พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ พระนามแรกตั้ง คือ พระร่วงธรรมสามีอินทราทิตย์ฯ


ทัศนียภาพวิหารด้านทิศเหนือซึ่งประดิษฐานพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ฯ
มองจากสถานีรถไฟนครปฐมผ่านสะพานเจริญศรัทธา

วิหารทิศด้านทิศเหนือ ก่อนปรับแปลงเป็นวิหารพระร่วงฯ
พี่น้องชาวนครปฐมและทุกๆ ท่าน ทราบหรือไม่ว่า วิหารทิศด้านทิศเหนือ คือวิหารพระร่วงฯ ของพระปฐมเจดีย์ ด้านที่ตรงมาจากสถานีรถไฟนครปฐมนั้น เดิมทีนั้นเป็นวิหารปิดเช่นเดียวกับวิหารทิศด้านอื่นๆ อีกสามด้าน มิได้มีลักษณะเป็นวิหารโถงเปิดโล่งดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์แห่งนี้ขึ้นนั้น ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วิหารทิศ” เป็นสิ่งปลูกสร้างใหม่ขึ้น ไล่เรียงจากด้านทิศตะวันออก คือ พระวิหารหลวง ด้านทิศใต้ คือ พระวิหารปัญจวัคคีย์ ด้านทิศตะวันตก คือ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และด้านทิศเหนือ คือ วิหารพระประสูติ

 
สมัยรัชกาลที่ ๔ วิหารด้านทิศเหนือเป็นวิหารปิดประดิษฐานพระประสูติ (ภาพซ้าย)
ปัจจุบันพระประสูติประดิษฐานในวิหารด้านทิศเหนือ ห้องกลาง (ภาพกลาง)
และพระปางป่าเลไลยก์ ประดิษฐานในห้องหลังสุด (ภาพขวา)

ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อการคมนาคมทางรถไฟซึ่งเริ่มมีขึ้นนับแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้พัฒนาขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นโดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เพชรบุรี และเปิดให้เดินรถเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๖ (รศ.๑๒๒) โดยเส้นทางเริ่มต้นจากปากคลองบางกอกน้อยถึงเพชรบุรีผ่านนครปฐมทางด้านทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดถนน และสร้างสะพานไม้จากสถานีรถไฟนครปฐม ตรงมายังบันไดหน้าวิหารพระประสูติ ต่อมาเมื่อการเดินทางโดยรถไฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยลำดับ วิหารทางด้านทิศเหนือนี้จึงเพิ่มความสำคัญขึ้นไปโดยปริยาย

   
เมื่อทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เพชรบุรี ผ่านนครปฐมทางด้านทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์
มีการตัดถนนจากสถานีรถไฟนครปฐม และสร้างสะพานไม้ เพื่อข้ามคลองเจดีย์บูชาซึ่งขุดเพิ่มเติมภายหลัง
ใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักตรงมายังพระปฐมเจดีย์ ด้านวิหารพระประสูติ

ทัศนียภาพอันสง่างามแห่งพระมหาเจดีย์ต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน
เมื่อการคมนาคมทางรถไฟนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ส่งให้วิหารทางด้านทิศเหนือกลายสถานะเป็นทิศทางสัญจรหลัก
ในการมาเยือนพระปฐมเจดีย์แทนที่วิหารทางทิศตะวันออกซึ่งเคยเป็นทิศหลักมาแต่เดิม จึงได้มีการปรับปรุงทัศนียภาพ
ส่วนต่างๆ เพิ่มความสง่างามให้แก่พระมหาเจดีย์ยิ่งขึ้น กล่าวคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างบันไดนาคทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติ โดยสร้างเป็น ๒ ชั้น เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่โอ่โถงรับกับสถานีรถไฟ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙

 
สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าให้สร้างบันไดใหญ่พนักนาค
ทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติด้านทิศเหนือ ภายหลังจากมีทางรถไฟตัดผ่านนครปฐม
ภาพซ้ายบันไดพนักนาคเดิมซึ่งนาคจะต่างจากปัจจุบัน
ภาพขวาสันนิษฐานว่า พระบรมวงศานุวงษ์และข้าราชบริพารแต่งกายไว้ทุกข์ เสด็จฯ นมัสการ ภายหลังสิ้นรัชกาลที่ ๕

ในเวลาต่อมา รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธรูปเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ มาประดิษฐาน ณ มหาเจดีย์แห่งนี้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิหารพระประสูติด้านทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์เป็นวิหารโถงโล่งๆ ดังมีเอกสารหลักฐาน คือ หนังสือโต้ตอบกรมศิลปากร ที่ ๔/๘๘๙ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๖ จากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อธิบดีกรมศิลปากร กราบบังคมทูล รัชกาลที่ ๖ เรื่อง การแก้ไขวิหารพระประสูติ กล่าวถึง การขอรับพระราชทานเงินเพื่อแก้ไขวิหารพระประสูติ เป็นวิหารสำหรับประดิษฐานพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ฯ รวมทั้งแก้บันไดใหญ่พนักนาคทางขึ้นหน้าวิหารพระประสูติ ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถทรงสร้างไว้เดิม โดยระบุวันเวลาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๗

สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการปรับเปลี่ยนวิหารพระประสูติเป็นวิหารโถงเปิดโล่ง
ประดิษฐานพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ รวมทั้งปรับแก้บันไดใหญ่พนักนาคอีกครั้งดังที่เห็นในปัจจุบัน (ภาพบน) และทรงสร้างสะพานเจริญศรัทธาเป็นคอนกรีตเสริมแรงขึ้นแทนสะพานไม้เดิม ในพระราชพิธีเปิดสะพานมีการประดับประดาและสร้างซุ้มประตูจำลองเช่นเดียวกับที่สาญจี อินเดีย (ภาพกลาง-ล่าง)

สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิหารพระประสูติ คือ การรื้อพระวิหารเก่าตั้งแต่มุขด้านนอกถึงห้องประธาน ๑ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีพื้น ปั้นลายช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน บัวปลายเสา คอสอง และช่องคูหา ทาสีผนังหลังพระ เพดานทาสีปิดทองลายฉลุ แก้ช่องหน้าต่างเก่าเป็นประตู มีทางเดินเข้าทั้ง ๒ ประตู หล่อฐานที่ตั้งพระพุทธรูปด้วยแฟโรคอนกรีต* ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วลงรักปิดทองประดับกระจก และแก้บันไดใหญ่พนักนาคเป็นแฟโรคอนกรีต รื้อของเก่าปูหินอ่อนฝรั่งทั้ง ๒ ชั้น ทำชานพักและพนัก ๒ ข้าง หล่อแฟโรคอนกรีตลูกมะหวด ราวพนักหล่อซีเมนต์ปั้นเป็นตัวนาคมีหัวและหางตามแบบที่ออกใหม่

(*แฟโรคอนกรีต (ferro concrete หรือ reinforced concrete) หรือ คอนกรีตเสริมแรง  ในภาษาไทย คือ คอนกรีตที่มีการเพิ่มสมรรถภาพการรับน้ำหนัก โดยใช้วัสดุอื่นมาช่วย เช่น เหล็ก หรือ ไฟเบอร์ บางครั้งอาจใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ เพื่อเพิ่มความสามารถที่ขาดไปของคอนกรีต คือ ความเปราะ คอนกรีตเสริมแรงนิยมเรียกว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เนื่องจากเหล็กเป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในการเสริมแรง)

พระนามแรกตั้งของ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ฯ
การแก้ไขวิหารพระประสูติตลอดจนการปรับทัศนียภาพให้แก่วิหารทิศด้านทิศเหนือในครั้งหลังนี้ ก็เพื่อเป็นวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักฐานหนังสือราชการเป็นเอกสารจดหมายเหตุ ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในกลุ่มเอกสารกระทรวงศึกษาธิการ รัชกาลที่ ๖ เป็นหนังสือโต้ตอบของกรมศิลปากร ที่ ๔/๘๘๙ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ อธิบดีกรมศิลปากร กราบบังคมทูล รัชกาลที่ ๖ เรื่อง การแก้ไขวิหารพระประสูติ เป็นวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยเนื้อหาในเอกสารดังกล่าวได้ออกนาม พระพุทธรูปนั้นว่า “พระร่วงธรรมสามีอินทราทิตย์กิติอุดม สถิตย์ปฐมเจติยสถาน วชิระราชสมภารปูชนีย์บพิตร์”

พระร่วงธรรมสามีอินทราทิตย์กิติอุดม สถิตย์ปฐมเจติยสถาน วชิระราชสมภารปูชนีย์บพิตร์
พระนามแรกตั้งของพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
จากหนังสือโต้ตอบของกรมศิลปากร ที่ ๔/๘๘๙ ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ 

พระนามดังกล่าว นับเป็นการกล่าวถึงนามของพระพุทธรูปที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้น ก่อนที่จะทรงมี “ประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ ถวายพระนามพระพุทธปฏิมา ที่พระวิหารด้านอุดรแห่งองค์พระปฐมเจดีย์” โดยระหว่างที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงคำนึงขึ้นได้ว่า ยังมิได้สถาปนาพระนามให้พระพุทธรูปที่ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น จึงได้มีประกาศลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ถวายพระนามพระพุทธรูปนั้นว่า “พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนิยบพิตร์” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๖

ใจความสำคัญตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา กล่าวถึง พระพุทธรูปอันประดิษฐานที่พระวิหารทิศเหนือแห่งพระปฐมเจดีย์ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธรูปโบราณอันมีพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยแต่ชำรุดมาก คงเหลือแต่พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปยืนห้ามญาติ ลงมาจากเมืองศรีสัชนาลัยราชธานีโบราณ และให้ปฏิสังขรณ์บริบูรณ์เต็มพระองค์ขึ้นใหม่ มีขนาดสูงแต่พระบาทถึงพระเกศ ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาประดิษฐานยังวิหารทิศเหนือ ที่พระปฐมเจดีย์ โดยออกจากกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ และเจ้าพนักงานได้จัดการตกแต่งประกอบตั้งจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๘ ทั้งนี้ ในปัจจุบันทางวัดพระปฐมเจดีย์ ได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันฉลองวันคล้ายวันเกิดพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ฯ เป็นประจำทุกปี
   
ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๖๖
เรื่อง “ประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ ถวายพระนามพระพุทธปฏิมา ที่พระวิหารด้านอุดรแห่งองค์พระปฐมเจดีย์”

การบรรจุพระอังคาร รัชกาลที่ ๖ ในฐานพระร่วงโรจน์ฤทธิ์
ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระปฐมเจดีย์ เป็นพุทธบูชาตามประเพณีเช่นรัชกาลก่อนๆ  อีกทั้งทรงระลึกถึงพระราชดำรัสซึ่งรัชกาลที่ ๖ พระราชทานไว้ในพระราชพินัยกรรม ให้แบ่งพระอังคารธาตุแห่งพระองค์ เชิญไปบรรจุไว้ในฐานพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ที่ทรงปฏิสังขรณ์และเชิญมาประดิษฐานในวิหารทิศเหนือ ณ พระปฐมเจดีย์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอังคารรัชกาลที่ ๖ จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลงเรือยนตร์พระที่นั่ง ณ ท่าราชวรดิต์ และเชิญขึ้นประดิษฐานบนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมทั้งขบวนเสด็จของรัชกาลที่ ๗ ติดตามด้วยข้าราชบริพาร และพระบรมวงศานุวงษ์ ณ สถานีบางกอกน้อย  เสด็จพระราชดำเนิน เวลา ๑๕.๐๕ น. มายังจังหวัดนครปฐม ถึงสถานีสนามจันทร์ในเวลา ๑๖.๓๕ น. แล้วจึงเชิญพระอังคารรัชกาลที่ ๖ ขึ้นรถยนตร์พระที่นั่ง พร้อมขบวนเสด็จของรัชกาลที่ ๗ จากสถานีสนามจันทร์ไปยังพระปฐมเจดีย์ ด้านวิหารทิศเหนือ โดยมีกองเสือป่ารับเสด็จ และแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้นจึงเชิญพระอังคารเข้าประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในพระวิหารพระร่วงโรจน์ฤทธิ์ตอนใน เมื่อประกอบพิธีสงฆ์แล้วเสร็จจึงเชิญพระอังคารสู่ยังผนังที่บรรจุในฐานพระร่วงโรจน์ฤทธิ์

ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรรจุพระอังคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จออกประทับเสวยเครื่องว่างที่ชาลาข้างพระปฐมเจดีย์ด้านตะวันออก แล้วจึงเสด็จในพระวิหารหลวง ทรงประเคนผ้าไตร ย่าม แก่พระสงฆ์ที่จะเจริญพระพุทธมนตร์ ๒๐ รูป เมื่อเสร็จพระราชพิธีสงฆ์แล้ว จึงเสด็จออกประทับเกยทิศตะวันออก พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินี ให้ข้าราชการและประชาชนได้เข้าเฝ้า จากนั้นทรงจุดเทียนชนวนพระราชทานให้ชาวที่ไปจุดดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชาแล้วจึงเสด็จประทับรถไฟพระที่นั่งพิเศษเสด็จพระราชดำเนินกลับจากสถานีนครปฐม เวลา ๑๘.๓๕ น. ถึงสถานีบางกอกน้อยเวลา ๒๐.๐๐ น.

ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๖๙
เรื่อง การสมโภชพระปฐมเจดีย์ และบรรจุพระอังคารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


—————————-

เอกสารอ้างอิง
การสมโภชพระปฐมเจดีย์ และบรรจุพระอังคารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  (๒๔๖๙, ๑๒ กันยายน).  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่ม ๔๓.  หน้า ๒๒๖๕ – ๒๒๗๒.
ประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการถวายพระนามพระพุทธปฏิมาที่พระวิหารด้านอุดรแห่งองค์พระปฐมเจดีย์.  (๒๔๖๖,  ๑๔ ตุลาคม).  ราชกิจจานุเบกษา.  เล่ม ๔๐.  หน้า ๒๑๗๗ – ๒๑๗๙.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ รัชกาลที่ ๖ร.๖ ศ. ๙.๑/๘๐(พ) เรื่อง ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ และวัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม.
ภาพถ่าย
สืบสกุล ศรัณพฤฒิ (๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑).  สะพานเจริญศรัทธา. [ภาพดิจิทัล].  ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/siamoldphoto.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  วิหารทิศ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม.  ๖๙๖๕๖-กจช(ส) ๒๑๒๘.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม.  ภ.๐๐๒ หวญ.๓๕/๓๘.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  รัชกาลที่ ๖ เสด็จนครปฐม.  หจช.๔๔๐-๑๔๙๗๓.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *