โครงการสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog)
หากจะพูดถึงบัตรรายการสหบรรณานุกรม หรือ Union Catalog Card แล้ว บรรณารักษ์รุ่นเก่าๆ คงจะรู้จักกันดี ในลักษณะที่เป็นรูปแบบบัตรรายการ 3″ x 5″ และก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เจ้าบัตรรายการสหบรรณานุกรมนี้ มีประโยชน์มากมายเลยทีเดียวในตอนนั้น เพื่อที่จะได้รู้ว่าหนังสือเล่มนั้นๆ มีอยู่ที่ห้องสมุดไหนในประเทศไทย
หรือในส่วนของตัวเล่มวารสาร ก็จะรู้จักกันในชื่อ Union List of Serials in Thailand ซึ่งเป็นตัวเล่มที่รวบรวมรายชื่อวารสารที่แต่ละห้องสมุดมี (หนามากกว่า 300 หน้า เลยทีเดียว)
แม้บัตรรายการสหบรรณานุกรม และ Union List of Serials in Thailand จะไม่ได้จัดทำหรือออกตัวเล่มมาอย่างรวดเร็วทันเวลาก็ตาม แต่ก็สามารถอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงหนังสือหรือวารสารที่มีอยู่ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงความร่วมมือต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงห้องสมุด ในขณะเดียวกัน บรรณารักษ์ยุคใหม่ อาจไม่เคยรู้จักเลยก็ได้ว่าเจ้าบัตรรายการสหบรรณานุกรม และ Union List of Serials in Thailand ที่ว่านี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วมีประโยชน์อย่างไร…
เมื่อวันเวลาผ่านไป วิทยาการต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงห้องสมุดมากขึ้น มีการนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการดำเนินงานของห้องสมุดแทบจะทุกห้องสมุดในประเทศไทย โดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐ แนวความคิดเกี่ยวกับการนำรายการสหบรรณานุกรมมาจัดเก็บด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จึงได้เกิดขึ้น…
ในปีพ.ศ.2546 สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS) โดยมีโครงการสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) เป็นโครงการหนึ่ง ใน 3 โครงการ
โครงการนี้มีแผนบริหารจัดการในครั้งแรก 5 ปี (2547-2551) โดยมีการประชุมเมื่อวันที่ 24-26 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เพื่อกำหนดมาตรฐานในการใช้งานฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม (Union Catalog) ร่วมกัน สร้างความเข้าใจในการดูแลและบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม
เป้าหมายของโครงการสหบรรณานุกรมห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา (Union Catalog) คือ 1) มีฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม (Union Catalog) ที่รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุมหาวิทยาลัย/สถาบัน มหาิวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และห้องสมุดสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 2) เพิ่มความสมบูรณ์ของฐานข้อมูลสหบรรณานุกรม (Union Catalog) ด้วยการรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศที่อยู่ในสื่อประเภทต่างๆ 3) ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยผ่านระบบการยืมระหว่างห้องสมุด 4) เป็นต้นแบบของศูนย์รวมบรรณานุกรมแห่งชาติ (National Bibliographic Center) 5) เป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ที่ใหญ่ที่สุดของชาติ สำหรับบุคลากรของประเทศ ที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์