ไข้ตัวร้อน
ไม่สบาย ทำไมต้องตัวร้อน
อาการตัวร้อน เป็นอาการปกติของอาการไม่สบาย สร้างความไม่สบายใจ ให้กับพ่อแม่เป็นอย่างมาก แม้ในผู้ใหญ่ก็ตัวร้อนเช่นกัน ทำไมถึงต้องตัวร้อน ตัวร้อนแล้วจะมีอาการอย่างไร อุณหภูมิร่างกายควรอยู่ในระดับใด จะมีวิธีบรรเทาอาการตัวร้อนอย่างไร วันนี้ขอนำความรู้มาบอกกล่าวพอสังเขป ดังนี้
ทำไมถึงตัวร้อน
ร่างกายคนเรา มีอุณหภูมิไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส ถ้าสูงกว่านี้ ร่างกายกำลังเจ็บป่วย มีภูมิต้านทานโรคชนิดหนึ่ง ที่คอยทำหน้าที่ในการต่อต้านเชื้อโรคในร่างกายที่จำเป็นทุกส่วน และคอยขับถ่ายของเสียและพิษของเชื้อโรคออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นร่างกายต้องเพิ่มอัตราการทำงานของอวัยวะทุกส่วน จึงเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายมีไข้ ถ้าร่างกายมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้โปรตีนที่สะสมอยู่ในร่างกายถูกทำลาย ทำให้เป็นอันตรายได้ และในเด็กเล็กบางคนอาจมีอาการชัก เมื่อมีไข้สูงตามมา
ตัวร้อนแล้วชัก
เด็กที่มีไข้สูงแล้วเกิดอาการชัก มักจะอยู่ในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี พบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 1-3 ปี ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า คุณพ่อคุณแม่เคยมีประวัติการชักในช่วงเด็กๆ อาจจะเกิดขึ้นกับลูกได้ (แต่ไม่เสมอไป) ดังนั้น ถ้าลูกน้อยมีไข้สูงจึงต้องระวังเป็นพิเศษ
อาการชักจากไข้ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง อาการชักจากไข้สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม ที่ทำให้ ไข้สูง เช่น ไข้หวัด ปอดบวม หูอักเสบ หรือบางคนฉีดวัคซีนที่ทำให้มีไข้ และไข้สูง ก็ชักได้เช่นกัน เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะไปกระตุ้นสมอง ทำให้เกิดอาการชัก และส่วนใหญ่ถ้าเกิดอาการชัก จะมีอาการในวันแรกหรือวันที่ 2 หลังจากมีไข้ และถ้ามีไข้ต่ำอยู่ แต่กลับสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็วก็ต้องระวังเช่นกัน
บรรเทาอาการตัวร้อน
1. เมื่อลูกมีไข้ ควรวัดอุณหภูมิก่อน ถ้าเป็นไข้ต่ำๆ อุณหภูมิไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หมั่นเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาบ่อยๆ ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความร้อน
2. ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี
3. คอยสังเกตอาการ และวัดไข้เป็นระยะ
4. ถ้ามีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ควรให้ยาลดไข้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด ซึ่งถ้าเด็กมีไข้สูงมาก (เกิน 39 องศาเซลเซียส) แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาลดไข้ อีกชนิดที่ออกฤทธิ์เร็วขึ้น
ถ้าลูกมีอาการชัก ควรปฏิบัติดังนี้
1. ตั้งสติให้ดี ไม่ควรตกใจเกินไป
2. จับลูกนอนตะแคง เพื่อป้องกันไม่ให้สำลักน้ำลายหรือเสมหะ
3. ใช้ด้ามช้อนที่หุ้มด้วยผ้าสอดเข้าไปในปากลูก ป้องกันไม่ให้กัดลิ้นตัวเองแต่ถ้าลูกมีอาการเกร็งมาก อย่างัดหรือออกแรงงัดปากลูก รอจังหวะให้กล้ามเนื้อคลายตัวแล้วรีบสอด
4. เช็ดตัวลูกบ่อยๆ เพื่อให้ไข้ลดลง เมื่อเห็นลูกอาการเริ่มสงบ และยังสามารถกลืนยาได้ ให้รีบป้อนยาลดไข้ และพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
ยาลดไข้สำหรับเด็ก โดยทั่วไป คือ ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ ซึ่งเป็น ยาสามัญประจำบ้าน สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ใช้เท่าที่จำเป็น และตามขนาดที่ระบุไว้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ๆ ต้องใช้ยาตามน้ำหนักตัว และที่สำคัญไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อการป้องกัน แต่รับประทานเพื่อการรักษา เช่น พ่อแม่หลายท่านกังวลว่าหลังจากฉีดวัคซีน ลูกจะมีไข้ ตัวร้อน จึงให้ลูกกินยา ไว้ก่อน เป็นต้น
ท้ายนี้……ข้อควรระมัดระวังและต้องไม่ลืม คือ การรับประทานยาลดไข้ชนิดน้ำเชื่อมนั้นมักเป็นยาแขวนตะกอน จึงต้องมีการ เขย่าขวดยาก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ได้รับยาที่มีความเข้มข้นเท่ากันทุกครั้ง