พระตำหนักสวนนันทอุทยาน ที่นครปฐม

รัชกาลที่ 6 กับเมืองนครปฐม…ความผูกพันอันชิดใกล้
เมืองนครปฐมในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อฟื้นคืน ศูนย์กลางของเมืองมิได้อยู่ในตำแหน่งครั้งโบราณ ด้วยจุดเริ่ม
นับเนื่องจากการบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์อันเป็นมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานอยู่นอกเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จ-
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์มาทรงนมัสการและมีพระราชศรัทธา
ในอันที่จะบูรณะขึ้นไว้ การดำเนินการบูรณะพระมหาเจดีย์ล่วงเลยมานับแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ล่วงเข้ารัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงมีการบูรณะตลอดจนสร้างสิ่งปลูกสร้าง และอื่น ๆ อันเนื่องด้วย
พระมหาเจดีย์ อาทิ การประดับกระเบื้องเคลือบสีเหลืองที่ค้างมาแต่ปลายรัชกาลที่ 5
การแก้ไขวิหารพระประสูติเป็นวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์ การประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
การปรับแก้บันไดใหญ่พนักนาค และการแก้ไขวิหารหลวง[1] การสร้างสะพานเจริญศรัทธา การตัดถนนเทศา[2]
จากหน้าพระปฐมเจดีย์ตรงไปหน้าวัดพระประโทนสิ้นสุดบริเวณพระตำหนักราชฤดี[3] ที่ทรงสร้างให้เป็นที่ประทับ
ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เป็นต้น

การที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกรณียกิจในการบูรณะพระมหาเจดีย์อย่างใกล้ชิด นับแต่ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ
เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ที่ทรงรับมอบหมายจากพระราชบิดาสืบเนื่องต่อมาจากพระอัยกา ทำให้พระองค์
ทรงผูกพันกับพระปฐมเจดีย์และเมืองนครปฐมอย่างยิ่ง ดังเป็นที่ประจักษ์ว่าพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง
พระราชวังสนามจันทร์ขึ้น และทรงโปรดที่จะแปรพระราชฐานมาประทับอยู่เนือง ๆ ตลอดรัชสมัย
โดยวังแห่งนี้มีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะวังแห่งเมืองหลวงสำรองที่สอง และกองบัญชาการสำคัญ
ในการฝึกและซ้อมรบเสือป่าในทุก ๆ ปี นอกจากพระราชฐานที่ประทับยังทรงมีรับสั่งให้
บรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ อันอาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงผูกพันธ์
ในเมืองนครปฐมที่ทรงไฝ่ใจในองค์พระนั้นมากแม้สิ้นพระชนม์ก็ยังมีพระประสงค์สุดท้ายที่เมืองแห่งนี้

พระราชวังสนามจันทร์ มิใช่ที่ประทับเพียงแห่งเดียว
ที่เมืองนครปฐมนี้ แม้จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นไว้ แต่ก็มิได้ทรงมีที่ประทับ
เพียงแห่งเดียวในเมืองนี้ ดังมีความจากหนังสือเรื่อง กำเนิดพระราชวังสนามจันทร์ และพระปฐมเจดีย์
พระมหาธีรราชเจ้า กับ ดอนเจดีย์ อนุสรณ์ของเสือป่าและลูกเสือ
ซึ่งแต่งโดย จมื่นอมรดรุณารักษ์
(แจ่ม สุนทรเวช) ผู้ซึ่งเคยรับราชการในพระองค์กับทั้งเป็นเสือป่าในรัชสมัย กล่าวไว้ในหน้า 6-7 ความว่า

“…เมืองนครปฐมนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุภูเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จออกไปตั้งแต่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จ
พระบรมโอรสาธิราช
ก็ได้เสด็จออกมาประทับอยู่ ณ ที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์อยู่บ่อย ๆ
โดยสร้างพระตำหนักไว้ตรงหัวมุมถนนขวาพระซึ่งเรียกว่า “พระตำหนักบังกะโล”
มีบริเวณติดกับสถานีตำรวจในปัจจุบันนี้ บัดนี้ พระตำหนักหลังนั้นได้รื้อลงหมดแล้ว…”

นอกจากพระราชวังสนามจันทร์ที่ยังคงอยู่ นอกจากพระตำหนักบังกะโล ที่บัดนี้รื้อลงหมดแล้ว…
ที่เมืองนครปฐม ยังมีพระตำหนักสำคัญที่ทรงโปรดใช้ประทับแรมนานนับเดือน
ในช่วงปลายรัชกาลอีกแห่งหนึ่ง ดังมีข้อมูลจากหนังสือเล่มเดิม หน้า 5-6 ความว่า

“ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ดลพระราชหฤทัยเกิดความสัมพันธ์กับสถานที่สำคัญแห่งวัดทุ่งพระเมรุนี้
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักไทยแท้ขึ้น
พระราชทานนามว่าสวนนันทอุทยาน[4]
เมื่อ พ.ศ.2462 ได้เสด็จพระราชดำเนิน
ออกไปประทับแรม
ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยาน เป็นเวลาถึงเดือนเศษ

หลังจากเสด็จมาครั้งนั้นผ่านไปถึง 20 ปี กรมศิลปากรได้ลงมือขุดค้นกันขึ้น[5]
สำหรับตัวพระตำหนักของเดิม ถ้าทิ้งไว้ในที่รกร้างห่างไกลชุมนุมชนเช่นนั้น
ย่อมจะชำรุดทรุดโทรมไปโดยเร็ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน[6]
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาสร้างในพระราชวังดุสิต
ที่ริมอ่างหยก อันเป็นที่สร้างเมืองดุสิตธานีของรัชกาลที่ 6 มาในอดีต”

หนังสือเล่มเดิมนี้ ยังกล่าวถึงพระตำหนักบังกะโล และพระตำหนักสวนนันทอุทยาน
ภายใต้ เรื่อง ซื้อที่ทำพระราชวังสนามจันทร์ หน้า 31-32 ความว่า

ซื้อที่ทำพระราชวังสนามจันทร์
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยในเมืองนครปฐมเป็นอย่างมาก
ดังที่ทรงไว้ในลายพระราชหัตถเลขา เรื่องการแก้ไขวิหารหลวง ตอนหนึ่งว่า

“ในรัชกาลที่ 5 ฉันได้ออกไปพักอยู่ที่เมืองนครปฐมบ่อย ๆ จึงได้ไฝ่ใจในองค์พระนั้นมากแต่นั้นมา”

พระองค์จึงทรงแสวงหาที่ดินส่วนพระองค์สำหรับใช้เป็นที่ประทับ
เจ้าคุณนเรนทราชาได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อเสด็จออกไปประทับที่เมืองนครปฐม
เมื่อตอนที่ยังไม่ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ ก็จะประทับที่พระตำหนักบังกะโล
สร้างอยู่ตรงมุมถนนขวาพระใกล้กับสถานีตำรวจ (ตำหนักหลังนี้ได้รื้อลงแล้ว)

โปรดการทรงม้าพระที่นั่งสำรวจตามท้องที่เป็นอย่างมาก
บางครั้งก็เสด็จไปที่ตำบลวัดทุ่งพระเมรุ
จนถึงกับให้สร้างพระตำหนักทรงไทยขึ้น
พระราชทานชื่อว่า “สวนนันทอุทธยาน
[7] และส่วนใหญ่โปรดเสด็จไปที่บริเวณพระราชวังสนามจันทร์
ในตอนนั้นมีชาวบ้านทำไร่พืชล้มลุก เช่น สับปะรด กล้วย ฯลฯ บางตอนก็เป็นทุ่งหญ้ารก ๆ
บางตอนเป็นดงไม้ไผ่ป่า ต้องเสียเวลาถากถางมากกว่าจะเป็นพระราชวังขึ้นมาได้…”

โฉนดที่ดิน เลขที่ 500
การสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพระตำหนักสวนนันทอุทยาน ในเบื้องต้นผู้เขียนทราบเพียงว่ามีพระตำหนัก
อีกแห่งหนึ่งที่นครปฐมชื่อ สวนนันทอุทยาน อยู่บริเวณ ต. วัดทุ่งพระเมรุ ระหว่างที่ค้นหาข้อมูลอยู่นั้น
ระลึกขึ้นได้ว่ามีเพื่อนซึ่งเปิดร้านค้าอยู่บริเวณใกล้ ๆ โบราณสถานทุ่งพระเมรุ จึงสอบถามเรื่องโฉนดที่ดิน
เมื่อ 26 มิถุนายน 2561 ว่ามีโฉนด หรือ หลักฐานอื่น ๆ ที่ระบุคำว่า “สวนอนัน”
ปรากฎในโฉนดบ้างหรือไม่ ด้วยระลึกได้ว่าบริเวณใกล้เคียงนั้นมีสถานนวดแห่งหนึ่ง
ใช้ชื่อว่า “สวนอนันต์ ” ซึ่งประเด็นนี้คุณอานนท์ ศิริชัย ได้ให้ข้อมูลว่า เจ้าของคือคุณสวง
ได้ตั้งชื่อนี้มาแต่เดิม และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าพื้นที่ชุมชนสวนอนันต์กินบริเวณข้ามแยกไฟแดง
ไปถึงฝั่งโรงแรม 99 มีซอยชื่อสวนอนันต์ เป็นซอยแรกด้านขวามือเมื่อข้ามฝั่งจากโบราณสถานทุ่งพระเมรุ

ภายหลังการพูดคุยคุณอานนท์ได้สืบพบข้อมูลเมื่อ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 เป็นโฉนดที่ดินแปลงหนึ่ง
นับว่าใกล้โบราณสถานทุ่งพระเมรุมาก เพียงมีทางหลวงหมายเลข 4 หรือ ถนนเลี่ยงเมืองเพชรเกษม
มาคั่นให้แยกจากกันคนละฝากถนน ความน่าสนใจอย่างยิ่งของโฉนดแปลงนี้ คือ
ชื่อผู้ซื้อ ระบุว่าเป็นที่ดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อไว้
จากคนในบังคับสยาม 4 พี่น้อง ซึ่งรับมรดกจากพระซึ่งมรณภาพ

รายละเอียด คือ โฉนดที่ดิน เลขที่ 500 เล่ม 5 หน้า 100 อ.พระปฐม จ.นครไชยศรี
เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 17  7/10 ตารางวา ออกให้ ณ วันที่ 20 สิงหาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449)
และมีการจดทะเบียนรับมรดก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2457 จากมะโสซึ่งมรณภาพ
โดยมะเย็มพี่มะโอ่มะแอ้กมะโล่น้อง สัญชาติบังคับสยาม อยู่บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 8 ถ.บ้านวัดโย[8]
ต.ห้วยจระเข้ อ.พระปฐม จ.นครไชยศรี ในวันที่จดทะเบียนรับมรดก ทายาททั้ง 4 ได้ขายทั้งแปลง
ให้แก่ผู้รับสัญญา คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตแล้ว 20 ปี มีการโอนมรดกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2488 ให้แก่ผู้รับสัญญา
คือ พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เปิ้ล พึ่งบุญ)[9] และ 19 ปี ถัดมาในวันที่ 23 มิถุนายน 2507
มีการขายทั้งแปลง ให้แก่ผู้รับสัญญา คือ นายเสรี จีรพันธ์ 3 ปีถัดมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2510
ได้แบ่งโฉนดเป็นแปลงย่อยในนามเดิม จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 7 7/10 ตารางวา
จนถึงปัจจุบันที่ดินแปลงย่อยนี้ได้มีการเปลี่ยนมืออีก 2 ครั้ง

ถนนเลี่ยงเมือง…เหรียญ 2 ด้านแห่งความเจริญ
เมื่อพบข้อมูลดังกล่าว ผู้เขียนจึงตั้งข้อสันนิษฐานความเป็นไปได้ของที่ตั้งพระตำหนักสวนอนัน
ด้วยหากลบภาพถนนที่เพิ่งตัดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้าง
ทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-นครชัยศรี-ราชบุรี พ.ศ.2513 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม 87 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2518 ที่ดินเลขที่ 500 จำนวน 21 ไร่เศษนี้
อาจครอบคลุมบริเวณ 2 ฝากฝั่งถนน ซึ่งถูกถนนเลี่ยงเมืองเพชรเกษมตัดผ่าน
แบ่งที่ดินให้ขาดจากกันเป็น 2 ฝั่ง โดยที่ดินแปลงนี้อาจอยู่เคียงกับบริเวณโบราณสถานทุ่งพระเมรุ
จึงมีผู้ตั้งชื่อกิจการส่วนบุคคลเป็นอนุสรณ์ไว้ แต่อย่างไรก็มิอาจด่วนสรุป
ด้วยยังไม่สามารถหาหลักฐานอื่น ๆ ที่จะนำมาอ้างอิงได้เพียงพอ
ผู้เขียนจึงจำพักเรื่องพระตำหนักสวนอนันไว้ชั่วคราวในเวลานั้น

ค้นเรื่องโฆษณา…พาสู่เรื่องราวพระตำหนักสวนนันทอุทยาน
ปัจจุบันขณะเมื่อผู้เขียนกำลังหาข้อมูลเรื่องการนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ไปประกอบโฆษณา
ยากฤษณากลั่น ทำให้ได้พบข้อมูลเรื่องพระตำหนักสวนนันทอุทยานเพิ่มเติม ดังเกริ่นไว้ในบทความของผู้เขียน
เรื่อง กระดาษเก่า…เล่าอะไร ตอนที่ 2 ข้อมูลที่พบเกี่ยวกับพระตำหนัก ปรากฏอยู่ในหนังสือของ ม.ล.ปิ่นฯ 2 เล่ม
คือ การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2461 และพระราชวังสนามได้จันทร์ และหนังสือชื่อเดิมเล่มถัดมา พ.ศ. 2462

โดยหนังสือเล่ม พ.ศ. 2461 มีกล่าวถึงพระตำหนักสวนนันทอุทยานเพียงเล็กน้อย ปรากฏในหน้า 3
โดยกล่าวถึงการแปรพระราชฐานมาที่นครปฐม เพื่อซ้อมรบเสือป่า และทรงพระราชภารกิจอื่น ๆ ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ครั้งนี้ถึงห้าสัปดาห์
ทรงพระสำราญมาก นอกจากการซ้อมรบเสือป่าแล้วก็เสด็จประพาสโดยรถยนต์บ้าง
เช่น เสด็จไปที่พระประโทน และที่สวนนันทอุทยาน
ทรงกรรเชียงบ้าง มีการซ้อมและแสดงละครพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง…”

ส่วนหนังสือเล่ม พ.ศ. 2462 ซึ่งพบข้อมูลเรื่องภาพที่ บ. เต็กเฮงหยู นำไปโฆษณายากฤษณากลั่น
มีรายละเอียดพระราชกิจและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ พระตำหนักสวนนันทอุทยาน
ตลอดจนทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “แมลงป่องทอง” ที่ตำหนักแห่งนี้ ปรากฎในหน้า 10-19

เนื้อความกล่าวโดยสรุป คือ ทรงประทับแปรพระราชฐานอยู่ ณ พระตำหนักซึ่งเป็นเรือนไม้แบบไทย
นานเป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม พ.ศ. 2462 มีการจัดงานขึ้นพระตำหนัก
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ขณะที่ทรงประทับอยู่มีพระราชกิจรายวัน คือ กลางวันทรงพระอักษร
เย็นเสด็จลงสนามทรงเล่นกีฬากับกับข้าราชบริพารบ้าง ทอดพระเนตรผู้อื่นเล่นกีฬาบ้าง ดังความหน้า 10-11
กล่าวถึง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ประทับที่พระที่นั่งวัชรีรมยา 1 คืน แล้วแปรพระราชฐานไปประทับที่
พระตำหนักสวนนันทอุทยานเป็นเวลา 1 เดือน เสด็จกลับ พระราชวังสนามจันทร์ 21 มีนาคม

พระราชกิจ ณ พระตำหนักสวนนันทอุทยาน
หนังสือการซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2462 และพระราชวังสนามจันทร์ ม.ล.ปิ่นฯ ได้บรรยายถึงพระราชกิจรายวัน
ของรัชกาลที่ 6 ตลอดจนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทรงประทับแรม
ณ พระตำหนักแห่งนี้ไว้โดยละเอียด ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากค่ายหลวงโพธาราม เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์
โดยรถไฟพระที่นั่ง เสด็จลงที่สถานีสนามจันทร์ ขึ้นรถยนต์พระที่นั่งมาเทียบหน้าพระที่นั่งพิมานปฐม
ในพระราชวังสนามจันทร์ แต่ที่ประทับในวันนี้ คือ พระที่นั่งวัชรีรมยา ประทับอยู่ที่นี่เพียงคืนเดียว
แล้วก็แปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานเป็นเวลาหนึ่งเดือน

ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก
ขณะที่ประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานครั้งนี้ พระตำหนักหลังนี้เป็นเรือนไม้แบบไทย
ขณะนี้[10]ได้รื้อย้ายไปไว้ที่หลังพระที่นั่งอุดรในพระราชวังดุสิต เรียกว่า “เรือนต้น” [11]
ห้องของข้าพเจ้าอยู่ติดกับห้องเสวยมีประตูเข้าออกอยู่ทางด้านห้องเสวยเท่านั้น
จึงมีความลำบากอยู่ในข้อที่ว่าเข้าออกไม่ได้ขณะที่ประทับอยู่ที่โต๊ะเสวย
ต้องระมัดระวังในเรื่องการเข้าออกอยู่เช่นนี้หนึ่งเดือน เพราะไม่ประสงค์จะใช้หน้าต่างแทนประตู”

พระราชกิจประจำวันขณะที่ประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยาน คือ
เวลากลางวันทรงพระอักษร เวลาเย็นเสด็จลงที่สนามทรงเล่นกีฬา หรือทอดพระเนตรการเล่นกีฬา
ตอนกลางคืนทรงเล่นรำคลำโบ และทอดพระเนตรรำคลำโบ
มีพระราชกิจอย่างอื่น ๆ มาแทรกเป็นครั้งคราว
วันที่ ๒๑ มีนาคม จึงได้เสด็จกลับพระราชวังสนามจันทร์”

ขณะประทับที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานทรงพระราชกิจประจำวันต่าง ๆ
ยามกลางคืนทรงพักผ่อนด้วยการเล่น และทอดพระเนตรการเล่นรำคลำโบนั้น
ข้อมูลซึ่ง ม.ล.ปิ่นฯ บรรยายทำให้ทราบว่าชาวบ้านได้เข้ามาร่วมดูด้วย ดังความหน้า 13

“…คำว่า “วัว” นั้น เล่นเรื่องการแทงวัวในสเปน เมื่อนักแทงวัวออกมาแสดงครู่หนึ่งแล้ว
ชาวบ้านที่นั่งดูอยู่ ลุกขึ้นมาอาสาว่าจะสู้กับวัวโดยไม่ใช้อาวุธใด ๆ เลย…”

นอกจากเรื่องชาวบ้านที่เข้ามาชมการเล่นและอาสาสู้วัวแล้ว ยังปรากฏมีขโมยชื่ออ้ายผิวเข้ามาลักเสื้อผ้า
มหาดเล็กข้าราชบริพารหลายวันติดต่อจนถูกจับตัวได้ เมื่อทรงทราบความทรงโปรดเกล้าฯ
ให้ลงพระราชอาญา แล้วปล่อยตัวไป และในระหว่างที่ทรงประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้
ยังมีพระราชกิจพิเศษหลายประการ ดังความหน้า 15-19 กล่าวว่า

“อยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยาน วันหนึ่งข้าพเจ้าตื่นขึ้น
เห็นผู้ชายคนหนึ่งถูกมัดติดอยู่กับต้นมะพร้าว มีห่อผ้าห่อใหญ่วางอยู่ใกล้ ๆ บนพื้นดิน
ชายคนนี้ คือ “อ้ายผิว” อาชีพขโมย ถูกจับมัดไว้ตั้งแต่ก่อนสว่าง …
“อ้ายผิว” อุกอาจยิ่งนักมาขโมยถึงในพระราชฐาน ขโมยได้ของไปแล้วยังกลับมาขโมยใหม่อีก …
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลงพระราชอาญา โบย 30 ที แล้วปล่อยตัวไป
ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานคราวนี้
มีพระราชกิจพิเศษหลายอย่างดังนี้

วันที่ 24 กุมภาพันธ์
พระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีแก่นักเรียน แล้วมีพระบรมราโชวาท

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีงานขึ้นพระตำหนัก[12]
ตอนกลางวันเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนายทหารและนายเสือป่ายิงเป้า[13]

ทราบว่าพระยาเทพอรชุน และพระยาศักดาพิเดชวรฤทธิ์ยิงดีมาก
ขากลับเสด็จพระราชดำเนินไปยังเรือนจำ ทอดพระเนตรการกินอยู่ของนักโทษ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ๆ ให้ปล่อยนักโทษ 3 คน …
ตอนกลางคืน พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่นายเสือป่า
แล้วมีภาพยนตร์เรื่องสวนสนามเสือป่า
และทหารอาสาสวนสนามที่กรุงปารีส เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1

วันที่ 11 มีนาคม
เสด็จพระราชดำเนินพระราชวังสนามจันทร์ตอนเย็น
เพื่อให้คณะนายทหารเรือญี่ปุ่นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานเลี้ยงน้ำชา

วันที่ 14 มีนาคม
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พาโอรสทั้ง 4 มากราบถวายบังคมลาไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ท่านที่อ่านบันทึกนี้ อาจสงสัยว่าเหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยาน นานนัก และได้ทรงทำอะไรอีกบ้าง
นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าตอบได้ทันทีว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงหนังสือราชการที่ราชเลขาธิการ นำทูลเกล้าฯ ถวายเป็นปกติ
เมื่อเสร็จแล้วมีเวลาว่างก็มิได้เคยทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์
พระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครหลายเรื่อง
และในครั้งนี้ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “แมลงป่องทอง”…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานเดือนหนึ่ง
แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาที่พระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม
ประทับที่พระที่นั่งวัชรีรมยาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ
ให้ทันงานพระราชพิธีเถลิงศกขึ้นปีใหม่…”

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงแปรพระราชฐาน ณ ตำหนักสวนนันทอุทยานเป็นเวลานาน
โดยทรงหนังสือราชการที่ทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงพระราชนิพนธ์ตามปกติในพระราชกิจรายวัน
แม้พระตำหนักแห่งนี้จะมีบริเวณคับแคบกว่าพระราชวังสนามจันทร์มาก แต่ก็ทรงโปรด
ที่จะประทับ “เรือนต้น” ที่นี่ แต่สำหรับข้าราชบริพารนั้นเรื่องน้ำใช้ดูจะไม่สะดวกนัก
ดังความที่ ม.ล.ปิ่นฯ บรรยายในหน้า 19-20 กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ หลายคนดีใจที่เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังพระราชวังสนามจันทร์
เพราะอยู่ที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานมีความลำบากส่วนตัวอยู่บ้าง เช่น
ในเรื่อง อาหาร การอาบน้ำ และห้องทำงาน มักจะต้องกลับมาอาบน้ำที่พระราชวังสนามจันทร์บ่อย ๆ
เสื้อผ้าข้าวของส่วนใหญ่ก็เก็บไว้ที่ห้อง ณ พระราชวังสนามจันทร์
คือ ห้องในเรือนหลังสีเทา หลังพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์…

…พระราชวังสนามจันทร์มีบริเวณสนามกว้างขวางกว่าที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานมาก
ฉะนั้น จึงมีกีฬาหลายอย่าง เวลาเย็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จลงที่สนามหน้าพระที่นั่งพิมานปฐม เป็นปกติ
ด้านหลังพระที่นั่งเป็นสนามว่าว มีคนเล่นกันมาก เพราะลมแรงดี…

วัดทุ่งพระเมรุที่สวนนันทอุทยาน…เดิมเป็นเนินเขา
ข้อมูลจากหนังสือการซ้อมรบเสือป่าฯ ของ ม.ล.ปิ่นฯ ทั้ง 2 เล่มนี้ ให้ข้อมูลชัดเจนว่า
พระตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม แต่ก็ไม่สามารถระบุถึงตำแหน่ง
และอาณาบริเวณที่ชัดเจน ผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมพบหนังสือชื่อ มีอะไรในอดีต (เมื่อ 60 ปีก่อน)
หนังสือเล่มนี้ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2523 หากนับเวลาถอยไป 60 ปี จะอยู่ราว พ.ศ.2463 ซึ่งอยู่ในช่วงรัชสมัย
รัชกาลที่ 6 หนังสือเล่มนี้ผู้เขียน คือ ม.ล.ปิ่นฯ ใช้นามแฝงว่า ประติสมิต อันเป็นนามแฝงที่ได้รับพระราชทาน
จากรัชกาลที่ 6 โดยในคำนำของหนังสือ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“บังเอิญเมื่อ 60 ปีก่อน ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ใกล้เบื้องพระยุคลบาท
และได้จดเรื่องราวไว้มากมาย หลักฐานที่ข้าพเจ้านำมาแสดง จึงควรถูกต้อง”

ในประเด็นการจดบันทึกของ ม.ล.ปิ่นฯ นี้ ข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะทำงานจัดทำและ
ปรับปรุงทะเบียนสิ่งของในห้องอนุสรณ์ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล โดยรับผิดชอบดำเนินการ
ในส่วนกลุ่มเอกสารลายลักษณ์ของท่าน พบข้อมูลเอกสารเป็นที่ประจักษ์ว่า ม.ล. ปิ่นฯ
ท่านเป็นผู้ที่มีความละเอียดถี่ถ้วน ในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ
แต่ด้วยจำนวนเอกสารในภาระงานดังกล่าวนั้นมีไม่น้อย และยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ
เมื่อพบสิ่งใดที่เห็นว่าน่าสนใจจึงได้นำมาเล่าสู่เป็นระยะ ๆ บ้างแล้ว

หนังสือมีอะไรในอดีตฯ ที่กล่าวถึงนี้ เป็นเหตุการณ์รายวัน พ.ศ. 2462 ปรากฏความที่เกี่ยวข้องกับ
พระตำหนักสวนนันทอุทยาน ในหน้า 74-77 โดย ม.ล.ปิ่นฯ บันทึกเหตุการณ์หลังเสร็จการซ้อมรบใหญ่
ของเสือป่าและทหารแล้ว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จฯ รถไฟพระที่นั่งกลับจากค่ายที่โพธารามมายัง
พระราชวังสนามจันทร์ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตอนเย็นได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรสวนนันทอุทยาน
รุ่งขึ้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ จึงเสด็จฯ ไปประทับแรมที่พระตำหนักสวนนันทอุทยาน
พระราชกิจรายวันบรรยายคล้ายกับข้อมูลในหนังสือการซ้อมรบเสือป่าฯ ที่ได้กล่าวแล้ว
แต่ที่น่าสนใจ คือ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ มีรายละเอียดกล่าวถึง

“ตอนเย็นเสด็จประพาสเนินเขาในบริเวณสวนนันทอุทยาน”

คำว่าเนินเขานี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าหมายถึงโบราณสถานทุ่งพระเมรุ ซึ่งขณะนั้นยังมิได้ขุดแต่ง
และคงถูกปกคลุมด้วยดินตลอดจนต้นไม้ต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ชาวนครปฐม เรียกโบราณสถานวัดพระงาม
ในบริเวณวัดพระงามจังหวัดนครปฐม ซึ่งเดิมก่อนที่กรมศิลปากรจะขุดแต่งครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2562
ได้ถูกปกคลุมในลักษณะเดียวกันนี้ ชาวนครปฐมบางส่วนจึงเรียกบริเวณนี้ว่า เขาพระงาม
เพราะความเข้าใจตามลักษณะกายภาพที่เห็นนั่นเอง

การขุดค้นเนินเขาบริเวณสวนนันทอุทยาน
เหตุที่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เนินเขา ดังคำกล่าวของ ม.ล.ปิ่นฯ ในบริเวณสวนนันทอุทยาน
เป็นโบราณสถานทุ่งพระเมรุนี้ ด้วยโบราณสถานแห่งนี้เพิ่งมีการขุดแต่งเมื่อปลาย พ.ศ.2481 – ต้น พ.ศ.2482
หลังจากสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว 13 ปี โดยกรมศิลปากร ร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ
(École française d’ Extrême-Orient) ดังมีความกล่าวไว้ในหนังสือ พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี
โดย ธนิต อยู่โพธิ์ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2510 หน้า 5-6 กล่าวถึงการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้
เมื่อเปิดดินที่ปกคลุมออกหมดได้ปรากฎเป็นโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่ออิฐ มีสถูปใหญ่อยู่กลาง
และมีเจดีย์บริวารล้อมสถูป และให้รายละเอียดข้อมูลการขุดพบและสถานที่พบพระพุทธรูปศิลาขาว
โดยกล่าวถึงสวนนันทอุทยาน ในหน้า 3 ความว่า

“…เดิมมีพระเจดีย์โบราณองค์หนึ่ง อยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์
อยู่ในบริเวณสวนนันทอุทยานของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ก่อนว่า ‘พระเมรุ’
องค์พระเจดีย์รูปร่างอย่างไรรู้ไม่ได้ด้วยหักพังเสียหมดแล้ว
รู้ได้แต่ว่ามีพระพุทธรูปศิลาเช่นว่าตั้งไว้ที่มุขพระเจดีย์นั้นด้านละองค์…”

และในหน้า 4 ความว่า

“ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา) ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์
ซึ่งเวลานั้นว่างเจ้าอาวาส กุฎิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกันกับ ‘สามเณรบุญ’
(ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระพุทธวิถีนายก
ตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์
ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงชาวบ้านตำบลพระปฐม ไปขนอิฐที่วัดทุ่งพระเมรุ
(ครั้นมาในรัชกาลที่ 6 พระราชทานนาม วัดทุ่งพระเมรุ ใหม่ว่า สวนนันทอุทยาน)
เพื่อมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ในบริเวณพระปฐมเจดีย์ ได้เห็นจอมปลวกขนาดใหญ่
ตั้งอยู่ในโบราณสถานที่นั้น และได้เห็นพระเกตุมาลาโผล่ที่ยอดจอมปลวก
จึงช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออก ปรากฎเป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่
มีรอยต่อเป็นท่อนๆ จึงถอดตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์นี้
เมื่อ พ.ศ. 2404 (ปลายรัชกาลที่ 4) ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครองราชสมบัติ 7 ปี นับถึง พ.ศ.ปัจจุบันนี้ได้ 93 ปี [14]

เรื่องเนินเขาบริเวณสวนนันทอุทยานนี้ มีบทความอีกแหล่งที่กล่าวถึง คือ
หนังสือเรื่อง นครปฐมศึกษาในเอกสารฝรั่งเศส : รวมบทความแปล
ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ได้จัดทำพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2552 โดยบทความ เรื่อง การก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับที่ตั้งเมืองนครปฐม
ของ ฌ็อง บวสเซอลิเยร์
แปลโดย เพ็ญศิริ เจริญพจน์ หน้า 171-200 มีการกล่าวถึงในหน้า 199 ว่า

“วัดพระเมรุ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงดัดแปลงให้เป็นสวนหลวง และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างเป็นสวนที่ประทับเรียกว่านันทอุทยาน
ที่วัดพระเมรุแห่งนี้ก่อนปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) ยังคงเห็นเนินสูง
มีฐานก่อด้วยอิฐโบราณสร้างซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น ประมาณสิบปีต่อมา

หลังจากนั้นเมื่อปิแยร์ ดูปงต์ ทำการขุดแต่งในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482)
ปิแยร์ ดูปงต์ ได้สังเกดเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก…”

สวนนันทอุทยาน…แนวเขตฝึกซ้อมยุทธวิธีทหารและเสือป่า
ข้อมูลที่พบจากเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวในข้างต้น ล้วนเป็นหลักฐานที่บ่งถึงการมีอยู่ของ
สวนนันทอุทยาน แต่หากจะกล่าวไปยังไม่มีชิ้นใดเป็นเอกสารราชการ นอกจากโฉนดที่ดินแบ่งแยกฉบับเดียว
ที่ทราบเพียงบริเวณของที่ดินตามโฉนดนั้น ซึ่งผู้เขียนยังมิอาจด่วนสรุปว่าคือสวนนันทอุทยาน
จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสือป่าซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้
เมื่อสืบค้นราชกิจจานุเบกษา พบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง คือ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเขตบริเวณที่ทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีทหารแลเสือป่า
ในเล่ม 35 หน้า 96 วันที 28 เมษายน 2461 เรื่อง การกำหนดแนวเขตในส่วนของจังหวัดนครปฐม
ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ที่เกี่ยวข้องกับบริเวณสวนนันทอุทยาน คือ แนวเขตส่วนหนึ่ง
ที่ใช้ทำการฝึกซ้อมกำหนดจากบริเวณสามแยกมุมรั้วสวนนันทอุทยานทางตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า

“จังหวัดนครปฐม
ทิศเหนือ-ตั้งแต่หลักหมายเลข 1 ทางเกวียนสามแยกบ้านลำพยาตัดตรงไปทางตะวันออก
ถึงหลักหมายเลข 2 ถนนยิงเป้า หลักหมายเลข 3 ถนนบางแขม
แลต่อไปถึงหลักหมายเลข 4 ทางเกวียน
สามแยกมุมรั้วสวนนันทอุทยานทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลห้วยจรเข้

ทิศตะวันออก-ตั้งแต่หลักหมายเลข 4 ทางเกวียนสามแยก
มุมรั้วสวนนันทอุทยานทางตะวันออกเฉียงเหนือไป ตามทางเกวียน
ถึงกลับหมายเลข 5 สามแยกปากคลองบางเตย ตำบลห้วยจรเข้

ทิศใต้ ตั้งแต่หลักหมายเลข 5 สามแยกปากคลองบางเตยเลียบไปตามลำคลองบางแขมฝั่งเหนือ
ถึงหลักหมายเลข 6 สามแยกวัดบางแขม ตำบลบางแขม…”

ข้อมูลการสร้างพระตำหนักสวนนันทอุทยานจากพยานบุคคล
เรื่องราวอันเนื่องด้วยพระตำหนักสวนนันทอุทยาน ซึ่งสืบค้นจากแหล่งต่าง ๆ นั้น ดูเหมือนจะยังไม่สมบูรณ์
กระทั่งได้พบความกระจ่างถึงตัวผู้ลงมือสร้างพระตำหนัก จากเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ
เรื่อง พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับภูมิภาคตะวันตกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ.2527
โดยเอกสารดังกล่าวมีบทความ 2 เรื่อง ที่กล่าวถึงพระตำหนักแห่งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

บทความแรก เรื่อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับงานโบราณคดีในมณฑลนครชัยศรี
โดย ชูสิริ จามรมาน ได้กล่าวถึงความสนพระทัยในปูชนียวัตถุในเมืองนครปฐมและทรงโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างสิ่งต่าง ๆ ดังความจากหน้า 3- 4 กล่าวว่า

“อนึ่งด้วยพระองค์ทรงเตรียมการทางการทหารเพื่อป้องกันประเทศจากอริราชศัตรู
จึงมิทรงทำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่ตัดถนนจากธนบุรีมานครปฐม
แต่เนื่องด้วยพระองค์ทรงสนพระทัยในปูชนียวัตถุในเขตเมืองนครปฐม
อันมีประวัติเก่าแก่ย้อนหลังไปตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกแห่งแคว้นมคธในอินเดียมาก
พระองค์จึงโปรดให้ตัดถนนจากหน้าองค์ปฐมเจดีย์ตรงไปผ่านหน้าวัดพระประโทน
และพระราชทานชื่อถนนว่า “ถนนเทศา”
… และทรงซื้อที่ดินสร้างพระราชวังสนามจันทร์แปดร้อยกว่าไร่…
ในปี พ.ศ. 2461 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักสวนนันทอุทยาน[15]
เป็นแบบไทยแท้ไว้เพื่อเสด็จไปประทับแรม พระตำหนักนี้อยู่ทางด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
ใกล้ ๆ กันมีเนินดิน ซึ่งต่อมาประมาณ 20 ปี[16] ทางกรมศิลปากร ได้ขุดแต่ง
พบโบราณสถานเก่าแก่เป็นฐานเจดีย์มีทางขึ้นทั้งสี่ทิศ
และเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปศิลาขาว 4 องค์ เป็นโบราณวัตถุรุ่นเก่ามาก[17]
เพราะมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาที่นั่งห้อยพระบาท
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี
การที่พระองค์ทรงสร้างพระตำหนักใกล้บริเวณสถานที่สำคัญเช่นนี้
อาจจะเป็นเพราะทรงมีพระราชประสงค์จะทำการศึกษาคันคว้าวิจัยเกี่ยวกับปูชนียวัตถุแห่งนี้
แต่ยังทรงมีพระราชภาระกิจมากมายจึงยังมิได้ทรงดำเนินการต่อไปแต่อย่างใด…”

บทความที่สอง เรื่อง โบราณสถานและศิลปวัตถุในนครปฐมที่สูญไปแล้ว และที่กำลังจะสูญไป
โดย  ชูสิริ จามรมาน หน้า 8 – 11 ในส่วนที่กล่าวถึงสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับการบูรณะพระปฐมเจดีย์
และการประทับแรมที่นครปฐมของรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีข้อมูลด้านเอกสารน้อยและคลาดเคลื่อนไปบ้าง
อ.ชูสิริ จึงสืบหาผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชสมัยและได้สัมภาษณ์บุคคล 3 ท่าน คือ
อ.ขวัญเมือง กษิตินนท์ อายุ 70 ปี ข้าราชการบำนาญ บุตรของพระพุทธเกษตรานุรักษ์
ผู้ซึ่งเป็นพะทำมะรง[18]เรือนจำ และเป็นผู้สร้างพระตำหนักนันทอุทยาน
ท่านที่ 2 นายขำ พุ่มพฤกษา อายุ 90 ปี อดีตหัวหน้าบัลลังก์ศาลนครปฐม
รับราชการในช่วงรัชสมัย ขณะสัมภาษณ์ความจำและสุขภาพยังดีมาก
และท่านสุดท้าย อดีตผู้ใหญ่บ้านฮั้ง แสงจันทร์ อายุ 74 ปี เกิดและอาศัยในละแวกวัดทุ่งพระเมรุ
เคยได้ดูการซ้อมละครและโขนของรัชกาลที่ 6 ที่พระตำหนักแห่งนี้แห่งเดียว
ไม่เคยชมที่พระราชวังสนามจันทร์

คำบอกเล่าของบุคคลทั้ง 3 คล้ายคลึงกัน ต่างเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
อ.ชูสิริ สรุปประเด็นเกี่ยวกับพระตำหนักแห่งนี้ว่า เป็นพระตำหนักเรือนต้น ในครั้งนั้นบริเวณ-
วัดทุ่งพระเมรุใช้ชื่อว่า ตำบลนันทอุทยาน ปัจจุบันใช้ว่า ตำบลสวนอนันต์ ไม่มีข้อมูลศักราชที่สร้างชัดเจน
แต่สร้างขึ้นในระยะหลังของรัชสมัย ขณะเมื่อเสด็จไปฝึกซ้อมรบเสือป่าที่บ้านโป่ง
ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี คือ พระยามหินทรเดชานุวัตร หาช่างฝีมือ
สร้างเรือนต้น เป็นเรือนหมู่ ที่สวนนันทอุทยานให้แล้วเสร็จใน 22 วัน

พระยามหินทรฯ ได้ขอให้หลวงพุทธเกษตรานุรักษ์ ซึ่งเคยเป็นพะทำมะรงช่วยหานักโทษฝีมือดี
เบิกตัวมาช่วย โดยหลวงพุทธฯ ได้แสดงฝีมือกลึงเสาเอกอย่างงดงาม ฝีมือการสร้างเรือนก็ประณีตบรรจง
และเสร็จทันตามกำหนด เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงพุทธฯ
เป็นพระพุทธเกษตรานุรักษ์ ในวันฉลองพระตำหนัก นอกจากพระตำหนักแห่งนี้ หลวงพุทธฯ ยังเป็นผู้สร้าง
พระตำหนักสวนราชฤดี ที่ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี ตั้งอยู่บริเวณที่ปัจจุบัน
คือ วัดทรงธรรมกัลยาณี เยื้องกับวัดพระประโทนเจดีย์ ซึ่งเดิมบริเวณนี้คือบริเวณปลายถนนเทศา
ที่ตัดตรงจากพระปฐมเจดีย์[19] เชื่อมต่อกับถนนราชดำเนินในเมืองซึ่งเชื่อมกับถนนราชมรรคา
ที่มุ่งไปสู่สวนนันทอุทยาน บทความนี้ได้กล่าวถึงบริเวณโดยรอบพระตำหนักซึ่งเป็นหมู่เรือนไทยว่า
มีคูน้ำ คนละฝั่งสระมีโรงครัวขนาดใหญ่ มีที่พักข้าราชบริพาร เมื่อฉลองพระตำหนักแล้ว
ทรงโปรดประทับที่นี่มากกว่าพระราชวังสนามจันทร์ ทรงออกว่าราชการ
ประทับทรงงาน และฝึกซ้อมโขนละครเป็นครั้งคราว

ข้อสันนิษฐานพื้นที่…พระตำหนักสวนนันทอุทยาน
พระตำหนักสวนนันทอุทยานที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของชาวนครปฐมมานาน
คาดเดาว่าอาจจะนานมากกว่าช่วงอายุของผู้เขียนซึ่งมากกว่า 50 ปี และหากไม่ใช่คนในละแวก
วัดทุ่งพระเมรุแต่เดิม หรือโบราณสถานทุ่งพระเมรุในปัจจุบัน หรือผู้ที่อาจพอมีบรรพบุรุษทันยุคสมัยเล่าสู่ให้ฟัง
เชื่อว่าคนนครปฐมส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงการมีอยู่ของพระตำหนักแห่งนี้
ซึ่งหากจะประมาณอายุโดยนับจากงานขี้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462
ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2565 พระตำหนักแห่งนี้มีอายุราว 103 ปีแล้ว
และในปัจจุบันก็ไม่มีร่องรอยใดคงอยู่ให้เป็นที่หมายรู้ได้ถึงอาณาบริเวณ

ทั้งนี้ ด้วยความบังเอิญหรือเหตุใดไม่อาจกล่าว เมื่อผู้เขียนเล่าสู่เรื่องพระตำหนักแห่งนี้
รวมทั้งเรื่องโฉนดที่ดินที่ได้พบ กับคุณกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งท่านเป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิดได้ทราบ
ท่านเกิดความสนใจและได้อนุเคราะห์ประสานการติดต่อให้ผู้เขียนได้เข้าพบ
เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมซึ่งท่านได้กรุณาตรวจสอบข้อมูล
และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกับโฉนดที่ดิน เลขที่ 500 นี้
และกรุณาอย่างยิ่งในการอนุเคราะห์ให้ทำสำเนารูปแปลงที่ดิน ดังภาพ

โฉนดที่ดิน เลขที่ 500 ส่วนที่ผู้เขียนพบนั้นมีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 7 7/10 ตารางวา เป็นเพียงส่วนหนึ่ง
ของโฉนดฉบับเดิม ที่ออกในพระนามรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเนื้อที่ จำนวน 21 ไร่ 2 งาน 17 7/10 ตารางวา
โดยพระตำหนักตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถานทุ่งพระเมรุซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

ดังข้อมูลจากคำบอกเล่าของ ม.ล. ปิ่น ที่กล่าวว่าในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462
ระหว่างที่รัชกาลที่ 6 ประทับอยู่สวนนันทอุทยานว่า ตอนเย็นเสด็จประพาสเนินเขาในบริเวณสวนนันทอุทยาน
และข้อมูลจากบทความของ อ.ชูสิริ ซึ่งกล่าวว่า พระตำหนักนี้อยู่ทางด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์
ใกล้ ๆ กันมีเนินดิน ซึ่งต่อมาประมาณ 20 ปี ทางกรมศิลปากร ได้ขุดแต่งพบโบราณสถานเก่าแก่
ซึ่งตรงกับหลักฐานการขุดแต่งโบราณสถานทุ่งพระเมรุ ซึง ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือ
พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี  ว่า เดิมมีพระเจดีย์โบราณองค์หนึ่ง อยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์
อยู่ในบริเวณสวนนันทอุทยานของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ก่อนว่า ‘พระเมรุ’

คำว่าเนินเขา หรือ เนินดิน ในที่นี้จึงหมายถึงโบราณสถานทุ่งพระเมรุซึ่งขณะนั้นยังมิได้ขุดแต่งนั่นเอง

ทั้งนี้ โฉนดที่ดินแปลงที่ผู้เขียนพบนั้น ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับ
โบราณสถานทุ่งพระเมรุ จึงสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ 21 ไร่เศษ ของที่ดินตามโฉนด เลขที่ 500
ในครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งถนนเพชรเกษม
โดยหากจินตนาการภาพทางเกวียนสามแยกมุมรั้วสวนนันทอุทยานทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ตามประกาศกำหนดเขตบริเวณที่ทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีทหารแลเสือป่า พ.ศ. 2461 มาแทนที่
ภาพถนนเลี่ยงมือสายเพชรเกษมซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกา
กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-นครชัยศรี-ราชบุรี พ.ศ. 2513
เราก็จะเห็นภาพพื้นที่พระตำหนักสวนนันทอุทยานในครั้งอดีตได้ไม่ยากนัก

…………………………….

[1] การปรับแก้บันไดใหญ่พนักนาค และการแก้ไขวิหารหลวง  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ หน้า 83-95

[2] การตัดถนนเทศา  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ กำเนิดพระราชวังสนามจันทร์ และพระปฐมเจดีย์
พระมหาธีรราชเจ้า กับ ดอนเจดีย์ อนุสรณ์ของเสือป่าและลูกเสือ
หน้า 10-11

[3] พระตำหนักราชฤดี  รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสร้างให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี
ในพุทธศักราช 2464 บริเวณริมถนนเพชรเกษมตรงข้ามวัดพระประโทน จังหวัดนครปฐม พบหลักฐานโฉนดที่ดิน
ปรากฎพระนามเจ้าของโฉนด คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งในเวลาต่อมามีการจัดสรรแบ่งขาย โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2560
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ นายนิยม ปานปรีชา ซึ่งเป็นบุคคลท่านหนึ่งที่ซื้อที่ดินไว้จึงทราบข้อมูล

[4] สวนนันทอุทยาน นี้ ชื่ออาจจะพ้องคล้ายกับ พระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นบริเวณสวนในคลองมอญฝั่งเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐

[5] กรมศิลปากรขุดค้น หมายถึง การขุดแต่งโบราณสถานทุ่งพระเมรุ โดยกรมศิลปากร ร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ
(École française d’ Extrême-Orient) เมื่อปลาย พ.ศ.2481 – ต้น พ.ศ.2482

[6] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน หมายถึง รัชกาลที่ 9
[7] สวนนันทอุทธยาน คำสะกดตามต้นฉบับ
[8] ชื่อ บ้านวัดโย ผู้เขียนมีข้อสันนิษฐาน 2 ประการ ประการแรก คือ อาจมีความคลาดเคลื่อนกับคำว่า วัดโพธิ์ ด้วยละแวกใกล้เคียงนั้น
มีวัดโพธิ์ร้าง ซึ่งเคยพบจารึกภาษามอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12 และปัจจุบันยังมีชื่อถนนสายรองบริเวณสามแยก
บจก .อีซูซุตั้งเซียฮวดนครปฐม (ศูนย์การค้าตั้งเซียฮวด) ซึ่งเชื่อมต่อมายังซอยยิงเป้าใต้เก้า มาออกด้านข้าง บิ๊กซี นครปฐม
ใช้ชื่อ ถนนวัดโพธิ์ ประการที่สอง คือ โฉนดที่ดินฉบับที่นำมาอ้างอิงเป็นฉบับคัดลอก อาจมีความคลาดเคลื่อนในการคัดลอกคำ
ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานการเขียนคำว่าโพธิ์ ตามต้นฉบับโฉนดดั้งเดิม อาจใช้ว่า “โพ”  ซึ่งมีความหมายตาม พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หน้า 805 คือ โพ ความหมายที่  1 ซึ่งเป็นคำนาม คือ ชื่อไม้ต้นชนิด Ficus religiosa L.
ในวงศ์ Moraceae เป็นต้น ไม้ซึ่งเป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ใบรูปหัวใจ ปลายยาวคล้ายหาง ผลกินได้ ใบอ่อนและผลใช้ทำยาได้,
โพศรีมหาโพธิ ก็เรียก. ส่วนคำว่า โพธิ หรือ โพธิ์ ตามพจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ เป็นคำนาม หมายถึง ความตรัสรู้;
ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ. (ป., ส.) ทั้งนี้ โฉนดดังกล่าว พบความคลาดเคลื่อน
ลักษณะใกล้เคียง คือชื่อ พระยารามราฆพ (เปิ้ล พึ่งบุญ) ขณะที่นามเดิมของท่าน คือ เฟื้อ พึ่งบุญ อย่างไรก็ตามหาก บ้านวัดโย
เป็นชื่อที่ถูกต้อง ก็นับเป็นชื่อสถานที่ที่น่าสืบค้นหาหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง (ปรับปรุงคำอธิบาย บ้านวัดโย เมื่อ 9 สิงหาคม 2566)

[9] ม.ล. เปิ้ล พึ่งบุญ  สันนิษฐานว่า อาจมีความคลาดเคลื่อนในการสะกดชื่อ ที่ถูกคือ ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ 
[10] ปีที่พิมพ์หนังสือ การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2462 และพระราชวังสนามได้จันทร์ คือ พ.ศ.2511
[11] เรือนต้น ของรัชกาลที่ 6 ซึ่ง ม.ล. ปิ่น ฯ กล่าวว่าได้รื้อย้ายจากสวนนันทอุทยานไปไว้ที่หลังพระที่นั่งอุดร
ในพระราชวังดุสิตนี้ เป็นคนละแห่งกับ พระตำหนักเรือนต้น ในพระราชวังดุสิต ของรัชกาลที่ 5

[12] งานขึ้นพระตำหนัก ผู้เขียนยังไม่พบเอกสารอื่นใดที่กล่าวถึง งานขึ้นพระตำหนัก
โดยเบื้องต้นค้นหาราชกิจจานุเบกษายังไม่พบข้อมูล

[13] นายเสือป่ายิงเป้า เรื่องยิงเป้าของเสือป่านี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชื่อถนนยิงเป้า
และคำว่า “ยิงเป้า” นี้ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และบอกเล่ากันในเวลาต่อมาถึงบริเวณต่าง ๆ
ที่เนื่องด้วยคำนี้ว่าเป็นเขตแดนประหารก็เป็นได้

[14] ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติ 7 ปี นับถึง พ.ศ.ปัจจุบันนี้ได้ 93 ปี
หมายถึง นับแต่ พ.ศ.2404-2497 ที่อัญเชิญพระศิลาขาวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถสมัย ร.4

[15] พระตำหนักสวนนันทอุทยาน นี้ ต้นฉบับบทความมีเชิงอรรถขยายความว่า พระตำหนักของเดิม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ๆ ให้ย้ายมาสร้างในพระราชวังดุสิต

[16] โบราณสถานทุ่งพระเมรุ มีการขุดแต่งเมื่อปลาย พ.ศ.2481 – ต้น พ.ศ.2482 หลังจากสิ้นสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว 13 ปี
[17] ต้นฉบับมีเชิงอรรถขยายความว่า โบราณสถานแห่งนี้เรียกกันว่าวัดทุ่งพระเมรุ ปัจจุบันนี้ถูกทอดทิ้งผุพังไปแล้ว
เนื่องจากการตัดถนนไปเชื่อมกับทางหลวงสายใหม่นอกเมือง ซึ่งหมายถึงถนนเลี่ยงเมืองเพชรเกษมนั่นเอง

[18] พะทำมะรง  เป็นคำนาม หมายถึงผู้ควบคุมนักโทษ คำนี้เดิมมีการสะกดคำต่าง ๆ กัน ต้นฉบับบทความใช้ว่า
พทำมรงค์ ในที่นี้ใช้คำตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 777

[19] ถนนเทศา เดิมตัดตรงจากพระปฐมเจดีย์มาสิ้นสุดบริเวณพระตำหนักสวนราชฤดี ทั้งนี้ในภาพปัจจุบัน
ต้องจินตนาการโดยลบภาพ อาคารร้างของ บริษัท จินดามอเตอร์ ออก และข้อมูลถนนเส้นนี้ตรงกับการสัมภาษณ์
นายนิยม ปานปรีชา ซึ่งเป็นบุคคลผู้หนึ่งที่ซื้อที่ดินจัดสรรบริเวณพระตำหนักสวนราชฤดีไว้

……………………………
บรรณานุกรม
โฉนดที่ดิน เลขที่ 500 เล่ม 5 หน้า 100
. (ร.ศ. 125, สิงหาคม 20 ). อ.พระปฐม , จ.นครไชยศรี.
ธนิต อยู่โพธิ์. (2510). พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวารวดี. พระนคร: กรมศิลปากร.
บวสเซอลิเยร์, ฌ็อง. (2552). การก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับที่ตั้งเมืองนครปฐม.
ใน L. H. กรรณิกา จรรย์แสง (Ed.), นครปฐมศึกษาในเอกสารฝรั่งเศส:
รวมบทความแปล (เพ็ญศิริ เจริญพจน์, ผู้แปล, pp. 171-200).
นครปฐม: ศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้า
วิจัยฝรั่งเศส-ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดเขตบริเวณที่ทำการฝึกซ้อมยุทธวิธีทหารแลเสือป่า.
(2461, เมษายน 28 ). ราชกิจจานุเบกษา, 35, p. 96.
ประติสมิธ, นามแฝง. (2523). มีอะไรในอดีตเมื่อ (เมื่อ 60 ปีก่อน). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเขษม.
ปิ่น มาลากุล, ม.ล. (2511). การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2461 และพระราชวังสนามจันทร์. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.
…… (2511). การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2462 และพระราชวังสนามจันทร์. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.
พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-นครชัยศรี-ราชบุรี พ.ศ. 2513.
(2518, ธันวาคม 29). ราชกิจจานุเบกษา, 87(120).

อานนท์ ศิริชัย. (2561, มิถุนายน 26). โฉนดที่ดิน เลขที่ 500. (นฤมล บุญญานิตย์, ผู้สัมภาษณ์)
อมรดรุณารักษ์, จมื่น. (2511). กำเนิดพระราชวังสนามจันทร์ และพระปฐมเจดีย์ พระมหาธีรราชเจ้ากับดอนเจดีย์
อนุสรณ์ของเสือป่าและลูกเสือ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *