วัดไน่เกาะ vs วัดไร่เกาะต้นสำโรง
เล่าเรื่องวัดมาก็หลายวัดแล้ว จะไม่เล่าถึงวัดนี้เลยคงไม่ได้ เพราะเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านที่สุด ห่างกันประมาณ 600 เมตรเห็นจะได้ แล้วก็จะเป็นวัดไหนไปไม่ได้ นอกจากวัดไร่เกาะต้นสำโรง อ.เมือง จ.นครปฐม (ถือโอกาสเล่าให้พี่ติ๋ว นัยนา ฟังไปซะด้วยเลย ในฐานะที่พี่เค้ามาวัดนี้เป็นประจำหลายปีแล้ว มากกว่าคนอยู่ใกล้วัดอย่างเราหลายเท่า)
วัดไร่เกาะต้นสำโรง เดิมชื่อ วัดเกาะปทุม เพราะที่ตั้งวัดมีคลองล้อมรอบเป็นเกาะ และมีดอกบัวขึ้นตามคลองมากมาย ชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ทำไร่ ทำสวน ปลูกต้นคราม
ชาวจีนพวกนี้เรียกวัดเกาะปทุมว่า “วัดไน่เกาะ” หมายถึงเกาะแห่งดอกบัว เพราะคำว่า ไน่ ในภาษาจีนแปลว่า ดอกบัว บวกกับคำว่าเกาะ จึงกลายเป็น วัดไน่เกาะ ซึ่งเป็นสำเนียงการพูดของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน
ต่อมานานเข้า คลองนี้เริ่มตื้นเขิน ดอกบัวก็มีน้อยลง แต่กลับมีต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งเป็นจำนวนมาก อายุหลายปี นั่นคือ ต้นสำโรง และมีอยู่ต้นหนึ่งมีขนาดใหญ่มาก แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ชาวบ้านเชื่อว่า มีรุกขเทวดาสถิตย์อยู่ จึงตั้งศาลให้ ประกอบกับพื้นที่โดยรอบทำไร่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ชื่อของวัด เปลี่ยนมาเป็น วัดไร่เกาะต้นสำโรง จนทุกวันนี้
เป็นไงล่ะ ดอกบัว ไฉนจึงมาเกี่ยวกับต้นสำโรงซะได้…ดูไปดูมาชื่อวัดต่างๆ เนี่ย ก็คงเรียกกันจากบริบทแวดล้อมที่เห็นกันนั่นเอง…วันหลังจะมาเล่าเรื่องต้นสำโรงให้ฟัง มันเป็นต้นไม้ที่ร่มรื่นจริงๆ
นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าและหลักฐานที่ปรากฎ พอสันนิษฐานได้ว่า วัดไร่เกาะต้นสำโรง มีอายุเก่าแก่ประมาณ 120 กว่าปี ตั้งแต่ช่วงการปฏิสังขรณ์ใหญ่องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีการขุดคลองเจดีย์บูชาตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ ไปจนถึงมณฑลนครชัยศรี โดยขุนนางทหารได้แวะพักบริเวณวัดนี้ และสร้างศาลาพักร้อนขึ้น
ต่อมามีคณะสงฆ์คณะหนึ่ง เดินธุดงค์ผ่านมาทางนี้ จึงได้หยุดพัก และเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญศีลภาวนา เมื่อชาวบ้านรู้ว่ามีพระมาอาศัยอยู่ ต่างก็มาทำบุญกันเรื่อยๆ จนกระทั่งตั้งเป็นสำนักสงฆ์ที่ถาวรขึ้น โดยมีศาลาหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง และมีกุฎิอีกสองสามหลัง
และในปีพ.ศ. 2502 ได้สร้างสุสานไว้ทางทิศเหนือของวัด เพื่อเป็นที่เก็บกระดูกของชาวจีนที่ไร้ญาติ ต่อมาในปีพ.ศ.2532 ทางวัดได้จัดงานทำพิธีล้างป่าช้าขึ้น โดยใช้เวลาขุดและเก็บศพนาน ๒๘ วัน ได้ศพ 1,343 ศพ และเงินบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ที่เหลือนำไปเป็นทุนสมทบเพื่อก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่
ในปีพ.ศ. 2538 ได้จัดให้มีงานปิดทองฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา อุโบสถหลังใหม่ และได้ใช้อุโบสถหลังนี้ในการประกอบศาสนกิจมาจนถึงปัจจุบัน