เบิ่งลาว : หอสมุดแห่งชาติลาว
หลังจากที่คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นได้ประชุมกันที่ ศูนย์วิทยพัฒน์ ของมสธ. ที่จ.อุดรธานีในวันที่31 มกราคมแล้ว เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คณะทำงานของเราก็ออกเดินทางไปศึกษาดูงานกันที่ประเทศลาว โดยมีรถของบริษัททัวร์ที่ทางคณะทำงานได้ติดต่อไว้มารับเรายังที่โรงแรมที่พัก ออกเดินทางไปยังด่านชายแดนที่จังหวัดหนองคาย
หลังจากผ่านด่านเรียบร้อยเราก็เดินทางไปยังหอสมุดแห่งชาติลาว ซึ่งตั้งอยู่ ถนนเชษฐาธิราช นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หอสมุดฯ เปิดบริการจันทร์-ศุกร์ 08:00-16:00 น. มีบุคลากรจำนวน 32 คน มี ท้าวบุนเลิด ทำมะจัก ผู้อำนวยการ เริ่มดำเนินการครั้งแรก ปี ค.ศ.1959 โดยท้าวสุพัน บรังชาร์ เดอ ลาโบร์ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น การจัดตั้งครั้งัน้นได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิรอดกี้ เฟลเลอร์ Rocky Feller Foundation) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติลาวเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีบุคลากรเป็นบรรณารักษ์ จำนวน 15 คน มีการแบ่งส่วนราชการเป็นหน่วยงานต่างๆ คือ หน่วยงานบริหาร หน่วยงานหอสมุด มีการแบ่งเป็นแผนกงาน งานจัดหา และจัดซื้อหนังสือ งานจัดหมู่และทำรายการ งานบริการ งานจัดทำบรรณานุกรมแห่งชาติ งานการพิมพ์และการซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานจัดเก็บและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของประเทศลาว โดยจัดเป็นห้องให้บริการศึกษาค้นคว้า (Collections) ได้แก่ ห้องค้นคว้าใบลาน ศูนย์สำเนาข้อมูลดนตรีพื้นเมืองของลาว ห้องอ่านภาษาเวียดนาม ห้องมรดกอินโดจีน เป็นต้น
ที่โดดเด่นคือ ห้องค้นคว้าใบลาน เนื่องจากคัมภีร์ใบลาน นอกจากจะเป็น “ตำรา” บันทึกความรู้ เรื่องราวทั้งทางโลกและทางธรรมในสังคมลาวแล้ว ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง คัมภีร์ใบลานยังมีบทบาทสำคัญ นั่นคือ การเป็นเครื่องมือต่อสู้กันระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมกับประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม ในสมัยก่อน สังคมลาวให้ความสำคัญกับคัมภีร์ใบลานมาก เพราะเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา และบันทึกเรื่องราวความเป็นมา รวมถึงแง่คิด วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว
โดยเฉพาะปัจจุบัน “โครงการปกปักรักษาหนังสือผูกใบลานลาว” มีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรวจ ขึ้นทะเบียน ทำบัญชีและอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานและพับทั่วประเทศลาว โดยดำเนินการอนุรักษ์ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านเนื้อหา รวมทั้งประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย พร้อมกันนี้ยังมีวัตถุประสงค์ในการสร้างฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลาน การจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานที่เป็นแบบอย่างให้แต่ละภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงประสานงานในการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานระหว่างจุดที่อยู่ศูนย์กลาง และสืบต่อดำเนินงานอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานตลอดไปเมื่อโครงการระดับรัฐสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า ปริวรรต และพิมพ์เผยแพร่ความรู้ในคัมภีร์ใบลานออกไปสู่วงกว้าง เพื่อให้มหาชนได้ศึกษา เรียนรู้ภูมิปัญญาของคนโบราณ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้