เจริญรอยตามพระอรหันต์
ฉันดูวีดีทัศน์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ขอน้อมนำคำสอน และเจริญรอยตามท่านเจ้าพระคุณฯ มีผู้รู้กล่าวว่า หากต้องมีการจดจำพระอิริยาบถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้ได้กุศลขอเจริญรอยธรรมของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นแบบอย่าง
เรียนรู้พระจริยาวัตร ของสมเด็จพระญาณสังวร เรื่องเล่าจากบันทึกส่วนพระองค์ พระจริยาวัตรในแต่ละวัน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ตื่นบรรทม ราวตีสามทุกวัน สวดมนต์ทำวัตรและนั่งสมาธิ จากนั้นเสด็จรับบิณฑบาตร พระองค์เสวยเพียงมื้อเดียว ประมาณ ๙ โมงเช้า และเสวยในบาตร หลังจากนั้นเป็นเวลาที่ทรงรับผู้มาเข้าเฝ้าประมาณ ๑ ชั่วโมงในช่วงเช้า ตกบ่ายก็มีช่วงเวลารับผู้มาเข้าเฝ้าอีกช่วงหนึ่ง
วันไหนหากไม่มีผู้มาเข้าเฝ้าก็จะทรงอ่านหนังสือ แต่ถ้าหากมีพระกรณียกิจที่ต้องเสด็จนอกสถานที่ก็จะทรงงดรับแขก พระองค์จะมีพระเลขาฯ คอยถวายงานว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง สิ่งที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ รับสั่งเสมอว่า “ที่นี่เป็นพระของประชาชน” (คำว่า “ที่นี่” เป็นสรรพนามที่ทรงใช้แทนพระองค์เอง) พระองค์จึงมักเสด็จไปทุกงานที่กราบทูลอาราธนาเท่าที่เวลาจะอำนวย ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ก็ตาม ตอนเย็นจะทรงเดินตรวจวัดดูความเป็นไปในวัดและความเรียบร้อยทั่วไป ตอนใกล้ค่ำ จะเดินจงกรม ส่วนตอนกลางคืนจะทรงงานอยู่จนดึกจึงเข้าบรรทม โดยพระองค์ทรงบรรทมเพียงวันละสามชั่วโมงเท่านั้น
คำสอน ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ (โดนใจ)
เสาหลักแห่งบวรพุทธศาสนา
คนเราเกิดมาเพื่อ……ทำความดี
“ทุกคนที่รวมอยู่ในหมู่คณะ หรือประเทศชาติเดียวกัน ต่างต้องรับผิดชอบต่อความผาสุกของกันและกันด้วยกันทั้งนั้น แต่สำหรับผู้นำนั้น ในฐานะที่เป็นผู้นำ จำต้องปฏิบัติตนให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีแก่ผู้ตาม หรือผู้อยู่ในปกครองเป็นอันดับแรก จึงจะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ ฉะนั้นผู้นำจึงอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบหนักกว่าผู้อื่่นในหมู่เดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองในทางพระพุทธศาศนาจึงเน้นการปฏิบัติธรรมของผู้ที่เป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองหมู่คณะหรือประเทศชาติมาก”
“ไม่มีความสบายใดจะเสมอด้วยความสบายใจและความสบายใจจะไม่เกิดแต่เหตุใดเสมอด้วยเหตุ คือเมตตา การอบรมเมตตาจึงสำคัญ จึงจำเป็น”
“ถ้าคนเรามีความอยากได้วิชาก็ตั้งใจพากเพียรเรียน มีความอยากได้ทรัพย์ ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดีตามกำลังตามทางที่สมควร ดังนี้แล้วก็ใช้ได้ แปลว่า ปฏิบัติมรรค์มีองค์ ๘ ในทางโลกและก็อยู่ในทางธรรมด้วย”
พระธรรม เป็นสมบัติสำหรับประดับใจให้งดงาม บำรุงใจให้วัฒนะ (เจริญ) ทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์ ให้เป็นกัลยาณชน (คนงาม) ให้เป็นอารยชน (คนเจริญ คนประเสริฐ) และให้อยู่เป็นสุขสงบ ถ้าเทียบอย่างสมบัติภายนอกก็เทียบได้กับโภคสมบัติ เครื่องบำรุงร่างกายให้งดงาม
“การประพฤติปฎิบัติธรรมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจนธรรมนั้นเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับกายกับใจ นั่นแหละเป็นการแสดงธรรมให้ปรากฏแก่ผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลายทั้งปวง และจะต้องได้ผลมากกว่าการให้ธรรมที่เป็นข้อเขียนในหน้าหนังสือ”
“เห็นธรรมก็คือเห็นภาวะ หรือสภาพแห่งจิตใจของตนเอง ทั้งในทางไม่ดี ทั้งในทางดีจิตใจเป็นอย่างไร ก็ให้รู้อย่างนั้นตามเป็นจริง”
“คนฉลาดในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้มีปัญญา คือผู้มีเหตุผล และผู้มีเหตุผล คือผู้รู้จักเหตุรู้จักผล คือรู้ว่าเหตุใดเป็นเหตุดี เหตุใดเป็นเหตุไม่ดี รู้ว่าผลใดเป็นผลดี ผลใดเป็นผลไม่ดี และรู้ด้วยว่าเหตุดีเท่านั้นที่จะให้ผลดี เหตุไม่ดีเท่านั้นที่จะให้ผลไม่ดีและรู้ด้วยว่าเหตุดีเท่านั้นที่จะให้ผลดี เหตุไม่ดีเท่านั้นที่จะให้ผลไม่ดี ผู้ใดรู้จริงในเหตุผล ดังรับพระราชทานกล่าวมา คือ คนฉลาดในพระพุทธศาสนา ผู้นั้นไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี จะทำแต่สิ่งที่ดีอย่างแกล้วกล้าหาญ ไม่ลังเลท้อแท้ แม้จะต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจ หรือต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทองของมีค่ามากมายเพียงไร เพื่อผลอันเป็นคุณงามความดี เป็นคุณประโยชน์ทั้งแก่ส่วนตนและส่วนรวม”
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นนักอ่าน ทรงอ่านหนังสือหลายประเภท ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเช่น พระไตรปิฏกแปลเป็นภาษาอังกฤษ หนังสือพุทธประวัติของทารทะเถระ หนังสือเกี่ยวกับกัมฐานของโสมะเถระ หนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและจิตวิทยาทางพระพุทธศาสนา Jagdish Kashyap หนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนามหายานและวัชรยาน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ Inside Asia, Reader’s Digest, หนังสือพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ
ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงรักษาศีลอยู่เป็นนิจ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไปทั่วทุกมุมแห่งโลก
ทรงเป็นพระกตัญญุตา ท่านเจ้าพระคุณทรงรำลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณอยู่เสมอตั้งแต่วัยเด็ก และทรงหาโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณมาตลอด พระองค์ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายแด่สมเด็จพระบูรพาจารย์ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๑๘ พระองค์ และบูรพาจารย์เป็นประจำทุกปี ทรงสร้างเสนาสนะอุทิศถวายพระอุปัชฌาย์องค์แรก คือ หลวงพ่อวัดเหนือ
พระองค์ทรงนำพระชนนีมาดูแลบำรุงเลี้ยงดู พักอยู่ในวัดด้วยโดยให้พำนักอยู่ในบริเวณ “เรือนขาว” คือเรือนหลังน้อยที่ปลูกอยู่ใกล้ใกล้ๆ
กับตำหนักคอยท่า ปราโมช ที่ประทับของพระองค์ตราบจนกระทั่งพระชนนีถึงแก่อายุขัย
ท่านเจ้าพระคุณฯ ทรงเป็นผู้ที่มีความเคารพอ่อนน้อม แม้จะทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระผู้มีอายุพรรษามากกว่าพระองค์อยู่เสมอ เมื่อมีอาคันตุกะมาเข้าเฝ้า หรือเยี่ยมเยียนพระองค์ หากเป็นพระเถระผู้ใหญ่ก็จะทรงถามถึงอายุพรรษาก่อนว่ามีพรรษาที่เท่าไร ถ้าหากมากกว่าจะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ และทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย หรือถ้าเป็นพระที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็จะทรงต้อนรับด้วยความเมตตาไมตรีจิต ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นนี้มาโดยตลอด
ท่านเจ้าพระคุณฯ ทรงมักน้อยสันโดษ
มีพระดำรัสแก่พระภิกษุ สามเณรในวัดว่า “พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา เป็นพระต้องจน”
แม้จีวรนุ่งห่ม ก็ทรงใช้สอยอย่างธรรมดาเรียบง่าย โปรดใช้จีวรที่ซักย้อมเป็นประจำมากกว่าของใหม่ ทั้งยังโปรดที่จะซักเองและเย็บชุนด้วยพระองค์เองด้วย และทรงรับสั่งในหมู่พระเณรว่า ให้ใช้สอยข้าวของอย่างประหยัด โดยทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่าง ไม่ทรงนิยมสะสมข้าวของ และมักแจกจ่ายออกไปตามโอกาสอันควร
มีเรื่องเล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่่งมีผู้ประสงค์จะถวายรถยนต์สำหรับทรงใช้สอยเวลาเสด็จไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ ทรงมีรับสั่งตอบว่า “ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหน” หมายความว่าไม่ทรงรับถวาย และทุกครั้งเวลาเสด็จไปร่วมงานบุญงานกุศลที่วัดไหนเมื่อมีผู้มาถวายปัจจัย พระองค์จะไม่ทรงรับไว้เอง จะประทานคืนโดยรับสั่งว่า “ขอร่วมทำบุญด้วย”
พระคุณธรรมเหล่านี้นำชีวิตของพระองค์ให้ดำเนินสู่เส้นทางของความสำเร็จ แม้จะมีอุปสรรคหรือทรงพบกับความผิดหวังต่างๆ แต่ด้วยพระคุณธรรมที่มีอยู่ประจำพระองค์ก็ทรงฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายมาได้โดยตลอด ชีวิตของพระองค์จึงเป็นตัวอย่างอันดีงามสมควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม
จะเห็นได้จากภาพนี้ (ห้องพระบรรทม) เวลาเข้าชมนิทรรศการต้องสำรวม กาย วาจา ใจ และน้อมนำไปปฏิบัติ กุศลจึงจะเกิด
สิ่งที่น่าภูมิใจอีกอย่างหนึ่่ง คือเสนาสนะที่พระองค์ใช้เป็นฝีมือของพระชนนี ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังใช้อยู่เสมอ
ฉันขอตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ได้ตื่่นมาได้ไหว้พระสวดมนต์ ใส่บาตรทุกวัน และได้ให้ทาน รักษาศีล ๕ หรือศีลอุโบสถ ทุกวันพระ และฟังพระสัทธรรมแล้วเข้าใจธรรมคำสอนของท่านเจ้่าพระคุณฯ และได้มีความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณ และตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ มีอยู่ครั้งหนึ่่งที่ท่านเจ้าพระคุณเล่าไว้ในบันทึกส่วนพระองค์ ว่าต้องสอบเปรียญธรรม ๔ ประโยค คิดว่าต้องสอบได้ แต่ผลปรากฏว่าสอบตก เหตุเพราะ ประมาท ฉะนั้นเราจะต้องไม่ประมาท เพราะการเรียนนั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง
สิ่งที่ได้จากการเห็นพระจริยาวัตรอันงดงามของท่านเจ้าพระคุณฯ คือ พระองค์ตื่นพระบรรทม ตีสาม ไหว้พระสวดมนต์ ตอนใกล้ค่ำเดินจงกรม พระองค์มักน้อย ไม่รับเงินบริจาค เน้นคำสอนในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นนักอ่าน และนักจดบันทึก มีอยู่ครั้งหนึ่่ง ท่านเจ้าพระคุณไปฟังเทศน์ และจำคำสอนของพระอุปัชฌาย์ แล้วกลับมาจดเป็นบันทึกเล่าเรื่องราวได้อย่างอย่างดี ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา ทรงเป็นนักภาษาศาสตร์ เป็นพระที่ทันยุค ทันสมัย ไม่ล้าหลัง เข้าใจความเป็นไปในเทคโนโลยี่ใหม่ๆ และเป็นผู้ที่มีความกตัญญู กตเวที ตัวอย่างที่เห็นได้จาก การที่ท่านเจ้าพระคุณฯ ดูแลพระชนนี ที่ตำหนักเรือนขาวในวัดบวรนิเวศ จนชีวิตหาไม่ และท่านเจ้าพระคุณฯ ยังสอนการปฏิบัติกรรมฐาน สาธุ
ฉันขอเจริญรอยธรรมตามคำสอนของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ด้วยเทอญ สาธุ