การใส่บาตร
วันนี้เป็นวันดีที่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์จัดทำบุญอาคารหอสมุดฯเทศกาลปีใหม่ 2556และในปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งสำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ คือการเฉลิมฉลองงาน “พุทธชยันตี 2,600ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”ซึ่งมีหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญ ตักบาตร สวดมนต์ ไหว้พระ ฟังธรรม นั่งสมาธิเจริญภาวนา ตลอดจนการจัดอุปสมบทหมู่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าท่านใดสะดวกเข้าร่วมกิจกรรมไหน
“การตักบาตร(การใส่บาตร)” นับเป็นการทำบุญที่พวกเราชาวพุทธ นิยมปฎิบัติกันมากกว่าการทำบุญอย่างอื่นเพราะสะดวก ทำได้ทุกวัน ขั้นตอนไม่ยุ่งยากมาก แต่ในขณะเดียวกันนั้น เราได้ทำถูกต้องแล้วหรือไม่ และได้มีโอกาสฟังป้าแก่(ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง) เล่าว่า “การใส่บาตร” ไม่ใช่เพียงแค่นำข้าว กับข้าว น้ำดื่ม ดอกไม้ ธูป เทียน ใส่ลงในบาตร รอพระให้พร แล้วกรวดน้ำก็เป็นอันเสร็จ (ข้าพเจ้าทำเป็นประจำ เพราะอ้างว่ามีเวลาทำกิจกรรมนี้น้อย)แต่”การใส่บาตรที่ถูกต้อง”เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บุญอย่างแท้จริงนั้นมีวิธีปฏิบัติและขั้นตอนดังนี้
1.อาหารที่นำไปใส่บาตรเป็นของที่พระฉันได้และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องไม่ใช่ “เนื้อต้องห้ามตามหลักตามหลักศาสนาพุทธ” เรียกว่า “มังสัง10 อย่าง” ได้แก่ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมีและเสือดาว
ผลธัญพืชที่มีเมล็ดก็ไม่ควรนำมาใส่บาตรได้เช่นกัน เพราะถือว่าเมล็ดยังสามารถให้กำเนิดชีวิตได้อยู่ แต่ถ้าไม่มีของอย่างอื่นถวายจริงๆ จำเป็นต้องถวายผลธัญพืชที่มีเมล็ด ก็ต้อง เอาเมล็ดออกก่อน ภิกษุที่เคร่งครัดพระธรรมวินัย ท่านจะไม่ฉันผลไม้ที่มีเมล็ด อีกทั้งพวกของหมดอายุ ของเสีย หรือกับข้าว ที่พระภิกษุฉันแล้วไม่ดีต่อสุขภาพก็ไม่สมควรเอามาตักบาตร
2.ในขณะรอใส่บาตร เมื่อพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งเดินผ่านมา ก็ให้ตักบาตรพระรูปนั้นและรูปอื่นๆตามลำดับ การตั้งใจตักบาตรแบบไม่เป็นการเจาะจงจะมีผลานิสงส์มากกว่าการตั้งใจตั้งบาตรโดยเจาะจงแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ
3.ก่อนตักบาตรให้ตั้งจิตอธิษฐานโดยถือขันข้าวด้วยมือทั้ง2ข้าง ยกขันข้าวหรือถาดใส่ของตักบาตรขึ้นเสมอหน้าผากพร้อมกับกล่าวคำอธิษฐานดังนี้ “สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวัก ขะยาวะหัง โหตุ ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเถิด”
หรือจะกล่าวอีกแบบหนึ่งก็ได้ “ข้าวขาวเหมือนดอกบัว ยกขึ้นทูนหัว ตั้งจิตจำนง ตักบาตรพระสงฆ์ ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ขอให้พบดวงแก้ว ขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุนิพพานในอนาคตกาลเทอญ”
“สิ่งสำคัญที่สุด” ในการตักบาตรคือต้องเตรียมใจให้พร้อม เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวายซึ่งต้องทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 ขณะคือ
-ก่อนใส่บาตรต้องตั้งใจถวายอย่างแท้จริง
-ขณะถวายต้องทำด้วยใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
-หลังจากถวายแล้วต้องยินดีในทานของตัวเองที่ได้ถวายไปแล้วด้วยจิตใจเบิกบาน (ห้ามคิดว่าพระจะนำของเราไปขายหรือเปล่าเด็ดขาด)
4.เมื่ออธิษฐานจบแล้ว ให้ลุกยืนและถอดรองเท้า การสวมรองเท้าใส่บาตรนั้นถือว่ายืนสูงกว่าพระซึ่งไม่เป็นการสมควรเหมือนขาดความเคารพ และเมื่อถอดรองเท้าแต่ยังยืนบนรองเท้า อันนี้ก็ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง หรือบางคนถอดรองเท้าจริงๆแต่กลับไปยืนบนฟุตบาธซึ่งอยู่สูงกว่าพระสงฆ์ที่ยืนบนพื้นถนนก็ไม่สมควรเช่นกัน
จากนั้นตักข้าวในขันข้าวให้เต็มทัพพีบรรจงตักใส่ให้ตรงบาตร ระวังไม่ให้ข้าวร่วงหล่นออกนอกบาตร และถ้ามีข้าวติดทัพพีก็อย่าใช้ทัพพีเคาะบาตรพระ เด็ดขาด สำหรับผู้ชายหากมีดอกไม้ ธูปเทียนถวายสามารถยื่นให้พระสงฆ์ได้เลย แต่ถ้าผู้หญิงต้องรอให้พระสงฆ์หงายฝาบาตรแล้วค่อยวาง
5.เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้ว ถ้ามีโต๊ะรองอาหารให้วางขันข้าวบนนั้น ยืนตรงแล้วน้อมตัวลงไหว้พระสงฆ์ แต่ถ้าตักบาตรอยู่ริมทาง ควรนั่งแล้ววางขันข้าวไว้ข้างๆตัวยกมือขึ้นพนมพร้อมอธิษฐานว่า
“นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์ เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ข้าพเจ้าเจริญในพระศาสนาของศาสดา”
6.หลังจากรับพรพระแล้ว ควรกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับกับเจ้ากรรมนายเวรโดยกล่าวว่า “อิทังเม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย
ขอบุญทั้งหลายจงสำเร็จแก่ญาติของข้าพเจ้า ขอให้ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นสุขเป็นสุขเถิด ขอให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินท่านไว้ ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านได้รับผลบุญนี้แล้วโปรดอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญแก่ข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเทอญ”
เมื่อทราบวิธีการตักบาตรที่ถูกต้องแล้ว ก็ขอให้ทุกท่านทำบุญตักบาตร ด้วยความสุขใจ และขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยค่ะ สาธุ
4 thoughts on “การใส่บาตร”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ทุกวันนี้ไม่เข้าใจ…ชาวพุทธบริษัททั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา ว่าเพื่อชี้สถานะตนเองว่าได้รับสัญชาติ.ไทย ..เชื้อชาติ.ไทย .และนับถือศาสนา…พุทธ..เพื่อแอบอ้างว่าตนเองคือไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มอบกายถวายต่อพระพุทธองค์อย่างนอบน้อม เราที่ว่าเป็นไทยพุทธนั้นยังห่างไกลกับประเทศเพื่อนบ้านมากมายนัก คำว่าไทยนั้นมันอิสระเหลือเกิน จะเป็นเพราะความเจริญทางวัตถุหรือที่เข้ามาแฝงอยู่ทำให้คนไทยคิดเป็นพุทธพานิชย์มากกว่าคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นพระศาสดาเอกของโลก จะเห็นได้ว่าในป้ายโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมันไม่ใช่เป็นศาสนาเอกหรือคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ เป็นเพียงพุทธพาณิชย์ที่มอมเมาให้เราหลงเชื่อและศรัทธาในสิ่งนั้น หัวใจของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง…..“การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้เพียบพร้อม การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” สาธุ.
นั่นน่ะสิ…แถมโฆษณาออกทีวีกันทุกวันทุกวัน ในวัดนอกจากจะมีพระพุทธรูปแล้ว ยังมีเทพเจ้าอีกด้วย แถมจะว่าไปอาจจะใหญ่ที่ซู้ดดดดด…ยิ่งกว่าพระพุทธรูปที่มีซะอีก
ว่าแต่ว่าขั้นตอนทั้ง 6 เนี่ย เราทำกันอ๊ะเปล่าน๊า
น้องเอ๋ บางทีก็มีลืมบ้าง (นิดหน่อย) แต่สิ่งที่ไม่ลืมคือ ตั้งความปราถนาว่าบุญ หรือความดีที่ได้กระทำแล้วนี้ เป็นปัจจัยให้ถึงความพ้นทุกข์ ถึงสุขอันบวรกล่าวคือ มรรค ผล นิพพาน สาธุ ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ข้าพเจ้าได้ใส่บาตรพระทุกๆ วันด้วยเถอะ…สาธุ