เพลงประจำจังหวัดนครปฐม

คุณสมมาศ เทียมกีรกุล (ม่วงใหญ่)
อดีตผู้ดูการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครปฐม
เมื่อจะกล่าวถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคตะวันตกนั้น เข้าใจว่าคนส่วนหนึ่งจะมุ่งไปที่ความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติอันหลากหลาย อีกทั้งยังมีประวัติความเป็นมาในเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านโบราณสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์พระปฐมเจดีย์ ที่ไม่เพียงแต่เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาวนครปฐม หากแต่เป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติเลยทีเดียว
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ดิฉันมีความเห็นว่าเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่สำคัญของแต่ละจังหวัด นอกจากสรรพสิ่งที่คงมีอยู่แต่เดิมแล้ว การนำเสนอเพิ่มเติมถึงสิ่งดีงามอันทรงคุณค่าของท้องถิ่น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริม ทำนุบำรุง ต่อเติมให้สรรพสิ่งอันเป็นคุณค่าดั้งเดิมของท้องถิ่น เกิดการรับรู้โดยแพร่หลายยิ่งขึ้น
ในฐานะที่ตนเองเป็นลูกนครปฐม จากความทรงจำถึงบทเพลงเพลงหนึ่งที่ได้ยินมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ซึ่งแม้จะจำเนื้อร้องไม่ได้ทุกถ้อยคำนัก แต่ด้วยความที่ได้ยินแว่วๆ มานานปี จากการกระจายเสียงของเทศบาลเมืองนครปฐมในขณะนั้น (ปัจจุบันเทศบาลเมืองนครปฐม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองเมื่อ พ.ศ. 2478 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครนครปฐม จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2542 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอน 110ก ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ¹)จึงทำให้ดิฉันยังคงระลึกถึงบทเพลงอันไพเราะ และมีความหมายในความเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งรวบรวมความเกี่ยวข้องของสิ่งต่างๆ อันเป็นจุดสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของการกลับฟื้นฟูขึ้นเป็นเมืองภายหลังถูกทิ้งร้างไปในสมัยอยุธยา นับแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ² จนล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ให้ความสำคัญแก่จังหวัดนครปฐมถึงขั้นเป็นเมืองหลวงสำรองที่สองเลยทีเดียว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ด้วยในปัจจุบันเพลงมาร์ชนครปฐม อันมีคุณค่านี้เรามักจะได้ยินได้ฟังกันน้อยลงจนแทบจะไม่ได้ยินเลย ซึ่งก็เป็นผลมาจากเหตุหลายประการที่ดิฉันจะไม่ขอกล่าวในส่วนนี้ แต่ส่วนหนึ่งในมุมมองของดิฉัน ดิฉันมีความเห็นว่าเกิดจากการขาดการเอาใจพิจารณาของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมา และเรื่องราวของท้องถิ่นโดยส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากดิฉันจะเพียงรำลึกถึงบทเพลงเพลงนี้แต่ในความทรงจำ ก็จะหาเกิดประโยชน์อันใดไม่ จึงได้สืบเสาะถึงที่มาและที่ไปแห่งบทเพลง และก็ให้บังเอิญว่าครั้งหนึ่งได้พบกับบุคคลสำคัญเก่าแก่ของชาวตลาดนครปฐมอย่างดิฉัน จากการสนทนาครั้งนั้นก็ทำให้ได้ล่วงรู้ว่า แท้นั้นท่านเองเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงประจำจังหวัดของเรา ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้มาทำหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ดิฉันจึงไม่ละเลยที่จะเก็บคำบอกเล่าจากท่านในเรื่องนี้ เพื่อนำมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง
บุคคลสำคัญอันเป็นที่มาของการประพันธ์เพลงมาร์ชประจำจังหวัดนครปฐม ท่านนี้คือ คุณสมมาศ เทียมกีรกุล (ม่วงใหญ่) อดีตผู้ดูการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งท่านกรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่าน ให้เกียรติอนุญาตดิฉันสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งด้านประวัติส่วนตัว รวมถึงผลงานต่างๆ ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประพันธ์ ซึ่งท่านมีความโดดเด่นมากถึงในระดับชาติ การพูดคุยของเราในวันนั้นใช้เวลานานมากกว่าหนึ่งชั่วโมง ด้วยความหลากหลายของประเด็นในการสนทนา แต่จุดสนใจพิเศษที่ดิฉันเล็งไว้และจะพลาดไม่ได้ ก็คือในส่วนของที่มาของการประพันธ์เพลงมาร์ชนครปฐม และแถมพกด้วยเรื่องราวของตลาดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งในที่นี้ดิฉันจะกล่าวเพียงในด้านของที่มาของเพลง ทั้งนี้หากท่านใดประสงค์ทราบข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม ก็สามารถรับฟังเทปบันทึกการสัมภาษณ์คุณสมมาศ เทียมกีรกุลได้ จากหน้าเว็ปไซด์ของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก
การประพันธ์เพลงมาร์ชนครปฐมนั้น มีที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งครั้งหนึ่งคุณสมมาศได้มีโอกาสเข้าพบเพื่อหารือข้อราชการ กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม คือ นายสมพร ธนสถิตย์ (ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2524 – 30 กันยายน 2527 ³) ซึ่งในขณะนั้นท่านผู้ว่าฯ เพิ่งโอนย้ายมาเข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้โดยตำแหน่งผู้ว่าฯ นั้น จะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้วย การเข้าพบครั้งนั้นท่านผู้ว่าฯ ได้ไถ่ถามถึงผลงานด้านการประพันธ์ บทกวี “อุดมการณ์ของชาติ” ซึ่งคุณสมมาศที่ในขณะนั้นยังคงใช้นามสกุลเดิม คือ ม่วงใหญ่ ด้วยยังมิได้สมรส เป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศแห่งประเทศไทย และรัฐบาลในขณะนั้นก็ได้พิมพ์บทกลอนดังกล่าวแจกจ่ายไปทั่วประเทศ คุณสมมาศสันนิษฐานว่า ด้วยเหตุแห่งการเป็นบุคคลรางวัลระดับประเทศนี้เอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่านผู้ว่าฯ มีความจดจำคุณสมมาศได้ในฐานะผู้มีความสามารถในการประพันธ์
การพบกันในครั้งนั้น คุณสมมาศได้รับมอบหมายให้ประพันธ์เพลงมาร์ชประจำจังหวัดนครปฐม ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวถึงอดีตที่ท่านเคยประจำการที่จังหวัดระยอง และมีความประทับใจว่าแม้แต่สามล้อยังสามารถร้องเพลงมาร์ชประจำจังหวัดได้ ต่อเมื่อท่านโอนย้ายมาประจำยังจังหวัดนครปฐมแล้ว กลับพบว่าทางจังหวัดยังไม่มีการประพันธ์เพลงประจำจังหวัด จึงมอบหมายภาระนี้แก่คุณสมมาศ เมื่อประมาณ พ.ศ.2526
คุณสมมาศได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้น 2 บท โดยใช้ลักษณะการประพันธ์เป็นบทกวีคือกลอนแปด ตามแบบฉบับที่ท่านสุนทรภู่ครูกวีศรีสยาม มักนิยมแต่งคำประพันธ์ประเภทนี้ ที่ต่อมาก็มีผู้นำบทกวีของท่านสุนทรภู่มาดัดแปลงเป็นเพลงร้องอยู่หลากหลาย เนื่องจากกลอนแปดนั้นสะดวกต่อการนำมาประกอบเป็นท่วงทำนองเพลงนั่นเอง การที่คุณสมมาศตั้งใจประพันธ์บทกวีขึ้นถึง 2 บทนั้น ก็เพื่อให้ท่านผู้ว่าได้มีตัวเลือก แต่ปรากฎว่าท่านกลับชอบทั้ง 2 บท ด้วยเห็นว่าเนื้อร้องในทั้ง 2 บทนั้น ต่างมีความสำคัญและไพเราะทั้งสิ้น จึงได้มอบหมายอีกครั้งให้คุณสมมาศนำเนื้อร้อง 2 บทนั้น มาปรับแก้รวมเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ท่านผู้ว่าก็หาได้ผิดหวังไม่ เพราะคุณสมมาศสามารถนำเนื้อร้องดังกล่าวมารวมเป็นสำนวนเดียวได้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อท่านผู้ว่าฯ หลังจากนั้นท่านผู้ว่าฯ จึงได้ส่งสำนวนเพลงใหม่ซึ่งได้รับการประพันธ์ทำนองแล้วโดยคุณเกษม อิสริยะวงศ์ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด ในขณะนั้น ให้แก่คุณสุเทพ ไทยวัฒนานนท์ เจ้าของบริษัทชัวร์ออดิโอ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครปฐม นำไปบันทึกเป็นแผ่นเสียง และภายหลังเมื่อการบันทึกเสียงเสร็จสิ้น ท่านผู้ว่าฯ ได้สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนของจังหวัดนครปฐมเปิดเพลงมาร์ชนครปฐม และใช้เพลงนี้เป็นเพลงประจำวงดุริยางค์ของโรงเรียน
การจัดทำเพลงมาร์ชนครปฐมในครั้งนั้น ท่านผู้ว่าฯ ได้ตั้งข้อสังเกตในเนื้อหาของบทเพลงว่า คุณสมมาศมีการกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อจังหวัดนครปฐม ตลอดจนกล่าวถึงสิ่งสำคัญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไว้เกือบทุกแห่ง (ทุกแห่งในขณะนั้น) แต่ไม่มีการกล่าวถึงสุนัขย่าเหล ซึ่งคุณสมมาศได้ให้เหตุผลว่า คุณสมมาศเทิดทูนในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สำหรับย่าเหลซึ่งเป็นเพียงสุนัขของพระองค์ ที่ทรงเขียนบทกวีไว้อาลัยเนื่องจากถูกมนุษย์ลอบทำร้ายเสียชีวิตนั้น เป็นการที่ท่านบริภาษมนุษย์ที่มีใจอำมหิตต่ำทรามทำร้ายสุนัขที่ไม่มีทางสู้ มิได้เป็นการยกย่องย่าเหลเยี่ยงวีรบุรุษแต่อย่างใด คุณสมมาศจึงมิได้ให้ความสำคัญกับย่าเหลในจุดนี้ ซึ่งแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ที่ท่านผู้ว่าฯ เคยมอบหมายให้แต่งเพลงประจำจังหวัดมาให้พิจารณา โดยทุกท่านมักมีการกล่าวถึงสุนัขย่าเหลด้วย
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว หลายท่านอาจพอมีความทรงจำลางๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของบทเพลงเหมือนดิฉัน หลายท่านอาจเคยได้ยิน เคยสัมผัสกับบทเพลงนี้โดยทางใดทางหนึ่ง ในที่นี้ดิฉันจึงใคร่นำต้นฉบับจากท่านเจ้าของผู้ประพันธ์ มาฝากทุกท่านให้ระลึกจำกันอีกสักครั้ง หรือหากท่านใดประสงค์ฟังเพลงต้นฉบับอันไพเราะก็สามารถสดับรับฟังได้ที่เว็ปไซด์ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ที่ดิฉันกำลังใช้ความพยายามนำขึ้นเช่นกันค่ะ ^^
เพลงมาร์ชนครปฐม
ประพันธ์คำร้องโดย สมมาศ เทียมกีรกุล
ประพันธ์ทำนองโดย เกษม อิสริยะวงศ์
บันทึกเสียงโดย สุเทพ ไทยวัฒนานนท์
(บริษัทชัวร์ออดิโอ)
นครปฐม ดินแดนทอง ของศิลปะ
อีกองค์พระ ปฐมเจดีย์ ศรีสยาม
พระร่วง โรจนฤทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์นาม
ที่รวมความ เคารพ นบบูชา
พระราชวัง สนามจันทร์ อันมีศักดิ์
พระตำหนัก ทั้งมวล ล้วนล้ำค่า
งามทับแก้ว ทับขวัญ อันตรึงตรา
พระมหา ธีรราชเจ้า ของชาวไทย
ราโชบาย หมายใช้ถิ่น แผ่นดินนี้
เพื่อเป็นที่ นัดพบ ซ้อมรบใหญ่
ผองเสือพราน เสือป่า กล้าเกรียงไกร
กำเนิดใน จังหวัดนี้ ที่เจริญ
พระกรุณา- ธิคุณ ทูลกระหม่อม
ราษฎร์ขอน้อม จิตมั่น สรรเสริญ
จงตามรอย เบื้องบาท ราชดำเนิน
ขอชวนเชิญ พัฒนาการ บ้านเมืองเอย
ที่มาของข้อมูลบางส่วน :
¹http://th.wikipedia.org/wiki/เทศบาลนครนครปฐม
² นฤมล บุญญานิตย์.การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.
³ http://123.242.156.6/Nakhonpathom/index.php?option=com_content&view=category&id=13&Itemid=106