ความหมายและที่มาแห่งสังเค็ด
สังเค็ด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุว่าเป็นคำนาม หมายถึง ทานวัตถุ มีตู้พระธรรม โต๊ะหมู่ เป็นต้น ที่เจ้าภาพจัดถวายแก่สงฆ์ หรือ ภิกษุผู้เทศน์ หรือ ชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ เรียกว่า เครื่องสังเค็ด
นอกจากความหมายตามพจนานุกรมแล้ว พบคำอธิบายเรื่องสังเค็ด*ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัติวงศ์ ประทานความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ เป็นจดหมายลายพระหัตถ์ แก่พระยาอนุมานราชธน โดยเรื่องสังเค็ด เป็นจดหมาย ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๘๒ กล่าวถึงเครื่องยอดที่ทรงนึกขึ้นได้ ๓ อย่าง คือ ธรรมาสน์ยอด สังเค็ดยอด และเมรุ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสังเค็ดยอด ทรงอธิบายว่า
“… สังเค็ตยอด คือ สิ่งซึ่งพระขึ้นไปนั่งสวดได้สี่รูป เปนอันเดียวกันกับ เตียงสวด หรือ ร้านสวด ในการศพ เว้นแต่ทำให้ประณีตขึ้น มียอดดุจปราสาทก็มี ไม่มียอดก็มี ก็เรียกกันแต่ว่า สังเค็ต ที่มีคำว่า ยอด เติมเข้าไปด้วย ก็จำเพาะแต่ที่มียอด เปนอย่างเดียวกันกับธรรมาสน์ คำว่า สังเค็ต มาแต่สังคีต และ เครื่องสังเค็ต ซึ่งใช้ในการ ทำบุญศพ ก็เพราะไปเที่ยวยืมเอาสังเค็ตมาใส่ของหามเข้ากระบวนแห่ศพ สิ่งที่เรียกชื่อว่าสังเค็ตนั้น อาจเห็น ตัวอย่างได้ที่พิพิธภัณฑสถาน ที่นั่นมีตั้งอยู่ที่ปัจฉิมาภิมุข การสวด ๔ รูปขึ้นร้าน ขึ้นเตียง ขึ้นสังเค็ตนั้น เปนการ ธรรมดาทีเดียว ไม่ว่างานมงคลหรืองานศพก็ทำเช่นนั้น ที่สวดสิบรูปยี่สิบรูปนั้น โอนเอาการฝึกหัดซักซ้อมที่วัดมาทำ ครั้งพุทธกาลมีแต่เลี้ยงพระ ไม่มีสวดมนต์…”
ต่อมาพระยาอนุมานราชธนได้มีหนังสือกราบทูล ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๘๒ ความว่า
“…ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่องสังเคต** มาให้ข้าพระพุทธเจ้า…กำลังค้นหาที่มาของคำนี้อยู่ เพราะไม่ทราบเกล้าฯ ว่าเป็นอะไรแน่ ถามพระสารประเสริฐก็ว่าไม่มีในภาษาบาลี และก็ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าอะไรเหมือนกัน นอกจากเห็นเรียกสิ่งของที่ทำบุญถวายพระในพิธีศพ พวกเข้ารีตเคยเรียกที่ตั้งศพว่า สังเคต เป็นการกลายความหมายไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้รับพระอธิบาย ก็คงค้นไม่พบคำนี้เป็นแน่..”
คำสังเค็ดนี้มีผู้กล่าวว่า “สังเค็ต มาแต่สังคีต” และภาษิต จิตรภาษา ผู้เขียนบทความ “สังเค็ด” คืออะไร กล่าวว่าใน ทางโบราณคดี สังเค็ด คือ ที่พระนั่งสวดศพ และเมื่อไมเคิ้ล ไรท์ นักวิชาการผู้สันทัดคดีลังกาสอบถามเขาว่า สังเค็ดแปลว่า สวด ได้หรือไม่ เพราะที่ลังกามีที่พระนั่งสวดเช่นกัน เรียกว่า ปริตตมณฑป ใช้นั่งสวดทั้งงานมงคล และงานศพ เขานึกถึงหลักคำ ที่ อิ อี อาจแผลงเป็น เอ คำว่า สังเค็ด จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นได้ที่จะเพี้ยนจาก สังคีต เมื่อเขียนแบบไทยจึงเติมไม้ไต่คู้และสะกดด้วย ด แทน ต
นอกจากนี้ เรื่อง งานพระเมรุ จากหนังสือ พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๙ เรื่อง พระราชประเพณี (ตอน ๑) ของจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ให้ความหมายคำ “สังเค็ดยอด” ว่าเป็นทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ในงานพระบรมศพ มีทั้ง ตู้ โต๊ะ ผ้าไตร จีวร ฯลฯ ใช้รวมกันหลาย ๆ อย่าง จัดไว้เป็นที่
จากข้อมูลข้างต้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สังเค็ด เป็นคำที่ไม่มีในภาษาบาลี แผลงคำมาจาก สังคีต โดยสังเค็ดนั้น เดิมทีใช้เรียกที่สำหรับพระใช้นั่งสวด ๔ รูป บางครั้งทำเป็นยอด เรียกสังเค็ดยอด ส่วนเครื่องสังเค็ดนั้น เป็นการเรียก ข้าวของที่ถวายพระโดยรวม เนื่องจากนำเตียงสังเค็ดสำหรับสวดมาวางของทำบุญศพเพื่อแบกหามเข้าขบวนแห่ศพ ส่วนความหมายคำ “สังเค็ดยอด” ของจมื่นอมรดรุณารักษ์นั้น สันนิษฐานว่าอาจรวมเรียกสังเค็ด หรือ เตียงสวดชนิด ที่มียอดปราสาทซึ่งนำข้าวของสังเค็ดขึ้นจัดไว้ ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงให้คำอธิบาย
การพระบรมศพ ธรรมเนียมที่เปลี่ยนไปในรัชกาลที่ ๖
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง “ประกาศเรื่องการพระเมรุพระบรมศพ” พระพุทธเจ้าหลวง เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๒๙ ลงในพระราชกิจจานุเบกษา โดยอ้างถึงพระราชดำรัสสั่งถึงการพระเมรุฯ ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง สรุปความได้ว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวถึงความสิ้นเปลืองทั้งแรงคนและพระราชทรัพย์ในการปลูกสร้างพระเมรุใหญ่ในรัชกาลก่อน ๆ มา ด้วยทรงเห็นว่าไม่เหมาะแก่ยุคสมัยที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงและไม่เกิดประโยชน์ กลับจะสร้างความเดือดร้อนแก่คนทั้งปวง จึงทรงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่ปลูกแต่ที่เผาพอสมควรในท้องสนามหลวงตามที่เห็นเหมาะสม กับทั้งทรงพระราชดำริ “…มุ่งหมายแต่ในสิ่งซึ่งเป็นถาวรประโยชน์ แลให้เป็นความสุขสำราญแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นยิ่งใหญ่กว่านิยม ในคติที่ถือกันมาว่าเป็นพระเกียรติยศอันหาสารประโยชน์มิได้…”
การพระเมรุครั้งนี้ ทรงดำเนินตามพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ กับทรงโปรดเกล้าฯ ยกเลิกธรรมเนียม โกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร กับทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงยกเลิกการมหรสพต่าง ๆ ดอกไม้เพลิง ไม่มีการตั้งโรงครัวเลี้ยง รวมทั้งเลิกทานต้นกัลปพฤกษ์* เปลี่ยนเป็นพระราชทานของแจก แต่ยังคงมีทานผลกัลปพฤกษ์และฉลากเครื่องกระจาดในส่วนของพิธีสวดทิ้งกระจาดของพระญวนจีน กับทั้งทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรทุกชาติภาษาเข้าถวายบังคมพระบรมศพเดือนละครั้งตามกำหนดเวลา นับเป็นการ เปลี่ยนแบบแผนงานพระเมรุพระบรมศพจากที่เคยทำมาแต่ก่อน จึงทรงให้ประกาศเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงให้ทราบทั่วกัน
ในพระราชพิธีนอกจากจะมีการสวดพระอภิธรรม การแสดงพระธรรมเทศนา การสวดศราทธพรตธรรมบรรยายแล้ว ยังมีพระสงฆ์รามัญนิกายเจริญพระพุทธมนตร์แบบมอญ และมีพรตอนัมและจีนนิกายสวดถวายสังเวย เป็นการสวด แบบพิธีกงเต๊กประกอบด้วยดนตรีแบบมหายาน โดยพิธีสวดกงเต๊กนี้เจ้าสัวฮง หรือ ยี่กอฮง* เป็นผู้จัดหามาถวาย นับแต่เริ่มตั้งพระบรมศพ
สิ่งของอุทิศถวาย ธรรมเนียมในรัชกาลที่ ๖
การจัดงานพระบรมศพและพระศพ ซึ่งมีธรรมเนียมการพระราชทานสิ่งของเป็นการทำบุญอุทิศแก่เจ้านายที่ล่วงลับ สันนิษฐานว่าธรรมเนียมแรกสุดในการออกพระเมรุหลวง อาจเป็นการทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ด้วยคติว่าเงินเปรียบดัง แก้วสารพัดนึกผู้ได้รับนึกอยากได้สิ่งใดก็เป็นดั่งการขอจากต้นกัลปพฤกษ์ นอกจากนี้ในการพระเมรุยังรวมไปถึง ความรื่นเริง คือ การดนตรี และการมหรสพชนิดต่าง ๆ เพื่อถวายพระเกียรติและส่งเจ้านายสู่สรวงสวรรค์ ตลอดจน เป็นการคลายความทุกข์โศกแก่ราษฎร
ส่วนเครื่องสังเค็ดซึ่งเป็นของอุทิศชนิดหนึ่ง แต่เดิมประกอบด้วยสิ่งของต่าง ๆ ตามแต่เห็นเหมาะควรแก่พระสงฆ์ เช่น พัดรอง หรือพัดสังเค็ด ย่าม ธรรมาสน์ ตู้พระธรรม เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง โดยนำมาตบแต่งภายในบริเวณ พระเมรุมาศ หรือ พระเมรุ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องสังเค็ดแบบใหม่ โดยให้มีสังเค็ดเอกชั้นเดียว แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ สำหรับบุคคล สำหรับวัดวาอารามทุกศาสนา และสำหรับทานสถานอื่น ๆ เช่น โรงเรียน และโรงพยาบาล
สังเค็ดในการพระเมรุพระพุทธเจ้าหลวง
ภายหลังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระเมรุประจำวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานของที่ระลึกการพระบรมศพแด่พระบรมวงศานุวงศ์ แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ อัครราชทูต ข้าราชการและเลขานุการสถานทูต กงศุลต่าง ๆ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ กับพระราชทานเครื่องสังเค็ด* แก่สถานที่ต่าง ๆ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ปกครองวัดในศาสนาต่าง ๆ กับผู้จัดการโรงเรียนและ โรงพยาบาลเฝ้า เพื่อรับพระราชทานเครื่องสังเค็ด เป็นราย ๆ เครื่องสังเค็ดที่พระราชทานแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
- สำหรับบุคคล ถวายเครื่องใช้ต่าง ๆ ของสงฆ์เป็นการเฉพาะแต่ละองค์ ได้แก่ พัดรอง ย่าม ผ้ากราบ และพระบรมรูปที่ระลึก
- สำหรับวัดวาอารามทุกศาสนา คือ วัดไทย วัดญวน วัดบาทหลวง สุเหร่าแขก และศาลเจ้ากวางตุ้ง ทรงพระราชทาน กล่าวคือ
- วัดไทย คือ ธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด หนังสือปาติโมกข์พร้อมตู้ เทียนสลักพร้อมตู้ลายทอง
- ศาลเจ้าจีน คือ กระถางธูปทองเหลืองมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร
- มัสยิดในศาสนาอิสลาม คือ โคมไฟติดเพดานทองเหลืองประดับกระจกสี
- โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คือ เชิงเทียนทองเหลือง
- โบสถ์คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ คือ นาฬิกาตั้งพื้น หรือ นาฬิกาปารีส มีพระปรมาภิไธยย่อ จปร
- สถานที่อื่น ๆ เช่น โรงเรียน และโรงพยาบาล ทรงพระราชทานเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น นาฬิกาตั้งพื้น หรือ นาฬิกาปารีส ตู้หนังสือ โต๊ะเรียน ที่มักเรียกกันว่า โต๊ะทอง เป็นโต๊ะไม้สักเดินลายสีทอง มีพระนามาภิไธย ย่อ จปร อยู่ที่โต๊ะและเก้าอี้
กระถางธูปพระปรมาภิไธยย่อ “จปร”
เครื่องสังเค็ดในการพระเมรุครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้จัดทำสิ่งของซึ่งเป็นถาวรประโยชน์ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอดีต ที่เครื่องสังเค็ดมักจะเป็นของใช้เนื่องในพุทธศาสนาโดยมีสิ่งของชนิดใหม่ ที่ทรงจัดทำขึ้นเพื่อพระราชทานให้กับศาสนสถานในต่างศาสนา สาธารณะสถานอื่น ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล อาทิ โคมไฟติดเพดานแก่มัสยิด นาฬิกาตั้งพื้นและเชิงเทียนแก่โบสถ์คริสต์ต่างนิกาย กระถางธูปทองเหลืองแก่ศาลเจ้าจีน โต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน ตู้หนังสือ แก่โรงเรียนต่าง ๆ
การจัดทำกระถางธูปสังเค็ด* ขณะนี้ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานลายลักษณ์ที่จะอ้างอิงแหล่งผลิต จำนวน ตลอดจนสถานที่ที่ได้รับพระราชทานชัดเจน แต่มีข้อมูลจากนักศึกษาประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งซึ่งสนใจศึกษาเรื่องเกี่ยวกับศาลเจ้าจีน และได้ค้นหาเอกสารจดหมายเหตุในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่ากระถางสังเค็ดพระปรมาภิไธย “จปร” นี้มีรูปแบบลักษณะกระถางคล้ายกับที่นิยมทางฝั่งมาลายู ในการค้นคว้าเขาพบข้อมูลที่น่าสนใจจากเอกสารของมหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ซึ่งกราบทูลรายงานรัชกาลที่ ๖ เรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางใต้ในช่วงต้นรัชกาลภายหลังพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต โดยเอกสารนั้นมีการกล่าวถึงเรื่องให้ซินแสพิจารณาคำที่จะจารึกบนกระถางทองเหลืองที่สั่งทำจากปีนัง ด้วยระยะเวลาและเนื้อหาของเอกสารจึงตั้งข้อสันนิษฐานว่ากระถางที่สั่งทำจากปีนังนั้น อาจเป็นกระถางสังเค็ดที่สั่งทำเพื่อการพระเมรุพระพุทธเจ้าหลวงก็เป็นได้
นอกจากนี้ ผู้เขียนพบบทความจากคลังวิชาการในเพจของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เรื่อง ต้นแบบกระถางธูปสังเค็ดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๓ พระราชทาน ให้ข้อมูลว่า กระถางธูปสังเค็ดนี้ รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดสร้างพระราชทานแก่วัดจีนและศาลเจ้าต่าง ๆ ทั้งในพระนครและตามหัวเมือง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยผู้เขียนกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของกระถางธูปที่นำมาเขียนบทความว่า เคลื่อนย้ายมาพร้อมกับโบราณวัตถุอื่น ๆ จากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย เมื่อสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ รองอำมาตย์เอกหลวงวิสูตร์สมบัติ ปลัดกรมเสมียนตรา เป็นผู้ควบคุมดำเนินการ ปัจจุบันกระถางใบดังกล่าวจัดแสดง ณ พระทีนั่งพรหมเมศธาดา หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ลักษณะของกระถางธูป “จปร”
บทความ เรื่อง ต้นแบบกระถางธูปสังเค็ดฯ ดังกล่าว และข้อมูลจาก e-book เรื่อง มรดกศิลป์ศาลเจ้าแม่ม่าโป๋-จังหวัดพังงา รวมทั้งข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งได้ประกาศขึ้นทะเบียนกระถางธูปลำดับที่ ๒๙.๑ ของศาลเจ้าม่าจ้อโป๋ ถ.บริรักษ์บำรุง ต.ท้ายช้าง อ. เมืองพังงา จ.พังงา ข้อมูลจากทั้ง ๓ แหล่ง ให้รายละเอียดลักษณะของกระถางธูป จปร โดยสรุป คือ
รายละเอียด
วัสดุและรูปแบบ ชนิดโลหะผสม (ทองเหลือง) ติดรูปหน้าสิงห์สองข้าง ปากกระถางผายคอคอด ส่วนกลางป่อง
เชิงสูงตั้งตรง ฐานเป็นวงแหวนซ้อนกันสี่ชั้น
ขนาด สูง ๒๒ เซนติเมตร ปากกว้าง ๓๐ เซนติเมตร
รูปแบบศิลปะ ศิลปะจีน สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕
อักษรจารึก
- ส่วนกลาง จารึกเป็นอักษรไทย ประดิษฐ์เลียนแบบตัวอักษรจีน อ่านว่า “จปร” เป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ ปรมราชาธิราช”
คือ รัชกาลที่ ๕ - ด้านบน บริเวณขอบปากของกระถางธูป จารึกข้อความเป็นอักษรจีน
เรียงจากขวาไปซ้ายตามแบบจีนโบราณ คำว่า “護 我 大 行”
แปลตามตัวอักษรว่า ปกปักคุ้มครองรักษา แต่ทั้งนี้การตีความคำนี้ พบว่ามีผู้รู้ตีความให้ความเห็นโดยต่างความหมาย อาทิ ปกปักคุ้มครองผู้ที่มาไหว้สักการะ บ้างว่า คุ้มครองเหล่าข้าปวงประชา บ้างว่า ปกป้องคุ้มครองข้าพเจ้าสู่การเดินทางอันยิ่งใหญ่ (หมายถึง รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเสด็จสวรรคต) - ด้านซ้ายของกระถาง จารึกข้อความเป็นอักษรจีน ในแนวตั้ง คำว่า “皇 暹 叻 丹 那 高 成 查 百 式 拾 玖 殺 旦”
แปลว่า วันเวลาหรือฤกษ์มงคลในปีที่ ๑๒๙ ของราชวงศ์สยามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๔๕๓) - ด้านขวาของกระถาง จารึกข้อความเป็นอักษรจีน ในแนวตั้ง คำว่า “第 六 代 御 贈”
แปลว่า พระราชทานโดย รัชกาลที่ ๖
ศาลเจ้าที่ได้รับพระราชทานกระถางธูป จ.ป.ร. ขณะนี้ผู้เขียนยังไม่พบข้อมูลหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า มีศาลเจ้าใดบ้างที่ได้รับพระราชทานกระถางธูป จ.ป.ร. แต่ได้พบข้อมูลจาก Facebook เพจไหว้พระ ไหว้เจ้า เผยแพร่เมื่อ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ กล่าวเรื่อง กระถางธูปพระราชทาน ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขออนุญาตสรุปบางช่วงตอนมาเล่าสู่ ดังนี้
“…กระถางธูปที่พระราชทานแก่ศาสนสถานของชาวไทยเชื้อสายจีน…จากการสืบค้น และหลักฐานที่ปรากฏ พออนุมานได้ว่า…คงเป็นศาสนสถานหรือศาลเจ้าที่สำคัญอันเกี่ยวข้องกับวิถีหรือขนบของชาวไทยเชื้อสายจีนบนแผ่นดินสยามในช่วงเวลานั้นค่อนข้างมาก เพราะมิใช่ วัดจีนหรือศาลเจ้าจีนทุกแห่งจะได้รับพระราชทาน…อักษรจีนจารึกอยู่บนกระถาง ซึ่งสามารถถอดความแปลความหมายออกมามีเนื้อความที่น่าสนใจยิ่ง…ครั้งนี้จึงขออนุญาตถอดความตามสติปัญญาของลูกหลานชาวไทยแต้จิ๋วที่มีความรู้เพียงเล็กน้อย แต่ได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่ที่เมตตาไขความกระจ่างให้ในหลากหลายตัวอักษร หากการถอดความครั้งนี้มีข้อผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้รู้แจ้งได้โปรดตักเตือน และไขให้แจ้งด้วยจิตที่เมตตาด้วยเถิด…การถอดความดังกล่าว…ใช้เสียงแต้จิ๋วอันคุ้นเคยของผู้เขียน…
…อักษรที่โดดเด่นที่สุด…อยู่กึ่งกลางกระถางนั้น ปรากฏอักษร จปร. …ทำเป็นแบบที่เรียกว่าลาย ยี่ยาว* ซึ่งประดิษฐ์เลียนลายอักษรจีนแบบโบราณที่เรียกว่าอักษรจ้วนซู อันเป็นที่นิยมในการสั่งเขียนเป็นลวดลายบนเครื่องลายครามที่สั่งจากประเทศจีนมาใช้ในราชสำนักและหมู่ชนชั้นสูงในขณะนั้น
เหนือลายพระนาม จปร. ปรากฏอักษรจีนสี่ตัวเขียนจากขวาไปซ้ายตามรูปแบบการเขียนอักษรจีนแบบโบราณ ดังนี้
護 หู 我 อั้ว 大 ไต่ 行 เห็ง
อักษร 護 หู นั้น มีความหมายในเชิงปกป้อง คุ้มครอง
我 อั้ว ข้าพเจ้า หรือความหมายในเชิง ของเรา
大 行 ไต่เห็ง มีสองความหมายที่น่าสนใจ
ความหมายแรก มาจากคำว่า 大 行 皇 帝 ไต่เห็งอ่วงตี่ (ออกเสียงแบบแปะอ่วย) หมายถึง องค์จักรพรรดิที่ล่วงไปแล้ว ซึ่งมักใช้ในกรณีที่จักรพรรดิองค์นั้น ๆ เพิ่งเสด็จสวรรคต ยังมิได้จัดการพระบรมศพแล้วเสร็จ ฉะนั้น คำนี้ในความหมายแบบไทย อาจหมายถึง พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
ส่วนความหมายที่สองของ 大 行 นั้น อ้างอิงในพุทธศาสนาแบบจีน หมายถึง การบำเพ็ญบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ ฉะนั้นในที่นี้ 護 我 大 行 หูอั้วไต่เห็ง น่าจะมีความหมายถึงขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงปกป้องพระเจ้าแผ่นดินของเราซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว (…หมายถึง ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕)
ด้านขวาของอักษร จปร ปรากฏอักษรจีนเขียนเป็นแถวเดี่ยวจากบนลงล่าง ดังนี้
皇 暹 叻 丹 那 高 成 壹 百 貳 拾 玖 年 穀 旦 ขออนุญาตถอดความดังนี้
皇 暹 อ๊วง (แปะอ่วย) หรือ ฮ้วง เซี้ยม(สยาม) จะหมายถึง ราชอาณาจักรสยาม
叻 丹 那 高 成 หลักตาน่ากอเซ้ง เป็น คำเลียนเสียงของ รัตนโกสินทร์
壹 百 貳 拾 玖 คือเลขอักษรแบบจีน เจ็กแปะหยี่จับเก้า หมายถึง ๑๒๙
年 นี้ คือ ปี หรือ ศก
穀 旦 ก๊กตั่ง เป็นคำโบราณ แปลว่า เวลาที่ดี ฤกษ์งามยามดี เวลามงคล
อักษรแถวนี้ จึงแปลความถึง ปีรัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙ อันเป็นปีในการพระราชพิธีดังกล่าว
ส่วนด้านซ้ายของอักษร จปร ก็ปรากฏอักษรจีนอีกแถว เขียนจากบนลงล่างเช่นกัน ดังนี้
第 六 代 御 贈 โต่ยหลักต่อเกง๋อจั่ง
第 六 代 โต่ยหลักต่อ รุ่นที่ ๖ ในที่นี้จึงควรมีความหมายถึง ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖
御 คำนี้ออกเสียงแบบแต้จิ๋วค่อนข้างยาก ต้องออกเสียงโดยควบ ก กับ ง เข้าด้วยกัน
แล้วขึ้นเสียงนาสิกให้เสียงสูง ในที่นี้ขอใช้ว่า เกง๋อ 御 แปลความ ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชา
贈 จั่ง มอบให้ เมื่อรวมกัน 御贈 เกง๋อจั่ง จึงแปลว่า พระราชทาน
อักษรแถวด้านซ้ายนี้ 第 六 代 御 贈 โต่ยหลักต่อเกง๋อจั่ง
จึงแปลว่า พระราชทานโดยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖
…กระถางธูปพระราชทานดังกล่าวนั้น ในปัจจุบันยังเหลือปรากฎเป็นหลักฐานอยู่ในศาสนสถานที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนเพียงบางแห่ง ซึ่งขออนุญาตยกตัวอย่างเพียงบางสถานที่ เช่น วัดมังกรกมลาวาส (เหล่งเหน่ยหยี่) โรงเจบุญสมาคม (โรงเจตรอกไกร) โรงเจซิงสุ่งตั๊ว (ตลาดเก่าบางเขน) ศาลเจ้าเหล่งบ๋วยเอี๊ย (ตรอกอิสรานุภาพ เจริญกรุง) ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง (จุฬาลงกรณ์) ในต่างจังหวัด เช่น ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ปัตตานี) ศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกง (สายบุรี) ศาลเจ้ามาจ้อโป๋ (พังงา) ศาลเจ้าปุนเถ่ากง (นครปฐม)…”
เพจดังกล่าวเสนอภาพประกอบกระถางธูปที่ประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง สามย่าน กทม โดยศาลเจ้าแห่งนี้ใช้เป็นกระถางประธานที่สำคัญที่สุด เพื่อสักการะบูชาองค์เจ้าแม่ทับทิมหม่าโจ้ว (天 后 聖 母) เทวนารีซึ่งเป็นที่ศรัทธาอย่างยิ่งในกลุ่มชนเชื้อสายจีนมานานนับพันปี
นอกจากนี้พบข้อมูล เรื่อง กระธางธูป “จปร” รัชกาลที่ 6 พระราชทาน…จาก Facebook เพจ Dragonary Sriboonchaichoosakul เผยแพร่เมื่อ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ กล่าวถึงกระถางธูป “จปร” ที่ถวายแด่วัดจีน อารามจีน และศาลเจ้าจีน และกล่าวถึงตัวอย่างสถานที่เช่นเดียวกับเพจ ไหว้พระ ไหว้เจ้า แต่มีศาลเจ้าที่ระบุแตกต่างในส่วนของจังหวัดปัตตานี โดยเพจ Dragonary Sriboonchaichoosakul ระบุว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ส่วนคำภาษาจีนที่แปลนั้น โดยรวมตีความและให้ความหมายตรงกัน แต่มีส่วนที่แตกต่างคือ อักษรจีน ตรงกลาง เหนือลายพระนาม จปร คำว่า 护 我 大 行 เพจนี้ตีความและให้ความหมายว่า คุ้มครองเหล่าข้า ปวงประชา
และยังกล่าวถึงแผ่นป้ายข้อมูลที่ติดไว้ด้านหน้าศาลเจ้าเหล่งบ๋วยเอี๊ย (ตรอกอิสรานุภาพ เจริญกรุง) ซึ่ง ระบุว่า “มีกระถางธูปพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ด้วยกระถางธูป จปร เป็นเครื่องสังเค็ดอันเป็นทานวัตถุ ซึ่งรัชกาลที่ ๖ พระราชทานเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ มิได้เป็นสิ่งของพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕
นอกจากนี้พบข้อมูลของผู้ใช้ Facebook นาม Charlie Lew เรื่อง เครื่องสังเค็ด ซึ่งเผยแพร่เมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๒๐ ให้ข้อมูลและภาพประกอบที่น่าสนใจ โดยนำเสนอภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งมีตู้จัดแสดงเครื่องสังเค็ดบางส่วน คือ กระถางธูป เชิงเทียน พัดยศ ย่าม รวมทั้งภาพกระถางธูปจากศาลเจ้าที่เขาพบบางแห่งประกอบด้วย จากโพสต์ของท่านนี้มีผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ คือ ประเด็นคำแปลอักษร ๔ ตัว บนขอบกระถาง 护我大行 ท่านที่ให้ข้อมูลระบุคำว่า 大行 มิได้แปลว่าประชาชน แต่แปลว่ากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคต โดยอ้างอิงคำแปลจาก ผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ซึ่งท่านแปลว่า “คุ้มครองกษัตริย์ของเราซึ่งสวรรคตไปแล้ว”
ในส่วนของคำ การแปล และการตีความภาษาจีน ผู้เขียนไม่มีความรู้แต่อย่างใดจึงพยายามรวบรวมจากผู้รู้ต่าง ๆ มานำเสนอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ และน้อมรับด้วยความยินดียิ่ง หากท่านใดจะมีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
กระถางธูป “จปร” ที่ นครปฐม
สำหรับศาลเจ้าจีนที่จังหวัดนครปฐมนั้น ได้รับพระราชทานกระถางธูปทองเหลือง จปร ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันอยู่ที่ ศาลปุนเถ่ากง ซึ่งตั้งอยู่ภายใน โรงเจเหงียนเต่าตั๊ว* หรือที่ชาวนครปฐมมักเรียกว่า โรงเจซอย ๒ โรงเจแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ ซอย ๒ ถ.เทศา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม บนพื้นที่กว่า ๒ ไร่ เขตพื้นที่ติดต่อกับที่ทำการไปรษณีย์เมืองนครปฐม มีอายุเก่าแก่ราวกว่า ๑๒๐ ปี เป็นหนึ่งในศูนย์รวมศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นครปฐม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจจะมีทั้งพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนและพี่น้องชาวไทยมาร่วมถือศีลกินเจมากที่สุดแห่งหนึ่ง
ประวัติความเป็นมาของศาลปุนเถ่ากงจากบทความ เรื่อง โรงเจเหงี่ยนเต่าตั๊ว ปุ๋นเท่ากง นครปฐม ระบุว่าเดิมองค์เทพเจ้านี้อยู่ที่เก๋งจีนบนลานชั้นลดด้านทิศตะวันออกของพระปฐมเจดีย์ ท่านได้รับความเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ผู้ที่มาบนบานจะได้รับความสำเร็จ จึงมีการมาอธิษฐานขอพรตลอดเวลาแทบจะทั้งวันทั้งคืนเสียงเกี๊ยะ* ที่เดินหนวกหูคนในตลาดและชาวบ้านที่อยู่รอบองค์พระแทบไม่ได้หลับนอน ผู้ดูแลบ้านเมืองในสมัยนั้นได้รับการร้องเรียน ประจวบเหมาะกับเป็นเวลาที่สร้างโรงเจแห่งนี้ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ คณะกรรมการจึงสร้างศาลขึ้นอีกหลังหนึ่งอยู่ติดกับศาลตั่วเล่าเอี้ย ซึ่งเป็นศาลเจ้าหลักของโรงเจ และอัญเชิญปุนเถ่ากง หรือ ที่คนไทยมักเรียกว่า ศาลตา-ยาย มาประดิษฐานภายในโรงเจมาจนปัจจุบัน และที่ศาลปุนเถ่ากงนี้ เป็นที่ตั้งของกระถางธูปทองเหลือง จปร ซึ่งมีคำจารึกภาษาจีนระบุว่า รัชกาลที่ ๖ พระราชทาน ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)*
ความต่างของกระถางธูป “จปร” เมืองเจดีย์ใหญ่
ผู้เขียนได้ไปเก็บภาพกระถางธูป จปร ที่ศาลปุนเถ่ากง ในโรงเจเหงียนเต่าตั๊ว ที่นครปฐม สังเกตพบว่าบริเวณระดับกึ่งกลางของตัวอักษร จปร ยี่ยาวนั้น มีอักษรจีน เพิ่มขึ้นอีก ๔ ตัว แตกต่างจากกระถางสังเค็ดที่ได้รับพระราชทานแบบเดียวกันในศาลเจ้าแห่งอื่น ๆ
จากการสอบถามผู้รู้ ได้ให้ข้อมูลว่า อักษรทั้ง ๔ อ่านจากขวาไปซ้ายเป็นชื่อองค์เทพเจ้า คือ ปุนเถ่ากงกง การสลักชื่อเทพเจ้าเพิ่มเติมนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมของศาลเจ้าแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่าอาจจะสลักเผื่อไว้ป้องกันการสูญหายในอนาคต ช่วยให้ติดตามได้ง่ายด้วยมีการสลักชื่อองค์เทพเจ้าไว้ หรือ อาจเพื่อป้องกันการสับสนเนื่องจากที่โรงเจแห่งนี้มีศาลเจ้า ๒ หลังอยู่ในบริเวณเดียวกันก็เป็นได้
…
เชิงอรรถ
*คำอธิบายเรื่องสังเค็ด สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัติวงศ์ ประทานความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ เป็นจดหมายลายพระหัตถ์ แก่พระยาอนุมานราชธนขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้า กองศิลปวิทยาการ กรมศิลปากร (พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๖) เมื่อเขามีหนังสือกราบทูลถามเป็นคราว ๆ โดยเรื่องสังเค็ดเป็นจดหมาย ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๘๒ กล่าวถึงเครื่องยอดที่ทรงนึกขึ้นได้ ๓ อย่าง คือ ธรรมาสน์ยอด สังเค็ดยอด และเมรุ
*ทานต้นกัลปพฤกษ์ การทิ้งทานเช่นนี้มีหลักฐานเก่าสุดใน ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ปลายสมัยสุโขทัย แต่เป็นทานเพื่อการบุญมงคลฉลองพระพุทธบาท และสืบทอดธรรมเนียม ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาในงานออกพระเมรุ ล่วงมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากเรื่องทานต้นกัลปพฤกษ์แล้ว รัชกาลที่ ๖ ยังทรงเปลี่ยนธรรมเนียมต่าง ๆ ให้เหมาะแก่ยุคสมัยและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรทุกชาติภาษาเข้าถวายบังคมพระบรมศพเดือนละครั้งตามกำหนดเวลา นับเป็นการเปลี่ยนแบบแผนงานพระเมรุพระบรมศพจากแต่ก่อน และทรงให้ประกาศเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงให้ทราบทั่วกัน กับทั้งมีหมายกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ประกาศ ณ วันที่ ๖ เดือนธันวาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙ (พ.ศ.2453) โดยมีกำหนดการรายวันนับจากวันที่ ๑๓-๒๔ มีนาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๙ อันเป็นวันเชิญพระบรมศพออกบำเพ็ญพระราชกุศล และออกพระเมรุถวายพระเพลิงในวันที่ ๑๖ มีนาคม กระทั่งถึงวันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๓๐ อันเป็นวันบรรจุพระอังคาร ณ วัดเบญจมบพิตร
*เจ้าสัวฮง หรือ ยี่กอฮง ผู้จัดหาพิธีสวดกงเต๊กมาถวายนับแต่เริ่มตั้งพระบรมศพ เป็นนายอากรออกหวย ก.ข. ต่อมาได้รับพระราชทานยศ เป็นรองหัวหมื่น เป็นมหาดเล็กเรือนนอก และได้รับนามสกุลพระราชทาน “เตชะวณิช”
*พระราชทานเครื่องสังเค็ด การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บุคคล คณะบุคคลต่าง ๆ เข้ารับพระราชทาน เครื่องสังเค็ดในการพระเมรุประจำวันเป็นราย ๆ นับแต่วันแรก คือ วันที่ ๑๓ มีนาคม รศ ๑๒๙ (พ.ศ.๒๔๕๓) ซึ่งได้พระราชทานแก่ โรงสวด โรงเรียน และโรงพยาบาลศาสนาคริสตัง วันที่สอง ๑๔ มีนาคม พระราชทานแก่ สุเหร่าอิสลาม วัดพรตญวนจีน วันที่สาม ๑๕ มีนาคม พระราชทานแก่โรงเรียนไทย นี้ ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตจากสิ่งของเครื่องสังเค็ดบางประเภทนั้น มิใช่สิ่งที่จะจัดหามาได้เฉพาะกิจในช่วงระยะเวลาในพระราชพิธี ประกอบกับจำนวนที่จะพระราชทาน สันนิษฐานว่าต้องสั่งทำเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ด้วยลักษณะพิเศษ คือ เครื่องสังเค็ดจะมีพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” และสิ่งของบางชนิดต้องสั่งทำ นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น นาฬิกาตั้งพื้น มีตุ้มถ่วง ซึ่งเรียกกันติดปากตามชื่อเมืองที่ผลิตขึ้นชื่อว่า นาฬิกาปารีส หรือ กระถางธูปทองเหลืองที่สั่งทำจากปีนัง ซึ่งมีกล่าวถึงในเอกสารของมหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) จึงตั้งข้อสังเกตว่าการเข้ารับพระราชทานเครื่องสังเค็ดในช่วงงานพระราชพิธีนั้น อาจจะเป็นการรับเอกสารหรือใบแทนเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นหลักฐานรับเครื่องสังเค็ดจริงที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ และรับในโอกาสต่อไปหรือไม่
*การจัดทำกระถางธูปสังเค็ด นักศึกษาประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งได้ค้นหาเอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับศาลเจ้าจีน ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงเอกสารของมหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ซึ่งทูลรายงานเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมืองรวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงทางใต้ เนื้อหามีการกล่าวถึงเหตุการณ์ทางปีนังอันเนื่องจากการปฏิวัติซินไฮ่ หรือการปฏิวัติจีน ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิง เหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ ภายหลังพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต และได้มีการกราบทูลถึงการให้ซินแสพิจารณาคำที่จะจารึกบนกระถางทองเหลืองที่สั่งทำจากปีนังตามรูปแบบกระถางที่นิยมทางฝั่งมาลายู ทั้งนี้รูปแบบของกระถางสังเค็ดซึ่งมีพระปรมาภิไธย “จปร” พ้องลักษณะกับรูปแบบที่นิยมดังกล่าว จึงอาจสันนิษฐานได้ว่ากระถางที่มีการกราบทูลนี้อาจจะเป็นกระถางสังเค็ดในการนี้ แต่ด้วยเป็นเพียงการสำรวจในเบื้องต้นผู้ศึกษามิได้จดเลขอ้างอิงที่ชัดเจน
*ยี่ยาว (Yi Yao) เป็นตัวอักษรที่เขียนเลียนอักษรจีนโบราณ คือ อักษรจ้วนซู ลายยี่ หรือ ลายตัวหนังสือใหญ่ของจีนนี้ ผู้ออกแบบ คือ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย หรือ ท่านต๋ง ลายยี่ยาว เป็นลายที่เรียบง่ายจัดวางตัวอักษรในแนวตั้ง ได้แรงบันดาลใจจากตัวอักษรโซ่ว หรือ ซิ่ว ที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงยาวคำว่า ยี่ มีที่มาจากคำว่า จื้อ ((字 Zi) ในภาษาจีน หมายถึงตัวอักษร หรือ คาแรคเตอร์ของตัวอักษรแบบจีน ลายอักษร จปร ซึ่งเขียนและจัดวางตัวอักษรในแนวตั้งลักษณะนี้ จึงเรียกว่าลาย จปร. แบบยี่ยาว
*โรงเจเหงียนเต่าตั๊ว พบข้อมูลประวัติความเป็นมาตามคำบอกเล่าจากบทความ เรื่อง โรงเจเหงี่ยนเต่าตั๊ว ปุ๋นเท่ากง นครปฐม โดย ผู้ใช้นามแฝง กลุ่ม สว. (ผู้สูงวัย) ในกลุ่มศูนย์เรียนรู้เทศบาลนครนครปฐม ระบุว่าเป็นโรงเจใหญ่ที่สุดในภาคกลาง แยกมาจากโรงเจที่ ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสันนิษฐานว่ามาพร้อมกับกลุ่มคนที่เคารพนับถือในองค์เทพเจ้า หรืออาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีที่พักพิงในการเดินทาง จึงได้สร้างโรงเจขึ้นและอัญเชิญองค์เทพเจ้าจากโรงเจดังกล่าวมา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าก่อตั้งขึ้นเมื่อใด เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารไม้ขนาดไม่ใหญ่นัก บริเวณพื้นที่ยังคงเป็นป่าละเมาะ การขนส่งสินค้าเกษตรและการคมนาคมยังใช้ทางเรือเป็นหลัก ราว พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๔๕ อาคารศาลเจ้าหลังเดิมชำรุดทรุดโทรมคับแคบลง คณะกรรมการจึงขอรับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาสร้างโรงเจขึ้นใหม่ โดยมีการจารึกนามผู้บริจาคตั้งแต่ ๑๐ บาท ไปจนสูงสุด คือ ๔๐ บาท ไว้ที่ผนังในโรงเจและยังคงอยู่ในปัจจุบัน กลุ่ม สว. (ผู้สูงวัย) เขียนบทความนี้ใน GotoKnow ระบุประวัติย่อ ให้รายชื่อสมาชิก ๗ ท่าน มีหัวหน้ากลุ่ม คือ นายองอาจ จินต์จันทรวงศ์ สมาชิกกลุ่ม มี นายประเสริฐ ปฐมสุริยะพร นายกิติพันธ์ วัฒนพงษ์ นายคูณ ดวงศรี นายอุบล พุทธยาง นางสาวสิริรัตน์ ดีศรีศักดิ์ และนางรวีวรรณ เพ็ญตระกูลชัย
*เกี๊ยะ คือ รองเท้าไม้ทำจากประเทศจีน เป็นรองเท้าแตะที่นิยมในสมัยนั้น เนื่องจากยังไม่มีรองเท้าฟองน้ำ รองเท้าแตะเช่นในปัจจุบัน
*คำจารึกภาษาจีนระบุว่า รัชกาลที่ ๖ พระราชทาน ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ในบทความ เรื่อง โรงเจเหงี่ยนเต่าตั๊ว ปุ๋นเท่ากง นครปฐม โดย ผู้ใช้นามแฝง กลุ่ม สว. (ผู้สูงวัย) ระบุ ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) ) โดยมีการระบุการเขียนคำอีกเช่นกันว่า รัชกาลที่ ๖ พระราชทาน ในส่วนนี้เข้าใจว่าอาจมีความคลาดเคลื่อน ด้วยพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตใน ร.ศ. ๑๒๙ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๓ และกระถางธูปทองเหลืองนี้เป็นเครื่องสังเค็ดซึ่งรัชกาลที่ ๖ ถวายเป็นพระราชกุศลในการพระศพแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ
…
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). มรดกศิลป์ศาลเจ้าแม่ม่าโป๋ จังหวัดพังงา. คลังวิชาการ: หนังสืออิเล็กทรอนิกส์. กรุงเทพฯ, ไทย. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/main/view/29908- -มรดกศิลป์ศาลเจ้าแม่ม่าโป๋-จังหวัดพังงา
- กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร. (๒๕๖๖, ตุลาคม ๓๐). ต้นแบบกระถางธูปสังเค็ดงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๓ พระราชทานวัดจีนและศาลเจ้า ติดหน้าสิงห์ ๒ ข้าง. [ภาพประกอบ] [Status update]. Facebook.
https://www.facebook.com/prfinearts/posts/712241870939331 - กลุ่ม สว. (ผู้สูงวัย). (๒๕๕๐, ๑๐ ตุลาคม). โรงเจเหงี่ยนเต่าตั๊ว ปุ๋นเท่ากง นครปฐม. เข้าถึงได้จาก. GotoKnow. https://www.gotoknow.org/posts/137189
- นนทพร อยู่มั่งมี. (๒๕๕๑). ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ: มติชน.
- นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. (๒๕๕๒). บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ.
- เพ็ญสุภา สุขคต. (๒๒-๒๘ ส.ค. ๒๕๕๗). นาฬิกาปารีส เครื่องสังเค็ดงานพระบรมศพ. มติชนสุดสัปดาห์, ๓๔ (๑๗๗๕), ๘๔.
- ภาษิต จิตรภาษา. (มกราคม ๒๕๔๙). “สังเค็ด” คืออะไร. ศิลปวัฒนธรรม, ๒๗ (๓), ๖๐-๖๑.
- ยิ้ม ปัณฑยางกูร. จดหมายเหตุงานพระบรมศพ รัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๗ และจดหมายเหตุพระราชพิธีลงสรง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เมฆาเพรส, ๒๕๓๕.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๔๖). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.
- สมภพ ภิรมย์. (๒๕๓๙). พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง.
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๑๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๙). การบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร ทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. ราชกิจจานุเบกษา, ๒๗ ง, ๒๑๕๑ – ๒๑๕๙. เรียกใช้เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2566 จาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1039118.pdf
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๑๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๙ ). การพระราชกุศลปัญญาสมวาร ทรงพระราชอุทิศถวาย ฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. ราชกิจจานุเบกษา, ๒๗ ง, ๒๑๕๑ – ๒๑๕๙. เรียกใช้เมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ จาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1039118.pdf
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๒๘ เมษายน ๒๕๕๗). ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ. ราชกิจจานุเบกษา, ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๗๐ ง, ๒๐-๔๔๐. เรียกใช้เมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ จาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2005150.pdf
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๑๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๙ ). พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง การพระเมรุพระบรมศพ. ราชกิจจานุเบกษา, ๒๗, ๔๓ – ๔๖. เรียกใช้เมื่อ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ จาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1037831.pdf
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๓๐ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๙). พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรค์คต. ราชกิจจานุเบกษา, ๒๗ ง, ๑๗๘๒ – ๑๗๘๘. เรียกใช้เมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ จาก https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1038946.pdf
- ไหว้พระ ไหว้เจ้า. (๒๕๖๓, มิถุนายน ๑๒). กระถางธูปพระราชทาน. [ภาพประกอบ] [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/1414978845381220/posts/2672047506341008/
- อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น. (๒๕๑๔). พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๙ เรื่องพระราชประเพณี ตอน ๑. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
- Charlie Lew. (๒๕๖๓, สิงหาคม ๑๖). เครื่องสังเค็ด เป็นชื่อเรียกสิ่งของที่จัดทำเป็นพิเศษสำหรับถวายพระสงฆ์เป็นกุศลและพระราชกุศล. [ภาพประกอบ] [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/Charlie.Lew/posts/pfbid0uRFpnDdY92VRNCVpC7hfnuwHpBUPRPiSGmaE9Ryzs2Ko4pwcogT1zhaun4WmUsSPl