รายงานผลการจัดกิจกรรมที่ศูนย์พักพิง มศก.

1 December 2011
Posted by patcharee

ป้าแมวบอกว่าให้เอารายงานการจัดกิจกรรมที่ศูนย์พักพิงขึ้น Blog ด้วย เพราะจะได้ให้เพื่อนๆ ได้รับทราบถึงกิจกรรมที่ห้องสมุดไปจัดกันทั่วถึง จึงได้ blog นี้ (เป็น kpi อีก 1..อิ..อิ) อยากใส่รูปอยู่แต่ทำไม่ค่อยได้ดี..

สมาชิกที่ไปร่วมจัดกิจกรรม ก็มีปอง พี่เก พี่ดวง กาญ แยม ษร ปุ๊ เขียด พี่มนตรี  หนิง เอ๊ะ

                                                                           😉

 รายงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง ณ ศูนย์พักพิง มศก.

       จากการเกิดอุทกภัยในเขตจังหวัดนครปฐมในอำเภอบางเลน อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี ส่งผลให้มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก จำเป็นต้องอพยพออกจากเขตภัยพิบัติ เนื่องจากไม่สามารถพักอาศัยในบ้านของตนเองได้ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย โดยใช้สถานที่ที่โรงยิมเป็นที่พักอาศัย รับผู้ประสบภัยจากอำเภอนครชัยศรี จำนวน 260 คน (29 ครอบครัว) เข้าพักอาศัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร อำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องอุปโภค และบริโภค มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงบุคคลทั่วไป เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ
       ในจำนวนผู้ประสบภัยที่เข้าพักที่ศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยศิลปากร มีผู้พักพิงที่เป็นเด็กอายุตั้งแต่ 3-14 ปี จำนวนประมาณ 30 คน ซึ่งคงยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ และไม่มีหน้าที่อะไรในศูนย์พักพิง หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มีภารกิจหนึ่งในการส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ แก่ชุมชน จึงได้เข้าไปจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในศูนย์พักพิง เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตามรายละเอียด ดังนี้
 ระยะเวลาในการจัดกิจกรรม
       ตั้งแต่วันที่ 1 -13 พฤศจิกายน 2554   เวลา  9.00 น. – 16.00 น.
 รายละเอียดกิจกรรม
1. การตรวจสุขอนามัย
           – การตรวจความสะอาดของร่างกาย เช่น ผม เล็บ ฟัน โดยการตัดผมให้เด็กที่ผมยาวจนเกินไป สระผมและกำจัดเหา ตัดเล็บ และสอนการแปรงฟันให้สะอาด
           – สอนการใช้ห้องน้ำที่ถูกต้อง
2. การสอนเขียน อ่านภาษาไทย โดยการจัดระเบียบเด็กให้นั่งเป็นโต๊ะๆ แต่ละโต๊ะมีผู้ดูแล  
          – ลากเส้นต่างๆ
          – หัดเขียนพยัญชนะไทย
          – เขียนตามคำบอก
          – หัดอ่านนิทาน
3. วาดภาพ ระบายสี
4. การเล่านิทาน
5. บริการหนังสือนิทานเคลื่อนที่ โดยนำหนังสือเยาวชนไปให้เด็ก ๆ เลือกหยิบอ่านตามความชอบ รวมทั้งอ่านให้ฟัง
6. ประดิษฐ์หมวกจากกล่องนม
7. การฝึกใช้และเข้าใจภาษามือ โดยอาสาสมัครร่วมจาก วิทยาลัยราชสุดา
8. การฝึกเขียนไปรษณียบัตร โดยให้เขียนไปรษณียบัตรขอบคุณท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
9. การทำแว่นตาสามมิติ และดูหนังสามมิติ โดยอาสาสมัครร่วมจากหอภาพยนตร์แห่งชาติ
10. การส่งเสริมภาวะผู้นำและความรับผิดชอบในเด็กโต โดยให้ช่วยดูแลเด็กเล็ก ช่วยสอนอ่าน สอนเขียนให้ก้บเด็กเล็ก พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กโตแสดงความคิดเห็น เสนอแนะวิธีการสอน และชักจูง
สรุปผลที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม
       จากวันแรกที่เข้าไปทำความรู้จักกับเด็กๆ ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เด็กมีช่วงอายุที่ต่างกันมาก คือตั้งแต่อายุประมาณ 3 ปี จนถึงอายุ 14 ปี ระดับการเรียนต่างกันมาก ทำให้การจัดกิจกรรมจะต้องมีการจัดการที่สามารถให้เด็กโตและเด็กเล็กสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ ตลอดช่วงของการจัดกิจกรรม สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของเด็กหลายประการ คือ
1. ความสะอาดของร่างกาย เด็กอาบน้ำ แปรงฟัน หวีผม ทุกวัน
2. วิธีการพูด เด็กพูดจามีครับ ค่ะ มากขึ้น
3. เด็กดื้อน้อยลง สามารถรับฟัง และยินยอมทำตามข้อตกลงได้มากขึ้น
4. ความเป็นระเบียบ เช่นการเก็บของเล่น การทิ้งขยะ ทำได้สม่ำเสมอมากขึ้น
5. สังเกตเห็นว่า เด็กบางคนชอบอ่าน ชอบเขียน หนังสือ บางคนชอบวาดรูป หากเด็กมีโอกาสในการเรียน และได้รับการฝึกฝน ก็น่าจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้มากขึ้น
 กรณีตัวอย่าง
1. มีเด็ก ๆ หลายคน ไม่สนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมในห้อง ประกาศว่า มีคณะครูจากโรงเรียนสาธิต มศก. มาจัดกิจกรรมให้ก็มีเด็กอยู่ในห้องประมาณ 10 คน แต่พอประกาศว่า ใครสนใจอยากรู้บ้างว่า ภูเขาไฟระเบิดได้อย่างไร ก็ทำให้มีเด็กโต เข้ามาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น จนถึง 30 คน และในระหว่างการจัดกิจกรรม เด็กๆ มีการช่วยกันสร้างภูเขาไฟ เตรียมสาร และรอคอยการทดลอง ตื่นเต้นที่จะคอยดูผลงานของกลุ่มของตนเอง  จึงทำให้เห็นว่าหากสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ประยุกต์ให้เด็กๆ ที่มีความหลากหลายกันทุกๆ ด้านเช่นนี้เกิดความสนใจ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานก็จะสามารถชักนำให้เด็กเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
 2. มีเด็กหญิงคนหนึ่ง อายุประมาณ 9 ปี ชอบเป็นคนสอนน้องๆ ให้อ่าน และเขียนไทย ตามคำบอก เมื่อเสร็จแล้วก็จะตรวจงานให้เสร็จเรียบร้อย พร้อมทั้งมีการเสนอให้มีการให้รางวัลคนที่อ่านเก่ง เขียนเก่ง (บอกน้องว่า เมื่อสะสมดาวได้เยอะแล้ว ให้ไปขอรางวัลที่ป้าๆ) เป็นเด็กที่มีทักษะในทุกๆ ด้าน ได้สอนเทคนิคการวาดรูป การพับกระดาษ ก็สามารถเรียนรู้ได้ และทดลองทำด้วยตนเอง จึงทำให้คิดว่าหากผู้ปกครองหรือครู เห็นถึงความตั้งใจ ความชอบของเด็กก็จะสามารถสนับสนุนเด็กได้ อย่างน้อยก็ทำให้เด็กรู้จักตนเอง รู้จักตัดสินใจได้ว่า ตนเองจะชอบอะไร เป็นการปิดโอกาสหนทางแห่งความเสื่อมเสียได้บ้าง  
 3. เด็กชาย 1 คน อายุประมาณ 5-6 ปี เป็นเด็กดื้อมาก ไม่เคยเชื่อฟังหรือทำตามสิ่งที่บอกเลย แต่ก็เข้ามาอยู่ในห้องกิจกรรม ก่อกวนคนอื่นเรื่อยไป จนถูกดุ และลงโทษบ่อยๆ ครั้งแรกๆ เด็กจะร้องไห้ ต่อมาหลังจากที่เด็กเรียนรู้ว่า หากเขาดื้อ ไม่เชื่อฟัง และรังแกเพื่อน ก็จะไม่มีใครเล่นด้วย และมีแต่คนโกรธ ก็จะเริ่มยิ้มแย้ม ดื้อน้อยลง พอได้รับคำชมก็จะดีใจ และบอกว่าจะไม่ดื้อแล้ว (จริงๆยังดื้อบ้างแต่น้อยลง) ทำให้ได้คิดว่า เด็กเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ที่รอเพียงแต่ว่าเจ้าของจะลงโปรแกรมอะไรให้เท่านั้น
ปัญหาที่พบในการจัดกิจกรรม
 1. เด็กมีอายุต่างกันมาก ทำให้การจัดกิจกรรมต้องเลือกสิ่งที่สามารถใช้ได้กับเด็กทุกระดับ
2. ไม่สามารถรวมเด็กที่กระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ ให้มาเข้าห้องร่วมทำกิจกรรมได้
3. ปัญหาในการจัดการกับเด็กที่มีอุปนิสัยชอบพูดปด รังแกเพื่อน บางครั้งทำให้รู้สึกเหนื่อยใจ
4. ปัญหาในการจัดการของผู้ดูแลศูนย์ฯ ซึ่งบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้ประสานงานกัน
5. ปัญหาความพร้อมของอุปกรณ์ที่จะใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น ไมโครโฟน ไวท์บอร์ดและปากกา เป็นต้น
g007
g004g006g009g005g008

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร