ค่ายห้องสมุดสุดหรรษา 2554 : การจัดการ

ได้รับส่งต่อจากประธานคณะทำงานค่ายห้องสมุดสุดหรรษา (พี่เก) ว่าช่วยเขียนเรื่องการจัดการงานค่ายห้องสมุดให้ที เพื่อตอบคำถามของหัวหน้าฝ่าย จึงรับมาเขียนเป็นเรื่องๆ ดังนี้
1.การจัดการค่าย ในส่วนการจัดการค่ายฯ รวมตั้งแต่ การรับสมัคร การเลือกขนาดเสื้อ การกำหนดวันจัดค่ายฯ  การจัดการขยะ การรับสมัครนักศึกษาช่วยกิจกรรม
การรับสมัคร เรื่องแรกเลยคือออกแบบใบสมัคร ให้มีข้อมูลที่ต้องการ ให้ครบถ้วน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครองเผื่อฉุกเฉิน  รวมทั้งน้ำหนัก ส่วนสูงของเด็ก สำหรับคำนวณไซต์เสื้อให้  การรับสมัครตอนแรกกะไว้ว่าจะปิดประกาศรับสมัคร แต่เอาเข้าจริงยังไม่ทันจะทำใบประกาศ ผู้ปกครองก็ติดต่อมาอย่างล้นหลาม อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กค่ายเก่า ที่ไม่ประมาท ติดต่อมาโดยโทรศัพท์ มาเขียนใบสมัครเองที่ห้องสมุด  และมาตามสายเดิม ได้แก่ สายโรงอาหาร (พี่ดวง)  สายอนุบาลซอย 5 (พัชรี)  สายธนาคารกรุงไทย (น้องเอ๋) สามสายนี่ก็ครึ่งค่ายแล้ว  และครั้งนี้กำหนดจำนวนเด็กไว้ 80 คนแน่นอน ดังนั้นคำอ้อนวอนของผู้ปกครองจึงไม่ประสบผลสำเร็จแม้แต่รายเดียว แต่เข้าคิวสำรองไว้ เผื่อตัวจริงสละสิทธิ์ (เหมือนสอบเข้าเลยนะเนี่ย) และได้เรียกตัวสำรองมา 2 คน
การเลือกขนาดเสื้อ คณะกรรมการได้เห็นไซต์เสื้อจากที่น้องพนิดาเอามาให้ดูแล้ว เมื่อดูจากน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กที่ระบุในใบสมัครแล้ว สามารถประมาณขนาดเสื้อได้ และไม่พลาด นอกจากส่วนที่ผู้ปกครองเลือกเอง ก็จะให้เป็นไปตามความต้องการ
การกำหนดวันจัดค่ายฯ จะดูว่าเด็กนักเรียนปิดภาคเรียนกันวันที่เท่าไหร่ ตรวจสอบกิจกรรมอื่่นๆ ของห้องสมุด ไม่ให้ชนกัน ดูวันหยุดนักขัตฤกษ์ แล้วก็ set วันเลย 5 วันทำการ นอกจากนั้น ศูนย์คอมพิวเตอร์จะถามเราด้วยว่า ค่ายห้องสมุดฯ จัดวันที่เท่าไหร่ ค่ายคอมพิวเตอร์ก็จะจัดสับหลีกกันเพื่อให้โอกาสเด็ก ๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งสองค่าย จึงทำให้ศิษย์ค่ายห้องสมุดเป็นเสมือนลูกหลาน เจอที่ไหนก็ตะโกนเรียก
การรับสมัครนักศึกษาช่วยทำกิจกรรม แจ้งข่าวต้องการรับสมัครนักศึกษาช่วยงานค่ายผ่าน facebook ของห้องสมุด โดยบอกคุณสมบัติที่ต้องการ และบอกเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อ มีนักศึกษาติดต่อเข้ามา และได้เลือกนักศึกษากลุ่มของคณะวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นทีมเดียวกัน ที่ทำงานเข้าขากันดี
การจัดการขยะในแต่ละวัน ผู้รับผิดชอบหลักคือ ดวงธิดา เจ้าของพื้นที่ ที่ต้องทำงานมากกว่าปกติ แต่คงเพราะรักเด็กเหมือนกัน จึงต้องขอบคุณมากๆ (นอกจากขยะ แล้วยังห้องน้ำอีก แต่เด็กๆ ก็รักษาความสะอาดกันได้ดี)  นอกจากนั้นเด็กๆ ค่าย ก็จะช่วยกันเก็บเศษกระดาษ เวลาทานข้าวก็ได้ฝึกให้รับผิดชอบ ดูแลในพื้นที่ที่ตัวเองนั่งอยู่ ให้เก็บให้เรียบร้อย ซึ่งได้ผล กวาดเศษอาหารลงถุงแยกไว้ แยกจาน ช้อน กล่องนม น้ำผลไม้ ป้าดวงให้เอาหลอดออกก่อนเอากล่องใส่ในถุงดำแยกต่างหาก เศษขยะที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วอีกถุงหนึ่ง ทำให้ขยะแยกเป็นส่วนๆ ไม่เลอะเทอะ

2. การจัดการกิจกรรม ได้แก่ การคัดเลือกกิจกรรม การวางกิจกรรมในแต่ละวัน เรื่องนี้เราได้คิดกันมาเรื่อย ๆ สะสมกิจกรรม สะสมความคิดกันมานาน จนถึงวันที่เราคิดวางกิจกรรม จึงเริ่มต้นจาก การนำเอาภูมิความรู้ในตัวของบุคลากรของเราก่อน และต้องไม่ซ้ำกับกิจกรรมปีก่อนๆ ในปีนี้ จึงได้ออกมา 3 กิจกรรมก่อน คือ  ทำหมวกกล่องนมของป้าดวง  ทำว่าวของลุงมนตรี  และการปั้นดินน้ำมันของน้ากวี
ต่อจากนั้นก็วางกิจกรรม ที่เราคิดว่า ต้องมี จัดออกมาำได้  2   กิจกรรม คือ  ไปไหว้หม่อมหลวงปิ่น  ฟังพระเทศน์
แล้วก็มาคิดว่า เด็กมาเข้าค่ายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็น่าจะให้เด็กได้รู้จักหน่วยงานอื่นของ มหาิวิทยาลัยศิลปากร ไม่ให้รู้จักแต่หอสมุด  ดังนั้นจึงตกลงไปที่ โรงพิมพ์ เพราะเส้นสายเราดี ก็น่าจะติดต่อง่ายดาย.. (ไว้ปีต่อไป ก็จะไปเยี่ยมชมหน่วยงานอื่นๆ อีก)
โจทย์ต่อไป คือเราติดใจว่าเมื่อปีทีแล้วเราทำข้าวหลามแล้ว เด็ก ๆ ชอบ ถึงขนาดเก็บไปฝากผู้ปกครอง  คุยกันว่า หรือจะเอาลูกชุบอีก เพราะพี่ติ๋วเป็นโต้โผได้ และจะไปสอดคล้องกับการปั้นดินน้ำมันของน้ากวีด้วย
ไล่ดูแล้ว ยังต้องการกิจกรรมอื่นอีก  กิจกรรมที่เป็นไทยๆ ใกล้ตัว ที่ยังเหลืออยู่ ก็คือ มวยไทย ซึ่งน้องแทนไปซ้อมอยู่บ่อยๆ  จึงได้นำเสนอ และคณะกรรมการเห็นด้วย จึงได้จัดลงครึ่งวัน ซึ่งได้ไปสอบถามกับครูมวยแล้ว ครูมวยซึ่งชอบสอนมวยเด็กๆ เป็นทุน จึงเตรียมการสอน และนำวิทยากรอายุ 5 และ 6 ขวบมาด้วย เพื่อให้เด็กค่ายเห็นว่า น้องตัวเล็กๆ ยังสามารถฝึกมวยได้ และยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปมวยไทยด้วย
ได้กิจกรรมแล้ว ก็จัดลงวัน โดยต้องคิดว่า จะทำอะไร เพื่ออะไร  เช่น ทำหมวก ต้องทำตั้งแต่วันแรกๆ เพราะทำช้า จะได้มีเวลาทำหลายวันให้เสร็จ และจะได้นำไปใช้ในวันเล่นว่าว และเดินไปไหว้ ม.ล.ปิ่น  พระเทศน์ก็กำหนดวันไว้นิมนต์พระ แต่ก็ต้องยืดหยุ่นไว้ว่า หากพระท่านไม่ว่าง จะได้ช่วงไหน ก็ต้องสับหลีกกิจกรรม  ปั้นดินน้ำมันกับทำลูกชุบจัดลงเช้าบ่ายวันเดียวกัน เพราะเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่อง จนกวีเป็นผู้ตั้งชื่อกิจกรรมว่า ปั้นเล่น กินจริง
เราจึงสามารถดำเนินกิจกรรมไปได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีช่องโหว่ในวันสุดท้ายที่กิจกรรมจบลงเร็ว จนมีเวลาเหลือ และด้วยที่เรามีทุนทางปัญญาที่สะสมไว้เยอะพอควร จึงไปเอาอีเล้งเค้งโค้งมาเล่นให้เด็กสนุกสนาน จนจบได้ด้วยดี

การจัดการตนเอง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การแบ่งงานกันทำ ไม่กระทบกับงานประจำ  เพราะที่ทำ ทำด้วยใจรัก ไม่คิดเล็กคิดน้อยว่าใครทำมาก ทำน้อย งานของใคร ของมัน  ในส่วนของงานสารนิเทศ ซึ่งเราทำกิจกรรมกันทั้งหมด (มักจะทิ้งน้องหงษ์ไว้รับโทรศัพท์) พี่เกเป็นตัวยืนที่ค่ายฯ  ส่วนใครจะอยู่โยงที่ห้องก็แล้วแต่ว่า กิจกรรมอะไรใครถนัด  คนที่อยู่ก็จะทำแทนให้คนที่ไม่อยู่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานเฉพาะหน้า  งานบริการผู้ใช้บริการทั่วไป ก็ไม่มากนัก อาจเพราะเนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม

ในส่วนการจัดการตนเอง ก็จะมาำทำงานกันเช้ามากกว่าปกติ เพื่อจะมาดูงานที่เร่งด่วน และทำงานที่จำเป็นในแ่ต่ละวัน
ส่วนปัญหาที่พบก็มีเหมือนกัน แล้วจะนำไปรายงานผลการประเมินต่อไป
ต่อไปนี้ก็ยังมีภาระกิจอีกที่จะต้องสร้างทุนใส่กระเป๋าเอาไว้อีก ไว้ใช้คราวต่อๆ ไป

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร