เรียนปริญญาโท-ปริญญาเอก อย่างไร…ให้จบ
ได้พบหนังสือเล่มหนึ่งเห็นชื่อแล้วน่าสนใจ ด้วยในสมัยเก่าก่อนกว่าตัวเองจะตัดสินใจเรียน ป.โท ได้ ก็คิดกลับไปกลับมาหลายรอบ ประกอบกับฟังคนร่ำลือว่ากว่าจะเรียนจบ ป.โท ได้ ต่างมีความทรงจำอันแสนทรมาน คิดไปคิดมาสุดท้ายก็ได้เรียนด้วยเรื่องเหลือเชื่อตั้งแต่ก่อนจะเข้าเรียน และหลังเรียนจบ
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าการศึกษาระดับ ป.ตรี นั้นคงไม่เพียงพอเสียแล้วสำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่เส้นทางอาชีพที่ใฝ่ฝัน ดังนั้นการศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจึงเป็นคำตอบและเป็นใบเบิกทางไปสู่หน้าที่การทำงานที่สูงกว่า อย่างไรก็ตามหลายๆ คนก็คงรู้สึกว่าการศึกษาในระดับสูงนี้ยากและน่ากลัว เรียนแล้วจะจบหรือไม่ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายซึ่งค่อนข้างสูง
หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่และผู้สนใจในการศึกษาต่อ รวมทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา เนื้อหาของหนังสือบอกถึงข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้ก่อนจะตัดสินใจเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึงคนที่ตัดสินใจเรียนแล้วจะได้มีข้อมูลที่ช่วยให้การเรียนง่ายและมีแบบแผนมากขึ้น ไม่ได้เน้นที่รายละเอียดของการทำวิจัยและการเขียนวิทยานิพนธ์
เนื้อหาหนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 10 บท
บทที่ 1 การเตรียมตัวก่อนศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องการศึกษา อันดับแรกก่อนจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ควรมีการเตรียมตัวหาข้อมูลก่อน ก่อนอื่นต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้เสียก่อนว่า “เราจะเรียนปริญญาโทและเอกไปเพื่ออะไร” เพราะนั่นคือจุดมุ่งหมายในชีวิตของท่านและจะมีผลต่อพฤติกรรมการเรียนของท่านด้วย ผู้เขียนได้แบ่งเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อระดับนี้ไว้ 7 ประเภท กล่าวคือ 1. เรียนเพื่อเติมความรู้ 2. เรียนเพื่อเปลี่ยนอาชีพ 3. เรียนเพื่อยกระดับ เป็นเหตุผลส่วนใหญ่ของนักศึกษาในปัจจุบันที่สังคมส่วนหนึ่งมองว่าวุฒิการศึกษาสำคัญกว่าประสบการณ์ 4. เรียนเพื่อเงิน เพราะต้องการมีรายได้ที่ดีขึ้นจากวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น หรือการเรียนทำให้ได้รับทุนการศึกษา ทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้พอสมควร 5. เรียนเพื่อฆ่าเวลา เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรจึงมาเรียนต่อและหวังว่าตนเองจะรู้ได้ว่าจะทำอะไรต่อไปในระหว่างที่เรียนหรือเมื่อเรียนจบ 6. เรียนตามเพื่อน 7. เรียนเพราะถูกบังคับ อาจโดนบังคับจากผู้ปกครองหรือเงื่อนไขของทุนการศึกษาที่ได้รับ
ไม่ว่าเหตุผลส่วนตัวในการตัดสินใจเรียนระดับปริญญาโทและเอกของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร หากตัดสินใจเรียนแล้วก็ต้องหาข้อมูลว่าจะเรียนอะไร และเรียนที่ไหนดี ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาขั้นสูงในประเทศไทยมีจำนวนมากมาย ทั้งหลักสูตรปกติ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรแบบเต็มเวลาที่นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่กับการเรียนไม่สามารถทำงานประจำเช่นเดิมได้ และหลักสูตร part time ที่มีการเรียนการสอนในตอนเย็นหลังเวลาทำงานปกติและวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ทำให้เหมาะกับผู้อยากเรียนต่อแต่ไม่อยากลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่
ก่อนที่จะสมัครเรียน ต้องตอบคำถามตัวเองอีกข้อว่าต้องการศึกษาต่อในสาขาวิชาใด จะเป็นสาขาเดิมที่เคยเรียนมาแล้วในระดับปริญญาตรี หรือจะเปลี่ยนใจไปเรียนสาขาวิชาใหม่ และหากไปเรียนสาขาวิชาใหม่ต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง และเพราะอะไรถึงต้องเปลี่ยนไปเรียนในสาขาวิชาอื่นด้วย ผู้ที่สนใจจะเรียนต่อจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกเรียน เพราะสิ่งนี้จะส่งผลต่ออนาคตของผู้เรียนอย่างมาก
บทที่ 2 การศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญาโทและเอก หรือที่เรียกว่า “บัณฑิตศึกษา” จุดประสงค์ของการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก นั้นแตกต่างกันมาก สรุปได้ว่า 1. “เพื่อรู้” ในการศึกษาระดับปริญญาตรี 2. “เพื่อนำไปใช้จริง” ในการศึกษาระดับปริญญาโท 3. “เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ” ในการศึกษาระดับปริญญาเอก
การศึกษาในระดับปริญญาเอกจะแตกต่างกับปริญญาโทอย่างมาก ทั้งในเรื่องของระยะเวลาที่ใช้ศึกษา รวมทั้งขนาดและคุณภาพของงานวิจัย อย่างต่ำตั้งแต่ 3 ปี ถึง 8 ปี ขึ้นอยู่กับระเบียบของสถาบันการศึกษานั้นๆ
ประเด็นถัดมาที่ผู้เรียนต้องพิจารณาก็คือสถาบันการศึกษานั้นมีหลักสูตรที่ต้องการจะเรียนหรือไม่ ถ้ามีเป็นลักษณะใด เช่น ทำวิจัยอย่างเดียว หรือมีเรียนรายวิชาและทำวิจัยด้วย มีกำหนดการเรียนกี่ปีและความยากง่ายที่จะเข้าศึกษาต่อที่สถาบันนี้เป็นอย่างไร
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเรียนต่อในสาขาวิชาใด ก็มาถึงคำถามที่ว่า “แล้วจะไปเรียนต่อที่ไหน” สถานที่เรียนต่อก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษาด้วยเช่นกัน จะเรียนต่อที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ในประเทศหรือต่างประเทศ ถ้าเป็นต่างประเทศจะเป็นประเทศอะไร ประชาชนในประเทศนั้นสื่อสารกันด้วยภาษาอะไร อากาศเป็นอย่างไร ฯลฯ
บทที่ 3 กระบวนการทั่วไปในการศึกษาระดับปริญญาเอก กล่าวถึงหัวข้อ ความจริงในการศึกษาระดับปริญญาเอก ความรู้ความสามารถภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังไว้กับนักศึกษาจะสูงมาก เช่น สามารถใช้ภาษาทางวิชาการได้ถูกต้องทั้งการพูดและการเขียน มีความสามารถในการเขียนที่ถูกต้องตามโครงสร้างของภาษาเขียน สามารถเขียนและอธิบายได้อย่างมีเหตุมีผลตามหลักของงานเขียนทางวิชาการ ฯลฯ
บทที่ 4 การทำวิจัย ว่าด้วยหัวข้องานวิจัย หลักเกณฑ์ในการเลือกหัวข้องานวิจัย การวางแผน การจัดการเวลา การปฏิบัติ
บทที่ 5 การเขียนวิทยานิพนธ์ รูปแบบของวิทยานิพนธ์ โครงสร้างของวิทยานิพนธ์ เทคนิคการเขียนวิทยานิพนธ์
บทที่ 6 การสอบวิทยานิพนธ์ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ในการสอบวิทยานิพนธ์ การเลือกกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ การส่งเล่มวิทยานิพนธ์ การเตรียมตัวก่อนสอบวิทยานิพนธ์ ผลการสอบวิทยานิพนธ์
บทที่ 7 ทำไมเรียนไม่จบ สาเหตุที่เรียนไม่จบ คำแนะนำทั่วไปสำหรับนักศึกษาที่ทำวิจัย
บทที่ 8 ประสบการณ์ความรู้สึกในการศึกษาขั้นสูง
บทที่ 9 บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา จำนวนอาจารย์ที่ปรึกษา หน้าที่ สิ่งอาจารย์ที่ปรึกษาที่นักศึกษาต้องการจากอาจารย์ที่ปรึกษา การเปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา
บทที่ 10 การปรับตัวของนักศึกษา กล่าวถึง ชีวิตในหมาวิทยาลัย การศึกษาด้วยตนเอง การจัดการเวลา การสื่อสารกับอาจารย์ที่ปรึกษา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย. ทำอย่างไรถึงจะเรียนจบปริญญาโทและเอก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553. 233 หน้า. (LB 2395 ส72)
One thought on “เรียนปริญญาโท-ปริญญาเอก อย่างไร…ให้จบ”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ในหอสมุดของเรา บรรณารักษ์รุ่นเก่า ไม่ใช่ 2-3 ปีที่ผ่านมา จบปริญญาโทเกือบทุกคน ล่าสุดเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ เพิ่งจบและรับปริญญาโทจาก มศก.ของเรา จริงที่สุดจบปริญญาโทต้องนำความรู้ที่ได้ไปใช้ได้จริงๆ ทุกบททุกตอนที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ ใช่เลย/ถูกต้องนะคะ ทราบมาว่าบางคนจะเรียนปริญญาเอก ติดที่เงินทุน บางคนติดที่ครอบครัวเกรงสามีจะเปลี่ยนใจไปมีคนอื่น 555 บางคนเก็บเงินไว้ใหลูกเรียนดีกว่า บางคนระบุเรียนปริญญาเอกใช่สูงสุดของชีวิต สำหรับพี่แมวผู้ที่จบปริญญาเอกนอกจากนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ (ก็ผ่านปริญญาโท) ถ่ายทอดสิ่งที่ยากๆให้ง่ายแล้ว ต้องมีองค์ความรู้หลากหลายและแน่นมากๆ เหมือนพหูสูตร เหมือนอับดุลย์ พี่แมวพูดได้ว่า บางคนในหอสมุดมีความรู้เต็มสมอง ถือว่าแน่นมากๆ ยากที่ปริญญาเอกบางคนหรือหลายคนจะสู้ได้ พี่แมวที่ว่าตัวเองแน่ๆ ตกขอบล่วงลงไปเลยไม่ใช่แค่ชิดซ้ายนะคะ ใครเอ่ยสอบถามกัเอาเองนะ