โรคไบโพล่าร์

ในเช้าวันหนึ่งได้ฟังวิทยุรายการคุยโขมง 6 โมงเช้า โดยคุณอำนาจ สอนอิ่มศาสตร์ ได้กล่าวถึงโรคไบโพล่าร์ ว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย บางคนคิดว่าตนเองกลับชาติมาเกิด บางคนคิดฆ่าตัวตาย แต่ฟังได้ไม่จบ จึงได้ไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ท ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์ได้ให้รายละเอียดถึงความหมาย สาเหตุของการเกิดโรด อาการของโรค อายุของผู้ป่วย การรักษา และปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีอาการใหม่ ได้อ่านรายละเอียดแล้ว และคิดว่ามีคุณค่าควรแก่การบอกต่อ จึงขอสรุปสาระมาพอสังเขปดังนี้
โรคไบโพล่าร์ (bipolar disorder) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ ( โรคอารมณ์แปรปรวน ) ลักษณะสำคัญของโรคนี้คืออาการผิดปกติของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นแบบซึมเศร้า (depression) หรือตรงข้ามกับซึมเศร้าคืออารมณ์ดีผิดปกติ (mania)
อาการซึมเศร้า (depression) คืออยู่ๆผู้ป่วยก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย คิดแต่เรื่องร้ายๆ รู้สึกเศร้าๆ ไม่แจ่มใส เบื่อหน่ายไปหมดทุกเรื่อง ไม่รู้สึกดีใจเวลามีอะไรดีๆเกิดขึ้น ไม่อยากได้อะไร ไม่มีความสุข เก็บเนื้อเก็บตัวไม่อยากพบหน้าใคร หงุดหงิดโมโหง่าย เบื่อชีวิต บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย
อาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (mania)
ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ พูดมาก หัวเราะง่าย ชอบเข้าไปวุ่นวายกับคนอื่นจนบางครั้งเกิดเรื่องเกิดราว ใช้เงินเปลือง รู้สึกว่าตนเองเก่ง หล่อ สวย หรือเป็นคนสำคัญผิดปกติ บางรายมีอาการของโรคจิตด้วยคือมีความหลงเชื่อผิดเช่นคิดว่าผู้ป่วยเป็นคนสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด
อาการที่สำคัญที่จะบอกว่าป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ คือจะต้องมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (mania) อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมเศร้าเป็นบางครั้งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
โรคไบโพล่าร์นั้นมักเริ่มเป็นก่อนวัยกลางคน บางรายเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แต่บางรายเริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี เป็นโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ลูกหลานของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ได้มากกว่าคนทั่วไป เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ คือหายกลับเป็นคนเดิมได้ แต่ไม่หายขาด ผู้ป่วยบางรายที่เป็นมาหลายครั้ง เป็นค่อนข้างถี่ หรือเป็นแต่ละครั้งรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อไปเรื่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาใหม่
ในปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพล่าร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง
ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพล่าร์ได้แก่ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (antipsychotics), และยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants)
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาใหม่ที่พบบ่อยมี 3 ข้อคือ
1. เครียดมาก เป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบมาก แต่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เครียดเฉพาะ ที่จำเป็นต้องเครียด
2. อดนอน เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่า(การ)งานจะยุ่งเพียงใด ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
3. ขาดยา กินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ยาสามารถช่วยป้องกันการกำเริบได้
ข้อคิด จากที่ได้สรุปสาระของโรคไบโพล่าร์ข้างต้นนี้ อาการบางลักษณะแม้คนที่ไม่เป็นโรคนี้ ก็ยังมีอาการบางส่วนของโรค เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย ใช้เงินเปลือง รู้สึกว่าตนเองเก่ง หล่อ สวย เป็นต้น ส่วนใครต้องการจะศึกษาให้ลึกซึ้งคงต้องไปสอบถามจากผู้เป็นแพทย์โดยตรงจะดีที่สุด

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร