ประวัติความเป็นมา
โครงการจัดตั้ง เครือข่ายข้อมูลและสารสนเทศภูมิภาคตะวันตก
แรกจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก มีฐานะเป็น “โครงการจัดตั้ง เครือข่ายข้อมูลและสารสนเทศภูมิภาคตะวันตก” อัน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเรียนการสอนสาขาสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเริ่มทำการสอนนับแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา กระทั่งปีการศึกษา ๒๕๑๗ ได้มีการพัฒนาสาขาสังคมศาสตร์ ขึ้นเป็นหมวดวิชาสังคมศาสตร์
พ.ศ. ๒๕๒๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งภาควิชาสังคมศาสตร์ขึ้น โดยเน้นหนักในสาขาการพัฒนา มีจุดมุ่งหมายสำคัญของหลักสูตร เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งในขณะนั้นการพัฒนาโดยเฉพาะในภาคชนบทไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร การ ศึกษาในหลักสูตรนี้ระยะแรกจึงมุ่งเน้นให้นักศึกษาออกไปศึกษาเรียนรู้ในภาค สนาม เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูล ตลอดจนสารสนเทศต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ให้มากที่สุด และได้วางแนวทางที่จะนำสิ่งที่ได้มานั้น มาจัดระบบและนำออกบริการแก่ผู้สนใจโดยทั่วไป เพื่อขยายการดำเนินงานด้านข้อมูลสารสนเทศจัดตั้งเป็น “ศูนย์ข้อมูล” ของภูมิภาคขึ้นในลำดับถัดไป
โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภูมิภาคตะวันตก
ความพยายามในการขยายการดำเนินงาน บรรลุเจตนา เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ โดยภาควิชาสังคมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากมูลนิธิเอเชีย จึงเริ่ม “โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภูมิภาคตะวันตก” ขึ้น ในเดือนสิงหาคม ปีนั้น โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น ๒ ส่วน คือ
๑. การเก็บรวบรวมข้อมูล อยู่ในความรับผิดชอบของคณาจารย์ในภาควิชาสังคมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบการดำเนินงานตามโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ
๒. การจัดระบบและให้บริการ ได้รับความร่วมมือจากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นแผนกห้องสมุด ทั้งนี้ภาควิชาฯ มีนโยบายที่จะโอนการดำเนินการทั้ง ๒ ส่วน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ใน พ.ศ.๒๕๓๐ แต่นโยบายดังกล่าวยังคงมิได้ดำเนินการ กระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๙ มหาวิทยาลัยมีนโยบายเห็นชอบให้โอนงานศูนย์ข้อมูลภูมิภาคตะวันตก ไปสังกัดในฝ่ายข้อมูลวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนา โดยคงงานบริการข้อมูลภูมิภาคตะวันตกไว้ในหอสมุด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว
การดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ นับแต่ระยะแรกจนปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนทั้งในด้านโครงสร้าง นโยบาย มาเป็นระยะ ๆ ทั้งในส่วนของคณะ มหาวิทยาลัย ตลอดจนด้านบุคลากรผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงาน “โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภูมิภาคตะวันตก” โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ โดยปรับเปลี่ยนเป็น “ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก (Thai Western Regional Information Center)” มีฐานะเป็นงานหนึ่งในสังกัดหอสมุดฯ และยังคงพัฒนางานด้านต่าง ๆ ภายใต้พันธกิจของห้องสมุดมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
การจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศในระยะแรกจัดตั้ง ได้วางแนวทางกำหนดไว้ ดังนี้
๑. บรรณานุกรมผลงานต่างๆ เช่น หนังสือ งานวิจัย บทความ โสตทัศนวัสดุ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคตะวันตก
๒. สถิติประจำปี จำแนกตามดัชนีทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
๓. ทำเนียบสถานที่ และนักวิชาการในภูมิภาคตะวันตก
๔. ทำเนียบสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา พร้อมหลักสูตรและโครงสร้างการบริหาร
๕. ทำเนียบใครเป็นใครในภูมิภาค (Who’s who)
๖. หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และดัชนีข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคจากหนังสือพิมพ์รายวัน และวารสารต่างๆ
๗. แผนที่แสดงภาพภูมิศาสตร์ และเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค
๘. ข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ที่ตั้ง
ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ตั้งอยู่ ณ ชั้น ๓ อาคารหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
เวลาให้บริการ
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา ๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น.
วันเสาร์ – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ปิดให้บริการ (ผู้สนใจสามารถยืมวัสดุการศึกษาได้ โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงเวลา)
ประเภทของทรัพยากร
๑. หนังสือ รายงานการวิจัย รายงานการสัมมนา รายงานการประชุม
๒. วิทยานิพนธ์ ภาคนิพนธ์ รวมทั้งรายงานการศึกษาค้นคว้าที่ได้รับการคัดสรรจากอาจารย์ผู้สอน
๓. หนังสือพิมพ์ และวารสารท้องถิ่น
๔. สิ่งพิมพ์อื่น ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภูมิภาคตะวันตก ได้แก่ กฤตภาคจากหนังสือพิมพ์ บทความวารสาร จุลสาร จดหมายข่าว
๕. โสตทัศนวัสดุ ได้แก่ แผนที่ รูปภาพ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ซีดีรอม
๖. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ E-book E-content นิทรรศการออนไลน์ บทเรียนมัลติมีเดีย ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ผลิตขึ้น
๗. Web Link ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง