ท่องเที่ยวภาคใต้ วัดพะโคะ
ประวัติความเป็นมาของวัดพะโคะ
เดิมวัดนี้ปรากฏว่าพระชินเสนเป็นผู้สร้างในราว พ.ศ.500 ชื่อว่าวัดพระราชประดิษฐาน ฝังวิสุงคามสีมา พ.ศ. 840 พระยาธรรมรังศัลเจ้าเมืองพัทลุง (สทิงพระรานสี) เป็นศาสนูปถัมภ์ สร้างถาวรวัตถุหลายอย่างเพราะเห็นความสำคัญของวัดพระพุทธบาทหรือวัดพระราชประดิษฐาน ครั้งต่อมา ระหว่าง พ.ศ. 2091-2111 พระยาดำธำรงกษัตริย์ (บางแห่งกล่าวว่าพระยาธรรมรังศัล) ได้นิมนต์พระมหาอโนมทัสสี พระณไสยมุย และ พระธรรมกาวา ให้ไปเอากระบวนพระมหาธาตุ เมืองลังกา และมาสร้างเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ สูงหนึ่งเส้นห้าวา ทำพระวิหารธรรมศาลา ทำอุโบสถ สร้างกำแพงสูงหกศอกระหว่างเขตสังฆาวาสที่พักสงฆ์อาศัยคือส่วนลดต่ำทางทิศตะวันตกของพื้นที่วัด ส่วนที่เป็นเนินสูงราบเป็นชั้นๆ พื้นที่วัดทางทิศตะวันออกเป็นเขตพุทธาวาส สถานที่ปลูกสร้างปูชนียวัตถุโบราณสถาน เช่น พระวิหาร พระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ ธรรมศาลา เป็นต้น และสร้างพระพุทธไสยาสน์ ชื่อว่าพระพุทธโคตมะ ตามความนิยมของชาวบ้านเรียกชื่อวัดตามชื่อพระโคตมะ ชื่อวัดพระราชประดิษฐาน เดิมไม่นิยมใช้เรียกกัน ต่อมา วัดพระโคตมะ เรียกเพื้ยนไปเป็นวัดพะโคะ ในกาลครั้งนั้น กษัตริย์หัวเมืองพัทลุง (สทิงพระ) และคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทำฎีกาเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาขอทำกัลปนาต่อพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่กัลปนาแก่วัดวาอารามต่างๆ ในเขตหัวเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง
วัดพะโคะขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 180 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 หน้าที่ 135 มีพื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา มีชื่อทางราชการว่า วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่บนเขาพะโคะ ซึ่งมีชื่อในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า เขาภิพัชสิง เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (เมืองสทิงพระเมืองพัทลุง) และศูนย์กลางชุมชนพุทธศาสนาในแถบนี้ พระราชมุนีหรือที่รู้จักกันในนามหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เคยเป็นเจ้าอาวาสและประจำอยู่วัดแห่งนี้
โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดประกอบด้วย
1. เจดีย์ ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2525
2. ศาลาตัดสินความ
3. วิหารพระพุทธไสยาสน์
ศาลาตัดสินความ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และมีการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เคยใช้เป็นอาคารเรียนของวัดพะโคะ จนต่อมาพังลงจึงมีการสร้างอาคารเล็ก คลุม พระพุทธรูปประธานประจำวิหารไว้
การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 407 ทางสะพานติณสูลานนท์ผ่านเกาะยอ แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 408 (สงขลา-ระโนด) หลักกิโลเมตรที่ 110 ทางซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดพะโคะ
*แหล่งที่มาข้อมูล https://www.touronthai.com/article/3476