รู้จัก IP Address กันสักนิด
เรื่องนี้น่าจะได้เล่าให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวหอสมุดสนามจันทร์ได้ฟังกันนานแล้ว แต่ด้วยความที่อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้นึกถึง หรือนึกว่าไม่จำเป็น เลยไม่เคยได้เล่าให้ฟังซะงั้น…
แต่พอมานึกๆ ดู เวลาที่ระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่แต่ละฝ่าย/งานใช้อยู่เกิด hang แล้วพอ login เข้าใช้งานระบบใหม่ ก็จะเกิดอาการ All ports in used เราก็จะถามทุกครั้งไปว่าเครื่องหมายเลข IP อะไรที่มัน hang เพื่อว่าเราจะได้ทำการ restart ที่เครื่องหมายเลข IP นั้น
คำตอบทุกครั้งก็มักจะตอบกลับมาว่า หมายเลขอะไร ดูตรงไหน มันคืออะไร ก็จะบอกให้ไปดูหมายเลขที่ติดอยู่ที่หน้า CPU ….แต่ไม่ใช่หมายเลขครุภัณฑ์นะจ๊ะ … เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน วันนี้ก็จะมาบรรยายความอย่างสั้นๆ ให้เพื่อนพ้องน้องพี่ชาวเรา รู้จักกับเจ้า IP Address กันซักกะติ๊ด
IP Address เป็นคำเรียกย่อๆ ของคำว่า Internet Protocal Address เห็นคำว่า Internet ก็แน่นอนว่าต้องมีเรื่องของอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน IP Address เป็นหมายเลขประจำเครื่องที่ต้องกำหนดให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานในระบบเครือข่าย
การกำหนด IP Address นั้น จะต้องมีหมายเลขไม่ซ้ำกัน เมื่อกำหนดหมายเลข IP แล้ว จะทำเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ รู้จักกัน สามารถรับส่งข้อมูล โอนย้ายข้อมูล ไปมาระหว่างกันได้อย่างถูกต้อง
IP Address ประกอบด้วย ตัวเลข 4 ชุด มีเครื่องหมายจุดขั้นระหว่างชุด เช่น 172.27.60.99 หรือ 202.28.73.15 เป็นต้น
มาตรฐานของ IP Address ปัจจุบันเป็นมาตรฐาน version 4 หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า IPv4 เป็นตัวเลขไบนารีขนาด 32 บิตหรือ 4 ไบต์ แล้วจึงแปลงเลขเป็นไบนารี หรือเลขฐานสองแต่ละไบต์ ( 8 บิต ) ให้เป็นตัวเลขฐานสิบโดยมีจุดคั่น
นอกจากนี้ IP Address ยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของหมายเลขเครือข่าย (Network Address) และหมายเลขเครื่อง (Host Network) ซึ่งทั้ง 2 ส่วนแบ่งออกตามลักษณะการใช้งานเป็น 5 class ได้แก่ A, B, C, D และ E โดยที่มีการประกาศใช้งานใน 3 class เท่านั้นคือ A, B และ C
Class A สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ (0.0.0.0 ถึง 172.255.255.255) สามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจำนวนมากๆๆ
Class B สำหรับองค์กรขนาดกลาง (128.0.0.0 ถึง 191.255.255.255) สามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจำนวนประมาณ 65,500 เครื่อง
Class C สำหรับองค์กรขนาดเล็ก (192.0.0.0 ถึง 223.255.255.255) สามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายจำนวน 254 เครื่อง
ตอนนี้เพื่อนพ้องน้องพี่ชาวเรา คงรู้จัก IP Address บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานกันอยู่แล้วนะจ๊ะ…ง่ายที่สุดก็คือ ดูตัวเลขที่ทำไว้ให้แล้วซึ่งติดไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกันนั่นแหละ… 😉