ง งบประมาณ
ชีวิตไม่คิดฝันว่าจะต้องมายุ่งๆ กับเรื่องงบประมาณ เพราะมั่นคงและตั้งใจกับวิชาชีพ
เริ่มตอนไหน…เริ่มตอนไปทำงานล่วงเวลา ที่ต้องเขียนเบิก อันนี้ทำแค่ตรวจสอบเอกสารและบวกและคูณเลขเท่านั้น
ต่อมาคงเป็นเรื่องของการไปราชการ ที่ทำให้รู้จักเรื่องของงบประมาณมากขึ้น เพราะมีเงินหลายแบบ และการจัดการเอกสารที่ต้องอาศัยการเรียนร้จากรุ่นพี่ๆ ถามแล้วจำ ตรวจสอบและรอบคอบ เช่น
– ค่าที่พัก หลักฐานคือ ใบเสร็จรับเงิน และยังต้องมีใบรายงานการเข้าที่พัก (folio) ที่ต้องมี เด็กใหม่ๆ จะลืม เวลาไปโรงแรมที่อยู่ต่างหวัด โรงแรมเปิดใหม่ๆ เวลาขอมักจะงงๆ แถมต้องดูลักษณะและท่าทางว่าควรจะต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ ว่า โฟ-ลิ-โอ้ หรือภาษาไทยดี สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออันตัวเรานั้น เบิกค่าที่พักได้เท่าไร หากห้องพักราคาสูงก็ต้องจ่ายส่วนเกิน แปลว่าควักกระเป๋าเอง หากไม่มีก็ต้องให้โรงแรมทำให้มีให้ได้
– ค่าพาหนะ หลักฐานคือ กากตั๋ว หมายถึงตั๋วรถไฟ รถทัวร์ เรือบิน (ส่วนเรือสำราญยังไม่มีใครเบิก เลยไม่ทราบ) ที่ผ่านการตรวจหรือวิธีการจากฝ่ายตรวจสอบของพาหนะดังกล่าวมาอย่างยับย่น จำไว้แม้จะยู่ยี่แค่ไหนจงเก็บกลับมา ส่วนค่าเครื่องบินสมัยนี้ไม่ค่อยมีตั๋ว เพราะอะไรๆ ก็เป็นออนไลน์ เมื่อจองตั๋วแล้วจงพิมพ์ออกมาเป็นหลักฐาน แต่บางครั้งจะมีการส่งเป็นข้อความกันในทางโทรศัพท์ เมื่อไปถึงสนามบิน เจ้าหน้าที่จะมี Tag (ป้าย) เล็กๆ มาให้จงเก็บกลับมา ห้ามหายเช่นกัน หากเป็นการเดินทางไปต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เป็นหมู่คณะ อย่าได้ไปจองพวกสายการบินต่างประเทศเชียวนา แม้เราจะใจขาดเพราะราคาถูกกว่า จำไว้ต้องการยินไทยเท่านั้น หากจะใช้สายการบินอื่นทำได้ แต่ต้องมีการสอบถามราคาจากการบินไทยไปเปรียบเทียบราคา และต้องตอบรับภายในเวลาที่กำหนด จึงมักไม่มีใครทำกัน ค่าทางด่วน เก็บใบเเสร็จยับๆ มาเช่นกัน ค่าโดยสารรถรับจ้าง ที่ต้องมีวงเล็บในช่องหมายเหตุว่า มีสัมภาระ ในใบตองหนึ่ง หน้าตาเป็นอย่างไรโปรดถามคุณหนูใหญ่ และ ค่าน้ำมันรถ ที่ต้องมีใบเสร็จรับเงินจากปั้ม
บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องนำรถของเราไปเองเหนื่องจากเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่สามารถขอรถไปราชการได้ หรืออะไรอีกไม่ทราบ (ต้องสอบถามคุณหนูใหญ่เช่นกัน ต้องทำเรื่องขออนุมัติก่อน บอกเหตุผล ความจำเป็น ใช้รถโโยสารหมายเลขทะเบียนเท่าไร พร้อมกับแนบแผนที่ที่บอกระยะทาง สมัยนี้สุขสบายเพราะมีกูเกิ้ลแมพมาช่วยชีวิตให้ง่ายขึ้น
– ค่าลงทะเบียน งานธุรการของเรามักส่งเงินไปให้ก่อนโดยส่งทางธนาณัติ สมัยนี้หลายหน่วยงานจำกัดให้มีการโอนเงิน แต่ค่าโอนนั้นกลับเบิกไม่ได้ 55 ตอนนี้ สบม. เพราะข้าพเจ้ามีบัญชีที่ไม่ต้องเสียค่าโอน จึงมีหลายคนมาขอใช้บริการอยู่บ่อยๆ หน้าที่ของคนไปราชการคือ ต้องตรวจสอบใบเสร็จของเราให้ถูกต้อง ชื่อ นามสกุล และที่อยู่ต้องถูกต้อง
– ค่าเบี้ยเลี้ยง แต่ละระดับได้รับเงินในส่วนนี้ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ไปด้วยกัน คือข้าราชการชั้นผู้น้อยต้องเจียมตัว ห้ามรับทานอะไรแพง แม้ว่ารถไฟจะขายราคาเดียวกันทั้งขบวน 555 หากเจ้าภาพเลี้ยงมื้อไหน ตัดเบี้ยเลี้ยงออกนะคะ และต้องรู้จักการนับชั่วโมงการไปปฏิบัติราชการ
อันนี้เป็นฉบับย่อ ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันเขียน เพราะไม่มีใครเขียนเรื่องแบบนี้ได้ครบถ้วนทุกกระบวนความ แถมบางเรื่องจะต้องบอกต่อๆ ถึงประสบการณ์และการแก้ปัญหาแต่ละครั้ง
ประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นผู้ชำนาญการคือเรื่องการเขียนโครงการ ที่งบประมาณจริงแท้ในโครงการมีอยู่สามหมวดคือ ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ที่เข้าใจได้ ถามว่าทำไมจึงเข้าใจ คำตอบคือเพราะประสบการณ์ที่เขียนบ่อย จนเกือบเท่าๆ กับแก้บ่อย การมองงานในภาพรวม ที่สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนชิ้นงาน หรือจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องมีความสัมพันธ์กัน รวมทั้งการเข้าใจสถานะทางการเงินของหน่วยงาน เหมือนกับการเข้าใจกระเป๋าตังส์ตัวเอง
ส่วนงานหลักในขณะนี้คืองบประมาณสำหรับค่าวัสดุการศึกษา การเงินเรียกแบบนี้ แต่ที่ห้องสมุดเรียกวัสดุการศึกษา ว่า ทรัพยากรสารสนเทศ
งานนี้มีอยู่สองงบใหญ่คือ งบแผ่นดิน และงบรายได้ และ (อีกครั้ง) ที่เจ้างบรายได้ก็อาจจะมีย่อยๆ ลงไปอีก เช่ย งบรายได้ของหน่วยงานไหนหรือได้มาจากส่วนใด …. สองปีนี้งบประมาณ ดูแปลกๆ เพราะบอกว่าพัฒนาห้องสมุดแต่งบประมาณสวนทางกัน หากใช้ KPI ของ PULINET มาวัดเมื่อไร เมื่อนั้นก็มึนเท่านั้นจนตั้องปกปิดเป็นความลับคับอก
มหาวิทยาลัยวิจัย กับห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการวิจัย งบประมาณเป็นสัดส่วนเท่าไรนะอยากรู้จัง เท่าๆ กับอยากรู้ว่ามาหวอทยาลัยสร้างสรรค์กับห้องสมุดสร้างสรรค์ สัดส่วนควรจะเป็นเท่าไรหรือเราไม่เกี่ยวหว่า?
สำหรับตัวเอง ตอนนี้เริ่มงานใหม่ของการจัดซื้อแบบงกเงิ่นๆ ในต้นงบประมาณพอดี แถมเป็นปีที่ผิดปรกติ เพราะป่านฉะนี้แล้วตัวเลขทั้งหลายแบบแน่นอนยังมาไม่ถึงมือ เพราะน้องน้ำเป็นเหตุ เหมือนนนกับเมื่อปี 2540 ที่คนไทยต้องรับทานต้มยำกุ้งกันทั่วหน้า และในปีนั้นเราก็ทำงานนี้เช่นกัน ไม่เข้าใจตัวเองเลยว่าไหงต้องเจออะไรแบบนี้ถึงสองครั้ง
พยายามนะ พยายามมากทีเดียวที่จะดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีให้ได้ ตั้งแต่กระบวนการที่หนึ่ง ไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายที่ทรัพยากรสารสนเทศทุกชิ้น ส่งผ่านมือไปยังผู้เกี่ยวข้องโดยสวัสดิภาพ