'ผีอำ'น่ากลัวจริงไหม

ใครเคยโดนผีอำ คุณรู้ไหมว่าผีอำเกิดจากอะไร ไม่ได้เป็นผีจริงๆ ใช่ไหม?
     ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไขข้อสงสัยในวิทยาศาสตร์รอบตัว จากเว็บไซต์ สสวท. ว่าความจริงแล้วอาการผีอำ คือ ล้มตัวลงนอนด้วยความเหนื่อยล้าโดยเฉพาะหลังจากทำงานหรือดูหนังสือแม้กระทั่งดูโทรทัศน์ เมื่อเข้านอนด้วยความล้าและเกิดการประสานกันระหว่างสารเคมีกับสภาพชีวเคมีของร่างกาย ทำให้เกิดอาการทั้งกดทั้งค้างทำให้เราขยับเขยื้อนไม่ไหว ในขณะนั้นความจริงแล้วกำลังตื่นอยู่ สมองทำงานได้ แต่ร่างกายเราขยับเขยื้อนไม่ไหว เหมือนมีคนมาจับเราอยู่ จึงคิดเลยเถิดว่ามีผีมาจับตัวเรา
     น.พ.เทอดศักดิ์ เดชคง นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เขียนไว้ในเว็บไซต์ หมอชาวบ้าน ว่าผีอำเป็นปัญหาในการนอน เกิดอาการในสภาวะคล้ายๆ กับการฝัน ขณะที่ถูกผีอำคนๆ นั้นจะอยู่ในสภาวะที่ขยับตัวไม่ได้
     สภาวะการหลับมี 2 ระยะ คือ non-REM เป็นช่วงที่หลับ แต่ตาไม่ได้กลอกไปมา ยังพอมีกำลังขยับตัวได้ พลิกตัวได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเราจะลุกขึ้นมาได้ แต่ในภาวะหลับตาแบบตากระตุก หรือ REM sleep จะมีการฝัน กล้ามเนื้อต่างๆ จะผ่อนคลายหมด ขยับตัวไม่ได้ยกเว้นต้องตื่นในช่วงเวลาเอง ถ้ามีสิ่งเร้าอะไรที่มาทำให้เราไม่สบาย เช่น อาจจะมีหมอนข้างมาวางอยู่บนตัวหรือขา หรืออาจจะนอนในท่าที่ไม่สบาย อยากจะออกจากสถานการณ์นั้น แต่ว่าทำไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อมันคลายไปหมดแล้ว ก็จะเป็นสภาวะที่รู้สึกเหมือนกับว่าใครมากดทับ สักพักหนึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง
     คนที่มีอาการ ‘ผีอำ’ ไม่ได้เป็นความผิดปกติทางจิตใจ แต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกในเบื้องต้นว่าเริ่มมีภาวะความเครียด ซึ่งไม่ได้เกิดอาการนี้ทุกๆ วัน ยกเว้นบางคนที่เป็นมาก แสดงว่าปัญหาเยอะแล้วมักจะเก็บไปฝัน ถ้าตื่นขึ้นมานิดหนึ่งจะรู้สึกว่าขยับตัวไม่ได้ ตกอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น
     วิธีการจัดการเมื่อถูกผีอำ คือ ผ่อนคลายความเครียดก่อน นอนสัก 1-2 ชั่วโมง อย่าไปทำอะไรที่ตื่นเต้น เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกม อาจจะผ่อนคลายก่อนนอนด้วยการอาบน้ำอุ่น หรือดื่มนมอุ่นๆ โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง จะทำให้หลับสบายขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีสะกดจิตเข้าช่วยโดยการโปรแกรมจิตใหม่
     รายที่อาการมากๆ แพทย์จะจ่ายยาคลายเครียดหรือยาต้านเศร้าจะทำให้หลับสนิทขึ้น โดยไม่ฝันมากนัก เพราะคนที่ผีอำจะฝันปนอยู่ด้วย เมื่อฝันน้อยลงจะลดอาการผีอำได้
     หลักง่ายๆ เวลาโดนผีอำให้นอนเฉยๆ สักพักอาการจะหายไปเอง
     ผู้ใหญ่มักจะเตือนว่าอย่านอนตอนโพล้เพล้เพราะจะถูกผีอำ น.พ.เทอดศักดิ์บอกว่าในทางวิทยาศาสตร์เวลาเย็นๆ หรือโพล้เพล้เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของแสง การเปลี่ยนแปลงของแสงนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาในการนอน ถ้าเรานอนตอนกลางคืนหรือกลางวันไปเลยจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้านอนช่วงโพล้เพล้อาจจะหลับไม่สบาย หลับไม่สนิท
     ผีอำ จึงไม่ใช่ผีเข้า อย่างที่เข้าใจผิดกันมา และสามารถแก้ไขได้โดยทำใจให้สบายก่อนนอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด ปีที่ 21 ฉบับที่ 7,589 (วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554) หน้า 24 (คอลัมภ์ รู้ไปโม้ดโดย….น้าชาติ ประชาชื่น)

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร