กระดาษเก่า…เล่าอะไร ตอนที่ 2

รัชกาลที่ 6 ประทับพระเก้าอี้สนาม ณ กลางทุ่ง ต.บ้านไร่ จ.ราชบุรี เบื้องหลังคือนายเสือป่าและนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ ม.ล.ปิ่นฯ นั่งลำดับ 2 จากขวา ภาพคล้ายนี้เป็นภาพประกอบในหนังสือ การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2462 และพระราชวังสนามจันทร์ ด้วย

ผู้เขียนเล่าความ เรื่อง กระดาษเก่า…เล่าอะไร ไว้ใน Blog (2) ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 กระดาษต้นทางมาด้วยเหตุจากการร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำและปรับปรุงทะเบียนสิ่งของในคอลเลคชั่นพิเศษของห้องสมุด คือ ห้องอนุสรณ์ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ซึ่งผู้เขียนดำเนินการในส่วนกลุ่มเอกสารลายลักษณ์ และได้นำเอกสารชิ้นหนึ่งมาเล่าสู่ คือ การแสดงปาฐกถา เรื่อง การศึกษาสมัยรัชกาลที่ 6 ของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ณ โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2513 เอกสารดังกล่าวนี้ เป็นต้นฉบับลายมือเขียน (ฉบับร่าง) ของท่าน ซึ่งตามหลักการของจดหมายเหตุ (Archives) เอกสารส่วนบุคคลที่ผ่านการประเมินว่ามีคุณค่านั้นนับเป็นเอกสารสำคัญประเภทหนึ่ง บทความได้กล่าวถึงคุณค่าในด้านเนื้อหา ด้านกายภาพ ตลอดจนการบำรุงรักษาและการอนุรักษ์ ติดตามรายละเอียดความเดิม ได้ที่ลิงค์ www.snc.lib.su.ac.th/kmblog/?paged=2&author=12

การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวยังคงทอดเนื่องมาจนบัดนี้ ขณะที่พิจารณาคัดแยกเอกสารทั้งที่เป็นหนังสือเล่ม ทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือเขียน และเอกสารประเภทอื่น ๆ โดยในส่วนลายมือเขียนนั้น พบว่านอกเหนือจากลายมือท่าน ยังมีของบุคคลใกล้ชิด บุคคลสำคัญท่านอื่น ๆ ที่น่าสนใจปะปนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การที่ผู้เขียนสาระวนอยู่กับกองเอกสาร ทำให้ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจเป็นระยะ ๆ จึงอยากนำมาเล่าสู่

เอกสารที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือ สมุดบันทึกเล่มหนึ่ง (ท่านมีสมุดบันทึกจำนวนมาก) สมุดเล่มนี้ท่านรวมประวัติและเรื่องราวส่วนตัวไว้หลากหลายด้าน ลักษณะเป็นกระดาษขาวมีเส้น พิมพ์เส้นคั่นหน้าสีแดง เข้าเล่มด้วยสันเกลียวลวด ปกนั้นออกสีเขียวขี้ม้าเก่าคร่ำคร่าหลุดเป็นชิ้นแยกจากตัวเล่มทั้งหน้าและหลัง ซึ่งในสายตาของข้าพเจ้ารูปใบไม้เพียง 1 ใบบนปกสมุด แถมด้วยคำโฆษณาเล็ก ๆ ด้านล่างปกว่า Ask for No. 875 CM “ANOTHER GOOD LUCK PRODUCT” ดูช่างเป็นการออกแบบปกและถ้อยคำที่เรียบง่าย เข้าใจว่ารหัสอ้างอิงนี้หากต้องการซื้อหาในครั้งต่อไปน่าจะได้สมุดไม่ผิดเพี้ยน แถมถ้อยคำแอบเก๋ด้วยการเชิญชวนที่น่าซื้อหามาใช้เผื่อจะโชคดีตามชื่อสินค้า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าไม่มีค่าโฆษณา เพราะจะว่าไปสมุด No. 875 CM นี้ ปัจจุบันยังมีวางขายหรือไม่ก็ไม่ทราบได้

สมุดบันทึกปกเขียวขี้ม้า รูปใบไม้  มีข้อความที่ปก Ask for No. 875 CM และ “ANOTHER GOOD LUCK PRODUCT”
บันทึกหัวข้อ Important Dates + facts ในหน้า 15

บันทึกเล่มนี้หากจะกล่าวก็เป็นประวัติส่วนตัวของท่าน ที่ว่าไปก็คงหาอ่านจากแหล่งต่าง ๆ ได้ไม่ยาก ด้วยท่านเป็นบุคคลสำคัญทางการศึกษาของไทย หน่วยงานต่าง ๆ ที่ท่านเคยมีบทบาทเกี่ยวข้องต่างก็จัดทำประวัติท่านไว้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่พบว่ามีที่ใด หรือใครทำประวัติของท่าน ละเอียดลออดังที่พบตรงหน้า

บันทึกเล่มนี้มีการเขียนลำดับเลขหน้าไว้ด้วยปากกามุมบนขวามือ โดยเริ่มเลขหน้า 3 บนกระดาษเปล่าถัดจากปกนอกเข้ามา ไล่เรียงไปจนเลขหน้า 82 กับอีก 1 หน้า คือ 83 ที่ไม่ได้ลำดับเลขไว้ และเมื่อเปิดต่อไป ก็ยังพบการ Note ด้วยดินสอไว้สั้นๆ เพียงว่า “poetry รายวัน 2 ม.ค. 04 (และถัดลงมาอีกบรรทัด) 6 ม.ค. 04”

ลำดับเรื่องราวในสมุดกล่าวพอเป็นสังเขป เริ่มตั้งแต่บันทึก หน้า 4 เรื่อง บริษัทการบิน ที่ข้าพเจ้า+ดุษฎี ได้ใช้ ให้รายชื่อสายการบินถึง 63 รายการ บางรายการมีโน้ตสั้นๆ ข้างท้าย เช่น ลำดับที่ 5  P.A.B. (Panair do Brasil) มีโน้ตว่า “บินวนที่ Paris 3 ชม.” ลำดับที่ 23 North western โน้ตว่า “คุณถูก ‘left behind’” (เข้าใจว่าอาจหมายถึงท่านผู้หญิงฯ) เรื่อง สถิติเบ็ดเตล็ด เช่น เข้าฝรั่งเศส ครั้งที่ 28 (วันที่)14 กค 08 ในหน้า  6-7 (ทั้งนี้การไปต่างประเทศนั้น ท่านรวบรวมเขียนเป็นหนังสือได้ถึง 15 เล่มด้วยกัน) เรื่อง Operas ที่ดูแล้ว ในหน้า 11 ที่บอกทั้งชื่อเรื่องและจำนวนครั้งที่ดูมากกว่า 1 ครั้ง (ในบางเรื่อง) เรื่อง การศึกษา ในหน้า 13 ซึ่งท่านบันทึกโดยย่อ บอกเพียงกิจกรรมที่ทำ และวันเดือนปี หากเทียบสมัยนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า ท่านเขียนทำนอง Time line หากแต่ยังมิได้เรียงวันเวลาตามลำดับ สันนิษฐานว่าอาจบันทึกจากจำที่ระลึกได้ในขณะนั้น โดยเริ่มบรรทัดแรก “เรียนที่บ้านกับครูแฉล้ม ครูอู๋ ครูเชื้อ”  เรื่องอื่น ๆ บันทึกโดยแยกลำดับเรื่องละบรรทัด ตังอย่างเช่น  “เข้า ร.ร. สวนกุหลาบ 12 ตุลาคม 2453 เลขประจำตัว 145 ชั้นประถมพิเศษ”  บรรทัดถัดไป “ออกจากสวนกุหลาบ 16 พ.ค. 2457”  ถัดมา “เข้า ร.ร. มหาดเล็กหลวง 11 พ.ค. 2457 “ (เลขประจำตัว 199 พบข้อมูลในหน้า 15) ถัดมา “ปลาย พ.ศ.2458 สอบได้ ม5 โดยเรียนเพียงครึ่งปี”  บันทึกหน้า  13 นี้ ท่านไล่เรียงกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนของท่านไปจนจบ “MA Oxford  15 ต.ค. 2474”  และมีบันทึกเรื่องอื่นแทรกอยู่เล็กน้อย เช่น “มิ.ย. 72 สอบครูไม่ได้ ป่วย “ หรือ “ก.ย. 72 กระทรวงสั่งให้ไป US Jap”  เป็นต้น ข้อมูลประวัติอื่น ๆ เช่น วันและเหตุการณ์สำคัญของท่านในหน้า 15 ในเรื่อง Important Dates + facts ยังคงบันทึกลักษณะเดียวกับการศึกษา โดยท่านเริ่มที่ “วันเกิด 24 ต.ค. 2446” เป็นลำดับแรก ถัดมา “ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก พระที่นั่งอัมพร 10 พ.ค. 2454 “ ถัดมา “เข้า ร.ร. มหาดเล็กหลวง 11 พ.ค. 2457 เลขประจำตัว 199 “ ถัดมา “พระราชทานเพลิงคุณพ่อ พี่ปก… (ไม่สามารถอ่านข้อความก่อนวันที่) 25 เม.ย. 2463”  ถัดมา “แต่งงาน 7 มี.ค. 2474” … “เข้าเป็นนักเรียนเสือป่า 5 มิ.ย. 2458”  เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจแบ่งเป็นหัวข้อ เช่น ตำแหน่งหน้าที่ราชการ เงินเดือน International Meeting ไปจนจบบันทึก เรื่อง บทละครของข้าพเจ้า จำนวน 31 รายชื่อ ที่ให้รายละเอียดว่าเป็นบทละครประเภทใด ชื่อเรื่อง วันที่แต่ง พิมพ์ครั้งแรก แสดงครั้งแรก ใครแสดง แสดงที่ไหน ออกอากาศวันใด (กรณีที่แสดงใน TV) โดยบางเรื่องมีหมายเหตุการณ์แสดงในที่แห่งอื่นนอกจากครั้งแรก

ที่เล่ามาข้างต้นดูจะเป็นเรื่องสามัญในการบันทึกประวัติส่วนตัวของใคร ๆ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าไม่ธรรมดา คือ ความละเอียดถี่ถ้วน และการระลึกจำของท่านในหลากเรื่องราวที่บันทึกไว้ ด้วยลักษณะการบันทึกแยกเป็นเรื่อง เป็นหมวดหมู่ บันทึกภายใต้เรื่องก็เป็นเพียงการบอกชื่อกิจกรรม และวันเวลา หรือ รายละเอียดเพียงสั้นๆ ต่างจากบันทึกทำนอง dairy ก็แล้วสมุดบันทึกเก่า ๆ เล่มนี้มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้าจะต้องให้ความสำคัญอีก

อันที่จริงอาจกล่าวว่าความสนใจในบันทึกนี้เป็นเรื่องผูกโยงมาจากหนังสือสำคัญของท่าน 2 เล่ม ที่ได้นำมาเพื่อลองใช้ Scanner เครื่องใหม่ที่งานวารสารเพิ่งได้รับมา หนังสือนั้น คือ การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2461 และ พระราชวังสนามจันทร์ กับอีกเล่มซึ่งมีชื่อ ตลอดจนรูปแบบตัวเล่ม สีสันเป็นแฝดกัน คือ สีเขียว เป็นหนังสือขนาดเล่มเล็ก บางๆ จำนวน 11 หน้า ซึ่งหากไม่สังเกตอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อันที่จริงเล่มหลังเป็นเรื่องใน พ.ศ. 2462  มีจำนวน 21 หน้า ด้วยความที่เป็นหนังสือเล่มบางผู้เขียนจึงอ่านจบในมื้อเที่ยง อันเป็นมื้อที่คิดว่าข้าวกลางวันมื้อนี้มีรสชาติที่สุด เพราะหนังสือ 2 เล่มนี้ เป็นคำตอบสำคัญในข้อมูลที่ผู้เขียนเฝ้าตามหามาเป็นระยะ ๆ จับ ๆ วาง ๆ มาแต่ พ.ศ. 2561 ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะจนด้วยหลักฐานที่จะใช้อ้างอิงอย่างเพียงพอประการหนึ่ง ส่วนเป็นข้อมูลอะไรนั้นโปรดติดตามตอนต่อไป ด้วยขณะนี้ยังต้องหาหลักฐานที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างอย่างหนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้น ก็แล้วตอนนี้จะเล่าเรื่องอะไร?

ข้อมูลจากหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ สาระสำคัญ คือ ม.ล. ปิ่นฯ ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ ที่ต้องตามเสด็จฯ ทุกครา ท่านได้เล่าเรื่องราวครั้งอดีตของการซ้อมรบเสือป่า ที่สัมพันธ์ควบคู่ไปกับพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงใช้วังแห่งนี้ในฐานะกองบัญชาการเสือป่าในเวลาซ้อมรบ จะลดบทบาทลงไปบ้างก็เพียงเวลาเสือป่าเดินทางไกล ทั้งนี้ เรื่องการซ้อมรบเสือป่าตลอดจนพระราชวังสนามจันทร์นั้น ผู้เขียนเนื่องจากเคยเป็นผู้หนึ่งในคณะวิทยากรนำชมพระราชวัง ตั้งแต่เมื่อแรกรับราชการ พ.ศ. 2530 ถึงราว พ.ศ. 2540 ซึ่งผู้รู้ครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน ได้ให้ความเมตตาเสริมเติมความรู้นอกเหนือจากตำราที่เพียร “ท่องจำ” จึงพอทราบข้อมูลอยู่ประมาณหนึ่ง ในการนำคณะเยาวชนไปจนผู้สูงวัย ที่มาเยี่ยมชมวังในแต่ละครั้งคราวหากคณะผู้ชมมีเวลามากพอ ก็จะได้รับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ของพระราชวังแห่งนี้พอเหนื่อยกันไปในวันที่ร้อนอบอ้าวราว 2-3 ชม.

ถึงกระนั้นการได้อ่านหนังสือของหม่อมท่าน กลับทำให้ตื่นตากับข้อมูลและเรื่องราวที่เพิ่งรับรู้ใหม่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากเรื่องที่ยังละไว้ดังกล่าวแล้วก่อนหน้า ทั้งนี้ข้อมูลใหม่สำหรับผู้เขียนอีกเรื่อง คือ การนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์ไปประกอบโฆษณายากฤษณากลั่น เมื่ออ่านพบความดังกล่าวในหน้า 7-8 ก็ให้สงสัยว่าทำไมจึงนำภาพเดียวกับที่ปรากฎในเล่ม พ.ศ. 2462 นี้ไปใช้โฆษณายา และก็ให้อยากรู้อีกว่านำภาพไปใช้ในลักษณะอย่างไร อีกทั้งยากฤษณากลั่นนั้นแม้จะมีชื่อคุ้นหูมานมนานแต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นยาใช้รักษาอาการใด อย่ากระนั้นเลย … แล้วก็ว่าคาถา กูเกิ้ล สะระนัง คัจฉามิ

ข้อมูลจากหนังสือ การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2462 และ พระราชวังสนามจันทร์ กล่าวถึงการโฆษณายากฤษณากลั่น


ผลการค้นหาพบทั้งภาพและข้อมูลในเวลาอันรวดเร็ว ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่คุ้นชินตาที่สุดภาพหนึ่ง ด้วยมีจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติ ณ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นภาพที่พระองค์ประทับพระเก้าอี้สนาม ณ กลางทุ่ง ต.บ้านไร่ จ.ราชบุรี ในภาพนอกจากพระองค์ยังมีนายเสือป่ารวมทั้งผู้รับใช้นั่งอยู่ด้านหลังที่ประทับ รวม 6 คน ขณะนั้น ม.ล.ปิ่นฯ ในวัย 16 ปี เป็นนักเรียนมหาดเล็กรับใช้ก็ร่วมถ่ายภาพประวัติศาสตร์นี้ด้วย และแม้ว่าจะเป็นภาพที่เห็นชินตาในเบื้องต้นก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นโฆษณายากฤษณากลั่นอย่างไร กระทั่งเมื่อพบภาพและข้อมูลจากเว็ปไซด์ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในส่วนของประวัติองค์กร ซึ่งกล่าวว่า นายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ ได้นำยากฤษณากลั่น ซึ่งเป็นยาจีนโบราณมีสรรพคุณบรรเทาโรคปวดท้องต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในกิจการซ้อมรบเสือป่าและยานั้นมีประสิทธิผลดี พระองค์จึงทรงแนะนำในพระราชนิพนธ์เรื่อง กันป่วย ให้เสือป่าใช้ยากฤษณากลั่น กับทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเข็มเสือป่า และนามสกุล โอสถานุเคราะห์ นับเป็นความสำเร็จอันภาคภูมิยิ่งของร้านเต๊กเฮงหยู

ภาพพระบรมฉายาลักษณ์เชิญไปประกอบโฆษณาขายยากฤษณากลั่น

เรื่องของภาพประกอบโฆษณายากฤษณากลั่นนั้น นอกจากการพบข้อมูลในหนังสือ การซ้อมรบเสือป่าฯ พ.ศ. 2462 แล้ว ในสมุดบันทึก No. 875 CM ที่เล่าไว้ข้างต้นมีหัวข้อที่ผู้เขียนยังไม่ได้กล่าวถึงคือ ซ้อมรบ ในหน้า 21 ซึ่งมีประเด็นที่ผู้เขียนสะดุดตากับข้อความสั้นๆ “ถ่ายรูป ‘ยากฤษณากลั่น’ 14 ก.พ. 2462”  อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านที่ชอบเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์อาจรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการปะติดปะต่อข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นเรื่องราว คล้ายเด็กน้อยเล่นต่อภาพจิ๊กซอว์ เมื่อค่อย ๆ ต่อภาพจนเห็นเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้นในแต่ละส่วนของภาพ ก็ย่อมนำมาซึ่งความสนุกความท้าทายที่จะต้องต่อเติมส่วนต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้น แต่หากการเล่นต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ จะไม่เป็นที่ชื่นชอบหรือสนใจสำหรับบางท่าน ผู้เขียนก็ต้องขออนุญาตให้ท่านเลื่อนจอผ่านไป ดังเดียวกับที่ท่านผู้ว่า กทม. คนที่  17 กล่าวแก่ผู้วิพากษ์การ Live ของท่าน ซึ่งถูกจับตาเป็นไวรัลเช่นเมื่อครั้ง “ชัชชาติถุงแกง” ทั้งนี้คำกล่าว “ไม่ชอบก็ไม่ต้องดู” นั้น เป็นเพียงการบอกอย่างตรงไป ตรงมา มิได้แสดงอารมณ์ขุ่นข้องโกรธเคืองดังภาพชินตาของบุคคลแห่งยุคสมัยอื่น ๆ

หัวข้อ ซ้อมรบ แจ้งวันที่ที่ถ่ายภาพโฆษณา หน้า 21

ข้อมูลที่พบทั้งลักษณะการนำภาพไปใช้  สรรพคุณของยา แม้กระทั่งวันที่ที่บันทึก “ภาพประวัติศาสตร์” คำตอบที่พบก็น่าที่จะกระจ่างในทุกเรื่อง แต่คำอ้างอิงที่กล่าวว่าทรงแนะนำให้เสือป่าใช้ยากฤษณากลั่นในพระราชนิพนธ์เรื่อง กันป่วย ยังมิได้พบข้อความเชิงประจักษ์ การเข้าถึงตัวเล่มเบื้องแรกมั่นใจว่าจะหาได้ไม่ยากที่ห้องสมุด ก็เป็นจริงดั่งคาดหากแต่เป็นหอสมุดวังท่าพระ อีกทั้งยังเป็นคอลเลคชั่นพิเศษของ ศ.มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ก็ให้ร้อนถึงพี่จุฑามาศ หัวหน้าหอสมุดฯ วังท่าพระ ผู้ให้ความเอื้อเฟื้อจัดการเรื่องหนังสือที่ต้องการด้วยดีเสมอมา ขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ขอบพระคุณพี่สาว ความในพระราชนิพนธ์เรื่อง กันป่วย ที่ทรงกล่าวถึงยากฤษณากลั่น ปรากฏในหัวข้อ ยา (แก้โรค) หน้า 46-47 ทรงแนะนำยาที่เสือป่าควรมีติดตัว 4 ชนิด โดยให้ใช้ยากฤษณากลั่น “สำหรับแก้ปวดท้องและลงท้อง, มีขายที่ร้านเต๊กเฮงหยู”

ข้อมูลจากหนังสือ กันป่วย กล่าวถึงยากฤษณากลั่น ในหัวข้อ ยา (แก้โรค)

 

ข้อมูลที่พบดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่น่าพอใจในทุกข้อสงสัย แต่ความใคร่รู้ของผู้เขียนหาได้จบเพียงนั้น เพราะข้อมูลจากเว็ปไซด์ บริษัท โอสถสภาฯ ยังระบุอีกว่า นายแป๊ะ แห่งร้านเต๊กเฮงหยู ได้รับพระราชทานเข็มเสือป่า และนามสกุลพระราชทาน โอสถานุเคราะห์ ผู้เขียนจึงค้นหาประกาศพระราชทานนามสกุล และพบราชกิจจานุเบกษา เล่ม 31 หน้า 63 วันที่ 12 เมษายน 2457 มีประกาศพระราชทานนามสกุล แก่ผู้ที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทาน เป็นครั้งที่ 15 เมื่อไล่เรียงถึงหน้า 65 ภายใต้ กรมมหาดเล็ก จึงพบนามสกุล โอสถานุเคราะห์ โดยระบุรายละเอียดภายใต้ลำดับที่ว่า  1199 นายแป๊ะ มหาดเล็ก พระราชทานนามสกุลว่า “โอสถานุเคราะห์” (Osatḥânugraha)”  ประกาศเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2457 ลงพระนาม “นเรศรวรฤทธิ์” เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ผู้รับพระบรมราชโองการ

ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 15 นามสกุล โอสถานุเคราะห์ เป็นลำดับที่ 1199

ส่วนเรื่องราวของเข็มเสือป่านั้น พบข้อมูลจากเฟสบุ๊คมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6 เรื่อง เข็มสมาชิกสมาคมบำรุงเสือป่า ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นเข็มที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่บริจาคเงินบำรุงการเสือป่าเหล่าต่าง ๆ ซึ่งจะมีแพรแถบสีของเสือป่าแต่ละกองเสนาที่ได้บริจาคบำรุงนั้น และแพรแถบสีนี้ยังเป็นที่มาของสีผ้าผูกคอของลูกเสือจังหวัดต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันด้วย

และเมื่อค้นหาชื่อยากฤษณากลั่น ในราชกิจจานุเบกษา พบข้อมูลในเล่ม 35 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2461 หน้า 3044-3045 แจ้งความ เรื่องนายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ มหาดเล็ก มีหนังสือกราบบังคมทูล ทูลเกล้าฯ ถวายยากฤษณากลั่น แก้ธาตุพิการ 200 ขวด และยาอื่นๆ เพื่อพระราชทานแก่สมาชิกเสือซึ่งจะไปซ้อมวิธียุทธเสือป่า พ.ศ.2461 และรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ แสดงความขอบใจ โดยลงแจ้งความ วันที่  24 มกราคม 2461 ซึ่งประกาศนั้นลงนามโดยพระยาประสิทธิ์ศุภการ นายพลเสือป่า ซึ่งเป็นอุปนายกเสือป่า นอกจากนี้ยังพบแจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ยาน้ำกฤษณากลั่น แก่โรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวงในโอกาสคล้ายวันสวรรคต วันที่ 23 ตุลาคม 2464 อีกด้วย

แจ้งความ เรื่อง ทูลเกล้าฯ ถวายยากฤษณากลั่น ในต่างวาระ 2 ครั้ง

เรื่องราวของ…ภาพประวัติศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยนายเสือป่าและผู้รับใช้ทั้ง 6 คน กับโฆษณายากฤษณากลั่น และที่มาของนามสกุลพระราชทานโอสถานุเคราะห์ จบลงเพียงนี้ แต่เรื่องราวจาก หนังสือ การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2461 และ พระราชวังสนามจันทร์ และ พ.ศ. 2462 ยังมีข้อมูลสำคัญที่ผู้เขียนได้พบคำตอบในเรื่องที่สนใจ และติดตามค้นหาหลักฐานเพื่อนำมาอ้างอิงอย่างเพียงพอ จะเป็นข้อมูลเรื่องอะไรโปรดติดตาม

 

บรรณานุกรม
แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ แผนกกรมสามัญและกรมวิสามัญศึกษา เรื่อง ให้ยาน้ำกฤษณากลั่นแก่โรงเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ. (2464, 13 พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 38. หน้า 2353. เข้าถึงเมื่อ 24 มิถุนายน 2565. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2464/D/2353.PDF

แจ้งความ เรื่องนายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ ทูลเกล้าฯ ถวายยา. (2461, 2 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 35. หน้า 3044-3045. เข้าถึงเมื่อ 24 มิถุนายน 2565. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/3044.PDF

ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 15.  (2457, 12 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 31. หน้า 63-69. เข้าถึงเมื่อ 24 มิถุนายน 2465. จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/63.PDF

ปิ่น มาลากุล, ม.ล. การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2461 และพระราชวังสนามจันทร์. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2511.

ปิ่น มาลากุล, ม.ล. การซ้อมรบเสือป่า พ.ศ. 2462 และพระราชวังสนามจันทร์. พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2511

ปิ่น มาลากุล, ม.ล. (2462, กุมภาพันธ์ 14). บันทึกการซ้อมรบเสือป่า. ห้องอนุสรณ์ศาสตราจารย์ ม..ล.ปิ่น มาลากุล, หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. กันป่วย. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2513.

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.6. (2561, 23 กุมภาพันธ์). หน้าหลัก. [เข็มสมาชิกสมาคมบำรุงเสือป่า]. เฟสบุ๊ค. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/rama6memorial/

โอสถสภา. เกี่ยวกับโอสถสภา: ประวัติองค์กร. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2565, จาก https://www.osotspa.com/new/th/about/index.php