ตำนานกะเหรี่ยง

หากจะกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม “กะเหรี่ยง” นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่ง  และในตอนต้นรัตนโกสินทร์ก็นับเป็นช่วงเวลาที่ชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามามากที่สุด โดยเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรีบางส่วน นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าเดิมกะเหรี่ยงมีถิ่นที่อยู่ในด้านตะวันออกของธิเบต  และได้เข้ามาตั้งอาณาจักรในประเทศจีน เมื่อ ๓๐๐๐ กว่าปีล่วงมา ต่อมาถูกรุกรานจากกษัตริย์ในราชวงศ์จิ๋น ราวพ.ศ.๒๐๗ จึงหนีมาตามลำน้ำหยางชี เมื่อมาปะทะกับชนชาติไทย จึงถอยร่นมาตามลำน้ำโขง ลำน้ำสาละวิน เข้าสู่ประเทศพม่า และกระจายตัวไปตามที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวดี ตลอดจนเทือกเขาพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่า ตั้งแต่เมืองตองยีทางด้านเหนือ มาจนคอคอดกระทางด้านใต้ การอพยพเข้ามาของชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยนี้ มีตำนานเล่าขานกันมาว่าอย่างไรลองมาติดตามดู
ว่ากันว่าเดิมชาวกะเหรี่ยง ๓ พี่น้อง อาศัยอยู่ในเมืองทะวาย ประเทศพม่า พี่ใหญ่คือกะเหรี่ยง กะหร่างเป็นคนกลาง และน้องตองสู เป็นคนสุดท้อง พวกเขาสัญญากันว่าจะเป็นพี่เป็นน้องรักใคร่กลมเกลียว มีอะไรก็จะแบ่งปันกันตลอดไป พวกเขาอยู่กันอย่างมีความสุขตลอดมา จนกระทั่งวันหนึ่ง กะเหรี่ยงกับกะหร่างได้เม่นมาตัวหนึ่ง จึงได้ฆ่าแบ่งกันแถวๆ ลำห้วย แต่ด้วยเม่นตัวเล็กเนื้อมีน้อยจึงไม่พอแบ่งให้ตองสูน้องคนเล็ก ต่อมาวันหนึ่งตองสูได้มาที่ลำห้วยนั้น และได้มาพบขนเม่นเข้า จึงได้แต่คิดสงสัยว่าพี่ทั้งสองได้เนื้ออะไรมาไม่แบ่งให้ตนเอง พลางก็นึกไปถึงวัวกระทิงตัวโต ที่ขนก็ยังเล็กกว่าขนของเจ้าสัตว์ที่พบนี้ ในใจที่ขุ่นเคืองก็พลอยจินตนาการถึงเจ้าสัตว์ที่คงตัวใหญ่โตเป็นอย่างมาก เพราะขนาดขนที่พบนั้นเป็นเหตุทำให้ตองสูน้อยใจเป็นอย่างมากว่าพี่ๆ คงไม่รักเขา และไม่รักษาสัจจะที่ให้กันไว้ หากจะอยู่ด้วยกันต่อไปก็คงไม่มีความสุข เขาจึงหนีจากพี่ๆ ทั้งสองไปโดยไม่บอก เขาหนีไปอยู่ที่ “ลองซุ๊ดี” ซึ่งแปลว่าปลายห้วยใหญ่ที่ไกลจากที่อาศัยอยู่เดิมมาก จนไม่มีใครพบร่องรอยของเขา
ส่วนกะเหรี่ยงพี่ใหญ่ และกะหร่างพี่รองก็ยังคงอยู่ด้วยกัน จนวันหนึ่งกะเหรี่ยงไปเที่ยวป่า พบปลากั้งที่นับถือเป็นบรรพบุรุษข้างมารดาของพม่าอยู่ในแอ่งน้ำ เขาคิดจะเอามีดแทงตาให้บอดทั้งสองข้าง พวกพม่ารู้เข้าโกรธมาก จึงไล่ฆ่าฟันกะเหรี่ยงและกะหร่างแตกสานซ่านเซ็นเข้ามาอยู่ในเมืองไทย บ้างก็หนีไปอยู่กับพวกมอญที่บ้าน “กุสะร่อง” เมืองทวาย ผู้นำในการอพยพครั้งนั้นมีหม่องกาย หม่องโซ และพู๊เชิงละ โดยขอเข้ามาพึ่งบารมีกษัตริย์ไทย ซึ่งได้ตกลงรับไว้โดยให้อาศัยอยู่ที่ลำห้วยตะเพินคี่ สุพรรณบุรี ลำห้วยคอกควาย อุทัยธานี เพชรบุรี แม่น้ำแควใหญ่(โลโหว่) อำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรีและอยุธยา
ที่มาและที่(ยังไม่)ไป ของกะเหรี่ยงในเมืองไทยก็มีตำแหลก…เอ้ยยยยย ตำนาน(ก็ตำ…นาน นิ …ก็ต้องแหลกเป็นธรรมดา…) ดังนี้แล อิอิอิ
ที่มา : “กะเหรี่ยงในประเทศไทย,” สารคดี.  ๙,๑๐๕ (พฤศจิกายน ๒๕๓๖) : ๑๕๕, ๑๕๗.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร