วัดบวรมงคลราชวรวิหาร (วัดลิงขบ)

วัดบวรมงคลราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณ  มีหลักฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๒ ถึง ๑๐ ปี คือ ในปีพุทธศักราช ๒๓๐๐ เดิมชื่อ   “วัดลิงขบ”   มีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ชื่อนี้เพื้ยนมาจากคำว่า  “เลิงขอบ” ในภาษามอญ  แปลว่า  บริเวณที่เป็นที่ลุ่มซึ่งตั้งอยู่ที่ริมหรือขอบของแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวรามัญที่ได้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ครั้งสงคราม ระหว่างมอญกับพม่า  ดังปรากฏในเรื่อง  ราชาธิราช
วัดบวรมงคล ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๕๒ ในสมัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ พระอนุชาธิราชได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบวรมงคลราชวรวิหาร” ในคราวที่ พระองค์ ได้มหาอุปราชาภิเษก เป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยทรงสถาปนาวัดบวรมงคลราชวรวิหารเป็นพระอารามหลวง
เนื่องจากวัดบวรมงคลนี้  มีบริเวณกว้างขวาง เคยมีพระสงฆ์รามัญจำพรรษาอยู่มาก มีประมุขสงฆ์ที่เป็นชาวรามัญคือ พระไตรสรณธัช  สมเด็จพระบวรราชามหาเสนานุรักษ์จึงได้ทรงพิจารณาให้บูรณะขึ้นเป็นวัดส่วนกลางสำหรับพระสงฆ์รามัญนิาย  เพื่อความสะดวกในการปกครองคณะสงฆ์และบำรุงขวัญชาวรามัญที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้วัดแห่งนี้อีกประการหนึ่ง
วัดบวรมงคลราชวรวิหาร มีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง ๒๙  ไร่ ๒  งาน  ๒๕  ตารางวา ตั้งอยู่ ตรงริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกระหว่างสะพานพระราม ๘ กับสะพานกรุงธนบุรี  ตรงหน้ากับปากคลองผดุงกรุงเกษม  ตั้งอยู่ในแขวงบางยี่ขัน  เขตบางพลัด  กรุงเทพมหานคร
ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช  ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานโอนสังกัดเป็นวัดธรรมยุติ
ศาสนาวัตถุภายในวัด
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานในพระอุโบสถ หน้าตักกว้าง ๓ เมตร ๔๐ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี ๗ เมตร ๔๕ เซนติเมตร พร้อมอัครสาวก ๒ องค์ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน  กว้างหน้า ๑๒ เมตร ๓๐ เซนติเมตร  ยาว  ๓๕ เมตร  ๒๐   เซนติเมตร  หลังคา  ๔  ชั้น   สูงประมาณเกือบ  ๑  เส้น
วิหารคด  ทำเป็นหลัวคาคร่อมกำแพงพระอุโบสถมีประตูเข้าออก  ๔  ทิศ  ยาวด้านละ  ๔๖  เมตร   ๔๐  เซนติเมตร  สูงจรดหลังคา  ๓  เมตร  ๒๕ เซนติเมตร
พระพุทธรูปปูนปั้นรอบระเบียงวิหารคด  เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย จำนวน ๑๐๘  องค์  หน้าตักกว้าง ๙๕  เซนติเมตร  สูง  ๑  เมตร  ๓๙  เซนติเมตร
พระเจดีย์ย่อมุมประจำทิศ เป็นเจดีย์เหลี่ยมแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นขึ้นไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ประจำทิศของพระอุโบสถ ทั้ง ๔ ด้าน ฐานกว้าง ๙ วา สูง ๔ วา
หอระฆังใหญ่ ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นหอระฆังเก่าสร้างมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ กับหอระฆังเล็ก ตั้งอยู่ในหมู่กุฏิสงฆ์
อนุสรณ์สถาน รัชกาลที่ ๔ เป็นอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่องค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างขึ้นเป็นพระตำหนักไว้เพื่อประทับ ณ วัดบวรมงคล เพื่อทรงปฏิสันฐานกับพระภิกษุรามัญ ชาวบ้านเรียกอาคารนี้ว่า  “เก๋งเจ้าจอม”
การเดินทาง  
๑. โดยสารทางเรือ นั่งเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา นั่งเรือที่ท่าจากท่าเรือ เเทเวศน์  ข้ามฟากมาลงที่ท่าวัดบวรมงคล  ค่าโดยสาร ๓ บาท
๒. ถ้ามาจากฝั่งใต้สะพานพระราม ๘  เดินชมวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านปูน ผ่านศาลาโรงธรรม  ศาลเจ้า ผ่านวัดคฤบดี  เดินมาเรื่อยๆก็จะถึงวัดบวรมงคล
๓. โดยสารรถประจำทาง สาย ๒๐๓, ๖๖, ๒๘, ๑๐๘, ๕๖   ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ ลงรถที่ประจำทางที่ ป้ายรถ จรัญสนิทวงศ์ ๔๖  แล้วต่อรถสองแถวหน้าปากซอย จนสุดสายจะถึงวัดพอดี
ผู้เขียน มีบุญได้มาสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดบวรมงคล  ตั้งแต่ ม.๑-๖  สมัยก่อนใช้วิธีเดินทางผ่านสวน   ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านจัดสรรไปเรียบร้อยแล้ว  ได้เห็นภาพวัดในอดีต  ที่ยังเป็นเรื่องของวิถีชีวิต  มีเรือกสวน ให้เห็น  มีต้นไม้นานาชนิด
ที่มา  กฤษณศักดิ์ กัญฐสุทธิ์.  ประวัติวัดบวรมงคลราชวรวิหาร (โดยสังเขป).  ที่ระลึกการถวายผ้ากฐินพระราชทาน ณ วัดบวรมงคล
ราชวรวิหาร  แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหามหานคร วันพุธที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙.

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร