เก่งหรือเฮง

ได้อ่านบทความเกี่ยวกับความสำเร็จ และความล้มเหลวของนักธุรกิจ ซึ่งใครที่ประกอบธุรกิจจนถึงขั้นร่ำรวยขึ้นมาก็มักจะมีคำถามให้ขบคิดกันอยู่เสมอว่าเกิดจากความเก่งหรือเฮงกันแน่
ความจริงเรื่องเก่งกับเฮงนั้น มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ชื่อ “วณิชชสูตร” เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้วความว่า วันหนึ่งนักธุรกิจ (สมัยนั้นน่าจะหมายถึงพ่อค้านั่นเอง) ได้เข้าไปถามพระสารีบุตร เรื่องของความเฮงว่ามีที่มาอย่างไร พระสารีบุตรได้นำคำถามนี้ไปทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื้อหาคำถามมีอยู่ 4 ข้อ เป็นการถามถึงลักษณะของนักธุรกิจ 4 กลุ่ม
คำถามข้อที่ 1 ทำไมนักธุรกิจบางกลุ่ม แม้ทุ่มเทความรู้ความสามารถทุกสิ่งทุกอย่างลงไปสุดตัวแล้ว แต่ผลสุดท้ายคือ ขาดทุนย่อยยับ
คำถามข้อที่ 2 ทำไมนักธุรกิจบางกลุ่ม ทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างสุดตัว เหมือนกับกลุ่มแรก แต่กลับได้ผลกำไร  เพียงแต่ผลกำไรต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วไม่ใช่ว่าต่ำกว่าเป้าหมายแค่หนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น แต่จะเป็นเช่นนี้อยู่ประจำจนทำให้นักธุรกิจกลุ่มนี้เอะใจว่า “เกิดอะไรขึ้น ในเมื่อใช้ทั้งความรู้ความสามารถ วิธีการ เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แต่กลับไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ ต้องมาขาดทุนกำไรอย่างไม่ควรจะเป็น”
คำถามข้อที่ 3 นักธุรกิจกลุ่มนี้ตั้งเป้ากำไรไว้เท่าใด กำไรที่ได้ก็เข้าตามเป้าทุกครั้งไป ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใดๆ
คำถามข้อที่ 4 ทำไมนักธุรกิจบางกลุ่ม เมื่อประกอบธุรกิจการงานลงไปแล้ว หรือจะหยิบจับธุรกิจอะไรกี่ครั้ง เป็นต้องได้กำไรเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกที แม้จะเจอมรสุมทางการค้าหรือเผชิญปัญหาหนักหนาสาหัสเพียงใด
พระพุทธเจ้าทรงตอบไว้สั้นๆ สรุปเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
นักธุรกิจกลุ่มที่ 1 “พวกโกงความดี” คือพวกที่หยิบจับอะไรแล้วมักขาดทุนทุกที ภูมิหลังของคนพวกนี้ไม่ว่าจะเกิดข้ามภพข้ามชาตินานเท่าไรก็จะมีข้อบกพร่องที่เป็นนิสัยเสียมา 2 อย่างเป็นเหตุให้ธุรกิจล้มเหลว คือ 1) ไม่ดูแลผู้มีพระคุณ พ่อแม่คือผู้มีบุญคุณอย่างใหญ่หลวง เมื่อไม่สร้างเหตุแห่งความดีขั้นพื้นฐานก่อนแล้วอย่าไปหวังว่าจะทำอะไรสำเร็จ ขนาดพ่อแม่ทุ่มเทชีวิตเลี้ยงดูมาจนกลายเป็นผู้บริหารหรือนักธุรกิจ แต่ถึงเวลาต้องตอบแทนพระคุณท่าน คนกลุ่มนี้กลับทอดทิ้งพ่อแม่ของตน  2) ผิดคำพูดหรือคำสัญญาที่ลั่นวาจากับผู้มีศีลมีธรรม ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ คนกลุ่มนี้เมื่อไปรับปากกับท่านว่าจะทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้พอถึงเวลาก็ไม่ทำ  เรียกว่าโกงความดีหรือความเฮงของตัวเอง
นักธุรกิจกลุ่มที่ 2 “พวกเบี้ยวความดี” กลุ่มนี้เป็นพวกขาดทุนกำไร จัดเป็นพวกที่ไม่ได้โกงความดี แต่แค่เบี้ยวความดี กล่าวคือ 1) คนกลุ่มนี้จะเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่เลี้ยงดูไม่เต็มที่ แ้ม้ว่าตัวเองจะมีฐานะ มีความสะดวกสบายทุกสิ่งแล้วก็ตาม   2) เวลารับปากกับพระภิกษุผู้ทรงศีลหรือองค์กรการกุศลว่าจะช่วยเหลือสนับสนุนเท่าไร พอถึงเวลาจริงนึกเสียดายแต่กลัวผิดสัญญา จึงให้ไม่เท่าที่รับปากไว้ เช่นจะให้ 100 ถึงเวลาให้จริง 50-60 เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาผลบุญส่งผลออกมาก็ได้ไม่เต็มที่ เหมือนนาข้าวขาดน้ำขาดปุ๋ย แม้จะได้ข้าวออกรวงมาแต่เมล็ดมักจะลีบ ทำธุรกิจจะได้กำไรมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าตัวเองได้เบี้ยวบุญของตัวเองไว้เท่าไร
นักธุรกิจกลุ่มที่ 3 “พวกทำตามกำลัง”  กลุ่มนี้ตั้งเป้ากำไรไว้เท่าไรมักได้ตามเป้า เพราะ 1) เหตุปัจจุบัน หมายถึงทุ่มเทความรู้ความสามารถทำธุรกิจอย่างเต็มที่   2) เหตุอดีต หมายถึง บุญเก่าอุปถัมภ์ค้ำจุน ชาตินี้หรือชาติที่ผ่านมาเขาดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่มาอย่างดี และที่รับปากทำบุญทำกุศลก็ไม่เคยผิดคำพูดให้ได้ตามที่สัญญาไว้ คือทำตามกำลังที่มี เขาไม่ได้โกงความดีตัวเอง เขาย่อมได้กำไรตามที่ตั้งเป้าไว้
นักธุรกิจกลุ่มที่ 4  “พวกทำเต็มกำลัง” คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่ดูแลพ่อแม่อย่างวิเศษ บูชาพ่อแม่เอาไว้เหนือหัวจะไม่ปล่อยให้อะไรมากระทบท่านให้ไม่สบายใจ และมักจะนึกถึงพระคุณท่านอยู่เสมอว่า “เมื่อตอนที่เราเล็กๆ พ่อแม่เห็นอะไรอร่อยๆ หรือของเล่นอะไรที่น่าจะให้เราเล่น เสื้อผ้าสวยๆ ท่านก็หามาให้” เมื่อเขานึกถึงภาพที่พ่อแม่เลี้ยงเขามาอย่างดีนี้แล้ว ก็ตั้งใจบำรุงพ่อแม่อย่างดี ไม่ต้องรอให้ท่านเอ่ยปากขอ เห็นอะไรที่มีประโยชน์ก็ขนมาบำรุงบำเรอพ่อแม่เต็มที่ และในส่วนที่สัญญากับพระสงฆ์หรือองค์การกุศลว่าจะทำเท่าไรพอถึงเวลาเขาเห็นว่ามีกำลังทำได้มากกว่านั้น เขาจะเพิ่มเติมลงไปในงบประมาณที่ตั้งไว้ตอนแรกทันที เรียกว่าทำเต็มกำลัง ดังนั้นเวลาผลของความดีออกมาจึงได้กำไรเกินเป้าหมายทุกครั้งไป
ข้อคิดจาก “วณิชชสูตร”  พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นเรื่องของความเฮงคือเรื่องของบุญคุณความดี  สัจจะและความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญ  และทำอะไรต้องทำให้เต็มกำลัง
จาก อุตสาหกรรมสาร ป.47  (มี.ค.-เม.ย. 2547) : 48-51

One thought on “เก่งหรือเฮง

  • อ่านบทความนี้แล้ว ลองพิจารณาตัวเองพบว่าไม่ได้อยู่ที่ข้อใดข้อหนึ่ง แต่จะผสมปนเปกันไป เช่น การเลี้ยงดูพ่อแม่จะอยู่ที่ข้อ 4 เพราะหวนกลับไปนึกว่าเรารักลูกเราเท่าใด พ่อแม่ก็รักเราเท่านั้น เราหาของให้ลูกเราได้อยู่ดีกินดี ก็ต้องนึกถึงพ่อแม่เรา แม่เขา (แม่สามี แม่ภรรยา) เช่นกัน ส่วนการทำบุญก็มีตั้งแต่ข้อ 2-4 แล้วแต่เหตุการณ์ไป

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร