ศิลปะพม่า

ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศอาเซียน เกิดขึ้นเนื่องด้วยการที่ประเทศในภูมิภาคนี้ประเทศรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 ดังนั้นในทุกภูมิภาคส่วนของแต่ละประเทศจึงได้มีการตื่นตัวเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้นอันเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อจะรองรับการเข้าร่วมประชาคมดังกล่าว
ศิลปวัฒนธรรมถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประชาชาติอาเซียน ภาควิชาประวัติศาสตร์ ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการเรียนการสอนศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีฐานข้อมูลด้านศิลปกรรมโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้คณาจารย์ในภาควิชาฯ จึงได้ร่วมกันจัดทำชุดตำราความรู้เรื่องศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามโครงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อจัดทำตำราในครั้งนี้ ซึ่งเลือกเขียน 5 ศิลปะ ได้แก่ ศิลปะเวียดและจาม ศิลปะเขมร ศิลปะพม่า ศิลปะลาว และศิลปะชวา
ส่วนที่จะตามมาได้แก่ ศิลปะไทย(เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน) วัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนในภูมิภาคนี้มีพัฒนาการมาในลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสังคมล่าสัตว์จนสู่สังคมเกษตรกรรม มีหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่าสังคมยุคแรกเริ่มนี้มีวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น วัฒนธรรมหัวบิเนียน ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคโลหะ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมชัดเจนขึ้น เช่น มีวัฒนธรรมดองซอน วัฒนธรรมยุคสำริด ที่พบกลองมโหระทึกในลักษณะเดียวกัน และในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายได้พบหลักฐานว่าผู้คนในภูมิภาคนี้เริ่มมีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เช่น เครื่องประดับ กำไล ตุ้มหู ที่มีรูปแบบเดียวกัน เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สำคัญในภูมิภาคนี้ คือ การรับวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดีย โดยได้พบหลักฐานว่า ศาสนาเริ่มเข้ามาเผยแพร่แล้วตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 7-9 ทั้งศาสนาพุทธ และฮินดู ดูเหมือนว่าในระยะเริ่มแรกนั้นศาสนาเข้ามาปรากฎหลักฐานขึ้นพร้อมๆ กัน เพียงแต่ผู้คนในภูมิภาคเลือกรับศาสนาที่เหมาะสมกับตนเอง หรือตามความศรัทธาที่อาจเกิดจากผู้นำเป็นสำคัญด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลักษณะทางวัฒนธรรมเริ่มแตกต่างกัน อันส่งผลในงานศิลปกรรมที่ตามมานั้นเกิดความแตกต่างกันตามไปด้วย เช่น ชนชาติที่เลือกรับศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ชวา (ในประเทศอินโดนีเซีย) จาม (ในประเทศเวียดนาม) และเขมร ส่วนชนชาติที่เลือกรับพุทธศาสนา ได้แก่ พม่า ไทย และ ลาว
งานศิลปกรรมเกิดจากศรัทธา ความเชื่อทางศาสนา ชนชาติที่เลือกรับศาสนาฮินดู มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและลัทธิเทวราชา ทำให้มีการก่อสร้างศาสนสถานที่มีความยิ่งใหญ่มั่นคงเพื่อเทพเจ้า ส่วนหลักปรัชญาของพุทธศาสนา มีความเชื่อเรื่องนิพพานเป็นเรื่องสูงสุด เพราะฉะนั้นการสร้างศาสนสถานเป็นเพียงเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาสมถะ เรียบง่ายและเหมาะกับคนในสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของ
ศาสนสถานในพุทธศาสนาที่มีความยิ่งใหญ่ก็มีเช่นเดียวกัน เช่น ในศิลปะของพม่า ซึ่งเกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังนั้นจากความเหมือนและความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานศิลปกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนความคิด และความเชื่อทางศาสนาของแต่ละชนชาติ จึงปรากฎในงานศิลปกรรมที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะเป็นศาสนาเดียวกันก็ตาม ส่วนหนึ่งของแนวคิดคติการก่อสร้างนั้นเหมือนหรือใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบศิลปกรรมย่อมมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม อันเป็นเรื่องของงานช่าง แม้ว่าจะมีการรับและส่งอิทธิพลให้แก่กันในบางเวลาและโอกาสก็ตาม เช่น ปราสาทที่สร้างในศิลปะชวา ต่างจากประสาทเขมร และประสาทจาม หรือเจดีย์ในศิลปะพม่าก็มีลักษณะและรูปแบบต่างจากเจดีย์ในประเทศไทย เป็นต้น
ดังนั้น ชุดโครงการตำราประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องการแสดงให้เห็นหลักฐานทางด้านศิลปกรรมของแต่ละประเทศว่ามีลักษณะรูปแบบเป็นอย่างไรในแต่ละยุคสมัย การเริ่มต้นการสืบเนื่อง ความรุ่งเรือง และความเสื่อมถอยในส่วนที่เหมือน ส่วนที่แตกต่าง และเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร จากชุดโครงการตำราดังกล่าว ได้นำมาปรับปรุงเป็นหนังสือชุด “ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศอาเซียน” โดยแยกลุ่มเป็นศิลปะในแต่ละประเทศเพื่อง่ายต่อการอ่านและทำความเข้าใจ โดยในเนื้อหาหลักของศิลปกรรมแต่ละประเทศจะประกอบด้วยส่วนที่ 1 ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ส่วนที่ 2 ประวัติศาสตร์ศิลปะ และส่วนที่ 3 แหล่งเรียนรู้และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะ และส่วนที่ 4 คือความสัมพันธ์ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกับดินแดนไทยเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน
พม่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในโลก เป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่ธาตุ และอัญมณี มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งหรือดินแดนหนึ่งที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ที่กล่าวถึงในตำนานการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ ความเป็นมาของผู้คนในประเทศพม่ามีพัฒนาการใกล้เคียงกับในดินแดนไทยและประเทศใกล้เคียง คือมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้คนอยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ในยุคสมัยที่มีการรับวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดีย
ชนชาติที่อยู่ในพม่าเลือกรับศาสนาพุทธเช่นเดียวกับในไทยจึงทำให้แบบแผนประเพณี วัฒนธรรมความเป็นอยู่ และนิสัยใจคอของชาวพม่า ชาวมอญ มีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทย และสะท้อนออกมาในรูปแบบของงานศิลปกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกันด้วย งานศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ในดินแดนพม่า มีทั้งของชาวพม่าเอง รวมทั้งชาวมอญ ชาวยะไข่นั้น แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยเฉพาะวัดวาอาราม แบบของเจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพม่า เช่น เจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์เจดีย์วิหารที่มีทั้งวิหารและเจดีย์อยู่ในอาคารเดียวกัน ความสำคัญอยู่ที่แต่ละยุคสมัยของพม่านั้น มีการสร้างวัดเป็นจำนวนมาก มีขนาดใหญ่โต และมีการปิดทองเจดีย์ให้เหลืองอร่ามเกือบทุกองค์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาความเชื่อของชาวพุทธในพม่า ที่มีต่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
หนังสือเล่มนี้เป็นศิลปะของพม่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดความรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศอาเซียนที่ป็นงานรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบ ในเรื่องของรูปแบบศิลปกรรมในแต่ละยุคสมัยที่เกิดขึ้นในดินแดนพม่า ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่มีการรับวัฒนธรรมทางศาสนา ผ่านยุคสมัยต่างๆ ทั้งของชาวพม่า และชาวยะไข่ที่เป็นชนชาติหลักในการสร้างงานศิลปกรรม จนมาถึงยุคปัจจุบัน โดยประกอบด้วย ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์โดยย่อ ประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปกรรมที่สำคัญ และท้ายสุดบทบาทของงานศิลปะพม่าที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะในประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จากการเรียนรู้และเข้าใจในงานศิลปกรรมพม่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ และเข้าใจถึงความงาม ความศรัทธา จิตวิญญาณของผู้คนในพม่าว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจงดงาม อ่อนน้อม ถ่อมตน สมกับความเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
แหล่งข้อมูล สำนักพิมพ์ มติชน, 2557 หมวด N 7312 ศ62 ฉ.1

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร