หัวหน้าเวรอาคารม.ล.ปิ่นฯ
เมื่อวานนี้ (20 มิถุนายน 2552) เป็นวันแรกของภาคการศึกษานี้ที่ได้ปฏิบัติงานล่วงเวลาในฐานะหัวหน้าเวร ที่อาคารม.ล.ปิ่นฯ โดยเฉพาะเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ หลังจากที่หอสมุดฯ เปิดล่วงเวลามาได้ 2 สัปดาห์ การเป็นหัวหน้าเวรที่อาคารม.ล.ปิ่นฯ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์จะค่อนข้างยุ่งในช่วงก่อนเปิดบริการกับช่วงจะปิดบริการ
ขั้นแรกหลังจากเิดินเข้ามาในหอสมุด ก็ต้องตรงไปเซ็นชื่อลงเวลามาทำงาน พร้อมเขียนชื่อในใบปฏิบัติงานเพื่อให้หัวหน้าเวรอาคารหอสมุดเซ็นกำกับท้่ายให้ (ไม่อย่างนั้นจะอดได้ตังค์) หลังจากนั้นก็ต้องกวาดสายตาดูใบเซ็นชื่อรวมว่าวันนี้มีใครบ้างที่ต้องอยู่ในความดูแลของเรา อันดับหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่ประจำทางเข้าชั้น 1 อาคารม.ล.ปิ่นฯ อันดับสองก็ต้องเจ้าหน้าที่วารสาร อันดับสามก็เป็นเจ้าหน้าที่โสตฯ หลังจากนั้นก็ต้องดูว่า หนึ่งในสาม สองในสาม หรือทั้งสามคนมาหรือยัง หากคนใดคนหนึ่งมาแล้ว เราก็เคลื่อนตัวไปได้ แต่ถ้าหากยังไม่มา เราก็ต้องไปหยิบกุญแจประตูทางเชื่อม (หรือกุญแจไอ้เท้ง) และกุญแจ Self ซึ่งชื่อเหล่านี้เรียกขานตามรูปแบบของที่ห้อยพวงกุญแจหรือสติกเกอร์ที่ติดไว้ที่พวงกุญแจ แต่โดยมากหัวหน้าเวรมักมาทีหลังทั้งสามคนเป็นประจำ นานๆ ถึงจะมาก่อนซักที
ขั้นที่สองก็เดินทางไปอาคารม.ล.ปิ่นฯโดยผ่านทางเชื่อม ผ่านส่วนของงานบริการวารสารบันเิทิงและที่อ่านหนังสือพิมพ์ลงบันไดหลังไปที่ชั้น 1 เมื่อถึงชั้น 1 ก็กวาดสายตามองหลอดไฟบนเพดาน ว่าเปิดหรือยัง หากเปิดแล้วก็แล้วไป แต่ถ้าหากเปิดบางส่วนก็เปิดอีกหน่อยถ้าดูแล้วว่า มันมืดเกินไป
แล้วก็เดินผ่านไปทางหน้าห้องบริการอินเทอร์เน็ตพร้อมกับเอื้อมมือดึงสายเปิดพัดลมดูดอากาศ เตรียมพร้อมไว้ก่อน (แต่มันไม่ติดหรอกเพราะยังไม่ได้ไปเปิดเบรกเกอร์ที่ในห้องควบคุม) และเหลือบสายตาดูปลั๊กถังน้ำเย็นสักนิดหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่เสียบหรือยัง พร้อมกับเอานิ้วจิ้ม 1 ทีไปที่ถังน้ำเพื่อดูว่า ยังมีน้ำมากน้อยเพียงใด แล้วผ่านหน้าห้องควบคุมก็แหงนมองเพดานอีก 1 รอบเพื่อดูไฟฟ้าเช่นกัน
ขั้นที่สามก็ต้องหยิบกุญแจลิ้นชักในกระเป๋ากุญแจ แล้วเปิดประตูห้องควบคุมเข้าไปก็วางกระเป๋าสัมภารก เอ๊ยสัมภาระ เิปิดไฟฟ้าภายในห้อง (หากว่ายังไม่ได้เปิด) เปิดสวิตซ์พัดลมดูดอากาศ 2ตัว ปิดเครื่องปรับอากาศตัวที่อยู่เหนือเคาน์เตอร์ (ซึ่งเปิดมาแล้ว 1 คืนเต็มๆ) แล้วเคลื่อนตัวไปเปิดเครื่องปรับอากาศตัวที่อยู่เหนือเครื่องเซิฟเวอร์ เพื่อสลับการใช้งานกัน หลังจากนั้นก็ต้องไปกระโดดเย่งๆ เพื่อดึงสายของพัดลมดูดอากาศอีก 2 ตัวที่ผนังอีกด้าน (เนื่องจากสายมันสั้น และตัวเองเตี้ย และขี้เกียจยกเก้าอี้มาต่อขา มันช้า แต่ที่จริงอยากจะขอร้องว่าไม่ต้องดึงปิดได้ไหม เพราะแค่ปิดเบรกเกอร์มันก็ดับแล้วค่ะ) หลังจากนั้นก็ไปเปิดเบรกเกอร์ควบคุมระบบไฟฟ้าของชั้น 1 แล้วก็ไปเปิดหน้าจอควบคุมกล้องวงจรปิด เปิด UPS เครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุม กดปุ่ม power เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดเครื่อง printer ฉีกซองกุญแจลิ้นชัก เปิดลิ้นชักเพื่อหยิบกุญแจห้องมัลติมีเดีย พร้อมกับหันไปหยิบรีโมต UBC ถือติดมือไปด้วย จะได้ไม่เสียเวลา
ขั้นที่สี่ออกจากห้องควบคุมเดินไปที่หน้าห้องควบคุมเริ่มจากเครื่องพิมพ์งานหมายเลขหนึ่ง เสียบปลั๊กไฟ 2 เส้น (เฉพาะเครื่องนี้เท่านั้นที่พิเศษ เครื่องอื่นไม่ต้อง) แล้วก็เริ่มกดปุ่ม power กดเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ไล่ไปเรื่อยๆ จากเครื่องพิมพ์งานเครื่องที่ 1 2 3 4 5 เครื่องอินเทอร์เน็ต30 29 28 27 26 25
เดินต่อไปยังห้องบริการอินเทอร์เน็ต เปิดประตูเข้าก็ดูว่าไฟฟ้าเปิดหรือหากยังก็เปิด หากเปิดแล้วก็แล้วไป ในห้องนี้ก็ต้องเสียบปลั๊กไฟอีก 2 เส้น เป็นปลั๊กไฟของเครื่องดูดความชื้น เสร็จแล้วก็กดปุ่ม on ที่เครื่องดูดความชื่น แล้วเดินไปเปิดเครื่องปรับอากาศแบบตั้งพื้น 2 เครื่อง หลังจากนั้นก็เริ่มกดปุ่ม power กดเปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ไล่ไปเรื่อยๆ จากเครื่องอินเทอร์เน็ตหมายเลข 24 23 22 21 20 19 ……..จนถึงหมายเลข 1 ยังค่ะยังไม่เสร็จ เพราะเครื่องอินเทอร์เน็ตยังเป็นหน้าจอ login อยู่ ก็ต้องไปเคาะ enter หรือ คลิกเข้าหน้าจอปกติให้ผู้ใช้ด้วย (สรุปว่าต้องเดินวนอีก 1 รอบ) ยังค่ะยังไม่หมด ยังต้องไมคลิกปิด หน้าจอ pop up ทุกเครื่องอีก 1 รอบ (ที่จริงไม่ต้องก็ได้ เคยมีคนบอกไว้ แต่เจอกับตัวเองว่า ผู้ใช้บางคนเห็นหน้าจออย่างนี้แล้วนึกว่าเครื่องแฮงค์ เลยกดปิดเครื่องเสียงั้น) สรุปว่าในห้องนี้ต้องเดินวนไปวนมาอยู่ 3 รอบ
เสร็จจากห้องอินเทอร์เน็ตก็วนกลับมาดูเครื่องที่หน้าห้องควบคุมก็ทำแบบเดียวกับในห้อง เดินอีก 3 รอบ แต่จำนวนเครื่องน้อยหน่อย แม้เกือบลืมไปเครื่องพิมพ์งานหมายเลข 1 ต้องอย่าลืมกด F1 ด้วยน่ะค่ะ ไม่อย่างนั้นเข้าใช้เครื่องไม่ได้
ขั้นที่ห้าเดินไปห้องมัลติมีเดียไขกุญแจที่เตรียมไว้เปิดประตูห้อง เปิดสวิซ์ไฟด้านหน้าห้อง เปิดเบรกเกอร์ เดินไปเปิดสวิซ์ไฟด้านหลังห้อง แล้วเปิดเครื่อง video ondemand อีก 6 เครื่อง (ทำไม! เครื่องหมายเลข 3 ชอบค้าง เอ! หรือมันไม่ชอบเรา เจ้าหน้าประจำเจอบ้างไหมค่ะ) จากนั้นก็เดินกลับมาที่หน้าห้องเพื่อเปิดแผงควบคุม sound lab และ UBC (แตาแม้ตอนนี้ดีหน่อยขั้นตอนน้อยลงไปเยอะ) แล้วทดลองเปิดโทรทัศน์ดูว่าใช้ได้หรือไม่ บางครั้งก็ต้องเปิดปุ่ม power เครื่องโทรทัศน์ที่แขวนอยู่ด้านบนด้วย (เขย่งอีกตามเคย เฮ้ฮ! กลุ้มใจเกิดมาเตี้ย)
ขั้นตอนที่หก เดินกลับมาที่ห้องควบคุม มาที่เครื่องคอมพิวพเตอร์ที่เป็นเครื่องควบคุม เปิดระบบควบคุมเพื่อสอดส่องดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของนักศึกษาไม่ออกนอกลู่นอกทาง (จุ๊ๆๆ ห้ามบอกนักศึกษาเด็ดขาด เพราะไม่อย่างนั้นอดดูของดี อดรู้ว่านักศึกษาคนไหนแอบดูเว็บแบบสยิวกิ้วบ้าง) และที่ขาดมิได้คือ ต้องล็อคเครื่องอินเทอร์เน็ต เครื่องพิมพ์งาน เครื่องมัลติมีเดียไว้ก่อน รอเวลาให้นักศึกษามาลงชื่อแล้วค่อยปลดล็อคให้ เสร็จแล้วก็กวาดสายตาดูแผ่นสถิติต่างๆ ว่าหัวหน้าเวรวันก่อนได้เปลี่ยนได้ปั้มวันที่ไว้ให้หรือเปล่า หากมีลงลืมไปบ้างก็ปั้มๆ เสียหน่อย
สรุปว่า จากขั้นตอนที่ยาวเหยียดเป็นหางว่าว และดูเหมือนจะแสนยุ่งยากนี้ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที หากมีอะไรเกิดติดขัดบ้่างก็อาจถึง 30 นาที (เฮ้อ! เขียนซะดูเหมือนทำทั้งวันเลยจริงจริ๊ง) หัวหน้าเวรต้องเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ 42 เครื่อง เครื่องโทรทัศน์ 2 เครื่อง เครื่อดูดความชื่น 2 เครื่อง พัดลมดูดอากาศ 4 ตัว printer 1 เครื่อง และเครื่องๆๆๆๆ ทั้งสวิตซ์และปลั๊กอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ 😯
หลังจากนั้นก็นั่งรอคอยให้บริการผู้ใช้ต่อไป และตลอดทั้งวันก็จะเจอคำถามคำพูดแบบนี้ค่ะ
พี่ค่ะขอยืมหูฟังด้วยค่ะ (หลังจากที่น้องเค้าก้มหน้าก้มตาลงชื่อในตารางใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว)
พี่ค่ะเครื่องแฮ้งค่ะ (เดินมาท่าทางตื่นตระหนก หลังจากไปใช้งานสักพัก)
พี่ค่ะห้องดูทีวีว่างไหนค่ะ (ห้องฉายวีดิทัศน์)
พี่ค่ะห้องโน้นเข้าใช้ต้องลงชื่อไหมค่ะ (พร้อมกับชี้มือไปฝั่งตรงข้าม ส่วนเราก็ต้องเล็งสายตาอันยาวไกลเพื่อดูว่า ห้องไหน)
พี่ค่ะสั่ง print มาค่ะ (เราก็ต้องถามว่า เครื่องไหนค่ะ สั่งมากี่ชาม เอ๊ย!ไม่ใช่กี่ครั้งค่ะ)
พี่ค่ะเน็ตใช้ได้ไหมค่ะวันนี้ เครื่องหนูเข้าไม่ได้
ฯลฯ
หมายเหตุ ทุกคำถามมีคำตอบ และมาได้ตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่หัวหน้าเวรกำลังหม่ำข้าว หรือ กินส้มตำอยู่
อ้อ! เกือบลืมไปค่ะ ระหว่างวันก็ต้องแวะไปทักทายลูกเวรกันบ้าง ส่วนมากจะไปดูที่ชั้น 4 ฝ่ายโสตฯ (เพราะเป็นชั้นบนสุดที่เปิดบริการ เจ้าหน้าที่ต้องอยู่คนเดียว) ส่วนชั้นสาม ส่วนมากมักขึ้นไปมองๆ ดูความเรียบร้อย เสียงดังไหมอะไรทำนองเนี๊ยะ) ส่วนชั้นสองก็แวะเสียหน่อยหนึ่งเพราะไม่มีเจ้าหน้าคอยดูแล ส่วนที่หน้าประตู จะออกมาทักทายตอนที่ไปเข้าห้องน้ำกับตอนที่หนาวจนทนอยู่ในห้องไปไหวแล้ว
ส่วนช่วงตอนที่อีกครึ่งชั่วโมงหอสมุดจะปิดบริการ เราก็ทำแบบเดิม แต่ทำแบบทวนเข็มนาฬิกา คือ ไล่ย้อนตั้งแต่ขั้นตอนที่ 6 5 4 3 2 1 แต่ดีหน่อยหนึ่งที่ตอนปิดนี้ มีผู้ช่วยตัวจริง (เจ้าหน้าที่โสต) มาช่วยปิดและช่วยรับผิดชอบ (เราจะได้ไม่ผิดคนเดียวอิอิ ถ้าลืม) หลังจากนั้นก็กลับบ้าน
บ๊ายบายหอสมุด สวัสดีบ้านเรา 😛
2 thoughts on “หัวหน้าเวรอาคารม.ล.ปิ่นฯ”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ส่งการบ้านพี่แมวปล่าวเนี่ย ใครก็ได้ช่วยสรุปแบบสั้นๆ ว่าเวลาไปชั้นไหนที่ อาคาร ม.ล.ปิ่น ใช้กุญแจดอกไหนเป็นดอกไหน เพราะนานๆ ไปทีงงแบบงงมากๆ แหม…แถมเมื่อวันเสาร์ลุงเพชร (ท่าจะจัดชั้นมาก) ยังตาลายบอกว่าไฟชั้นสามยังเปิดอยู่ ต้องใช้วิทยายุทธ์กันซะ
ขอบคุณค่ะที่ช่วยชี้แจงแทนคนฝ่ายโสตฯ ซึ่งเวลาปกติเขาก็ต้องเดินตรวจดูเครื่องและจุดต่างๆ ด้วยเพราะมันก็อาจเกิดปัญหาได้ตลอด เพียงแต่เวลาถามลูกน้อง เขาจะบอกว่าพี่ตารู้แล้ว พี่เอ๋รู้แล้ว แต่พี่หน่อยจะรู้ทีหลังกว่า โดยพี่เทพจะคอยบอกให้ทราบอีกที มีอะไร ฝากหัวหน้าเวรช่วยแจ้งหใทราบด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
อ่อ แล้วก็พัดลม 52 ตัวในห้องควบคุม ไม่ต้องดึงปิดนะคะ เพราะหัวหน้าเวรส่วนใหญ่ตัวเตี้ยจริงๆ และเวลาเปิด มันเปิดยากกว่าตอนดึงปิดเสียอีก