ผิดที่ไม่รู้

23 December 2014
Posted by somboon

เด็กที่ไม่มีความสุขในชีวิตมักกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของพ่อแม่ที่ทำให้ตนต้องเกิดมา ส่วนพ่อแม่ที่ตกยากลำบากทุกข์ร้อนกับการมีลูกก็กล่าวโทษลูกว่าเป็นมารหัวขน สรุปว่าคนเราจะหาความผิดกันก็เอาผิดกันได้ตั้งแต่เกิด
ในแง่ศาสนาบอกว่า คนเราไม่ได้ผิดตั้งแต่เกิด ถ้าชีวิตลำบาก ถ้าชีวิตเป็นทุกข์ หรือเห็นว่าการมีชีวิตคือความผิดพลาดก็หาใครมารับโทษไม่ได้เพราะต้นเหตุของความผิดเริ่มขึ้นก่อนใครจะมาเกิดเสียอีก บุญหรือบาปไม่มีทางเกิดขึ้นลอย ๆ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายหลงก่อบาปเพราะไม่รู้ว่าจะนำภัยมาสู่ตน หรือทำบุญก็ไม่รู้ว่าจะมีรางวัลแบบไหนมากำนัล มุมมองเรื่องนี้อาจเปลี่ยนไปถ้าเห็นความจริงว่าแค่ผิดที่กายก็เปื้อนใจได้และเมื่อใจเปื้อนบ่อยในที่สุดย่อมมืดมนและพูดว่า “ไม่รู้คือไม่ผิด” ซึ่งใช้ได้กับมนุษย์เท่านั้นแต่ธรรมชาติจะตัดสินว่า “แค่ไม่รู้ก็ผิดแล้ว” เพราะความไม่รู้กฎนั่นแหละคือต้นตอสำคัญของการทำผิดกฎทั้งปวง ใน “สัพพลหุสสูตร”
โทษของความไม่รู้ของ “ศีล ๕” กล่าวว่า
๑. โทษของการเป็นผู้ฆ่า  การปลงชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไปนั้นถ้าใครทำมามากแล้วชาชินแล้วเชี่ยวชาญแล้วย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่นรกหรือไปสู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานหรือไปสู่เปรตวิสัย เบาที่สุดทำให้มีอายุน้อยเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก่อให้เกิด  ๑) ทุกข์ทางใจ ทุกข์เริ่มต้นเมื่ออยากฆ่าและทวีขึ้นถึงขีดสุดเมื่อลงมือฆ่า ความรู้สึกเหี้ยมเกรียมก่อตัวขึ้นมากพอจนระงับความละอายต่อบาปลงชั่วขณะหนึ่ง ทุกข์จะไม่จบโดยง่ายแม้เมื่อฆ่าสำเร็จเป็นความรู้สึกผิดที่ยืดเยื้อเพราะตระหนักว่าชีวิตเมื่อตกล่วงไปแล้วย่อมกลับคืนมาไม่ได้แม้ผู้ฆ่าจะสำนึกเพียงใดก็ตาม ๒) การสั่งสมบาป ยิ่งฆ่าสำเร็จมากเท่าใดใจยิ่งเร่าร้อนมากขึ้น ๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ไม่มีความรู้สึกใดย่ำแย่ไปกว่าความรู้สึกผิดที่เกิดจากการฆ่า ตราบเท่าชีวิตของผู้ตายไม่อาจฟื้นกลับมาฟังคำขอโทษจากเรา
๒. โทษของการเป็นขโมย  การลักขโมยสมบัติที่เจ้าของไม่ได้ให้ ถ้าใครทำมามากแล้วชาชินแล้วเชี่ยวชาญแล้วย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่นรกหรือไปสู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานหรือไปสู่เปรตวิสัย เบาที่สุดคือทำให้สมบัติพินาศเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก่อให้เกิด  ๑) ทุกข์ทางใจ จิตที่เป็นปกติสุขไม่อาจคิดลงมือขโมย การฉกฉวยของผู้อื่นมาเป็นของตนจึงเป็นเรื่องน่าอายแสดงถึงความไร้ศักดิ์ศรี ของที่หายไปย่อมเป็นทุกข์แห่งเจ้าของถ้าเราเป็นผู้ทำให้ของของเขาหายไปใจเราจะเป็นสุขได้อย่างไรเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าของที่ได้มาไม่ใช่ของเรา ๒) การสั่งสมบาป ไม่มีการขโมยครั้งใดที่ทำให้จิตใจสว่างขึ้นมีแต่หม่นหมองลง ทุกครั้งที่ขโมยได้จิตจะอ่อนแอมองอะไรก็น่าคว้ามาครองแทบทั้งสิ้น ๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ไม่มีความรู้สึกด้อยค่าอันใดย่ำแย่ไปกว่าการเป็นหัวขโมย การขโมยแต่ละครั้งคือการลดความสามารถในการครอบครองสมบัติอย่างถูกต้องจึงทำให้หัวขโมยทั้งหลายมีอันต้องเสียไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องหรือสร้างเหตุให้ทรัพย์วิบัติเสียเอง
๓. โทษของการเป็นชู้  ความประพฤติผิดทางกามนั้นถ้าใครทำมามากแล้วชาชินแล้วเชี่ยวชาญแล้วย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่นรกหรือไปสู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานหรือไปสู่เปรตวิสัย เบาที่สุดทำให้เป็นผู้มีศัตรูและภัยเวรเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก่อให้เกิด  ๑) ทุกข์ทางใจ ทุกข์เริ่มต้นเมื่ออยากมีเพศสัมพันธ์กับคนมีเจ้าของและจะทวีขึ้นเมื่อตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ด้วยและต้องหลบซ่อนให้ใครรู้ไม่ได้  ๒) การสั่งสมบาป ยิ่งผิดประเวณีมากเท่าไรความยับยั้งชั่งใจน้อยลงหลงนึกการผิดประเวณีเป็นสิ่งควรทำ  ๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ทำให้เสียความนับถือตัวเองไป
๔. โทษของการเป็นคนลวงโลก  การพูดเท็จ ถ้าใครทำมามากแล้วชาชินแล้วเชี่ยวชาญแล้วย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่นรกหรือไปสู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานหรือไปสู่เปรตวิสัย เบาที่สุดคือทำให้ถูกกล่าวตู่ด้วยคำที่ไม่เป็นจริงเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก่อให้เกิด  ๑) ทุกข์ทางใจ การโกหกมดเท็จต้องใช้จิตใจที่เป็นทุกข์เพราะต้องคอยคิดเรื่องโกหกและคอยปกปิดให้ดี คำมุสาที่นึกว่าเล็กน้อยอาจก่อภัยใหญ่หลวงได้  ๒) การสั่งสมบาป การอยากได้สิ่งที่ต้องการมากเกินไปหรือเห็นแก่สิ่งอื่นยิ่งกว่าใจตนจึงยอมพูดเท็จ  ๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ไม่มีความรู้สึกใดย่ำแย่น่าอึดอัดจากการโกหก ทำให้มีนิสัยดื้อด้านไม่ยอมรับความจริงและเมื่อสั่งสมการโกหกมากเข้ากลายเป็นคนลวงโลกพูดเรื่องจริงไม่เป็น
๕. โทษของการเป็นคนขี้เหล้าเมายา  การดื่มน้ำเมานั้น ถ้าใครทำมามากแล้วชาชินแล้วเชี่ยวชาญแล้วย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่นรกหรือไปสู่กำเนิดสัตว์เดรัจฉานหรือไปสู่เปรตวิสัย เบาที่สุดคือทำให้เป็นบ้าเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์  ก่อให้เกิด  ๑) ทุกข์ทางใจ การดื่มเหล้าหรือเสพยาที่มีผลข้างเคียงร้ายแรงได้มาจากใจที่เป็นทุกข์อาจทำให้คิดอ่านพูดจาแปลกไปกว่าตัวตนเดิม คนเราจะรู้สึกดีที่สุดเมื่อสติอยู่กับตัว  ๒) การสั่งสมบาป นั่นคือยิ่งดื่มเหล้ามากเท่าไรสติก็ยิ่งพร่าเลือนมากขึ้น ความเมาจะย้อมใจเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเป็นคนละคน อาจพูดหรือทำอะไรไม่ดีได้  ๓) ความเป็นอยู่ที่เลวร้าย คนขี้เมาความเมาทำให้ขาดสติเป็นต้นเหตุของบาปอันร้ายกาจได้ทุกข้อข้างต้นและอาจก่อคดีอาญาขึ้นได้
 
ต้นเหตุของการกระทำที่ผิดพลาดอันนำไปสู่ความทุกข์และความเดือดร้อนนั้น ทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากความไม่รู้ว่าผลของบาปมีจริง อีกทั้งไม่ตระหนักว่าผลของบาปเป็นสิ่งพิสูจน์ทราบได้ด้วยใจ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าที่สุดของความผิดก็คือความไม่รู้ ทำให้หลงทำผิดก่อความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นเรื่อยไป
จากหนังสือเรื่อง  ผิดที่ไม่รู้.
ผู้แต่ง ดังตฤณ.  กรุงเทพฯ: ฮาวฟาร์ , ๒๕๕๑.
 

One thought on “ผิดที่ไม่รู้

  • คำว่า. ไม่รู้. พูดง่ายจนติดปาก. แรกๆก็พออนุโลม อภัยคงไม่รู้. ตอนหลังชักยังไง. ไม่รู้ไปเสียทุกเรื่อง แถมยังไปกระทบคนอื่นอีก. หวังว่าพวกเรา คงไม่มีแล้ว หรือมีอยู่ ก็ตงเหลือไม่กี่คน

Leave a Reply

Tags

blog CONSAL KPI PULINET การจัดการความรู้ การดูแลสุขภาพ การทำงาน การท่องเที่ยว การบริการ การปฏิบัติงานล่วงเวลา การประชาสัมพันธ์ การพัฒนาตนเอง การพัฒนาบุคลากร การลงรายการ การศึกษาดูงาน การอ่าน การเรียนออนไลน์ กิจกรรมสำหรับเด็ก กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุด ความสุข ค่ายห้องสมุด งานบริการ ธรรมะ นวนิยาย นักเขียน บรรณารักษ์ บริการชุมชน ประกันคุณภาพ ภาพถ่าย ภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ วัด วันสำคัญ วารสาร สัมมนา สุขภาพ หนังสือ หนังสือบริจาค หนังสือและการอ่าน หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ห้องสมุด ห้องสมุด 24 ชั่วโมง อาหาร