้อมูลน่าสนใจดีก็เลยถ่ายรูปเอามาให้เพื่อนๆได้ดูกัน ภาพไม่ค่อยชัดนะครับแต่ก็พอดูรู้เรื่อง ในเนื้อหาก็จะกล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของวัดทุ่งผักกูด และ ความเป็นมาของคนในท้องถิ่นนั้น ผมได้พิมพ์ข้อมูลออกมาบางส่วนนะครับเนื่องจากรูปเมื่อย่อให้เล็กลงแล้วจะอ่านไม่ชัดครับ
ประวัติวัดทุ่งผักกูด
วัดทุ่งผักกูดเริ่มก่อตั้งขึ้นมาเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เนื่องจากพระอุโบสถและถาวรวัตถุของเดิมนั้นได้สูญหายไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่มีมาช้านาน เนื่องจากมีการขุดพบพระบูชาเก่า สมัยศรีวิชัย ทวาราวดีและอยุธยา ได้ที่บริเวณวัด (ณรงค์ เลติกุล, ม.ป.ป.)
หลักฐานที่สนับสนุนว่าวัดทุ่งผักกูดน่าจะสร้างขึ้นช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น สืบเนื่องจากหลักฐานการ ประกาศตั้งวัดที่ระบุเพียงว่า วัดทุ่งผักกูดประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2380 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2400 เนื้อที่ตั้งวัด 18 ไร่ ที่ธรณีสงฆ์ 12 ไร่ (ตามหลักฐานการประกาศในสมัยนั้น ปัจจุบัน พื้นที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 24 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์ของวัดมีเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา) จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในท้องถิ่นต่อๆกันมา กล่าวว่าพื้นที่แห่งนี้สมัยโบราณเป็นทุ่งกว้างใหญ่มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยซึ่งเป็นชื่อตำบลคือ ห้วยด้วน ไหลผ่าน ระบบนิเวศน์มีความชุ่มชื้นสูง พืชชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในตระกูลเฟิร์น ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ผักกูด” ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากและได้สร้างวัดในบริเวณนี้ จึงตั้งชื่อว่า วัดทุ่งผักกูด แต่ในปัจจุบันระบบนิเวศน์ได้เปลี่ยนแปลงไป ผักกูดจึงสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แห่งนี้
ประชาชนในท้องถิ่นบ้านทุ่งผักกูดส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาด้วยเหตุผลทางสงครามช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวมาไว้ตามหัวเมืองชั้นในต่างๆใกล้กรุงเทพฯ อำเภอ ดอนตูม จังหวัด นครปฐม เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีชาวลาวอาศัยอยู่มาก ชาวลาวเหล่านี้เรียกตนเองว่า “ลาวครั่ง” เนื่องจากชาวลาวครั่งมีพื้นฐานถิ่นเดิมอยู่ที่เทือกเขาภูคัง เมืองหลวงพระบาง หลักฐานที่ช่วยยืนยันที่มาของลาวกลุ่มนี้คือระบบฐานเสียง สำเนียงพูด มีความคล้ายคลึงกับลาวแถบเมืองหลวงพระบางมากกว่าลาวเมืองเวียงจันทร์ วัดทุ่งผักกูดจึงน่าจะสร้างขึ้นภายหลังจากการอพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยแล้ว
วัดทุ่งผักกูด จึงเป็นวัดที่เกิดจากสายสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่หล่อหลอมเอาแรงกายใจและแรงศรัทธาเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาตกทอดจากบรรพบุรุษ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานรุ่นหลังไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียวของบรรพชน บ้านทุ่งผักกูดจึงเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนในท้องถิ่นอย่างยาวนานที่ยังคงอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมที่สืบทอดมาอย่างเหนียวแน่นจากบรรพบุรุษชาวลาว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ ที่ยังคงปรากฏหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เช่นพระอุโบสถ เสมาและเจดีย์ ซึ่งมีอายุร่วม 170กว่าปี ไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานชาวลาวครั่งได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนในชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสาย “ลาวครั่ง”
ประวัติเจ้าอาวาส
หลักฐานพระราชทานเป็นเขตวิสุงคามสีมา จากรัชกาลที่5
พิธีกรรมและความเชื่อ
การนับถือผี
วัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่
พิธีสวดถอนพระอุโบสถหลังเก่า…..น่าเสียดายไม่ได้มาถ่ายรูป
รูปต่อจากนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 เป็นภาพพิธีตัดหวายลูกนิมิต ที่พระอุโบสถหลังใหม่ของวัดทุ่งผักกูดเป็นภาพพิธีที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้เห็นกัน นะครับ…..
2 thoughts on “ประวัติวัดทุ่งผักกูด”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
น้องเพิ่มพิกัดของวัดนี้ด้วยค่ะ อยู่กำแพงแสนหรือคะ ไม่คิดว่าแถวนี้จะมีลาวครั่ง คิดว่ามีแถวอุทัยธานี หีือลาวครั้ง สีสันภาพสดใสจริงๆค่ะ … พี่ชอบผ้าลาวครั่งนะ่ เพระาสีสดใสมาก สวยดี แต่ไม่มีสักผืน
น้องเทพจ๊ะ ป้าดวงขออนุญาติเก็บข้อมูลของผมไปให้น้องเอิร์ธได้ไหมเพราะน้องเอิร์ธ ทำสารคดีของดีข้างวัดอยู่ อยู่แถวไหนขอแผนที่ด้วยนะครับ ขอบคุณเจ้า