ก้าวสู่ 1 ทศวรรษ…โครงการสหบรรณานุกรมฯ (Union Catalog)

เมื่อหลายเดือนก่อนได้เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของโครงการสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) ไปแล้ว วันนี้เป็นโอกาสอันดีหลังจากก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ก็จะมาเล่าให้ฟังต่อถึงความเป็นไปของโครงการนี้ว่าดำเนินการไปแล้วมากน้อยขนาดไหน และจะเป็นอย่างไรต่อไป และในปีนี้นับได้ว่าโครงการนี้กำลังก้าวสู่ 1 ทศวรรษ หรือปีที่ 10 แล้ว

โครงการสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) จากระยะเริ่มต้น (พ.ศ. 2546) เริ่มจากการจัดซื้อโปรแกรมสำหรับเป็นฐานข้อมูลระบบสหบรรณานุกรม โดยโปรแกรมที่สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาได้จัดซื้อคือ VTLS Virtua  มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่ชื่อว่า “คณะทำงานระบบฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม Union Catalog”  ซึ่งแบ่งคณะทำงานเป็นชุดย่อย 2 ชุด คือ คณะทำงานด้านวิเคราะห์ทรัพยากร (Catalog) และคณะทำงานด้านระบบ (System) เพื่อร่วมมือกันทำงาน ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในการใช้งานระบบ รวมทั้งการดำเนินงานด้านกฎเกณฑ์และมาตรฐานการใช้งานร่วมกัน

ในเฟสแรกนี้จะจัดทำสหบรรณานุกรมโดยความร่วมมือของห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่งก่อน โดยมีการประชุมร่วมกันครั้งแรก เมื่อวันที่ 24-26 มิถุนายน พ.ศ. 2546 จากนั้นได้เริ่มดำเนินการโครงการตามแผน มีปรับปรุงโปรแกรม และข้อมูลบนฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประชุมคณะทำงานหลายครั้ง (ปีละ 1-2 ครั้ง) เพื่อให้คณะทำงานเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความสะดวก และชัดเจนในการจัดการข้อมูล ทั้งข้อมูลที่ห้องสมุดของตนเอง (Local database) และข้อมูลในฐานข้อมูล Union Catalog

ฐานข้อมูล Union Catalog (ยังใช้งานอยู่จนปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม แม้คณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละห้องสมุดจะให้ความร่วมแรงร่วมใจที่จะทำให้ฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง แต่การดำเนินงานฐานข้อมูล Union catalog ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ด้วยอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประการ ทั้งข้อจำกัดของซอฟต์แวร์ และความหลากหลายของการลงรายการบรรณานุกรม ที่แต่ละห้องสมุดได้ส่งเข้ามารวมกัน ทำให้ข้อมูลที่รวมกันอยู่ 3 ล้านกว่าระเบียน ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลเรื่อยๆ ตลอดมา

อีกทั้งในการตรวจสอบแก้ไขกลับกลายเป็นภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นจากภาระงานปกติที่ทำกันแทบไม่ทัน ทำให้การปรับปรุงแก้ไขข้อมูลจะเป็นความสำคัญลำดับสุดท้ายที่จะถูกนำขึ้นมาดำเนินการ ทำให้ความต่อเนื่องของฐานข้อมูล Union Catalog เริ่มค่อยๆ ชะงักงัน และแทบจะพูดได้ว่าหยุดชะงักลงในปีที่ 7 ของการดำเนินงาน

ในที่สุดสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (ซึ่งได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการนี้) เห็นว่าเพื่อให้การดำเนินงานฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเกิดผลในการปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น จึงพิจารณาที่จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) ขึ้นใหม่ โดยให้สำนักวิชาการสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้พัฒนาระบบ โดยใช้โปรแกรม Walai AutoLIB

ขณะนี้ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมกันนี้ได้มีการประชุมคณะทำงานระบบฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม Union Catalog เกี่ยวกับข้อตกลง  และการดำเนินการกับข้อมูล ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา และขณะนี้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 24 แห่งก็กำลังดำเนินการกับข้อมูลของห้องสมุดตนเองให้เรียบร้อย และคาดว่าคงจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปีในการดำเนินการกับฐานข้อมูลใหม่นี้

หากการดำเนินงานระบบฐานข้อมูลสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) นี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามแผนการดำเนินงาน ฐานข้อมูลนี้ก็จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นต้น

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร