มีนัดที่อำเภอ
วันนี้ (21 กรกฎาคม) เป็นวันที่มหาวิทยาลัยศิลปากรรับปริญญาบัตร โดยส่วนตัวมักลาพักผ่อนวันนี้เป็นประจำหากไม่ได้ไปราชการ หรือมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอะไร เพราะไม่อยากอารมณ์ไม่สดใสกับเรื่องที่จอดรถและการเดินทางมาทำงาน และเป็นวันที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากรหยุดการเรียนการสอน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ดีที่เข้าข้างตัวเองว่าไม่ต้องไปทำงาน ลาพักผ่อนซะเถอะ
ปีนี้จึงตั้งใจไว้ว่า จะพาลูกสาว 2 คน ไปทำบัตรประชาชนสาเหตุที่ต้องทำพร้อมกันทั้งสองคนก็เพราะ น้ำหอม(ลูกสาวคนโต) อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ส่วนแตงโม(ลูกสาวคนเล็ก) อายุ 13 ปี แต่ต้องไปทำเพราะมีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ออกมาใหม่ ให้เด็กอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นปต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามที่พี่ฐิติมาได้เขียนไว้นั่นเอง http://202.28.73.5/snclibblog/?p=13837
ด้วยความที่มีหน้าที่ต้องติดตามข่าวสารก็เลยพบข่าวเกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 มาตั้งแต่ต้น จึงยอมที่จะพาลูกสาวคนโตไปทำบัตรช้าซักนิดแล้วไปพร้อมกับน้องสาว ตัวเราที่เป็นแม่จะได้ไม่ต้องหยุดงานกันบ่อยๆ 🙄
วันนี้เลยตื่นกันตั้งแต่เช้าเหมือนตอนไปโรงเรียน เอกสารหลักฐานต่างๆ ก็เตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่หลายวันก่อน ได้แก่ 😀
1. สำเนาทะเบียนบ้านของลูก
2. สำเนาสูติบัตรของลูก
3. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อของลูก (ถ้ามี)
4. สำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน หรือ ใบจบการศึกษา หรือหนังสือรับรองจากโรงเรียนว่ากำลังศึกษาอยู่ (ที่สำคัญต้องมีรูปของเด็กติดอยู่ที่เอกสารเพื่อแสดงตัวตนประมาณนั้น)
เอกสารตั้งแต่ข้อที่ 1-4 อย่าลืมให้ลูกเขียนชื่อ-นามสกุล ที่สำเนาด้วยล่ะ 😆
5. สำเนาทะเบียนบ้านมารดา หรือบิดา หรือผู้ปกครอง
6.สำเนาบัตรประชาชนมารดา หรือบิดา หรือผู้ปกครอง (อันนี้พิเศษ หากพาเด็กไปหลายคน ต้องสำเนาตามจำนวนเด็กจ้า เช่น 2 คน ต้องใช้สำเนา 2 แผ่น เพราะต้องแยกไปเก็บกับหลักฐานของเด็กแต่ละคน
เอกสารที่ 5-6 เราก็เซ็นสำเนาถูกต้องด้วยจ้า 😆
ปล. เอกสารทุกอย่างต้องนำตัวจริงไปด้วยเพื่อการตรวจสอบในแต่ละขั้นตอน
ที่นี้มาดูบรรยากาศการไปทำบัตรประชาชนกัน เริ่มตั้งแต่พอไปถึงที่ว่าการอำเภอตอนแปดโมงกว่านิดหน่อย หาที่จอดรถเรียบร้อยแล้ว (ไปแต่เช้าหน่อยนะจะได้มีที่จอดรถ) เดินอ้อมมาถึงตึกเกิดอาการต๊กใจ เพราะเห็นคนเข้าแถวกันยาวออกมานอกตึก เกิดอาการสงสัยว่าคนเค้าเข้าแถวกันทำไม เพราะข้างในก็มีคนนั่งอยู่เต็ม ประมาณว่าที่นั่งก็เต็ม แถวก็ยาว เลยไม่รอช้าแฉลบไปถามคนที่เค้าถ่ายเอกสารว่า คุณน้องขา คนเค้าแถวกันทำไม น้องเค้าใจดีแกมงงตอบว่า เค้าเข้าแถวรับบัตรคิวค่ะคุณพี่ขา (น้องเค้าคงคิดว่าเจ๊แกไปอยู่หลังเขาไหนมานะถึงไม่รู้) อุ๊แม่เจ้า! เราเลยให้ลูกๆทั้ง2 คนเข้าแถวไป แม่จะไปนั่งอ่านหนังสือรอนะจ๊ะ 😯
พอถึงเวลา 8.30 คนที่เข้าแถวก็เริ่มชะโงกมองคุณเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ จนเวลา 8.37 มีคุณเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งมานั่ง แถวจึงค่อยทยอยเลื่อนเข้ามาเพื่อตรวจสอบเอกสารต่างๆ สอบถามข้อสงสัย หากเอกสารไม่ครบต้องไปเตรียมมาใหม่ หากครบถ้วนก็รับบัตรคิวไป สรุปว่าคุณเจ้าหน้าที่ท่านนี้มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารให้แก่ประชาชนทุกท่านที่ไปติดต่อราชการทุกเรื่องตั้งแต่ทำบัตรประชาชน ย้ายเข้า ย้ายออก เปลี่ยนชื่อ แจ้งเกิด แจ้งตาย ฯลฯ(มิน่าแถวถึงยาวปานนั้น) 😎
สำหรับการทำบัตรประชาชนหลังจากคุณเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเสร็จว่าครบแล้ว ยังไม่ได้บัตรคิวนะจ๊ะ ต้องไปเข้าคิวด้านในอีกครั้งที่หน้าห้องกระจก (ตามคำที่คุณเจ้าหน้าที่เรียกขาน) ซึ่งเป็นห้องของท่านปลัดอำเภอเพื่อให้ท่านปลัดตรวจเอกสารสำเนากับเอกสารตัวจริงที่เรานำมา หากอายุครบ 15 ปี ท่านปลัดก็จะขีดฆ่าในสำเนาทะเบียนบ้านตัวจริงจาก ด.ญ. เป็น น.ส. ด้วยปากกาแดง พร้อมประทับชื่อของท่านปลัดไว้เป็นหลักฐานการแก้ไข หากเอกสารถูกต้องท่านปลัดก็จะบอกให้เราไปรับบัตรคิวที่เคาน์เตอร์เดิมที่ตรวจเอกสารนั่นล่ะ เราก็ต้องเดินกลับไปรับบัตรคิวที่คุณเจ้าหน้าที่คนเดิม แล้วคุณเจ้าที่ก็บอกให้เรานั่งรอเรียกเข้าไปทำบัตร 😕
รอสักพักใหญ่ก็ได้รับการเรียกให้เค้าไป โดยที่มีคุณเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ทำบัตรซักถามเรา เช่น ให้สะกดชื่อ-นามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ กรุ๊ปเลือด ให้สแกนลายนิ้วมือ โดยคุณเจ้าหน้าที่ก็จะบันทึกข้อมูลเข้าไป จากนั้นก็ถ่ายรูป (ซึ่งเด็กๆ แอบกระซิบว่า เร็วมากอย่างที่แม่บอกจริงๆ ยังไม่ทันตั้งตัวเลย)
งานนี้น้ำหอมกลายเป็นผู้ต้องหาเสียค่าปรับ 20 บาท เนื่องจากมาทำบัตรช้าไปนิดหนึ่ง หลังจากนั้นคุณเจ้าหน้าที่ก็จะปริ้นเอกสารให้เรานำเอกสารของทางอำเภอ (กระดาษสีเหลือง) ย้อนกลับไปให้ท่านปลัดเซ็นอีกครั้ง แล้วก็บอว่า หากท่านปลัดเซ็นแล้วให้เรานำเอกสารนั้นกลับมาคืนที่โต๊ะนี้ด้วยค่ะ และแล้วเราก็ต้องไปเข้าคิว รอปะปนกับคนที่รอให้ท่านปลัดตรวจสอบเอกสารนั้นแหละ พอท่านปลัดเซ็นเอกสารเสร็จ ก็เอาเอกสารมาคืนที่โต๊ะ แล้วก็ออกไปนั่งรอที่ที่นั่งด้านนอกรอเรียกให้รับบัตรประชาชน สักพักก็มีเจ้าหน้าที่มาขานชื่อเราให้ไปรับบัตรประชาชน (อย่าลืมให้เงินสิบบาทกับลูกเป็นค่าซองพลาสติกใส่บัตรล่ะ เดี๋ยวลูกต้องเดินกลับมาอีกรอบ) 😉
เบ็จเสร็จแล้ววันนี้ใช้เวลาในการทำบัตรประชาชน 2 ชั่วโมงพอดิบพอดี (8.30-10.30)
ข้อสังเกตุ บัตรประชาชนของแตงโมอายุการใช้งาน 8 ปี เพราะฉะนั้นแตงโมจะใช้บัตรนี้ไปจนอายุ 21 ปี ส่วนของน้ำหอมมีอายุการใช้งาน 6 ปีกว่า (อาจเนื่องจากทำบัตรช้า) น้ำหอมจะใช้บัตรนี้ไปจนอายุ 22 ปี
ปล.เพื่อนๆ ชาวห้องสมุดที่จะพาลูกๆ หลานๆ ไปทำบัตรประชาชนและได้อ่าน blog นี้แล้ว คงใช้เวลาน้อยลงนะจ๊ะ 😛
5 thoughts on “มีนัดที่อำเภอ”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ลูกโอ๊ต..ก็มีบัตรประชาชนพร้อมพี่โม กะพี่หอมเหมือนกัน วันเดียวกันซะด้วย…แต่โอ๊ตไปทำที่เทศบาลนครนครปฐม..จ้า
แต่ไม่รู้หมดอายุวันไหน ยังไม่ได้ดู เพราะเจ้าโอ๊ตเอาแต่ถามว่า เค้าหล่อมั้ย เลยมัวแต่ดูรูป…หุหุ
ขอบคุณนะจะน้าอ้อ ที่มาบอกกล่าวเล่าขานให้กันทราบจะได้เตรียมเอกสารถูก เพราะป้าดวงก็ยังรอๆๆๆๆให้คนทำกันให้หมดก่อน เพราะของป้าดวงคงต้องพาไปทั้งคอก (ลูกหลานมีเป็นคอก (หมู)โดยเฉพาะเจ้าแฝดต้องดูแลมันยิ่งกว่าพ่อแม่มันเสียอีก แค่ลูกตัวเองก็จะเอาตัวไม่รอดเสียแล้ว วันเสาร์เขาเปิดบริการไหม (เป็นเมียผู้ใหญ่) แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะไม่ค่อยได้เสวนากัน
พี่ดวงเจ้า..หลานๆบอกว่า ได้ยินคุณเจ้าหน้าที่บอกว่า วันเสาร์อำเภอเค้าเปิดครึ่งวันเจ้า
ทำบัตรประชาชน ไปทำที่อำเภอ (Big C) ได้หรือเปล่า คิดว่าคงจะเร็วนะ ใครเคยไปทำที่ Bic C แล้ว ช่วยบอกข่าวด้วย พี่ตาว่าจะพาลูกสาวไปทำที่ Big C
เพราะลูกสาวจะกลับบ้านช่วง เสาร์ -อาทิตย์ จ้า
พี่ตาค่ะที่ BigC เค้าไม่มีบริการแล้วค่ะ ต้องไปที่อำเภอวันเสาร์ครึ่งวันเช้าค่ะ