ขอบเขตการดำเนินงาน

 ขอบเขตการดำเนินงาน

ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก มีนโยบายในการแสวงหา รวบรวม จัดเก็บ จัดทำ ตลอดจนส่งเสริม ฟื้นฟู และอนุรักษ์สารสนเทศท้องถิ่นให้คงอยู่ และสามารถใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น ประเทศชาติ ทั้งประเภทสิ่งตีพิมพ์ และไม่ตีพิมพ์ โดยครอบคลุมเนื้อหาอันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค ๑๖ ด้าน ภายใต้ขอบเขตพื้นที่ และขอบเขตข้อมูลสารสนเทศ  ดังนี้

ขอบเขตพื้นที่

สารสนเทศที่ให้บริการในศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ “ภูมิภาคตะวันตก” ตามแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ หมายถึง บริเวณซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ๘ จังหวัด คือ กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี

ขอบเขตข้อมูลสารสนเทศ

ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ให้บริการสารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาคตะวันตก ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นสารสนเทศที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนการอนุรักษ์ ส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “ภูมิปัญญาไทย” ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดจาก “รายงานการศึกษากรอบความคิดการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย” ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้นำมาใช้เพื่อประกอบโครงการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย กับแนวคิดด้านภูมิปัญญาไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแบ่งภูมิปัญญาไทย ออกเป็น ๙ ด้าน โดยปรับประยุกต์ร่วมกับแนวคิดด้านสารสนเทศที่สำคัญอื่นๆ ของท้องถิ่น กำหนดเป็นขอบเขตข้อมูลอันแสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกใน  ๑๖ ด้าน  คือ

๑. ด้านภาษาและวรรณกรรม ได้แก่ องค์ความรู้ ได้แก่ ผลงานการอนุรักษ์และสร้างสรรค์งานด้านภาษา คือ ภาษาถิ่น ภาษาไทยในภูมิภาค รวมถึงวรรณกรรมท้องถิ่น สารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรตหนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่น เป็นต้น

๒. ด้านเกษตรกรรม ได้แก่ องค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคแบบดั้งเดิมในการเพาะปลูกพืช พืชสวน พืชไร่ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคในด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ปัญหาการเกษตรด้านการตลาด การแก้ปัญหาด้านการผลิต การรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตร รวมทั้งสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

๓. ด้านปรัชญา ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น วัด รวมเครื่องราง ของขลังที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของท้องถิ่นนั้นๆ ปรัชญา ความเชื่อ ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

๔. ด้านการละเล่น การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี และนันทนาการ ได้แก่ การละเล่นพื้นบ้าน เช่น การแข่งวัวลาน การเล่นโม่ง การทอยสะบ้า การเล่นคอน หุ่นกระบอก การละเล่นของหลวง เช่น หนังใหญ่ เพลงพื้นบ้าน เช่น เพลงปรบไก่ เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย

๕. ด้านศิลปกรรม ได้แก่ ผลงานการอนุรักษ์และสร้างสรรค์งานด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ทัศนศิลป์ ประณีตศิลป์ สถาปัตยกรรม คีตศิลป์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

๖. ด้านอาหารและโภชนาการ ได้แก่ การเลือกสรร การประดิษฐ์ การปรุงแต่งอาหาร โภชนาการ นำไปสู่การผลิตเป็นสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ได้รับความนิยมแพร่หลาย ตลอดจนสามารถขยายคุณค่าเพิ่มของทรัพยากรท้องถิ่น

๗. ด้านการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การจัดการป้องกัน การรักษาสุขภาพของคนในท้องถิ่น ที่เน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่น ยาจากสมุนไพร การนวดแผนโบราณ การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน

๘. ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตของท้องถิ่น ซึ่งเป็นขบวนการที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานสับปะรด ตลอดจนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตหัตถกรรมท้องถิ่น กลุ่มหัตถกรรมต่างๆ รวมทั้งผลกระทบ และปัญหาข้อพิพาทของอุตสาหกรรมต่อชุมชนในท้องถิ่น

๙. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน รวมทั้งปัญหา ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ เช่น การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำและป่าชุมชน ปัญหาการทำลายทรัพยากร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยธรรมชาติ สาธารณภัย การป้องกัน/บรรเทา/ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วม เป็นต้น

๑๐. ด้านกองทุน ธุรกิจชุมชน และสวัสดิการ ได้แก่ การดำเนินการและการบริหารจัดการในกิจการต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคน เช่น กองทุนในท้องถิ่น กองทุนหมู่บ้าน ธุรกิจชุมชน  สวัสดิการชุมชน รวมทั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต (ไม่รวมสหกรณ์การเกษตร) เช่น การจัดการกองทุนของชุมชนในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของชุมชน การจัดระบบสวัสดิการบริการชุมชน

๑๑. ด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การส่งเสริม สนับสนุน การอนุรักษ์ฟื้นฟูและเผยแพร่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์ทางทะเล พิพิธภัณฑ์ของเล่น ฯลฯ หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงท่องเที่ยว เป็นต้น

๑๒. ด้านการเมือง / การปกครอง ได้แก่ ข้อมูลที่สำคัญ ตลอดจนประเด็นที่อยู่ในความสนใจโดยทั่วไปในด้านการเมือง การปกครอง นักการเมือง โดยเน้นการเมืองการปกครองในระดับท้องถิ่น และที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาชุมชน พัฒนาท้องถิ่น ปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด การป้องกันและควบคุมปัญหา ตลอดจนแผนพัฒนาในด้านต่างๆ

๑๓. ด้านการศึกษา ได้แก่ การจัดการศึกษา กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่น เพื่อให้สามารถนำไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพสังคม เศรษฐกิจของท้องถิ่น และเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ

๑๔. ด้านชาติพันธุ์ / ชนกลุ่มน้อย ได้แก่ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สังคม ชุมชน ความเป็นอยู่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ภาษาและวรรณกรรม ปัญหาและข้อพิพาท รวมทั้งผลกระทบและการได้รับผลกระทบของชนกลุ่มน้อย

๑๕. ด้านบุคคลสำคัญ ได้แก่ ประวัติบุคคลที่เกิดในท้องถิ่นรวมถึงพระสงฆ์ ที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างผลงานในพื้นที่ภูมิลำเนา รวมทั้งบุคคลที่แม้มิได้เกิดในท้องถิ่น แต่มาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและทำคุณประโยชน์ ทำผลงานให้แก่ท้องถิ่นนั้นๆ จนเป็นที่ประจักษ์

๑๖. ด้านประวัติศาสตร์ / โบราณคดี ได้แก่ เรื่องราวของประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี