Who can do? You ทำได้.

หลังจากที่พวกเรามี KPI อยู่ในอ้อมกอด ที่กอดกันอย่างเย็นละเยือก ร้อนผ่าว หรืออบอุ่น  ในที่สุดก็ถึงเทศกาลประเมิน
การประเมินก็ให้พวกเราเขียนรายงานผลตาม KPI ที่อยู่ในอ้อมกอด ฝ่ายบริการหลังจากที่ดิฉันค้อนควัก ก้อสำเร็จเรียบร้อย พร้อมหลักฐานที่มาหนับหนุนว่าทำได้นะฮ๊า ไม่ได้โม้….
หกเดือนครั้งสำหรับการประเมินตัวเอง นับว่ากำลังพอดี  คาดว่าคงจะเข้าใจมากขึ้น และดีใจที่ได้ยินหลายๆ ท่านบอกว่า 1 ตุลานี้ จะขอเริ่มต้นใหม่ เพราะอยากกำจัดจุดอ่อน…. เผื่อจะได้ไปเกณฑ์สี่กับเค้าบ้าง
บล๊อกก็บอกว่าจะค่อยๆเขียนเดือนละเรื่อง  รายงานทั้งหลายไปไหนก็บอกว่าจะเขียนเลย พบอะไรก็จะจดไว้ ทำอะไรก็จะเขียนบอก มีอะไรก็จะเล่าให้เพื่อนฟัง  เช่นนี้เป็นต้น
การคิดว่าจะเริ่มต้นใหม่ ขอแค่ก็ถือว่ามีชัยแล้ว ส่วนจะไปถึงเป้าหมาย หรืออย่างไรก็ต้องรอเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ กลางเดือนมีนาคม ….
เป็นกลางเดือนที่เราจะต้องใช้ชีวิตแบบนี้กันอีกสักครั้ง
บอกกับพี่ๆ กันว่าปีหน้าจะทำอะไรขอให้มีการช่วยกันเตือน ช่วยกันจด ช่วยกันจำ ทางที่ดีที่สุดคือบันทึกลงในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำวันไปเลย ว่าใครบอกว่าว่าอะไร เรานำไปคิดต่อว่าอย่างไร ผลออกมาเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปสร้างเอกสารหรืออะไรใหม่ให้วุ่นวายแสนจะปวดหัวหรือไปทำอะไรให้พิสดาร*
หมายเหตุ * พิสดาร แปลว่า ละเอียดลออ
ไม่ว่า KPI จะเปลี่ยนไปอย่างไร หากเราเข้าใจ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียน ฟังเพื่อน ถามตัวเอง สะสมประสบการณ์การเรื่องแบบนี้ไม่ยาก
มีพี่ฝ่ายอื่นบอกว่าไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร เพราะไม่มีแนว มันเริ่มไม่ถูก…. ในขณะที่ดิฉันบอกว่าขอให้เขียนมา  อะไรก็ได้ที่คิดว่าใช่ …. ต่างมีมุมของตัวเองจริงๆ อยู่ที่ว่าจะเอามุมนั้นมาเชื่อมต่อดัดแปลงให้เป็นอะไร
ตัวเองคงต้องกลับย้อนกลับไปดูว่าปัญหาเป็นรายบุคคลเลยว่า ในฝ่ายที่แท้จริงแล้วปัญหาคืออะไร แล้วจะช่วยกันได้อย่างไร จึงแซวๆ กันว่า อาจจะให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้กันระหว่างฝ่าย/งานที่ประสงค์
ได้ข่าวหลายๆคน เพิ่งจับ excel เป็นครั้งแรกในชีวิต จนอยากจะปลูกถ่ายไขกระดูกจากคนที่เป็น แต่ก็แค่จะ … เพราะทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยมือของตัวเอง  เรายังรู้สึกดีและอดภูมิใจไปด้วย
วิกฤติคือโอกาส หากเราพร้อม!
พอส่งงานนี้แล้ว ดิฉันมีอาการเหมือนสอบเสร็จ ส่วนงานธุรการของหญิงใหญ๋ไปกันที่ร้านส้มตำเจ้าอร่อย
ส่วนดิฉันไม่สามารถพาพี่น้องไปได้ทั้ง 13 คน คงได้แต่ส่งไฟล์กลับคืนให้เป็นมรดก ให้กลับไปคิดต่อเพื่อให้งอกเงยต่อไป และหยิบจับไปใช้ได้ในคราวต่อไป
แล้วอย่าลืมหันกลับไปดู KPI อีกครั้งว่า ตัวเราต้องการจะปรับเปลี่ยน เพิ่ม ลด หรือนำเสนออะไรหรือไม่อย่างไร หลังจากที่ได้ไปสนทนาปราศรัยกันมาแล้ว
ไม่รู้ว่าฝ่ายอื่นเป็นไง แต่ตอนนี้ฝ่ายบริการคุยกันทุกวันว่า หากเป็นแบบนี้ แบบนั้น แบบโน้น เรา จะทำได้ไหม เราจะทำอย่างไร เราจะทำเมื่อไร ยากไป ง่ายไป เยอะไป ไม่ใช่หน้าที่ ข้อดี ข้อเสีย ความเป็นไปได้ ความเป็นไปไม่ได้ จุดอ่อน จุดแข็ง แบบนี้เครียด แบบโน้นอาจเครียดมากกว่า ตัวแปร ฯลฯ
เสียงดังกระหึ่ม จนพี่แมวหันมาทำปากจู่ว่า จุ๊ จุ๊

9 thoughts on “Who can do? You ทำได้.

  • วันนี้ตั้งใจจริง ว่าจะลงมือทำทุกอย่างแต่เนิ่น ๆ แต่วันนั้นจะเป็นเช่นดังที่คิดหรือไม่ รออีกหกเดือน รู้คำตอบ …

  • แต่ที่แน่ๆคือเบื่อเรียนออนไลน์แล้วแหละ ว่าจะเรียนซัก1วิชาแบบรอบนี้ที่เหลือไปหาหนังสืออ่านดีกว่า ได้เล่มละตั้ง7ชั่วโมง แต่จะอ่านเรื่องอะไรดีหนา ต้องคิดล่วงหน้าไว้ก่อน….

  • อ่านนิยายดีกว่าพี่อ้อ…เอาเพชรพระอุมาครบชุด หรือไม่ก็พลนิกรกิมหงวน คิดเอาเอง เล่มละ 7 ชม. ครบชุดล่ะก็…5555…แล้วเอามาทำนวัตกรรม เขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับงาน..ดีป่ะ

  • ในมุมของหนังสือ มีหลายเหลี่ยมให้หยิบจับเอามาทำอะไร
    ขึ้นกับว่าใครเห็นในมุมไหน เอามาแปลค่าเป็น “นวัตกรรม” เฉพาะตัวได้อย่างไร
    ซึ่งขึ้นกับหลากตัวแปร และตัวแปรที่สำคัญ คือ ประสบการณ์+วิสัยทัศน์ในการมอง
    หรือ “มุม” ในการมองและสังเคราะห์ และผลิตออก
    ทั้งนี้และทั้งนั้น สำหรับเรา
    เรามองในอีกจุดหนึ่งว่า โดยสายงาน หน้าที่ และรับผิดชอบของแต่ละบุคคล
    ที่ถูกกำหนดด้วย ตำแหน่งและหน้าที่ ก็มักจะมีอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้อีกว่า
    โอ้โหหหหหหหหหหหหหหหห…สวดดดดยอด
    หรือ…
    แค่เนี้ยยยยยย หราาาาาาาา เล่นง่ายดีนิ หุหุหุ

  • เรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน คนที่คิดอะไรได้มากกว่า ทำอะไรได้เยอะกว่า จะต้องเป็นแบบและช่วยชี้แนะให้ได้
    ในขณะเดียวกันคนที่ทำอะไรได้น้อยกว่า ก็ต้องเปิดใจยอมรับ และปรับปรุง อย่ายืนอยู่กับที่ ซึ่งต้องอาศัยเรื่องเวลา การปรับตัว การฝึกฝนและไม่ย่ำอยู่กับที่
    หากจะถามว่าเมื่อไร… คงตอบยาก แต่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันไปในทิศทางที่องค์กรต้องการ Competency เรื่องความเข้าใจองค์กรและระบบงานเป็เรื่องที่เราควรตะหนัก เพราะเราเป็นสมาชิกอยู่ขององค์กร
    สำหรับคนที่มีหัวโขน เรื่องบางเรื่องอาจพุ่งปรี๊ด แต่พอถึงอีกสถานะหนึ่งที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนั้นจะต้องลดอุณภูมิลงมาให้ได้ และมองอย่างปราณี พร้อมนับหนึ่งใหม่โดยใช้บทเรียนของครั้งเก่า สร้างโอกาส เปิดโอกาส และให้โอกาส
    เรื่องบางเรื่องแม้เราจะมองว่าจะสิ่งเล็กน้อย แต่มันสะท้อน หรือมีร่องรอยของความเพียรพยายามที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เราควรต้องยินดี
    แต่ก็มีเรื่องบางเรื่องที่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ ก็คงต้องให้ระบบเข้าไปจัดการ
    สำหรับเราแค่ได้ยินพี่น้องในฝ่ายบอกว่าจะเริ่มทำก็รู้สึกดี ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องช่วย ผลักดัน บ่นว่าไปตามเรื่อง กว่าจะเห็นผลก็โน่นนนนนนนน เจ้าตัวอาจดีใจกับชิ้นงาน/ผลลัพธ์จนลืมไปแล้วเราไปแล้วก็ได้
    แต่จะสนใจไปไยกลับบ้าน ก็ไม่ใครลืมเรา แค่นี้พอแล้ว

  • “…สำหรับคนที่มีหัวโขน เรื่องบางเรื่องอาจพุ่งปรี๊ด
    แต่พอถึงอีกสถานะหนึ่งที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนั้นจะต้องลดอุณภูมิลงมาให้ได้
    และมองอย่างปราณี พร้อมนับหนึ่งใหม่โดยใช้บทเรียนของครั้งเก่า
    สร้างโอกาส เปิดโอกาส และให้โอกาส
    เรื่องบางเรื่องแม้เราจะมองว่าจะสิ่งเล็กน้อย แต่มันสะท้อนหรือมีร่องรอย
    ของความเพียรพยายามที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เราควรต้องยินดี…”
    ในบริบทคิดอ่าน ความหลากหลายของ แง่ มุม มีต่างๆ นานา
    ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นกับอีกหลากบริบทที่แวดล้อม
    ที่ชวนให้คิด ให้เห็น ให้เชื่อ
    เหตุ ผล ที่มา ที่ไป ที่เป็น ของแต่ละบุคคล
    มีระดับในการสัมผัส การรู้ การเห็น ต่างกัน
    เช้าวันหนึ่งคุณหมอท่านหนึ่งใช้ชีวิตบนท้องถนน ดังเช่นเคยทุกๆ วัน
    พบเห็น เคยชิน กับพฤติกรรม โหด เลว ดี ของผู้มีชะตาชีวิตร่วมบนเส้นทาง
    พฤติกรรมเดิมๆ ที่เคยพบถี่ห่าง มากน้อย บอกระยะเวลาแน่นอนไม่ได้
    รถยนต์คันหนึ่งขับเร่งมาด้วยความเร็วสูง
    ปาดซ้าย แซงขวา แทรกหน้า แทรกหลัง
    ทำทุกๆ ความ “ระยำ” ที่พอจะให้นิยามได้เต็มปากเต็มคำอย่างไม่เขินอาย
    เพราะเป็นพฤติกรรมที่มีอยู่ดาษดื่น พบเห็นได้เป็นระยะๆ
    สำหรับผู้ที่แขวนชีวิตไว้กับเพื่อนร่วมทาง
    เช้านี้เป็นวันที่มีฝนตกฟ้าคนอง แต่ด้วยยังเป็นเวลาเช้าอยู่
    ความ “ระยำ” จึงกล่าวได้เต็มปากเต็มคำแก่ผู้ที่พบเห็น
    แต่แล้วมันก็ต้องสิ้นสุดลงไปโดยพลัน เมื่อรถ “ระยำ” คันนั้น
    เสียหลักพุ่งลงไปในเกาะกลางซึ่งเป็นคูรับน้ำอย่างแรง
    ด้วยจรรยาบรรณในวิชาชีพที่คุณหมอมีอยู่ในทุกลมหายใจ
    คุณหมอนำรถของตนเองจอดเข้าข้างทางเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่คาดว่าสาหัส
    ชายผู้นั้นยังไม่หมดสติเสียทีเดียว เมื่อนำร่างเขาออกจากรถยนต์ได้แล้ว
    ในช่วงเวลาที่พอจะถามไถ่ พูดคุย
    มิวายที่คุณหมอจะอดใจไม่ให้ถามสิ่งที่คาค้างในใจ ถึงเหตุของพฤติกรรม
    ที่พอจะอนุมานได้ก่อนนั้นว่าคนอื่นๆ คงคิดไม่ต่างจากคุณหมอ
    คำตอบที่ได้รับกลับมาจากชายที่สติกำลังใกล้ๆ จะเลือนออกไป คือ
    ผมจะรีบไปพาตัวคุณแม่ที่โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันไปส่งโรงพยาบาล
    ที่บ้านคุณแม่โทรมาแจ้งให้รีบมาด่วนที่สุด
    คุณหมอน่าจะเป็นเพื่อนร่วมทางคนเดียวที่รับทราบ
    เหตุ ผล ที่มา ที่ไป ที่เป็น
    ด้วยสัมผัสของจรรยาบรรณต่อชีวิตมนุษย์ในวิชาชีพของคุณหมอ
    เพราะถ้าเพียงแต่คุณหมอละเลยในหน้าที่ตามวิชาชีพ
    สิ่งติดค้างในใจคุณหมอก็อาจจะไม่แตกต่างกับเพื่อนร่วมทางอื่นๆ ที่พบเหตุการณ์
    ซึ่งอาจมีตั้งแต่
    สมน้ำหน้า แ..ง ตายห่…ได้ก็ดี ขับรถแบบนี้
    ไอ้…เกือบทำGooซวยไปด้วยแล้วมั้ยล่ะ
    เห็นก็เห็นว่าฝนตกขนาดนี้ ยังประมาท ก็สมควร
    หรือ
    ตายมั้ยน่ะ…ง่ายๆ สั้นๆ เพราะชีวิตเค้าไม่ใช่ชีวิตเรา
    และ
    อาจจะมีเพียงไม่กี่คนที่แม้จะไม่ลงไปดูเหตุ และอาจคิดว่า
    เออ…เค้าจะรีบไปไหนของเค้านะ ฝนก็ตกๆ
    แย่จัง นั่นเค้าจะเป็นอะไรมั้ยนะ
    ฯลฯ
    เรื่องราวแบบนี้มีให้เห็น และพบเจอเสมอในชีวิต
    ขึ้นกับว่าระดับการรับรู้ พบเห็น อยู่ในระดับใด
    ที่สำคัญ “แวดล้อม” ของเหตุการณ์กรณีมีตัวแปรร่วม
    บางครั้งเราอาจไม่รู้ทุกเสี้ยวส่วน และขึ้นอยู่กับว่าเราอยากหาเพื่อรู้หรือไม่
    และจะร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขสิ่งบกพร่อง ผิดพลาดกันอย่างไร
    โดยเฉพาะทุกผู้ที่มีหัวโขน
    คงปฏิเสธไม่ได้กับความพยายามในการหา “วิธี” แก้ปัญหา
    ซึ่งวิธีแบบโขนพระราม โขนสีดา
    โขนทศกัณฐ์ โขนพิเภก โขนกุมภกรรณ
    โขนหนุมาน โขนสุครีพ ก็ย่อมต่างกันไปตามบุคลิก
    ใครจะสวมบท ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง
    ก็ล้วนแต่ต้องร่วมแสดงให้ “รามเกียรติ์” ดำเนินไป
    และทุกตัวละครต้องเล่นตามบท ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่ผิดคิว
    และต้องร่วมรับ ผิด + ชอบ ในเสียงปรบมือจากผู้ชมเท่าๆ กัน
    รวมถึงทั้งเด็กเดินตั๋ว ผู้ขายบัตร
    ที่ใช่ว่าเมื่อเด็กเดินตั๋วพาผู้ชมมากมายส่งที่ไม่ทัน
    จะต้องหาโทษผู้ขายบัตรว่า ทาลึ่งขายเยอะเกิน
    อาจงงบ้างสงสัยบ้าง กับคิดอ่านที่สื่อออก
    เราแค่สะท้อนมุมคิดแบบเรา ขณะที่โขนอื่นๆ อาจมีมุมคิดที่ต่าง
    ทั้งนี้ และทั้งนั้น เราคิดว่านายโรงก็มีส่วนสำคัญที่จะดูแลให้การแสดง
    เกิดสุขแก่ผู้ดู เกิดอิ่มใจแก่ผู้แสดง
    หรือบางทีเราอาจเปลี่ยนจากผู้สวมโขนมาเป็นผู้ดูบ้าง ก็น่าจะดี

  • สำหรับตัวเองแล้วตั้งแต่ได้ KPI มากอดไว้(ดังที่พี่ปองว่า)ก็เริ่มมาตั้งเป้าของตัวเองว่า KPI ข้อไหนเราตั้งใจจะไปถึงเกณฑ์ไหน เช่น งานหลักซึ่งครึ่งปีนี้มี3ข้อ งานสนับสนุนที่ปีที่แล้วได้คะแนนน้อย ปีนี้ก็เลยตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด ถ้าถามว่ากังวลไหมต้องถามน้องเอ๋ดูเพราะจะคุยกันเกือบทุกอาทิตย์กันว่า KPI ข้อนี้พวกเราไปถึงไหน ถ้าได้แค่นี้เราจะผ่านแค่ไหน เมื่อถึงเวลาประเมินสิ่งที่ทำที่เตรียมไว้ก็ต้องงัดกันออกมาโชว์ให้ท่านๆหัวหน้าทั้งหลายได้เห็นกันจะแจ้ง อย่าไปคิดว่าเดี๋ยวคนประเมินเค้าก็รู้เอง เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราทำเราต้องรู้ดีมีหลักฐาน บรรยายความให้เค้าฟังให้เข้าใจ เอาเป็นว่าตุลาคมนี้เริ่มกันใหม่ แล้วที่หน่วยงานเค้าบอกก็ต้องจำว่าอะไรทำอย่างไร อะไรส่งเมื่อใด อะไรที่ต้องมีหลักฐานให้เห็น ไม่ใช่ลอยมา สรุปว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หมั่นตรวจสอบ KPI บ่อยๆ จะได้รู้ว่าเราต้องสปีตตัวช่วงไหน จะได้กลับลำทัน จะได้ผลิตผลงานที่คุณภาพเตะตาท่านๆทั้งหลายจ้า

  • พี่ตาเห็นด้วยกับน้องอ้ออย่างมาก ตั้งแต่มีตัว KPI นี้เข้ามาวัดในการทำงานของพวกเรา ทุกคนก็ต้องกระตือรื้อร้น ขวนขวาย ทำในสิ่งที่หน่วยงานกำหนด และต้องทำให้ได้ ตามข้อกำหนด แต่ใครจะได้เกณฑ์ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่ตัวเอง ว่าจะทำได้แค่ไหน (พูดง่าย ๆว่า ถ้าใครไม่อยากได้ก็ไม่ต้องทำ ถ้าใครอยากได้ก็ต้องศึกษาเรียนรู้ สืบเสาะแสวงหา สอบถามหัวหน้าฝ่าย/งานของตนเองอยู่ตลอดเวลา ว่า ถ้าข้อนี้เราไม่เข้าใจ แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะได้ตามเกณฑ์ (หัวหน้างานของแต่ละคนก็คงจะไม่ใจไม้ใส้ระกำกับลูกน้องของตนเองหรอก) สำหรับพี่ตาเอง ตอนแรก ๆ ก็งง ๆ ทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน สอบถามหัวหน้าของตนเอง ก็ได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดี และพี่ตาก็เร่งทำให้ได้ตามเกณฑ์และเป้าหมายที่จะได้ เพราะเกณฑ์ทุกข้อต้องมีหลักฐานให้เห็น ทำไปแล้วผิด ก็กลับมาแก้ไขใหม่ จนถูกต้อง

  • พี่ตาว่าก่อนเปิดเทอมใหม่ ในเทอมสองนี้ หอสมุดฯ น่าจะนิมนต์พระมาเทศนาให้พวกเราชาวหอสมุดได้ฟังธรรมกันบ้างก็จะดีนะ จะได้ชำระล้างจิตใจกันบ้าง พี่ตาขอฝากน้องเอ๋ดีกว่า ช่วยจัดกิจกรรมเล็ก ๆ เพราะน้องเอ๋คุ้นเคยกับพระวัดพระปฐมเจดีย์เป็นอย่างดี (สำหรับห้อง พี่ตาจัดการให้จ้ะ)

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร