เบิ่งลาว : หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง

ในที่สุดก็ถึงสถานที่ดูงานแห่งสุดท้าย ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้าที่ต้องเป็นผู้เขียนรายงานส่งคณะทำงานคือ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หลวงพระบาง ซึ่งงานนี้คอนข้างลำบางมากพอสมควรเนื่องจากทางเราเข้าใจว่า สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็คงเหมือนพิพิธภัณฑ์บ้านเราคือต้องมีข้อมูลเอาไว้แจก หรือให้เราจด หากข้อมูลไม่พอ เราก็สอบถามเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมได้ แต่ไม่เป็นอย่างที่เราคิดเลยเมื่อไปถึง เพราะประเทศลาวเค้ามีกฎระเบียบที่เคร่งครัด หากต้องการข้อมูลต้องมีหนังสือราชการมาก่อน ส่วนข้อมูลต่างๆ นั้นหากไม่อยู่ในความรับผิดชอบเค้าไม่ตอบเรา เพราะถือว่าผิดระเบียบ แล้วอีกอย่างเค้ามีไกด์นำเที่ยวที่คอยอธิบายเราไม่มีข้อมูลแจก เราจึงต้องจดและจดตามที่ไกด์บอกอย่างเดียว และตกลงกันในกลุ่มที่รับผิดชอบว่า อาจต้องหาข้อมูลทาง Internet เพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง  เฮ้อ! เล่ามาเสียนานมาเข้าเรื่องกันดีกว่าค่ะ
อันว่า หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หลวงพระบาง นั้นตั้งอยู่ที่ถนนสีสะหว่างวงศ์ หลวงพระบาง บ้านชุมคลอง เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดบริการให้เข้าชมวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 08.00 – 11.30 น. และ 13.30 – 16.30 น ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดรัฐการ โดยชาวต่างชาติเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมคนละ 30,000 กีบ (ประมาณ 120 บาท) ชาวลาวเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมคนละ 5,000 กีบ (ประมาณ 20 บาท) ผู้เข้าชมต้องแต่งกายสุภาพ ห้ามสูบบุหรี่และห้ามถ่ายรูปและวิดี
หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง หรือพระราชวังเก่า หรือชาวเมืองหลวงพระบางเรียกว่า หอคำ หรือวังเจ้ามหาชีวิต เพราะเดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตสายหลวงพระบาง ตั้งอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง ตรงข้ามกับบันไดทางขึ้นวัดพูสี เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2447 ในสมัยพระเจ้าสักกะริน และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2452 อาคารออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ลักษณะอาคารเป็นชั้นเดี่ยวยกพื้นสูง สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส แต่เป็นการผสมผสานระหว่างฝรั่งเศสและลาว   สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์  ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งพระราชอาณาจักรลาว ด้านนอกอาคารทางซ้ายเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ที่พระราชวังนี้จนสิ้นพระชนม์   ส่วนอาคารทางขวามือเป็นหอพระบาง ภายในหอพระนี้เองเป็นที่ประดิษฐานของ พระบาง ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง พุทธลักษณะของพระบาง เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน ปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร เป็นศิลปะสมัยขอม มีน้ำหนักประมาณ 54 กิโลกรัม ประกอบด้วยทองคำ 90 เปอร์เซ็นต์ และในหอพระนี้ยังมีพระพุทธนาคปรก สลักศิลาอีกสี่องค์และยังมีกลองโบราณอยู่ด้วย สำหรับอาคารด้านหน้าเป็นพระราชวังเดิม ซึ่งภายหลังเปลี่ยนระบอบการปกครองในประเทศลาวเมื่อ พ.ศ. 2518  รัฐบาลลาวได้ใช้พระราชวังหลวงนี้เป็นหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ และเปิดทำการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เพื่อจัดแสดงให้เห็นโบราณวัตถุ ทรัพย์สินต่างๆ ของราชวงศ์  อาทิ บัลลังก์ ธรรมมาสน์ เครื่องสูงและราชูปโภคของเจ้ามหาชีวิต พระพุทธรูป และวัตถุโบราณ ของขวัญจากประเทศต่างๆ
การจัดแสดงภายในหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง จัดแบ่งออกเป็นห้อง ๆ   เช่น
ห้องฟังธรรม ภายในมีธรรมมาสน์ที่ตกแต่งอย่างสวยงามตั้งเด่นอยู่เบื้องหน้า ห้องปูพรมอาสนะ เป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิติศรีสว่างวงศ์ในเวลาฟังธรรม
ห้องพิธีการ หรือท้องพระโรงหน้า เคยใช้เป็นห้องรับรองแขก ให้ข้าราชบริวารเข้าเฝ้า ต้อนรับแขกต่างบ้านต่างเมือง พิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้เป็นห้องพบปะกันของเชื้อสายราชวงศ์
ห้องพระ ซึ่งมีพระบางประดิษฐานอยู่ ห้องโถงประดิษฐานพระพุทธรูปและวัตถุมงคลทางศาสนา ที่เป็นเครื่องราชบันนาการจากเมืองอื่นๆ มีพระราชอาสน์ที่ประทับตั้งอยู่บนแท่นตรงกลาง มีสีเขียว จัดไว้เหมือนเดิม เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ รูปภาพ เครื่องตกแต่ง กระจกเงาจากฝรั่งเศส  โคมห้อยระย้าได้มาจาก เช็คโกสโลกาเกีย ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ กิตติยารัฐ ทาแลกเกอร์ แกะสลักอย่างสวยงามโดยฝีมือช่างสกุลหลวงพระบาง กลองมโหระทึกทำด้วยทองเหลืองมีจำนวนถึง 60 ลูก ซึ่งหาดูชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ห้องเข้าเฝ้า เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ใช้เป็นที่ปฏิบัติราชกิจส่วนพระองค์ มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านหลัง ภาพเขียนที่ฝาผนังเป็นภาพแสดงวัฒนธรรมประเพณี ชีวิตประจำวันของผู้คนชาวลาว เขียนภาพโดย อลิกซ์ เดอ เฟอตาเรา แกะสลักฉากไม้ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ โดยช่างหลวง เพียทิศตัน
ห้องโถงพระโรงใหญ่ สำหรับให้ข้าราชบริพาร ขุนนาง เข้าเฝ้า มีเสาสี่เหลี่ยมใหญ่ จิตรกรรมเรื่องราวเกี่ยวกับ พระบรมวงศานุวงศ์ ของลาว นิทานขูลู นางอั้ว ภาพวัฒนธรรมประเพณีของลาว เช่น บุญปีใหม่ การส่วงเฮือ (การแข่งเรือ) ตลาดนัดเดิ่นวัดธาตุหลวง การจุดบั้งไฟ ตบพระธาตุทรายโดยช่างหลวงงานแต้มฮูบทิดบุนทันกับทิดดวง กระเบื้องโมเสกประดับจากประเทศญี่ปุ่น งานตกแต่ง ประกอบด้วย ช้างสามเศียร ซึ่งหมายถึง อาณาจักรล้านช้างได้แบ่งออกเป็นสามส่วน เศวตรฉัตร เป็นเครื่องหมายของเจ้ามหาชีวิต ฯและ พญานาคเจ็ดเศียร
ห้องที่รวบรวมสิ่งของมีค่าที่ได้จากการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุหมากโม วัดวิชุนนะราช ที่ซำรุด ทรุดโทรมลง ใน พ.ศ. 2453 ได้จัดทำและนำมาแสดงไว้ในตู้กระจกสองตู้ สิ่งของที่มีค่า เช่น พระพุทธรูปคำ ลาวจะเรียกทองคำ ว่า คำ ส่วนทองคำนั้นหมายถึงทองเหลือง หรือทองสัมฤทธิ์ สถูปเล็กทำด้วยทองคำแท้ เครื่องเพชร เครื่องทอง พระขรรค์ เครื่องราชกุธภัณฑ์ พระพุทธรูปปั้นด้วยดินปิดด้วยทอง
ห้องจัดเลี้ยงกว้างใหญ่ ห้องเสวย ห้องนิทรรศการแสดงของที่ระลึกจากผู้นำต่างบ้านต่างเมือง
ห้องของมเหสีราชีนีคำผุย  ซึ่งเป็นชาวหลวงพระบาง ที่เข้าพิธีมงคลสมรสกับ เจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา
ห้องโถงของราชินีมีลักษณะคล้ายกับห้องใหญ่ของเจ้ามหาชีวิต ที่ออกว่าการ ใช้สำหรับข้าราช บริพาร ในฝั่งด้านตรงกันข้ามและใช้ต้อนรับแขกส่วนพระองค์ที่จะเข้าเฝ้ามเหสีราชีนีคำผุย มีพระฉายาทิศลักษณ์ของเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์ พระราชินีคำผุย พระราชโอรส วาดภาพโดย อิลยา กลาซูรอฟ จิตกรชาวรัสเซีย ผู้ที่ได้รับการเข้าเฝ้าต้องลงพระนามก่อน ด้านข้างจะมีตู้แก้วสำหรับโชว์ของขวัญที่ราชอาคันตุกะ ผู้นำประเทศต่างๆ ถวายแด่เจ้ามหาชีวิต
วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มา เป็นสิ่งของเครื่องใช้เดิมในพระราชวัง สมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ โดยมีการขึ้นทะเบียนวัตถุต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน
งบประมาณ ได้รับการสนับสนุนและดูแลจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจากต่างประเทศ

ในที่สุดก็เล่ามาจนถึงสถานที่สุดท้ายตามเป้าหมายในการดูงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก และไม่ลืมเพราะหากไปเองก็คงไม่ได้ประสบการณ์ที่ดีมากขนาดนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานที่ส่งข้าพเจ้าไปดูงานครั้งนี้ 😀

ปล. พี่แมวคะไม่น้อยใจหรอกคะที่ได้ไปแค่ประเทศลาวเพราะโดนมากๆ :mrgreen:

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร