พระตำหนักราชฤดี ต.พระประโทน จ.นครปฐม
พระตำหนักราชฤดี ต.พระประโทน จ.นครปฐม เมื่อ ๖ มีนาคม ๒๔๖๖
“ในรัชกาลที่ ๕ ฉันได้ออกไปพักอยู่ที่นครปฐมบ่อยๆ จึงได้ใฝ่ใจในองค์พระนั้นมากแต่นั้นมา”

ความจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่อง การแก้ไขวิหารหลวง
ขณะเมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร
ซึ่งทรงมีพระราชภารกิจสำคัญ คือ การสานต่อพระราชกรณียกิจในการบูรณะพระปฐมเจดีย์นี้
เป็นเครื่องยืนยันได้ประการหนึ่ง ในความผูกพันของพระองค์ท่านกับจังหวัดนครปฐม

การที่ต้องเสด็จแปรพระราชฐานมานครปฐมเนืองๆ นี้
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับทั้งที่เป็นส่วนพระองค์ และส่วนของผู้ติดตาม
อันมีฐานะและความสำคัญในระดับต่างๆ กัน นับแต่พลับพลาที่ประทับ พระตำหนัก ไปจนถึงพระราชวัง
ดังตัวอย่างที่ประทับสำคัญซึ่งเป็นที่มักคุ้นกันดี ด้วยมีความสำคัญในฐานะ “เมืองหลวงสำรองที่สอง”
นั่นคือ พระราชวังสนามจันทร์ อันเป็นที่รักและผูกพันในหลากพระราชกรณียกิจเนื่องด้วยพระราชวังนี้

พระที่นั่งและพระตำหนัก…ในนครปฐม

นอกจากพระราชวังแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งพระที่นั่งและพระตำหนัก ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแล้ว
ยังมีที่ประทับแห่งอื่นที่สร้างขึ้นในรัชสมัยที่นครปฐมเพื่อใช้ประทับ และบางแห่งพระราชทานให้ผู้เกี่ยวข้อง
โดยขณะที่ยังทรงเป็น พระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และยังไม่ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์
เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานปกติจะประทับที่พระตำหนักใกล้ๆ องค์พระปฐมเจดีย์
คือ “พระตำหนักบังกะโล”  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณมุมถนนขวาพระ ใกล้กับสถานีตำรวจ
แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันพระตำหนักองค์นี้ได้ถูกรื้อลงนานแล้ว
การเสด็จแปรพระราชฐานที่นครปฐมในบางคราได้เสด็จประทับที่พลับพลาชั่วคราว
บริเวณดงไผ่ซึ่งอยู่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบัน

ที่ดินพระราชทานนามว่า…สวนราชฤดี

ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในพุทธศักราช ๒๔๕๓ และอภิเษกสมรส
กับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในพุทธศักราช ๒๔๖๔ แล้ว
ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน ๘๙ ไร่ บริเวณติดถนนเพชรเกษม ตรงข้ามวัดพระประโทน นครปฐม
โดยพระราชทานนามที่ดินว่า สวนราชฤดี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนัก
เป็นเรือนไม้ปั้นหยา ๒ ชั้น ทำด้วยไม้สัก แด่สมเด็จฯ พระราชินีด้วย

พร้อมกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
เป็นผู้อำนวยการดูแลให้โรงเรียนเพาะช่าง สร้างเครื่องเรือนสีขาวลายทองแบบหลุยส์ขึ้นเป็นชุดแรก
เพื่อใช้ตกแต่งภายในทั่วทั้งพระตำหนักราชฤดี เพื่อเป็นการฝึกฝนช่างไม้ไทยตามพระราชประสงค์
ให้สามารถสร้างเครื่องแต่งเรือนแบบหลุยส์ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้นทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
และเครื่องเรือนชุดนี้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ได้ทรงใช้ต่อมาจนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์


สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

ขึ้นพระตำหนัก…ที่สวนราชฤดี

ในพุทธศักราช ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์พร้อมกับขบวนฝ่ายใน
คือ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ และข้าราชบริพารในพระองค์
ต่อมาในวันที่ ๒๙ มกราคม ได้เสด็จฯ ออกจากพระราชวังไปอยู่ ณ ค่ายหลวงบ้านโป่ง จ.ราชบุรี
โดยสมเด็จฯ พระราชินี มิได้ติดตามเสด็จด้วย เนื่องจากเป็นการฝึกซ้อมวิธียุทธและการประลองยุทธใหญ่
ของเสือป่ากองเสนาหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติเฉพาะเสือป่าชาย

กระทั่งใกล้เวลาที่สมเด็จฯ พระราชินี จะทรง “ขึ้นพระตำหนัก” ที่สวนราชฤดี
จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชนิพนธ์ “โคลงนิราศประลองยุทธ” จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กปกสีชมพู
พระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ในงานพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักนั้น

ความรักและผูกพัน…สะท้อนผ่านโคลงนิราศ

โคลงนิราศประลองยุทธนี้ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นระหว่างการฝึกซ้อมเสือป่า
ดังมีความจากคำนำซึ่งทรงพระนิพนธ์ขึ้นในวันที่ ๒ มีนาคม ณ พระราชวังสนามจันทร์
แสดงความรักและผูกพันของทั้ง ๒ พระองค์ กล่าวไว้อย่างน่าประทับใจ
ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตคัดลอกมาเพียงบางช่วงตอน ดังนี้

“ข้าพเจ้าได้ออกจากสนามจันทร์ไปอยู่ ณ ค่ายหลวงบ้านโป่ง…
ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายถึงสมเด็จพระบรมราชินีทุกวัน,
เว้นแต่วันที่ข้าพเจ้ากลับมาเยี่ยมที่สนามจันทร์สัปดาห์ละครั้ง
กับวันที่สมเด็จพระบรมราชินีไปเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านโป่งอีกครั้ง ๑.

ครั้น ณ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เป็นวันที่กองเสนาหลวง
ยกออกจากค่ายหลวงบ้านโป่งไปทำการประลองยุทธใหญ่,
วันนั้นข้าพเจ้าเขียนจดหมายประจำวันฉบับสุดท้ายในคราวนั้น,
ข้าพเจ้าจึงได้เขียนโคลงมาในท้ายจดหมายนั้นด้วย,
โคลงเหล่านี้ข้าพเจ้าได้นึกออกและเขียนลงเป็นพักๆ ในวันที่ ๒๑ และ ๒๒ กุมภาพันธ์.

ครั้นมาใกล้กำหนดเวลาที่สมเด็จพระบรมราชินีจะขึ้นพระตำหนักที่สวนราชฤดี,
ตำบลพระประโทน, จังหวัดนครปฐม, ณ วันที่ ๙ มีนาคม, พ.ศ.๒๔๖๖,
ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะหาของชำร่วยสำหรับแจกแก่ผุ้ที่ไปช่วยงาน
จึ่งจัดพิมพ์โคลง ๓๐ บทนี้ขึ้น. …อนึ่งขอท่านผู้อ่านโปรดอย่าลืม
ถวายพระพรสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีพระบรมราชินี,
ผู้ทรงเป็นเจ้าของงานขึ้นพระตำหนักและผู้แจกสมุดโคลงนี้ด้วย.”

ที่ดินพระราชมรดก…ที่บ้านยาง

นอกจากที่ดินสวนราชฤดีที่ได้รับพระราชทานขณะที่ รัชกาลที่ ๖ ยังทรงพระชนม์แล้ว
ภายหลังจากรัชสมัยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (พระยศในขณะนั้น)
ยังทรงได้รับพระราชทานพระราชมรดกบางส่วน คือ ที่ดินที่บ้านยาง ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน ที่นครปฐม

และในเวลาต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ
ทรงมีพระราชประสงค์พระราชทานที่ดินแห่งนั้นให้เป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของที่ว่าการอำเภอกำแพงแสน
พร้อมกับพระราชทานพระตำหนักราชฤดีเพื่อนำไปใช้สร้างเป็นโรงเรียนประชาบาล
หรือหากทางการจะเปลี่ยนแปลงเป็นสุขศาลาประจำอำเภอก็ทรงไม่ขัดข้อง

พระวรราชชายาพระราชทานพระตำหนักและที่ดิน…ส่วนพระองค์

กระทั่ง พุทธศักราช ๒๔๘๒ ทางอำเภอกำแพงแสนจึงมีหนังสือราชการ
ที่ ๑๓๙๙/๒๔๘๒ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๒ กราบทูลขอพระราชทาน
พระตำหนักส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ ที่สวนราชฤดี นครปฐม
กับที่ดิน ๒๑ ไร่เศษ ที่ อ.กำแพงแสน พระองค์ก็ทรงพระราชทานให้ตามคำขอ
ดังสำเนาหนังสือลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๘๒

โดยการโอนที่ดิน ๒๑ ไร่เศษ ที่ประเมินราคาไว้ ๘๐๐ บาท ให้แก่กระทรวงธรรมการนั้น
ไม่ทรงขัดข้องและขอให้ทางอำเภอกำแพงแสนเป็นผู้จัดการ
รวมทั้งไม่ทรงขัดข้องให้รื้อพระตำหนักราชฤดี ซึ่งมีราคาประเมิน ๑๐,๐๐๐ บาท
เพื่อนำไปสร้างโรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านยาง (อินทรศักดิ์ศึกษาลัย)

โรงเรียนบ้านยาง (อินทรศักดิ์ศึกษาลัย) ซ่อมแซมเพิ่มเติมจากพระตำหนัก เมื่อ ๒๔๙๕

โรงเรียนบ้านยาง…อนุสรณ์สุดท้ายแห่งพระตำหนัก

แต่เดิมนั้นโรงเรียนบ้านยาง ใช้ชื่อเรียกตามชื่อหมู่บ้านคือบ้านยาง
ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑
เป็นโรงเรียนประชาบาล ประเภทอำเภอจัดตั้ง มีตัวอาคารเป็นศาลาดินมุงหลังคาจาก

เมื่อได้รับพระราชทานพระตำหนักราชฤดี จึงได้ใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนนับแต่นั้นมา
และทางราชการได้ตั้งนามโรงเรียนขึ้นใหม่โดยเพิ่มสร้อยพระนาม
ต่อท้ายชื่อเดิมของโรงเรียน เรียกว่า โรงเรียนบ้านยาง (อินทรศักดิ์ศึกษาลัย)
และปัจจุบันใช้ว่า “โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย (บ้านยาง)”

พุทธศักราช ๒๔๘๓ เมื่อย้ายที่ว่าการอำเภอจาก ต.สามแก้ว มายัง ต.ทุ่งกระพังโหม
ทางอำเภอได้ขอใช้พระตำหนักเป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว
และให้โรงเรียนใช้อาคารเรียนหลังคามุงจากซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงนั้นเป็นการชั่วคราว
กระทั่งที่ว่าการอำเภอสร้างแล้วเสร็จจึงย้ายนักเรียนมาเรียนที่พระตำหนักตามเดิม
นอกจากนี้ยังใช้ที่ดินปลูกสร้างสถานที่ราชการอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน เช่น สุขาภิบาล
สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ

การใช้พื้นที่ร่วมกันหลายหน่วยงานทำให้ทางโรงเรียนคงเหลือพื้นที่ใช้สอยไม่ถึง ๑๐ ไร่

ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ – ๒๔๙๙ จึงได้มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารพระตำหนัก
ให้เป็นอาคารเรียนแบบมีมุขสองด้าน มีระเบียงกลางกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
เพื่อขยายห้องเรียนรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น

ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๑๓ ทางโรงเรียนได้ก่อสร้างอาคารเรียนใหม่อีก ๑ หลัง ขนาด ๑๒ ห้องเรียน
จึงได้รื้อถอนพระตำหนักลง แต่ไม้ที่รื้อถอนยังมีคุณภาพดีจึงนำมาสร้างอาคารเรียนอีก ๑ หลัง ขนาด ๔ ห้องเรียน
แล้วเสร็จและเปิดทำการเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ เป็นต้นมา

พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ
ต่อชาวอำเภอกำแพงแสนดังได้กล่าวมานั้นหาที่สุดมิได้
ด้วยเหตุนี้ ในพุทธศักราช ๒๕๓๗ ริเริ่มโดยนายรังสรรค์ มหารมย์
ผู้อำนวยการโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย (บ้านยาง) ในขณะนั้น
ได้นำความคิดเรื่องการสร้างพระราชานุสาวรีย์เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ไปหารือคุณหยง ชูศิลป์กุล คุณราชัย ชูศิลป์กุล (กำนันตำบลกำแพงแสนขณะนั้น)
และคุณสยาม ศรีสันต์ สมาชิกสภาจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการโรงเรียนและศิษย์เก่า
ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน นำไปสู่การประชุมเพื่อเตรียมการครั้งแรก
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗

การดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากจังหวัด สืบเนื่องมาโดยลำดับ
กระทั่ง “พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา”
ในพระราชอิริยาบทประทับยืนฉลองพระองค์ชุดเสือป่า หล่อด้วยโลหะรมดำขนาดเท่าพระองค์จริงแล้วเสร็จ
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์
ณ บริเวณหน้าโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑

มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ

ในการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์นั้น มีเป้าหมายสำคัญของโครงการอีกประการหนึ่งคือ
การจัดตั้งกองทุนหรือมูลนิธิ เพื่อประโยชน์ต่อการบูรณะพระราชานุสาวรีย์
และเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ยากจนด้อยโอกาสทางการศึกษาของโรงเรียน
เพื่อสืบทอดพระราชปณิธานในการทะนุบำรุงการศึกษา
ตลอดจนสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ในท้องถิ่นตามความเหมาะสม

ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ มีอาจารย์ปัทมาวดี สุทัศน์ ณ อยุธยา เป็นประธาน
โดยมีที่ทำการตั้งอยู่ที่บ้านยาง ต.กำแพงแสน อ.กำแพงแสน นครปฐม

วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๘ พระชนมายุ ๗๓ พรรษา
ชาวอำเภอกำแพงแสน จึงกำหนดให้เป็น “วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยในทุกๆ ปี จะร่วมกันจัดพิธีสักการะ
มีการถวายพวงมาลาและกล่าวสดุดีรำลึกถึงพระเกียรติคุณ ณ บริเวณลานหน้าพระราชานุสาวรีย์

————————————————–

ข้อมูลอ้างอิง

เจรียง (อากาศวรรธนะ) ลัดพลี. (๒๕๒๔). ราชฤดี, สวน. ใน คณะกรรมการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๘ รอบ และ ๑๐๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (หน้า ๕๒๓ – ๕๒๖). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฯ.

คณะกรรมการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาฯ. (๒๕๔๑). พิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. นครปฐม: โรงพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.

บริษัท ไทยทัวร์ อินโฟ. (๒๕๔๐). อำเภอเมืองนครปฐม, นครปฐม. เรียกใช้เมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ จาก Thai-Tour.com: http://place.thai-tour.com/nakhonpathom/mueangnakornpathom

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *