ข….เขียน

เคยมีคนถามว่าทำไมจึงชอบเขียนหนังสือพอๆ กับว่าทำไมจึงอ่านหนังสือ
เรื่องอ่านหนังสือมาจากครอบครัวล้วนๆ ส่วนเรื่องเขียนหนังสือนั้นมาจากโรงเรียน เพราะคนในครอบครัวไม่ม่ใครชอบเขียนหนังสือ อย่างป๊ะป๋าจะเขียนจดหมายหาแค่ไม่เกินสิบบรรทัดต่อเเดือน ตลอดเวลาที่เรียนหนังสือที่ต่างจังหวัด
ครูแรกที่ทำให้รักการเขียน เป็นครูสมัยประถมชื่อคุณครูนิพนธ์ ไชยสิทธิ์ มาสอนตอนเราอยู่ ประถมสี่  ครูเพิ่งจบจาก มศว.ประสานมิตร เป็นคนจากภาคใต้ ที่ทำให้เราเปิดโลกเล็กๆ ของเราว่ายังมีคนอื่นๆ ด้วยในโลกเล็กใบเล็กๆ ของเรา จึงรู้สึกสนุกเวลาครูเล่าอะไรให้ฟังโดยเฉพาะเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับภาคใต้ เรื่องการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แบบนั่งฟังอ้าปากหวอ…
ครูบอกว่าการเขียนเรียงความประกอบด้วย บทนำ เนื้อเรื่อง และสรุป หากเนื้อหามากๆ  ก็ขยายเนื้อเรื่องออกไปแต่ละย่อหน้า เรื่องใหม่ก็ขึ้นย่อหน้าใหม่ ไปเรื่อยๆ เขียนให้รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไม แล้วได้ผลอย่างไร ก็จำไว้ตั้งแต่นั้นมาและยังนำคำสอนของครูมาใช้จนถึงปัจจุบัน
พอขึ้น ป.ห้า มีครูรุ่นใหม่ไฟแรงให้ทำหนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน ครั้งนั้นได้รับมอบหมายให้ทำข่าวการศึกษา หน้าที่คืออ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ชัยพฤกษ์ หรืออะไรๆ แล้วเขียนสรุปไปให้ครู เป็นงานที่สนุกดี ครั้งนี้ครูตั้งนามแฝงให้ด้วยว่า “เมธี” บอกว่าเหมาะกับเรา นามแฝงนี้ก็ยังใช้อยู่ แะถือเป็นสิริมงคลกับชีวิตที่ครูกรุณามอบให้
สมัยเด็กๆมักเขียนเรียงความประมาณสองหน้า ต่อมาในสมัยมัธยมศึกษาปีที่สอง อาจารย์ (เรียกครูตั้งแต่มัธยม) สอนภาษาไทยอีกนั่นแหละสั่งให้เขียนเรียงความในชวงปิดเทอมแรก เรื่อง “ฟ้าหลังฝน” บอกว่าเขียนมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เขียนไปได้ประมาณห้าหน้ากระดาษ ส่งไปให้ท่านหวังเต็มที่ หวังว่าจะได้รับคำชมเชย พอได้รับสมุดกลับคืน ลนลานเปิดพบเครื่องหมายถูกกับคำว่าตรวจแล้ว เท่าๆ กับเพื่อนที่เขียนไปหน้ากว่าๆ …55 เฮ้อ อ่านของเราสักตัวหรือปล่าวเนี่ย ขณะที่เพื่อนๆ ขำสมน้ำหน้า… เสียใจนะกับความตั้งใจ แต่ไม่เสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำไป ได้แต่จำและนำเอามาเป็นบทเรียนว่าใครเขียนอะไรมา เราจะต้องตั้งใจอ่านและบอกเขาว่าเราคิดอย่างไร
ต่อมาสมัยมัธยมปลาย อาจารย์ที่ปรึกษาให้เขียนไดอะรี่ บันทึกกิจกรรมแต่ละวัน ก็เขียนอย่ได้ประมาณปี พอจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นอันต้องเลิกรากันไป
พอต้องมาเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวัน ก็เห็นอยู่ว่ามีข้อดีมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่ให้ประสบการณ์ได้ แต่ตัวเองปฏิเสธและหาเหตุคือคำว่าขี้เกียจคำเดียว รวมทั้งอายุมากแล้ว ความจำก็เริ่มเลอะเลือน แต่ก็กัดฟันเขียนเอาวะ… ว่าไงว่ากัน
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยได้เขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากทำรายงาน และมักได้คะแนนไม่ดี เพราะขี้เกียจทำแบบขอไปทีก็ได้คะแนนสมกับผลงาน
พอจบไปทำงานงานชิ้นแรกที่เขียนอย่างที่เคยเล่าให้หลายคนฟังคือ คำตอบที่ได้พี่ (หัวหน้า) คือ “เอาไปทำใหม่”  ก็ต้องเขียนและเขียนจนผ่าน ปัจจุบันงานชิ้นนี้ยังมีอยู่ในวารสารเย็บเล่มของห้องสมุดฯ นานๆ ไปเปิดอ่านก็รู้สึกรื่นรมย์ ขื่นขม และสามารถย้อนเวลากับความรู้สึกแบบเเดิมๆ ได้ดีทีเดียว
มาทำงานที่นี่แรกๆ ก็เขียนจดหมายราชการ อาศัยอ่านจากของเก่าของรุ่นพี่ๆ แล้วค่อยๆ ฝึกฝน สมัยก่อนจะส่งจดหมายสักฉบับต้องร่างด้วยดินสอแล้วส่งให้หัวหน้าตรวจ จึงจะนำไปพิมพ์และส่งออกได้ สมัยนี้ไม่มีแบบนี้แล้ว
การแก้ไข และซึมซับวิทยายุทธ์แบบนี้ขาดหายไปด้วยแรงเทคโนโลยี ที่หากเราไม่รู้จักคานน้ำหนักให้ดี จะทำให้เราหลุดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งการยอมรับการแก้ไข เท่ากับการรู้จักโต้แย้งในประเด็นที่เราไม่เห็นด้วย
ยุคปัจจุบันก็มีบล๊อก ให้เราได้เขียนเรื่องราวต่างๆ ของเรายังกำหนดไว้ใน KPI ที่เป็นคะแนนช่วย ว่าต้องมีจำนวนเท่าไร แต่หลายๆ คนบอกว่าไม่รู้จะเขียนอะไร เขียนไม่ได้ คิดว่าเขียนไม่ดี
แต่เรามักบอกกับทุกคนว่าเขียนเถอะ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ เดือนหนึ่งเขียนสักเรื่อง ขัดเกลาวันละบรรทัด หาแนวที่เราถนัด สะสมพอกพูนประสบการณ์ทีละเล็กทีละน้อย ทำเป็นต้นฉบับให้เพื่อนอ่านก่อน ฟัง แก้ไข แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ไปกับเพื่อน แล้วนำมาแบ่งปันให้กับชาวโลก สามสิบวันเพื่อเพียรพยายามต่อหนึ่งเรื่อง เป็นเวลาที่น่าจะทำได้ทุกคน… ลองทำกัน
เราชอบและยัง “ขอเขียน” ส่วนใครที่ชอบ “ขอขัดคอ” แต่ชอบ “ขออ้าง” ขอบอกว่าเซ็งฮ่ะ

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร