ปราสาทนครหลวง วัดนครหลวง

ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ในเขตตำบลนครหลวง เดิมเป็นตำหนักที่ ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีและเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จไปลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่มาสร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูนในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อพ.ศ.2147 พระองค์โปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลาที่เรียกว่า “พระนครหลวง” ในกรุงกัมพูชา นำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชา กลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยประการใดไม่ปรากฏ ต่อมาจึงมีผู้สร้างมณฑปและ พระบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้ ส่วนตำหนักที่สร้างอยู่ข้างปราสาทนี้ได้ปรักหักพังไปหมดแล้วสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีฯเปิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘
ประวัติปราสาทนครหลวง
ปราสาทนครหลวง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อพ.ศ. 2147 พระองค์ได้โปรดให้ช่างจำลองแบบมาจากปราสาทที่กัมพูชาแล้วสร้างเป็นที่ประทับ ก่ออิฐถือปูน โดยนำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยนั้น ต่อ มาในปี พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อมๆกับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บน ลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด
เมื่อมาเที่ยวปราสาทนครหลวงจึงไม่ควรพลาดด้วยการไปสักการะพระ พุทธบาทสี่รอย ที่ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวง ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหิน โดยรอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 ม. ยาว 5.50 ม.
ปราสาทนครหลวง ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเขา ซึ่งทำขึ้นโดยนำดินมาถมให้สูง มีระเบียงล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แต่ละชั้นมีประตูเข้าสู่ชั้นสูงสุดนับสิบประตู ระเบียงคดแต่ละชั้นสร้างปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม และที่กึ่งกลางก็มีปรางค์ด้วย
ปรางค์ มี ทั้งหมด 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอม แต่ก่อด้วยอิฐ ไม่ใช่ศิลาแลง องค์ปรางค์มีการย่อมุมไม้ยี่สิบ หมายถึงมุมหนึ่งทำเป็นมุมเล็กได้ห้ามุม (สี่มุมคูณด้วยห้าจึงมี 20 มุม) จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า การสร้างปรางค์ของเดิมใช้โครงไม้ขึ้นรูปก่อนแล้วก่ออิฐล้อตาม
ระเบียงคด คือส่วนที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ ปัจจุบันเหลือแต่ผนังของระเบียงคด ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าช่างได้ทำช่องหลอกไว้เป็นซี่คล้ายลูกกรง เรียกว่า “ลูกมะหวด” ช่องดังกล่าวนี้ตัน อากาศและแสงไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ เป็นลักษณะศิลปะแบบขอม คล้ายกับโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ วัดมหาธาตุ วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ
พระพุทธบาทสี่รอย นายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่นเป็นผู้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับวัดนครหลวง มีลักษณะเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอย ลึกลงไปในเนื้อหิน รอยที่ใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 ม. ยาว 5.50 ม. ประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดของปราสาทนครหลวงที่มณฑปมีจารึกที่หน้าบันว่า ปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446 ใน รัชกาลที่ 5)
ตำหนักนครหลวง หรือ ศาลพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทนครหลวง มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารจัตุรมุข ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการได้นำพระจันทร์ลอยจากวัดเทพจันทร์ลอย ต. พระจันทร์-ลอย อ. นครหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาทนครหลวงมาประดิษฐานไว้ แผ่นหินพระจันทร์ลอยมีลักษณะเป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ม. หนา 6 นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลักที่ค่อนข้างดูยาก ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่งสลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน มีผู้สันนิษฐานว่าแผ่นหินดังกล่าวอาจเป็นธรรมจักรที่ยังสร้างไม่เสร็จก็เป็นได้
* แหล่งที่มาข้อมูล http://nakhonloung.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/11/menu/138 
     

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร