สีนี้มีความหมาย
สาธุชนทั้งหลายต้องเคยเข้าวัด ไปวัด หรือผ่านวัดกันมาแล้วทั้งนั้นใช่ไหม จะด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่เชื่อว่าทุกคนหนีวัดไม่พ้นแน่ๆ ต้องเข้าวัดไปใช้บริการไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลในฐานะของพุทธศาสนิกชน
แต่ท่านทั้งหลายเคยสังเกตุหลังคาโบสถ์ วิหาร หรือศาลาการเปรียญตามวัดต่างๆแล้วสงสัยไหมว่าทำไมวัดจึงใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีสีสันต่างๆสลับกันไป เช่น สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีน้ำเงิน ซึ่งแตกต่างจากกระเบื้องที่มุงหลังคาตามบ้านเรือนของคนทั่วๆไปที่มักจะใช้สีเดียว
แต่ทราบหรือไม่ว่าสีของกระเบื้องที่แตกต่างกันนั้นทุกสีมีความหมายทั้งสิ้น เช่น สีเหลือง หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ สีส้มหมายถึงความสุข สีเขียว หมายถึงความสดชื่น ส่วนสีน้ำเงินหรือสีครามหมายถึงการจัดระเบียบ ซึ่งวัดต่างๆ ที่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องสลับสีดังกล่าวนี้จะเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงยุครัตนโกสินทร์เป็นต้นมา
ผู้คนในยุคสมัยก่อนนั้นสร้างวัดกันด้วยจิตศรัทธาไม่มีการว่าจ้าง จะร่วมแรงกันทำอย่างประณีตสุดฝีมือทุกขั้นตอนด้วยศิลปะและความรู้ทางเชิงช่าง แม้แต่การมุงกระเบื้องหลังคาก็สลับสีอย่างสวยงามมีความหมาย และเป็นเอกลักษณ์ของวัดไทยที่ไม่เหมือนใคร เช่นมุงขอบด้วยสีเขียวล้อมรอบสีเหลืองและสีส้ม หรือขอบสีเหลืองหรือสีส้มล้อมรอบสีน้ำเงิน(สีครามเข้ม) เช่น วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ฯลฯ แต่บางวัดก็ใช้กระเบื้องสีเดียวทั้งหมด เช่นสีเหลือง หรือสีส้มอมแดง แต่เท่าที่เห็นมาไม่มีวัดใดที่ใช้กระเบื้องสีเขียวและสีน้ำเงิน(คราม) เพียงสีเดียวเลย
มาในยุคหลังๆนี้เราจะพบว่าวัดที่สร้างใหม่หรือวัดเก่าที่บูรณะใหม่ด้วยเหตุที่หลังคาดั้งเดิมชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลานั้น จะมุงด้วยกระเบื้องสีเดียวทั้งหมดไม่มีการใช้กระเบื้องสลับสีดังเดิมอีกต่อไป จะเป็นเพราะหายากหรือไม่มีการผลิตหรือยุ่งยากในการมุงก็มิอาจคาดเดาได้ เราจึงเห็นหลังคาวัดวาอารามยุคใหม่เหมือนๆ กันหมด หากท่านมีโอกาสไปวัดหรือผ่านวัดลองสังเกตดูสิ
2 thoughts on “สีนี้มีความหมาย”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.
ขอบคุณพี่ Sunee ที่เอาเรื่องนี้มาคุยกัน เคยคิดอยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น มีโอกาสได้ท่องเที่ยวและถ่ายภาพตามวัดวา
ก็ได้พบได้เห็นครับ บางวัด การมุงกระเบื้องเขาสลับสีเขียนเป็นตัวอักษรบอกปีพ.ศ.ที่สร้างก็มี เหตุผลที่ปัจจุบันกระเบื้องมุงหลังคา
มักมีสีเดียว ก็คงเป็นอย่างที่เจ้าของเรื่องว่าไว้คือ โรงงานผลิตกระเบื้องแบบโบราณเหลือน้อยมาก ต้องสั่งของกันเป็นปี ถ้าจำไม่ผิดอยู่แถบๆจังหวัดอยุธยา ได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับเจ้าอาวาสวัดที่มีการซ่อมแซมโบสถ์มาตรับ ศิลปและความงามบนหลังคาก็เลยหายไป น่าเสียดาย (พอดีมีภาพกระเบื้องมุงหลังคาอยู่ในบล็อกของ น้องPanida ลองสังเกตูครับ)
เพิ่งรู้ค่ะพี่ … ชอบบ้านโบราณที่มุงเป็นตัวอักษร เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว