อ่านหนังสือวันละเล่ม "บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"

หนังสือเล่มนี้ เป็นบทสวดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเมื่อได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว  
ธรรมบทนี้เป็นธรรมะที่่ทำให้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบริบูรณ์ เพราะเมื่อพระองค์ทรงแสดงแล้วได้มีผู้บรรลุธรรมตาม คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นเหตุให้เกิดองค์แห่งพระรัตนตรัยครบถ้วนบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นครั้งแรกของโลก
บทสวด “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”  เป็นบทสวดที่มีความสำคัญมาก   จึงขอยกเอาธรรมบทนี้มาแสดงเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว เฉพาะส่วนที่แปล ส่วนใหญ่จะสวดแต่ภาษาพระบาลี แต่ไม่ทราบบทแปล
บทแปล แบ่งออกเป็น
๑.  บทขัดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เนื้อความแปล ดังนี้ 
พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เมื่อจะทรงประกาศธรรมที่ใครๆ ยังมิได้ให้เป็นไปในโลกให้เป็นไปโดยชอบ ได้ทรงแสดงอนุตตรธรรมจักรโตก่อน 
ส่วนสุด ๒ อย่าง ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง และญาณปัญญา อันรู้เห็นในอริยสัจทั้ง ๔ อย่างหมดจดที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในธรรมจักรใด
เราทั้งหลายจงสวดธรรมจักรนั้น ที่พระองค์ผู้เป็นธรรมราชาได้ทรงแสดงแล้ว ปรากฏโดยชื่อว่า  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระสูตรที่ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณ  อันพระสงฆ์สาวกของพระองค์ได้ร้อยกรองไว้โดยบาลีไวยากรณ์เถิด
๒. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เนื้อความแปล ดังนี้
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพราราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุปัญจวัคคีย์มาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุด ๒ อย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
๑.  การหมกหมุ่นอยู่ด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒.  การทำความเดือดร้อนแก่ตน เป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง  ไม่เข้าใกล้ส่วนสุด ๒ อย่างนี้ อันตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการตรัสรู้ เพื่อนิพพาน 
ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางอันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วเป็นปฏิบัติอันเป็นสายกลางอันตถาคตได้ตรัสรู้แล้วเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ  เป็นไปเพื่อสงบ ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อการตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้นเป็นไฉน
คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ ซึ่งได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ  การเลี้ยงชีพชอบ  ความเพียรชอบ  ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ
ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลางนี้แล อันตถาคคได้ตรัสรู้ แล้วเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบ ระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อการตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์  แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ แม้ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความเสียใจ และความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  ความพลัดพราก จากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์  ปราถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ  คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก  ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด  มีปกติทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา  วิภวตัณหา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง  ความปล่อย  ความไม่อาลัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสัจ คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ได้แก่  ความเห็นชอบ  ความดิริชอบ  วาจาชอบ  การงานชอบ  การเลี้ยงชีพชอบ  ความเพียรชอบ  ความระลึกชอบ   ความตั้งใจชอบ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ  ญาณ  ปัญญา  วิชชา  แสงสว่าง  เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่านี้ทุกขอริยสัจ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง  เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขอริยสัจนั้นควรกำหนดรู้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขอริยสัจนั้นเราได้กำหนดรู้แล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา  แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่านี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขสมุทยอริยสัจนั้นควรละ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขสมุทยอริยสัจนั้นเราละได้แล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่านี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธสัจนั้นควรกระทำให้แจ้ง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธอริยสัจนั้นเราได้กระทำให้แจ้งแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นควรเจริญ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นเราได้เจริญแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้เห็น) ตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ ประการนี้ มี รอบ ๓ มี อาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก  พร้อมทั้งเทวโลก  มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เพียงนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใด ญาณทัสสนะตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ ประการ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์  พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา  และมนุษย์
ก็ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสธัมมจักกัปปตตนสูตรนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์มีใจยินดี ต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี  ปราศจากมลทิน  ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว 
พวกภุมมเทวดาได้ประกาศว่า นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม  หรือใคร ๆ ในโลกให้หมุนกลับ ไม่ได้
พวกเทพชั้นจาตุมมหาราช ได้ฟังเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นจาตุมมหาราชแล้ว
พวกเทพชั้นยามาได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว
พวกเทพชั้นดุสิตได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นยามาแล้ว
พวกเทพชั้นนิมมานรดีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นดุสิตแล้ว
พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสัตตีได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นนิมมานรดีแล้ว
พวกเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้ว  ได้ประกาศว่า  นั่นธรรมจักรอันยอดเยี่ยม
อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิตปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี  อันสมณพราหมณ์  เทวดา  มาร  พรหม  หรือใคร ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้
เพียงครู่เดียวเท่านั้น  เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้  ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น  ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฎในโลก  ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า  ผู้เจริญทั้งหลาย  โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ   เพราะเหตุนั้น คำว่า  อัญญาโกณฑัญญะ  นี้จึงได้เป็นชื่อของท่านโกณฑัญญะ  ด้วยประการฉะนี้แล
ข้อคิดที่ได้ จากการสวดบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

  1. รู้บทแปลจากภาษาพระบาลี  เริ่มต้นแห่งปฐมเทศนาว่า เอวมฺเม  สุตํ    นี่เป็นพระสูตรที่พระอานนท์เอามากล่าวปฏิญาณตนเพื่อให้พ้นจากความเป็นสัพพัญญูว่าไม่ได้รู้เอง  เพราะได้ยินได้ฟัง มาจากสำนักของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
  2. โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสญฺหิโต แปลความว่า การประกอบความลำบากให้แก่ตนเปล่า กลับเป็นทุกข์แก่ผู้ประกอบด้วย ไม่ไปจากข้าศึกคือกิเลสได้  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้อย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่างนี้ กามสุขัลลิกานุโยโค อัตตกิลมถานุโยโค
  3. เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา  แปลความว่่า ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติเป็นกลาง ไม่แวะเข้าใกล้ซึ่งที่สุด ทั้ง ๒ อย่างนี้นั่น นั้น อันพระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง และทำความเห็นให้เป็นปกติ เรียกว่า จกฺขุกรณี ญาณกรณี สํวตฺตติ  แปลความว่า ย่อมเป็นไปพร้อม อุปสมาย  แปลความว่า เพื่อความเข้่าใจไปสงบระงับ  อภิญฺญาย  แปลความว่า เพื่อความรู้ยิ่ง  สมฺโพธาย  แปลความว่า เพื่อความรู้พร้อม
  4. ทำให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ของชีวิต 
  5. ผู้ที่สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จะทำให้ผู้นั้นได้บุญมาก
  6. มีจิตผูกพันกับพระรัตนตรัย

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร