หมายเหตุจากสะพาน นาม "เฉลิม" และ "เจริญ"

สะพานเจริญศรัทธา จ.นครปฐม เครดิตภาพจาก Buffet 119

 
เรื่องที่จะเล่าสู่เป็นเกร็ดเก็บตกจากภาระงานในหน้าที่
คือ การเขียนบทความอันเป็นภาระงานหลัก 
เนื่องมาจากวาระที่จังหวัดจัดงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี สะพานเจริญศรัทธา
ที่เราชาวนครปฐมคุ้นเคยในนามตามรูปที่เห็นประจักษ์ คือ “สะพานยักษ์”
เมื่อเริ่มลงมือเขียนบทความเรื่องสะพาน (ซึ่งอันที่จริงเขียนบทอื่นอยู่ก่อนหน้า ยังไม่ทันแล้ว…ข้าพเจ้าหลายใจ)
ด้วยความที่การจัดงานก็ล่ามาไกลโขแล้ว หากข้าพเจ้าจะล่าช้าออกไปอีก อาจทันฉลอง ๑๐๑ ปี
วันครบรอบการเสด็จฯ เปิดสะพานเจริญศรัทธานั้น
ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๕ หน้า ๒๘๒๕ – ๒๘๒๗ วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๖๑
เรื่อง พระราชวังสนามจันทร์ ลงวันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑
แจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง
มาทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธาในบ่ายของวันดังกล่าว ก่อนที่จะเสด็จฯ ไปประทับแรม
ณ พระราชวังสนามจันทร์ เตรียมเข้าสู่ฤดูกาลซ้อมรบเสือป่า ประจำปี ๒๔๖๑
มูลเหตุของการสร้างสะพานชุด “เจริญ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้านั้น
เป็นพระราชนิยมตามรอยพระราชบิดาที่ได้ทรงสร้างสะพานชุด “เฉลิม” ขึ้นในรัชสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมในรัชกาลก่อน
ในการบริจาคทานแก่คนจนในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
แต่ทั้งนี้ รัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าการพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทานแก่คนจน
ซึ่งเฉลี่ยได้เพียงคนละเล็กน้อยนั้น ไม่เกิดผลจริงจังอะไร
จึงทรงพระราชทานเงินเป็นก้อนเพื่อสร้างสะพานตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๖
เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๔๒ พรรษา กระทั่งเสด็จสวรรคต
ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการสร้างถาวรวัตถุช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง
สะพานอันมีนามขึ้นต้นว่า “เฉลิม” ลงท้ายด้วยตัวเลขบอกพระชนมพรรษา
ถูกสร้างขึ้นในพระนคร จำนวนทั้งสิ้น ๑๗ สะพาน มีทำเลที่ตั้ง ดังนี้
สะพานเฉลิมศรี ๔๒ ข้ามคลองบางขุนพรหม ถ.สามเสน
สะพานเฉลิมศักดิ์ ๔๓ ข้ามคลองริม ถ.สนามม้า (ถ.อังรี ดูนังต์)กับ ถ.หัวลำโพงนอก (ถ.พระราม ๔)
สะพานเฉลิมเกียรติ ๔๔ ข้ามคลองหัวลำโพง ที่ปลายถนนสาทรฝั่งใต้
สะพานเฉลิมยศ ๔๕ ข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์  ถ.วรจักร
สะพานเฉลิมเวียง ๔๖ ข้ามคลองตรอกเต๊า ถ.เยาวราช
สะพานเฉลิมวัง ๔๗ ข้ามคลองสะพานถ่าน ถ.อุนากรรณ์
สะพานเฉลิมกรุง ๔๘ ข้ามคลองวัดจักรวรรดิ ถ.เจริญกรุง
สะพานเฉลิมเมือง ๔๙ ข้ามคลองสาทร ถ.เจ้าพระยาสุรศักดิ์ (ถ.สุรศักดิ์ ในปัจจุบัน)
สะพานเฉลิมภพ ๕๐ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลาย ถ.สุรวงษ์
สะพานเฉลิมพงษ์ ๕๑ ข้ามคลองสะพานถ่าน ถ.เฟื่องนคร
สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ ข้ามคลองริมถนนสนามม้า ถ.ปทุมวัน (ถ.พระราม ๑ ในปัจจุบัน)
สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ ข้ามคลองวัดสามจีน หรือ วัดไตรมิตร ถ.เจริญกรุง
สะพานเฉลิมภาคย์ ๕๔ ข้ามคลองสีลม ถ.เจริญกรุง
สะพานเฉลิมโลก ๕๕ ข้ามคลองบางกะปิ (คลองแสนแสบใต้ ในปัจจุบัน) ถ.ราชดำริห์ และ ถ.ประแจจีน
สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ ข้ามคลองบางกะปิ (คลองแสนแสบ ในปัจจุบัน) ถ.พญาไท
สะพานเฉลิมเดช ๕๗ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลาย ถ.สี่พระยา
สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ข้ามคลองหลอด ปลาย ถ.ราชินี
สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ เป็นสะพานสุดท้ายที่รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
ในการเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่เสด็จสวรรคตก่อนเลือกสถานที่ก่อสร้าง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างข้ามคลองหลอดปลาย ถ.ราชินี
และพระราชทานนามสะพานอันเป็นที่สุดแห่งชุดเฉลิมนี้ว่า “เฉลิมสวรรค์ ๕๘”
โดยเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว
จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานโดยขนานนามขึ้นต้นด้วย “เจริญ”
ตามด้วยตัวเลขพระชนมพรรษา และมีพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร.
ประดับที่ราวสะพานทั้งสองฝั่งเช่นเดียวกับพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ของสะพานชุด “เฉลิม”
สะพานชุด “เจริญ” สร้างขึ้นในพระนครเริ่มตั้งแต่พระชนมายุ ๓๑ พรรษา
จำนวนทั้งสิ้น ๖ สะพาน โดยมีทำเลที่ตั้ง ดังนี้
สะพานเจริญรัช ๓๑ ข้ามคลองคูเมืองเดิม ต.ปากคลองตลาด
สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ข้ามคลองมหานาค ถ.กรุงเกษม
สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ถ.อิสรภาพ
สะพานเจริญศรี ๓๔ ข้ามคลองคูเมืองเดิม บริเวณหน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม
สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ ข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม ถ.บำรุงเมือง
สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม หน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ถ.เจริญกรุง
นอกจากสะพาน “เจริญ” ในพระนครแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
สะพานนามเจริญ ที่จังหวัดนครปฐม ชื่อว่า “สะพานเจริญศรัทธา” 
ซึ่งอาจนับเป็นสะพาน “เจริญ” ลำดับสุดท้าย โดยเป็นแห่งเดียวที่สร้างขึ้นในหัวเมือง


ข้อมูลอ้างอิง
ราชกิจจานุเบกษา. (๑๙ มกราคม ๒๔๖๑). พระราชวังสนามจันทร์ ลงวันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ . ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๕, หน้า ๒๘๒๕ – ๒๘๒๗.
วรชาติ มีชูบท. (๒๕๕๙). เบื้องลึกเบื้องหลังในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖”. กรุงเทพฯ: มติชน.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (๒๕๔๖). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร