พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์…ที่เกิดเหตุแห่งคำ “ไชโย”

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ หรือ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
ภายในบริเวณมีโบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่ คือ เจดีย์ยุทธหัตถี
เจดีย์องค์นี้ ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ
รับสั่งให้เจ้าเมืองกาญจนบุรี และเจ้าเมืองสุพรรณบุรีออกค้นหา
ตามข้อมูลที่ได้พบจากสมุดข่อยพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
ที่บันทึกเรื่องศึกพม่าคราวที่พระมหาอุปราชยกทัพมาชุมนุมพลที่ตำบลตะพังกรุ

พระยากาญจนบุรี (นุช) ออกสืบหาครั้งแรกที่ ต.หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรีไม่พบ
จึงให้พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูตร) เจ้าเมืองสุพรรณบุรี
ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาสุนทรสงคราม ไปค้นหา
พบซากเจดีย์องค์หนึ่งทางทิศตะวันตกของ ต.หนองสาหร่าย อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี
พระเจดีย์ร้างที่พบตั้งโดดเดี่ยวไม่มีเจดีย์ หรือ สถูปบริวารอื่นในบริเวณ
เจดีย์นี้ตั้งอยู่กลางป่าไม้เบญจพรรณที่ปกคลุมหนาแน่น
เป็นเจดีย์เก่าแก่มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กว้างด้านละ 10 วา
ไม่ทราบส่วนสูงเพราะยอดเจดีย์หักพังแล้ว คงเหลือแต่ส่วนฐานล่างที่ชำรุด
มีลักษณะเป็นฐานทักษิณสี่เหลี่ยมสามชั้นซ้อน สูงจากพื้นดิน 6 วา 3 ศอก
ไม่มีใครทราบว่าสร้างขึ้นสมัยใด สอบถามจากกำนันผู้ใหญ่บ้านทราบว่า
พระเจดีย์นี้ทำครอบพระศพกษัตริย์ ชาวบ้านเรียกว่า “ดอนทำพระ” หมายถึงทำพระเจดีย์ครอบศพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้นำความกราบทูลรัชกาลที่ 6
พร้อมรายงานของเมืองสุพรรณบุรี ทรงพอพระทัยจึงดำรัสจะเสด็จนมัสการในฤดูแล้ง
จากนั้นได้มีการถางป่าเตรียมสร้างพลับพลา จึงได้พบยอดธงหักและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์
ที่หักจมดินอยู่ในบริเวณนั้นหลายชิ้นจึงทรงพระราชวินิจฉัยว่าเป็นพระเจดีย์ที่พระนเรศวรสร้างไว้
การเสด็จไปสักการะบวงสรวงครั้งนั้นทรงเสด็จออกจากพระราชวังสนามจันทร์
วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2456 พร้อมด้วยเสือป่ารักษาพระองค์ กองหลวง กองราบ และกองผสม
และลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กเสือป่า มณฑลนครชัยศรี และขบวนติดตามอื่นๆ รวม 400 คนเศษ
เพื่อเป็นการถวายสดุดีรำลึกแด่ดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรอย่างสมพระเกียรติ
ขบวนถึงจุดหมายเช้าวันที่ 27 มกราคม และได้ตั้งค่ายพักแรม 1 คืน
รุ่งขึ้นวันที่ 28 มกราคม มีพระราชพิธีบวงสรวงในปริมณฑลรอบองค์เจดีย์
หลังจากอ่านประกาศดุษฏีสังเวยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เสือป่าและลูกเสือ
เดินประทักษิณเวียน 3 รอบ โดยขณะเวียนให้เสือป่าโห่ถวายราชสดุดีแด่ดวงพระวิญญาณ
แต่การโห่ไม่มีความพร้อมเพรียง จึงทรงสั่งให้หยุดพลทั้งหมดมาตั้งแถวชุมนุมพลตรงหน้าเกยที่ประทับ
ทรงมีพระดำรัสถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวร และกล่าวแก่ผู้ชุมนุมในการนำคำว่ามีชัยมาใช้เป็นปฐมฤกษ์
ให้ทุกคนเปล่งเสียงสดุดีโดยพร้อมเพรียง โดยทรงเปล่งนำว่า “ไชย” พลทั้งหลายรับว่า “โย” 3 ครั้ง
เป็นที่มาของคำว่า “ไชโย” ที่ใช้แสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ มาจนปัจจุบัน
การพระราชพิธีบวงสรวงในวันนั้น ตอนค่ำได้จัดไห้เสือป่าเหล่าต่างๆ มีการเล่นกีฬาแข่งขันสมโภช
เช่น การวิ่งวัว วิ่งเปี้ยว ตี่จับ ขี่ม้าชิงเมือง และอื่นๆ  ซึ่งนอกจากผู้ตามเสด็จแล้ว
ยังมีชาวบ้านในตำบลใกล้เคียงพากันมาเฝ้ารับเสด็จและดูการแสดงกีฬาด้วย
ภายหลังจากการเสด็จได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรออกแบบบูรณะองค์พระเจดีย์
แต่ติดขัดในเรื่องงบประมาณการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงหยุดชะงักไป
ต่อมา พ.ศ.2493 จอมพลผิณ ชุณหวัญ ได้มีการเสนอให้บูรณะองค์เจดีย์
แต่การดำริคงค้างมาจน พ.ศ.2496 กระทรวงวัฒนธรรมเสนองบประมาณเพื่อบูรณะและถูกตัดอีกครั้ง
คณะกรรมการบูรณะอนุสรณ์ดอนเจดีย์จึงเสนอของบประมาณในการบูรณะไปยังสภากลาโหม
เนื่องจากเป็นอนุสรณ์ของกิจการทหาร จึงเห็นชอบให้จัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นด้วย
เป็นมูลค่า 2.4 ล้านบาท แต่ถูกตัดงบประมาณจึงใช้วิธีเรี่ยไรเพื่อนำมาสร้าง
ในการก่อสร้างกรมศิลปากรได้มอบหมายให้ อ.ศิลป์ เป็นผู้ออกแบบ
ใช้เวลาในการสร้างรวม 5 ปี จึงแล้วเสร็จ และได้ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวย
อัญเชิญสมเด็จพระนเรศวรขึ้นสู่ที่ประทับคอช้าง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2501
วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมรูปอนุสาวรีย์
จากนั้นมาทาง อ.ศรีประจันต์ ก็ได้จัดงานฉลองขึ้นทุกปี กระทั่งตั้งเป็นกิ่งอำเภอดอนเจดีย์
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2505 และยกฐานะเป็น อ.ดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2508 
ก็ยังมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลก็ได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี
เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์
ต่อมา พ.ศ.2513 นายสวัสดิ์ มีเพียร ผู้ว่าราชการขณะนั้น
มีดำริปรับปรุงบริเวณโดยรอบองค์พระเจดีย์ จังหวัดจึงเริ่มเข้าเป็นเจ้าภาพจัดงานฉลอง
พ.ศ.2514 เริ่มมีการจำหน่ายสลากสมณาคุณแก่ผู้เข้าชมงาน
เพื่อนำรายได้มาดำเนินการก่อสร้างกำแพง ขุดคูโดยรอบพระเจดีย์รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์อื่นๆ เพิ่มเติม
หลังจากนั้นทางจังหวัดก็ยังคงจัดงานมาโดยต่อเนื่อง
โดยถือเป็นงานรัฐพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์
และในปัจจุบันงานดังกล่าวได้ขยายขอบเขตออกเป็น
งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี
โดยยังคงมีงานรัฐพิธีบวงสรวงและถวายถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในช่วงเช้า
ส่วนในช่วงเย็นได้จัดให้มีการแสดงมหรสพต่างๆ การแสดงวัฒนธรรมไทย
และที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี คือ
การแสดงแสงสีเสียงสงครามยุทธหัตถี ถ่ายทอดเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ซึ่งมีจุดสนใจในส่วนของการกระทำยุทธหัตถีของพระองค์
 
ข้อมูลอ้างอิง
เที่ยวไหนดี. (31 ธันวาคม 2560). ไปเที่ยวกัน! “งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปี 2561”. เรียกใช้เมื่อ 16 มกราคม 2561 จาก www.tiewnaidee.com/news/donchedi-fair2561
ประพิณ ออกเวหา. (2535). สุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.
สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี. (2528). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุพรรณบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี.
 

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร