Scaffolding
คำว่า Scaffolding ได้มาจากการอ่านรายงานการปฏิบัติงานของบรรณารักษ์ท่านหนึ่ง ที่เขียนรายงานว่ามีผู้ใช้มาค้นเรื่องนี้ ….
จึงอดไม่ได้ที่จะค้นคว้าต่อ เพราะงานแบบนี้ตัวเองถือว่าเป็นหน้าที่ของบรรณารักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานด้านบริการจะต้องรู้สึุกตื่นเต้นและอยากค้นหา แบบเข้ากระแสเลือด
และแนวคิดของตัวเองอีกอย่างหนึ่งคือ คำถามของคนหนึ่งคน เป็นตัวเแทนของคำถามของคนหลายๆ คนที่เค้าอาจจะไม่ได้เดินมาหาเรา ยิ่งเราสามารถนำไปเชื่อมโยงและคิดต่อ ตามที่พยายามกำหนดไว้ใน KPI แล้ว ยิ่งเป็นเรื่องสนุก
สำหรับคำถามที่ ได้มาก้อช่างเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะเราก้อไม่รู้เหมือนกัน ทำตัวเหมือนตัวเองเป็นนักสืบ หรือจินตนาการว่ากำลังทำการบ้านให้ลูก (แม้จะไม่เคยเกิดในชีวิตจริงก้อตาม)
สำหรับ คำถามนี้พอไปค้นมาพบว่า Scaffolding แปลว่า นั่งร้าน พอไปค้นที่ LC Subject Heading พบว่ามีคำนี้อยู่ และอยู่ในหมวด TH ฉะนั้นจงอย่าผลีผลามตัดสินใจต่างหากว่าหัวเรื่องคืออะไร และอยู่หมวดไหน
คู่มือทุกอย่างคือแนวทางที่ไม่ใช่คู่ชีวิต … (บางที่คู่ชีวิตยังต้องตรึกตรองเช่นกัน)
การจะเลือกใช้และใช้อะไรคงต้องระวัง โปรดกลับไปอ่านเรื่องทฤษฎี 3 A
ค้นไปค้นมาจากกูเกิ้ล พบข้อมูลมากมาย นึกไปถึงอดีตว่าหากไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีกูเกิ้ล ชีวิตเราจะเป็นเยี่ยงไร และคิดต่อไปว่าถึงจะมีเจ้าสองอย่างที่ว่าหากไม่มีมนุษย์ผู้ใดเลยเขียน เนื้อหาขึ้นมาแบ่งปันเราจะทำเยี่ยงไร
หากเมื่อหลายๆ พันปีที่ผ่าน บรรพบุรุษของมนุษย์ที่ประทับรอยมือ หรือขีดเขียนอะไรบนถ้ำ เราคงไม่เห็นอะไรๆ ในสมัยนั้น สงสัยเหลือเกินว่าคนที่เขียนแบบนั้นในสมัยโน้น จะโดนตีมือหรือไม่ว่าซนเกินพิกัด
ด้วยความที่ Scaffold หรือ Scaffolding แปลว่า นั่งร้าน ยิ่งทำให้ตัวเองโดยสัญชาตญาณว่า คงไม่มีใครมาหาอะไรแบบตรงไปตรงมาแบบนั้น
ใน ที่สุดก้อได้ความว่าเป็นเทคนิคการสอนแบบหนึ่ง ที่มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลายท่าน เช่นกระบวนการสอนแบบเอื้ออาทร ซึ่งเป็นกลุ่มของกระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน (http://www.vcharkarn.com/vcafe/172148)
หรือใช้ว่า การเสริมต่อการเรียนรู้ จาก http://hu.swu.ac.th/updoc/การเรียนรู้ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ.doc
ที่ นี่มีเอกสารให้โหลด พออ่านแล้วสรุปได้ว่า Scaffolding มาจากแนวคิดของไวก็อตสกี้เรื่องพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ และการเสริมต่อการเรียนรู้ ไวก็อตสกี้เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย เชื้อสายยิว เกิดในปี ค.ศ. 1896 ปีเดียวกันกับเพียเจต์ (Jean Piaget)
ไวก็อตสกี้ (Lev Semenovich Vygotsky) มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาได้อธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาการ และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในวงการการศึกษาของเด็กปฐมวัยและพัฒนาการเด็ก ว่าเด็กเรียนรู้และพัฒนาความคิดความเข้าใจตนเองได้อย่างไร ต่อมาบรูเนอร์ริเริ่มนำมาเผยแพร่ ขยายความ และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ การเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding)
แนวทางที่ไวก็อตสกี้เสนอไว้ และต่อมาบรูเนอร์ริเริ่มนำมาเผยแพร่ ขยายความ และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ การเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding) ซึ่งอธิบายไว้ดังนี้
การเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding) หมายถึง บทบาทเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ที่ให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ ตามสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหานั้นด้วยตนเองได้ โดยเป็นการจัดเตรียมสิ่งที่เอื้ออำนวย การให้การช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุน ขณะที่ผู้เรียนกำลังแก้ปัญหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้เรื่องใด เรื่องหนึ่ง (ผู้เรียนกำลังอยู่ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ) ทำให้ผู้เรียนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็น ขั้นตอน และปรับการสร้างความรู้ความเข้าใจภายในตน (Internalization) ให้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจใหม่ภายในตนเอง ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียน ให้ก้าวไปสู่ขั้นหรือระดับพัฒนาการที่สูงขึ้นไป ทำให้ผู้เรียนสามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ และมีความเชื่อมั่นในตนเองในการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น
วูด บรูเนอร์ และโรส (Wood, Bruner & Ross. 1976) ได้เสนอวิธีการช่วยเสริมต่อการเรียนรู้ไว้ 6 ประการ คือ
1. การสร้างความสนใจ (Recruitment) กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ โดยผู้เรียนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของงานหรือการเรียนรู้นั้น
2. ลดระดับการเรียนรู้ที่ไร้หลักการ ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ (Reduction in degree of freedom) เพราะจะทำให้ยากต่อการจัดการหรือการให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้สอนจะต้องสะท้อนผลการเรียนรู้ (Feedback) เป็นระยะๆ สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกัน เพื่อให้ผู้เรียนนำผลไปใช้เพื่อเพิ่มระดับการเรียนรู้ในแต่ละขั้นได้อย่าง ถูกต้อง
3. รักษาทิศทางการเรียนรู้ (Direction maintenance) ผู้สอนต้องดูแลกวดขันผู้เรียนเป็นพิเศษเพื่อให้เรียนรู้ที่จะมุ่งไปสู่จุด มุ่งหมายตั้งไว้
4. กำหนดลักษณะสำคัญที่ควรพิจารณาของสิ่งที่จะเรียนรู้ให้เด่นชัด (Marking critical features) เช่น ผู้สอนเมื่ออธิบายเนื้อหาสาระบางอย่างที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ก็ควรเน้นเสียงเป็นพิเศษ หรือหากผู้เรียนเกิดความขัดแย้งในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ ผู้สอนควรแปลความหมายของเรื่องที่กำลังเรียนรู้นั้นๆ เสียใหม่ ด้วยภาษาที่ให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายๆ และถูกต้องตรงกัน
5. ควบคุมความคับข้องใจของผู้เรียน (Frustration control) รับรู้ต่ออารมณ์ของผู้เรียนที่แสดงออกมา เช่น ผู้สอนต้องยอมรับความรู้สึกของผู้เรียนกรณีที่เขาเกิดความไม่เข้าใจสิ่งที่ กำลังเรียนรู้ ไม่ควรเพิกเฉยหรือปล่อยให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ค้างคาใจ เพราะจะทำให้ผู้เรียนมีความคับข้องใจเพิ่มมากขึ้น
6. ควรมีการสาธิต (Demonstration) หรือมีแบบอย่างให้กับผู้เรียนในการแก้ปัญหาการเรียนรู้
ส่วนข้างล่างนี้เป็นบรรณานุกรมจ้า …. รูปแบบอาจจะเพี้ยนๆไปหน่อยเพราะพื้นที่ blog จำกัด..
ประสิทธิ์ ศรีเรืองฤทธิ์. (2549). การใช้แนวคิดเรื่อง พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone of Proximal Development) ของวิก็อตสกี้ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนการเขียนภาษาอังกฤษ สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา. วิทยานิพนธ์ ศษ.ด. (หลักสูตรและการสอน). ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Bransford, J., Brown, A.; & Cocking, R. (2000). How People Learn : Brain, Mind, and Experience & School. Washington, DC: National Academy Press.
Daniels, H. (1996). An introduction to Vygotsky. London:Routledge.
Dixon-Krauss, L. (1996). Vygotsky in the classroom : Mediated literacy instruction and assessment. New York:Longman.
Raymond, E. (2000). Cognitive Characteristics. Learners with Mild Disabilities. Needham Heights, MA: Allyn & Bacon, A Pearson Education Company.
Shaffer, D. (1999). Developmental psychology:childhood & adolescence. (5th edition). Pacific Grove:Brooks/Cole.
Vygotsky, L. (1978). Mind in society:The developmental of higher psychological process.Cambridge, MA:Harvard University Press.
Wing, J.; & Putney, L. (2002). A vision of Vygotsky. Boston:Allyn & Bacon.
Wood, D.; Bruner, J.; & Ross, G. (1976). The role of tutoring in problem-solving. Journal of Child Psychology and Psychiatry. 17(2):89-100.
………………..
มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดสอนทางด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก มีทฤษฎีการศึกษาที่ผ่านหูผ่านตาเรามากมาย หากเราเก็บงำคำถาม และทบทวนคำตอบ ช่วยกันคิดต่อ จึงเป็นเรื่องที่สร้างความเข้มแข็งให้กับพวกเรา ในฐานะที่เราเป็นสื่อกลางระหว่าง content กับ ผู้ใช้บริการ
เป็นสื่อกลางไม่ว่าจะอยู่ในบริบทของผู้ให้บริการ หรือผู้วิเคราะห์เลขหมู่และทำรายการ หรือบทบาทสมมุติอื่นใด ที่จำเป็นต้องส่งสาร แปลความ และแปรเป็นกระบวนการทำงานให้สอดคล้อง เชื่อมโยง พึงพา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
KPI ระดับ 4-5 แล้ว ถึงเราจะไม่ใช่กระทิงแดง แต่ก็มีไว้เอาให้พุ่งชน ….น่าจะสนุกกว่ามีไว้แล้วไม่รู้ว่ามีไว้ทำไม ………….
One thought on “Scaffolding”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
เห็นด้วย กับที่ว่า วิชาชีพนี้ ต้องมีกระบวนการทำงาน เชื่อมโยง สอดคล้อง พึ่งพา แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะอยู่โดดเดี่ยวเฉยๆไม่ได้ ต้องช่วยกันคิด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร โดยเราจะเริ่ม ณ บัดเดี๋ยวนี้ …