รู้เรื่อง….โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)

18 May 2009
Posted by Ekanong Duangjak

ช่วงนี้มีข่าวการระบาดของเรื่องโรคชิคุนกุนยา ทางจังหวัดภาคใต้ของไทยเรา ที่จริงตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแ่ต่ตอนที่กลับมาจากใต้ชวงสงกรานต์ เนื่องจากช่วงที่ไปนั้นทางใต้เริ่มมีข่าว และที่บ้านสามีก็คุยๆ กันให้ฟัง เพราะโรคนี้เป็นได้ทุกเพศทุกวัยเค้าจึงต้องเฝ้าระวังกัน ยิ่งคนที่อยู่ในสวนยางด้วยแล้ว แต่ทำไปทำมาก็ไม่ได้เขียน ได้แต่ค้นข้อมูลเก็บไว้ และเมื่อเช้านี้เห็นมีข่าวออกมาทางโทรทัศน์ เห็นว่าทางใต้้ มีคนเป็นโรคนี้นับหมื่นรายแล้ว ใน 15 จังหวัด เลยต้องเอาข้อมูลที่เก็บไว้มาลงใน blog ให้ได้อ่านกัน เพื่อเป็นความรู้
โรค ชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี หรือไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค
วิธีการติดต่อ ติดต่อกันได้โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ  เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูก กัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้
ระยะฟักตัว โดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วั
ระยะติดต่อ ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก
อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคือ อาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก
การติดเชื้อ Chikungunya virus เดิมมีรกรากอยู่ในทวีปอาฟริกา ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2501 โดย Prof.W McD Hamnon แยกเชื้อชิคุนกุนยา ได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพมหานคร
ในทวีปอาฟริกามีหลายประเทศพบเชื้อชิคุนกุนยา  มีการแพร่เชื้อ 2 วงจรคือ 1) คน-ยุง-ลิง อาจทำให้มีผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆ  เป็นครั้งคราว เมื่อมีผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้อยู่ และคนอาจนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก ทำให้เกิด วงจรที่ 2) คน-ยุง จากคนไปคน โดยยุงเป็นพาหะ
ในทวีปเอเซีย การแพร่เชื้อต่างจากในอาฟริกา การเกิดโรคจากคนไปคน โดยมียุงเป็นพาหะที่สำคัญ ซึ่งอุบัติการของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย หลังจากที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ก็มีรายงานจากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ เขมร เวียดนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
โรค นี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์  พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี  ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย ก่อนที่ล่าสุดจะพบการระบาดอีกครั้งในช่วงต้นปี 2552 ที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา สงขลา และปัตตานี ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยากว่า 5,596 รายแล้ว (ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552)

การรักษา ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง (specific treatment) การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคอง (supportive treatment) เช่นให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน


ที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
และข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/6311

3 thoughts on “รู้เรื่อง….โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)

  • โชคดีที่อยู่นครปฐม……ไอ้ยุงร้าย ยุงลายจากทางใต้ มันคงบินมาไม่ถึงนครปฐมหรอกนะ…….แต่ระวังเอาไว้หน่อยก็ดี

  • อย่างที่พี่กวีบอกไว้ก็ดีค่ะ ระมัดระวังกันหน่อย เพราะข่าวล่าสุดที่ดูตอนนี้พบผู้ป่วยที่จังหวัดระนองแล้ว รู้สึกว่ามันจะเขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้การเดินทางมันสะดวกรวดเร็ว เราไม่รู้ว่า คนที่โดนยุงพวกนี้กัด เค้าเดินทางไปไหนมาบ้าง ยิ่งในระยะฟักตัวที่อาการยังไม่ออก ที่ทางใต้หากคนไข้มีอาการไข้ขึ้นสูง เค้าจะตรวจค่อนข้างละเอียด ยังไงอ่านกันแล้วระวังก็ไม่เสียหายอะไร

  • เคยดูโฆษณาผู้หญิงอ้วนไหม แบบนั้นแหละ ระวังมันจะมาโดยไม่รู้ตัว

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร