ค…..คิด

การทำงานในห้องสมุดมีเรื่องราวทั้งที่เราคิดเอง และมีคนอื่นมาบอกให้เราคิด  งานแต่ละงานก็มีแนวให้เราคิดที่ต่างกัน แต่มีแนวทางเดียวกันคือมุ่งให้เราพัฒนางานที่เรารับผิดชอบและมีส่วนเกี่ยวข้อง ถามว่าแนวทางนี้เรานำมาจากไหน ตอนนี้คงบอกว่าที่ง่ายที่สุดคือ KPI ที่เราถือครองอยู่
ช่วงเดือนนี้เป็นช่วงของการปรับเปลี่ยน สัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าเราควรต้องหาเวลา “คิด” พิจารณา ไตร่ตรองและทบทวน หาโอกาสพูดคุยกันเพื่อช่วยกันคิด และคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ บวกกับจินตนาการบนพื้นฐานของข้อมูล จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
เวลาพูดเรื่องคิด ตำราจะบอกว่าใช้สมองสองซีกต่างกัน โดยซีกซ้ายทำหน้าที่คิดอย่างมีเหตุผล ขณะที่สมองซีกขวาทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ สร้าง จินตนาการ และความคิดอย่างสร้างสรรค์  แต่ในสถานการณ์จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าขณะนี้ ณ ขณะหนึ่ง ขณะใด เราใช้สมองซีกไหน มากไป น้อยไป หรือใช้แบบสมดุลย์
มหาวิทยาลัยของเราประกาศตัวว่าเป็น Creative University ข้างๆ บ้านเราก็มีป้ายติดไว้ ที่ตัวเองชอบมองทุกวัน และอดที่จะคิดไม่ได้ว่าความเป็น Creative ของเรา มันเป็นต่อนๆ ยังไงบอกไม่ถูก ไม่ได้ประสานเป็นหนึ่ง หรือมีภาพรวมที่ชัดเจนให้เราเดินตาม แถมยังยากที่จะตอบว่าหน่วยงานของเรามีส่วนเพื่อสนับสนุน หรือทำหน่วยงานให้เป็น Creative แค่ไหน อย่างไร … ไม่รู้ว่าคิดแบบนี้เราใช้ซีกไหนคิด หรือคนอ่านอาจบอกว่าเขียนจากสมองที่ไม่มีรอยหยัก ก็อาจเป็นไปได้
ห้องสมุดของเราก็พยายามลากเข้าความเพื่อให้เข้าพวกกับมหาวิทยาลัย  บอกว่าเราก็เป็น Creative Library แถมยังจัดสัมมนาหัวเรื่องนี้แบบกิ๊บเก๋ยูเรก้า พร้อมๆ กับนำเสนอสิ่งที่คิดว่า Creative ไปมากมายเป็นสิบเรื่อง
ในฐานะที่เป็นเจ้ดันมากกว่าครึ่งที่นำผลงานไปนำเสนอ เหตุผลที่แท้จริงคืองก อยากได้ตังส์ แต่ ฮ่าฮ่า  จึงมีคนถามว่าที่เสนอไปครีเอทีฟตรงไหน บอกไปแบบมีอัตตาว่า ที่อะฮั้นคิดน่ะใช่ทั้งหมด … ได้ผลแฮะ เพราะได้ค้อนวงใหญ่กลับมาเป็นรางวัล  แต่พอเราไปดูผลงานของคนอื่น โอ้โห “เจ๋ง” “เท่ห์” “คิดได้ไงเนี่ย” “ใครคิด” ฯลฯ เลยแอบจ๋อย ก้มหน้าก้มตาอ่านของเพื่อน และคิดตาม  หลายตำราบอกว่าคนที่คิดอะไรได้มากๆ (ไม่ใช่คน “คิดมาก”) เกิดจากการสะสมของการฟัง พูด อ่าน และเขียนเพราะสิ่งพวกนี้ล้วนเอื้อต่อกัน
การฟัง เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อให้คิด ยิ่งสามารถฝึกฝนให้ตัวอยู่ในลักษณะของ deep listening ก็จะมีคุณูปการกับตัวเองไม่น้อย
การพูด เป็นการดึงข้อมูลที่มีอยู่ แล้วส่งออกไปใช้งานอย่างเป็นระบบ ถึงจะสื่อสารกับเพื่อนได้รู้เรื่อง หรือเป็นผู้มีวาทศิลป์ ที่ไม่เกี่ยวกับพูดหวานไพเราะจับใจแต่ไม่ได้ความหรือสาระอันใด

การอ่าน เป็นการฝึกสมาธิกับเรื่องราว ดื่มด่ำไปกับอรรถรส พร้อมๆ กับการเก็บข้อมูลสะสมคลังคำ ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษบอกว่า การอ่านทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์ (ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำหนักใดๆ) เรื่องนี้ห้องสมุดสนับสนุนให้การอ่านเป็นการพัฒนาตนเองด้วย  แต่จำเป็นต้องมีกติกาที่ใช้ถือครองร่วมกัน

และข้อสุดท้ายคือ การเขียน เป็นการฝึกฝนให้เราควบคุมความคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานกันการหลงลืมและนำกลับมาใช้ ปรับใช้ ปรับ เปลี่ยน ฯลฯ และเป็นหนึ่งใน KPI ที่เป็นคะแนนช่วยแบบยาขมสำหรับบางคน แต่กลับเป็นน้ำหวานสำหรับหลายๆคนเช่นกัน ที่บ้านแม้เราจะไม่มี KPI แต่เรามีสิ่งที่เหมือนกันแต่เรียกต่างกัน มีธรรมเนียมปฏิบัติ กฏเกณฑ์ คำสั่ง ฯลฯ ทั้งที่เราเป็นผู้สร้างเกณฑ์ ตัวชี้วัด และทำตามที่ผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านกำหนด ให้เราทำตาม และยากที่จะโต้แย้ง
ทุกกระบวนการสามารถฝึกฝนกันได้ …. วันนี้ ค….คิด คิดได้แค่นี้ ง่วงแล้ว ราตรีสวัสดิ์ สี่ทุ่มสิบนาทียี่สิบวินาที
ปล. ค เฉยๆ นะคะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร