สิ่งที่ได้จากการฟังบรรยาย
เมื่อ 7 มิ.ย. 62 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้ารับฟังการบรรยาย เรื่อง แนวทางการนำเกณฑ์ EdPEx ไปใช้กับงานหอสมุดฯ โดย ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ทราบว่า EdPEx ย่อมาจาก Education criteria for performance excellence หมายถึง เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ซึ่ง EdPEx ประจำปี 2562 ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยไทย เป็นเกณฑ์ที่อ้างอิงมาจากเกณฑ์คุณภาพแห่งชาติ (Thailand quality : TQA) ปี 2561-2562 ของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และเกณฑ์ Baldrige excellence framework (Education) ปี 2019-2020 ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ในประเทศไทย สถานศึกษาจำเป็นต้องมีระบบประกันคุณภาพ ซึ่งระบุอยู่ในราชกิจจานุเบกษา หน้า 3 เล่ม 135 ตอนที่ 11 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนด พร้อมทั้งจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ จัดให้มีการประเมินผลและตรวจสอบคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ติดตามผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา และจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองให้แก่หน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษาเป็นประจำทุกปี
ท่านวิทยากรผู้บรรยายได้บอกถึงเกณฑ์การให้คะแนนในการเขียนเล่มรายงานการประเมินตนเอง (Self-Assessment report (SAR) ว่ามีทั้งหมด 100 หน้า ประกอบด้วย
– โครงร่างองค์กร (Organizational profile) ความยาว 10 หน้า (ในส่วนนี้จะไม่มีคะแนนให้ เป็นการกล่าวนำ
เท่านั้น)
– หมวด 1-6 (กระบวนการ) + หมวด 7 (ผลลัพธ์) ความยาว 90 หน้า
– ตอบคำถามท้าทาย 3 ข้อ คือ
1. หน่วยงานของท่านดำเนินการได้ดีที่สุด อย่างที่ควรเป็นหรือไม่
2. ทราบได้อย่างไร
3. มีอะไรที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่ และด้วยวิธีการอย่างไร
ให้ความสำคัญต่อการ “ทำอย่างไร” มากกว่า “ทำอะไร” ทำในเรื่องที่สมควรทำ ทำอย่างเป็นระบบ มีการ
ทบทวน ติดตาม ประเมินผลเพื่อการปรับปรุงกระบวนการเป็นระยะ
คะแนนรวมทั้งหมด 1,000 คะแนน ดังนี้
• บทนำ : โครงร่างองค์กร (OP) ไม่มีคะแนน
• หมวด 1 : การนำองค์กร 110 คะแนน
• หมวด 2 : กลยุทธ์ 95 คะแนน
• หมวด 3 : ลูกค้า 95 คะแนน
• หมวด 4 : การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 100 คะแนน
• หมวด 5 : บุคลากร 100 คะแนน
• หมวด 6 : ระบบปฏิบัติการ 100 คะแนน
• หมวด 7 : ผลลัพธ์ 400 คะแนน
จากคะแนนข้างต้นจะเห็นได้ว่า หมวด 7 : ผลลัพธ์ มีคะแนนมากที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อย่อยดังนี้
7.1 ผลลัพธ์ด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ (120 คะแนน)
การนำเสนออาจแสดงเป็นกราฟแท่ง หรือ กราฟเส้นก็ได้ ข้อนี้ต้องมีค่าเป้าหมาย ต้องกำหนดตัวเลข เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ เช่น ถ้าระยะเวลา 3 ปีผ่านไปผลลัพธ์อาจจะสูง หรือต่ำกว่าค่าเป้าหมายหมาย
7.2 ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า (70 คะแนน) เราต้องรู้ความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่เราจะทราบความพึงพอใจของลูกค้า แต่เราไม่ทราบความไม่พึงพอใจของลูกค้า
7.3 ผลลัพธ์ด้านมุ่งเน้นบุคลากร (70 คะแนน) คะแนนของข้อ 7.2 และ 7.3 มีคะแนนเท่ากัน ซึ่งให้ความสำคัญควบคู่กัน ระหว่างผู้ให้บริการ กับผู้รับบริการ ถ้าผู้ให้บริการมีความรู้สึกที่ดี อยากให้บริการที่มาจากใจ ผู้รับบริการก็จะได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้นที่องค์กรต้องการมอบให้
7.4 ผลลัพธ์ด้านการนำองค์กรและการกำกับดูแลองค์กร (65 คะแนน) ข้อนี้ผู้บริหารองค์ต้องเป็นผู้ตอบ ว่าได้นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ เช่น องค์กรกำหนดวิสัยทัศน์ที่ดูดี สวยหรู แต่ทำไม่ได้ แปลว่า มีแนวทางสร้างแต่ไม่มีการเผยแพร่
7.5 ผลลัพธ์ด้านการเงินและตลาด (75 คะแนน) คือ รายรับ รายจ่าย ขององค์กร เช่น องค์กรคิดแต่เรื่องการของบประมาณจากแหล่งเงินต่าง ๆ มาเพื่อจัดกิจกรรม แต่ไม่ได้มองถึงความคุ้มค่า และอาจมีข้อเสียมากว่าข้อดี ซึ่งบางครั้งการอยู่นิ่ง ๆ อาจดีกว่า
ถ้าองค์กรผลลัพธ์ไม่ดี หรืออัตราการปรับปรุงช้ากว่าคู่แข่งหรือคู่เทียบองค์กร จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุว่า “ทำไม” จึงเป็นเช่นนั้น และควรทำ “อะไร” เพื่อเร่งการปรับปรุงให้ดีขึ้น