อ่านหนังสือวันละเล่ม "ชินมหานิทาน"
“ชินมหานิทาน” จัดพิมพ์โดย มหาเถรสมาคม พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
ชินมหานิทาน เป็นคัมภีร์จัดเข้าในจำพวกตำนาน-ประวัติ คำว่าชินมหานิทาน แยกได้ ๓ คำ คือคำว่า
ชิน เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า
คำว่า มหา แปลว่า ใหญ่ พิสดาร
คำว่า นิทาน แปลว่า เรื่อง ประวัติ รวมกันเป็น ชินมหานิทาน หมายถึงพุทธประวัติ คือ ประวัติของพระพุทธเจ้า
เป็นที่ทราบกันว่า ชินมหานิทาน เป็นเรื่องพุทธประวัติว่าด้วยความปราถนา ความประพฤติและธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติของพระพุทธเจ้าแต่เดิมมา เป็นเรื่องประเภทเดียวกันกับปฐมสมโพธิ ชินจริต ชินาลังการ
ข้อความตอนต้นได้พรรณาถึงความปราถนาพระพุทธภูมิ และพุทธการธรรมตลอดถึงพระบารมีธรรมที่ทรงบำเพ็ญมาแต่อดีต ประวัติพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ ซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแต่ละองค์เรียกว่าพุทธวงศ์โดยสังเขป ดังนี้
๑. พระทีปังกรพุทธเจ้า ว่าด้วยเรื่องเมื่อสี่อสงไชนกำไรแสนกัป พระองค์เสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ได้ฌานและอภิญญา มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธทีปังกร ได้นอนทอดตัวให้พระพุทธปังกรพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกเหยียบตนไปแทนที่จะเหยียบเปือกตมได้รับพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรกในคราวนั้น
๒. พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ต่อมาเป็นสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าโกณฑัญญะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ พระนามว่า วิชิตาวี ได้ทรงรับพุทธพยากรณ์
๓. พระมังคลพุทธเจ้า ต่อจากนั้นเป็นสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า มังคลพระองค์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ นามว่า สุรุจิ ได้พบพระมังคลพุทธเจ้า ก็ได้รับพุทธพยากรณ์
๔. พระสุมนพุทธเจ้า ต่อมาถึงสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุมนะพระองค์เสวยพระชาติเป็นพญานาค นามว่า อตุละ ได้รับพุทธพยากรณ์
๕. พระเรวตพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า เรวตะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ นามว่า อติเทพ ได้รับพุทธพยากรณ์
๖. พระโสภิตพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โสภิตะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ นามว่า สุชาตะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๗. พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระองค์เสวยพระชาติเป็นยักษ์มีฤทธิ์มาก ได้รับพุทธพยากรณ์
๘. พระปทุมพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นารทะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นพญาราชสีห์ ได้รับพุทธพยากรณ์
๙. พระนารถพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า นารทะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นดาบส นามว่า ชฏิละ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๐. พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระองค์เสวยพระชาติเป็นผู้ครองแคว้น นามว่า ชฏิละ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๑. พระสุเมธพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุเมธะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นมาณพ นามว่า อุตตระ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๒. พระสุชาตพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุชาตะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจักพรรดิ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๓. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปิยทัสสี พระองค์เสวยพระชาติเป็นมาณพ นามว่า กัสสปะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๔. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า อัตถทัสสีพระองค์เสวยพระชาติเป็นชฏิล นามว่า สุสิมะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๕. พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ธัมมทัสสี พระองค์เสวยพระชาติเป็น ท้าวสักกเทวราช ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๖. พระสิทธัตถพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นดาบส นามว่า มังคละ มีเดชกล้า ได้อภิญญา ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๗. พระติสสพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ติสสะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ พระนามว่า สุชาตะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๘. พระปุสสพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปุสสะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ พระนามว่า สุชาตะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๑๙. พระวิปัสสีพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี พระองค์ เสวยพระชาติเป็นพญานาคราช นามว่า อตุละ ได้รับพุทธพยากรณ์
๒๐. พระสิขีพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า อรินทมะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๒๑. พระเวสสภูพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า เวสสภู พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ พระนามว่า สุทัศนะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๒๒. พระกกุสันธพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า กกุสันธะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ พระนามว่า เขมะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๒๓. พระโกนาคมนพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โกนาคมนะ พระองค์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ พระนามว่า ปัพพตะ ได้รับพุทธพยากรณ์
๒๔. พระกัสสปพุทธเจ้า ต่อมาสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ พระองค์พระชาติเป็นมาณพ นามว่า โชติปาละ ได้รับพุทธพยากรณ์
๒๕. พระโคตมพุทธเจ้า สมัยปัจจุบัน พระองค์สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคตมะ
ต่อไปภายหน้าในภัทรกัปนี้ จะมีพระเมตไตรยพุทธเจ้ามาตรัสอีก
คัมภีร์ชินมหานิทาน เป็นวรรณาพุทธวงศ์ หมวดตำนาน หมวดประวัติ วิธีการรจนา เป็นคำร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นอีกวรรณาหนึ่งที่ทำให้เข้าใจความในคัมภีร์พุทธวงศ์
นอกจากนั้น ก็พรรณาพุทธประวัติตอนต้น จนถึง พระกาฬุทายีทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถา คาถาพรรณาทางเสด็จ พุทธดำเนินนี้ไพเราะมาก ในคัมภีร์ใบลานเดิมของสิงหฬและฉบับพิมพ์อักษรโรมัน ปรากฎเฉพาะคาถาต้น และคาถาท้ายเท่านั้น จึงไม่ครบ ในชินมหานิทานภาคภาษาบาลีอักษรไทย ลงครบ ๖๔ คาถาด้วยเพื่อให้สมบูรณ์ จนถึงพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานโทณพราหมณ์จัดแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ
หนังสือชินมหานิทานนี้ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ถ้าจะเรียกชื่ออย่างกว้าง ๆ ก็คือเรื่องประวัติของพระพุทธเจ้า เป็นหนังสือมีลักษระคล้ายปฐมสมโพธิ พุทธจริต ชินาลัการ
รูปแบบการประพันธ์เป็นทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ต้นฉบับเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี
มีทั้งภาคภาษาบาลี และภาคภาษาไทย โดยมีนักภาษาโบราณ แปลเป็นภาษาไทย ดังนี้
๑. นายวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร แปล ผูกที่ ๑-๒
๒. นายประภาส สุรเสน แปล ผูกที่ ๓-๔
๓. นายเลียบ กิ่งโพธิ์ แปล ผูกที่ ๕-๖
๔. นายสุวรรณ จินต์ประชา แปล ผูกที่ ๗-๘
๕. นายสวัสดิ์ ทองประสาน แปล ผูกที่ ๙-๑๐
๖. นายเกษียร มะปะโม แปล ผูกที่ ๑๑-๑๒
๗. นายสุวัฒน์ โกพลรัตน์ แปล ผูกที่ ๑๓-๑๔
ตัวอย่าง ภาคบาลี ปณามคาถา
วนฺทิตฺวา สิรสา พุทฺธํ ธมฺมนฺเตน สุเทสิตํ
สงฺฆํ นิรงฺคณํ ปุยฺญกฺเขตฺตมนุตฺตรํ.
ปวกฺขามิ สมาเสน ชินนิทานมุตฺตมํ
อวิกฺชิตฺตา นิสาเมถ ทุลฺลภา หิอยํ กถา.
แปลภาษาไทย ความว่่า
ข้าพเจ้า (ผู้รจนาคัมภีร์ชินมหานิทาน) ขอถวายนมัสการพระพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว และพระสงฆ์ผู้หมดกิเลส เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม แล้วจักกล่าวแต่โดยย่อซึ่ง เรื่องชินมหานิทาน อันเป็นเรื่องสำคัญ ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ฟุ้งซ่าน จงตั้งใจฟังเถิด เพราะชินมหานิทานกถานี้หา (สดับ) ได้ยาก
ภาคบาลี ชินนิทานํ นาเมตํ พุทธชินํ พุทฺธงฺกุรํ พุทฺธปณิธานํ พุทฺธจริตํ พุทธโคจรฺติ เวทิตพฺพํ อมฺหากํ หิ ภควโต อภินิหารโต ปฏฺจาย ยาว ปรินิพฺพานา นิทานกถา ชินนิทานนฺติ เวทิตพฺพา. ตตฺตรายํ อนุปุพฺพีกถา.
แปลความว่า อันชินนิทานนี้ พึงทราบว่า เป็น (เรื่องแสดง) ชัยชนะของพระพุทธเจ้า (แสดง) เหล่ากอ (หน่อแนว) ของพระพุทธเจ้า ความปราถนาและจริยวัตรของพระพุทธเจ้า (และแสดง) ความเป็นไปของพระพุทธเจ้า ความจริงนิทานกถา (อันแสดงเรื่อง) แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย นับตั้งแต่ทรงบำเพ็ญบารมี จนถึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน จัดว่าเป็น “ชินนิทาน” ในชินนิทานนั้น มีเรื่องลำดับดังต่อไปนี้
เวลาอ่านเรื่อง ชินมหานิทาน ข้าพเจ้า จะอ่านภาคภาษาไทย ก่อน แล้วย้อนกลับมาที่ภาษาบาลี แปลไม่ได้ ต้องมาอ่านภาษาไทยช่วย อ่านสลับไปมา เพื่อความรู้ ประดับสติปัญญา
คติธรรมที่ได้จากการอ่านหนังสือ “ชินมหานิทาน” มี ดังนี้
๑. ธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุและ ความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้ “เป็นคำกล่าวของ ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตร”
“ธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุและความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”
๒. คำสอนของพระพุทธเจ้า ได้แก่ ขันติคือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่าพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม บุคคลผู้บวชแล้วยังทำร้ายผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะแล
๓. พระพุทธเจ้าสอนว่า “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำแต่ความดี การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๓ ข้อนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย การไม่ว่าร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฎิโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ที่นอน ที่นั่ง อันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต ๖ ข้อนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๔. ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่กรุงกบิลพัสดุ์เพื่อเยี่ยมพระราชบิดาซึ่งทรงประชวรหนัก ทอดพระเนตรพระราชบิดา มีพระสรีระซูบผอมทรงเกิดธรรมสังเวช ได้ตรัสคำแก่พระราชาว่า “โยม พอยังอัตภาพให้เป็นไปบ้างไหม ทุกขเวทนาเพลาลงบ้างไหม หรือไม่เพลาลงเลย? พระราชาตรัสตอบว่า พระองค์ผู้เจริญ โยมอดทนไม่ไหว มีชีวิตต่อไปไม่ไหว ทุกขเวทนาเพิ่มขึ้นไม่ผ่อนคลาย คราวนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “อย่าได้ทรงคิดมากไปเลยโยม” แล้วทรงอธิษฐานว่าถ้าเราบำเพ็ญบารมี ๓๐ ประการ คือ บารมี ๑๐ ทัศ อุปบารมี ๑๐ ทัศ ปรมัตถบารมี ๑๐ ทัศ บำเพ็ญ จริยา ๓ ประการ คือ โลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา พุทธัตถจริยา ได้บริจาคมหาทาน ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคโอรส บริจาคมเหสี บริจาคอวัยวะ และบริจาคชีวิต ในอสงไขย ๔ อสงไขย ิยิ่งด้วยแสนกัป เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยอำนาจสัจจะนี้่ ขอให้เวทนาของพระราชาจงหายไป คราวนั้นพระราชาทรงหายจากพระโรค ทรงเกิดพระปิติ โสมนัส และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระชนมายุของพระราชบิดานั้นมีน้อย จึงทรงแสดงธรรมตลอดวันตลอดคืน ในวันที่ ๗ ได้แสดงธรรมกถา กับพระราชาว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วดับไป การเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”
” เมื่อบุคคลใดเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด”
“เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั่งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด”
๕. ตอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังศาลาหอฉัน ทรงประทับบนอาสนะ ตรัสสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย “ธรรมเหล่าใดที่เรารู้แจ้งแสดงไว้แล้ว พวกเธอพึงเรียนเอาธรรมเหล่านั้นให้ดี แล้วเสพเจริญอบรมทำให้มากขึ้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ยั่งยืนและตั้งอยู่ได้นาน เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มากเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์สุขของเทวดาและมนุษยทั้งหลาย พรหมจรรย์นั้นคืออะไรบ้าง คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๘ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่เรารู้แจ้งแสดงแล้ว เธอทั้งหลายพึงเรียนให้ดีและเสพเจริญอบรมทำให้มาก เพื่อให้พรหมจรรย์นี้มั่นคงดำรงอยู่ได้ตลอดกาล พรหมจรรย์นี้นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ ชาวโลก เพื่อประโยชน์สุขของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
บัดนี้เราจะขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงปฏิบัติธรรมให้บริบูรณ์ด้วยไม่ประมาทเถิด อีกไม่นานตถาคตก็จะปรินิพพาน ต่อไปนี้อีก ๓ เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน จึงได้ตรัสต่อไปอีกว่า
ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่ม คนสาว คนเฒ่า คนแก่ คนโง่ คนฉลาด คนมั่งมีหรือคนจน ต่างก็บ่ายหน้าไปสู่ความตายเหมือนกันหมด
เหมือนกับภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้น ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งเผาแล้วและยังไม่เผาก็ล้วนมีการแตกเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของเหล่าสัตว์ก็ฉันนั้นเหมือนกันมีการแตกสลายไปในที่สุด
พระศาสดาได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า “วัยของเราแก่แล้ว ชีวิตของเราน้อยนิดเดียว เราจักจากพวกท่านไป เราได้ทำที่พึ่งไว้เพื่อตนแล้ว ภิกษุทั้งหลายพวกท่านจงอย่าประมาท มีสติมีศีลหมดจด ตั้งความดำริไว้ให้มั่น รักษาจิตของตนเถิด ผู้ใดไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัย ผู้นั้นก็จักละชาติสงสารทำที่สุดทุกข์ ได้ ดังนี้
๖. พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจ ๔ คือ ๑. ทุกข์ ๒. สมุทัย ๓. นิโรธ ๔. มรรค
๑. ทุกข์ คือการกำหนดรู้
๒. สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์
๔. มรรค คือการทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๗. ศีล เป็นเหตุอย่างยิ่งของความสุข
๘. สัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ ๑. ได้แก่สังวรปธาน ๒. ปหานประธาน ๓. ภาวนาปธาน ๔. อนุรักขปนาปธาน
๙. อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ๑. ฉันทะ ๒. วิริยะ ๓. จิตตะ ๔. วิมังสา
๑๐. อินทรีย์ ๕ ได้แก่ ๑.สัทธินทรีย์ ๒. วิริยินทรีย์ ๓. สตินทรีย์ ๔. สมาธินทรีย์ ๕. ปัญญินทรีย์
๑๑. พละ ๕ ได้แก่ ๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สมาธิ ๔. ปํญญา ๕. สติ
๑๒. โพชฌงค์ ๗ ได้แก่ ๑. สติ ๒. ธัมมะวิจยะ ๓. วิริยะ ๔. ปิติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา
๑๓. อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฎฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ ๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ ๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ ๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
เมื่ออ่านจบก็ต้องนำคำสอนไปประพฤติปฏิบัติ ตามสมควรแก่สติปัญญา และการอ่านหนังสือทำให้แช่มชื่นเบิกบานในหัวใจ ปิติสุข
สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติม ชินนมหานิทาน ได้ที่อาคารหอสมุดฯ ชั้น 3
Call no. BQ5775ท9ช63 2558