ปูรณฆฏาศรีทวารวดี…อัตลักษณ์ผ้าไทยแห่งปฐมนคร

อัตลักษณ์ความเป็นไทยนั้นแสดงออกได้ในหลากรูปแบบ แต่ละชุมชนท้องถิ่น
ต่างมีอัตลักษณ์อันบ่งบอกถึงตัวตนของชุมชนนั้น ๆ สืบทอด ส่งต่อ
เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงามจากรุ่นสู่รุ่น ความชัดเจนในอัตลักษณ์ท้องถิ่น
จึงมักสื่อผ่านจากภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่แฝงอยู่ในวิถีการดำรงชีวิตแห่งชุมชนนั้น

ผ้า นับเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ถูกนำมาใช้สนองปัจจัยในชีวิตประจำวัน
โดยการประดิษฐ์เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ ต่าง ๆ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป
การรับเอาวัฒนธรรมตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่หลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน
ทั้งในระดับท้องถิ่น-ประเทศ ทั้งจากสังคมภายใน-ภายนอกประเทศ
ล้วนส่งผลให้วัฒนธรรมการใช้ผ้าทอพื้นเมืองของไทยเจือจางลง
จนถึงสูญสิ้นไปในหลาย ๆ แห่ง

จึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญและรณรงค์ ให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟู
ผ้าทอพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ รวมถึงส่งเสริมการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย
เพื่อให้เกิดการใช้ผ้าทอพื้นเมืองไทย ผ้าพื้นถิ่น ตลอดจนเร่งขับเคลื่อนการพัฒนา
ไปสู่ระดับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมอย่างมีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ด้านการออกแบบลวดลายและแฟชั่น เพื่อยกระดับผ้าทอพื้นเมืองไทยสู่สากล
ภายใต้วิสัยทัศน์ วัฒนธรรม ทำดี ทำงาน ทำเงิน เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรม
สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ
ตลอดจนเผยแพร่ไปสู่ระดับนานาชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า วัฒนธรรมกินได้
อันมิใช่เพียงการสร้างผลงานให้แล้วเสร็จตามใบสั่ง ด้วยสิ่งที่จะขับเคลื่อน
ให้วัฒนธรรมดำรงอย่างยั่งยืนนั้น คือ คนผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่ต้อง
ดำรงชีพเลี้ยงปากท้อง หากหลากสิ่งอันเรียกว่าวัฒนธรรมสร้างให้เขาอยู่รอด
ความมีและคงอยู่ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นก็จะไม่สูญไปดังที่เห็นและเป็นอยู่เสมอมา

ที่มาลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดครั้งแรกของประเทศ
ในปี 2565 นี้ นับเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลดำริจัดงานเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม
ที่จะถึงนี้ด้วยการร่วมกับ 76 จังหวัด รวบรวมและสร้างสรรค์ลายผ้าอัตลักษณ์
ประจำจังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ พร้อมจัดทำหนังสือ
ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล

กระทรวงวัฒนธรรมโดยมอบหมายจากรัฐบาลจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ
ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมกับจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัด
เครือข่ายชุมชนทางวัฒนธรรม ดำเนินการรวบรวม คัดเลือก และสร้างสรรค์ลายผ้า
ที่แสดงถึงอัตลักษณ์และสะท้อนมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี
และประวัติศาสตร์อันโดดเด่นของแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาเผยแพร่ด้วยการ
ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เช่น ชุดผ้าไทย ชุดลำลอง ชุดราตรี เป็นต้น โดยจะร่วมมือ
กับนักออกแบบและดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงของไทยในการสร้างสรรค์ผลงาน

ในการจัดงานครั้งนี้จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล การแสดงแบบผ้าไทยซึ่งตัดเย็บจาก
ลายผ้าอัตลักษณ์ไทย 76 จังหวัด การสาธิตการทอผ้า การออกร้านจำหน่าย
ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย กิจกรรมเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผ้าไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกแห่ง จัดกิจกรรม
เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด และผ้าไทย
ไปสู่เด็ก เยาวชนและประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ
เอกชน ชุมชน และเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์
และสร้างการรับรู้พระราชกรณียในการอนุรักษ์ผ้าไทยของ
สมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การดำเนินงานของจังหวัดนครปฐม
การรวบรวมและสร้างสรรค์ลายผ้าอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดนั้น
บางแห่งมีลายผ้าดั้งเดิมซึ่งเป็นลายประจำจังหวัดอยู่แล้ว บางแห่งที่ยังไม่มี
จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันคิดค้นขึ้นใหม่ เช่น จังหวัดนครปฐม
สร้างสรรค์ลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” จากลวดลายบนเหรียญตรา
และโบราณวัตถุสมัยทวารวดี จังหวัดกำแพงเพชร สร้างสรรค์ลาย “ศิลาล้อมเพชร”
จากประติมากรรมต่าง ๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดนครปฐม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม
ได้จัดประชุมคณะกรรมการดำเนินงานค้นหาและพัฒนาอัตลักษณ์ผ้าไทย
ผ้าพื้นเมือง จังหวัดนครปฐม ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565
ณ ห้องประชุมพิมานปฐม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครปฐม โดยมีนายธนิศร์
วงศ์ปิยะสถิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานการประชุมฯ
พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนงาน ส่วนราชการจังหวัดนครปฐม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำท้องถิ่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย หน่วยงานภาคเอกชน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม เข้าร่วมประชุม

ต่อมา วันที่ 20 มกราคม 2565 ได้จัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอความเห็นชอบ
ในการคัดเลือกลายผ้าประจำจังหวัดนครปฐม ที่นำแนวคิดอัตลักษณ์ของจังหวัดนครปฐม
อาทิ ศิลปะสมัยทวารวดี ของดีประจำจังหวัด วิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดมาใช้
ในการออกแบบ โดยมีผู้ร่วมประชุม อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว
ประธานสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ. ประภากร สุคนธมณี อ.ประจำภาควิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์กฤติยา แก้วสะอาด อาจารย์ประจำสาขาออกแบบนิเทศศิลป์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ร่วมกันหารือ

ประกาศจังหวัดนครปฐมให้ ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดี เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565

ปูรณฆฏะ…หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์
ภายหลังการประชุม จังหวัดนครปฐมได้มีประกาศ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ให้
ลาย ปูรณฆฏาศรีทวารวดี (อ่านว่า ปู-ระ-นะ-คะ-ตา-สี-ทะ-วา-ระ-วะ-ดี)
หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ลายหม้อน้ำ เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
ซึ่งชื่อลายนั้นมีความหมาย คือ จังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนอารยธรรมสมัยทวารวดี
ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งสภาพแวดล้อม พืชพรรณ ธัญญาหาร และมีความหลากหลาย
ของกลุ่มชาติพันธุ์ ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดีนี้ นอกจากจะมีรูปหม้อน้ำปูรณฆฏะ
เป็นลายหลักแล้ว ยังมีลายประกอบ คือ กวางหมอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์
ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาของจังหวัดนครปฐมด้วย

องค์ประกอบหลักของลาย ปูรณฆฏาศรีทวารวดี คือ หม้อน้ำปูรณฆฏะ หรือ
ปูรณกลศ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อของชาวอินเดียโบราณ หมายถึง
ความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง ด้วยคำว่า ปูรณะ ตามรากศัพท์สันสกฤต
หมายถึง ความสมบูรณ์ มั่งคั่ง และ กลศ (กะ-ละ-สะ ในภาษาสันสกฤต
แปลว่า หม้อน้ำ อ่านตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 หน้า 75 ว่า กฺลด)
หมายถึง ภาชนะใส่น้ำเทพมนตร์ของพราหมณ์ มีลักษณะเหมือนคนโท มีฝาปิด
มีพวยอย่างกาน้ำเรียกว่า หม้อกลศ ซึ่งกล่าวความหมายโดยรวมได้ว่า
หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ สัญลักษณ์นี้จึงมีลักษณะเป็นหม้อน้ำที่เต็มบริบูรณ์
มีไม้เลื้อยออกมาทั้งสองข้าง แสดงถึงการกำเนิดของชีวิต หรือการสร้างสรรค์
อันนับเป็นสัญลักษณ์มงคล

ปูรณกลศในงานประติมากรรมแผ่นดินเผาภาพคชลักษมี พบที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

ปูรณฆฏะ…สัญลักษณ์มงคลที่นครปฐม
จังหวัดนครปฐมเป็นดินแดนสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี มีการพบสัญลักษณ์
หม้อน้ำปูรณฆฏะ หรือ ปูรณกลศ ดังบทความและภาพประกอบ
เรื่อง ปูรณกลศ : สัญลักษณ์มงคลในสมัยทวารวดี ซึ่งเผยแพร่บน
เว็บไซต์เหรียญกษาปณานุรักษ์ กรมธนารักษ์ โดย
คุณณัฐิกานต์ จันต๊ะยอด ภัณฑารักษ์ ได้กล่าวว่า

“ปูรณกลศในงานประติมากรรมแผ่นดินเผาภาพคชลักษมี พบที่พระปฐมเจดีย์
จังหวัดนครปฐม ปรากฏรูป ปูรณกลศที่สื่อความหมายถึงพิธีกรรมของกษัตริย์
เพื่อยกฐานะให้เทียบเท่าเทพเจ้านั่นคือ พิธีราชสูยะ (พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์อินเดีย
สมัยโบราณ) อยู่บนแผ่นดินเผาลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางล้อมด้วย
กลีบบัว 2 ชั้น ตอนบนสลักเป็นคชลักษมี ถัดลงมาเป็นรูปแส้ (จามร) วัชระ
ขอสับช้าง (อังศุกะ) พักโบก (วาลวิชนี) ฉัตร ปลา และสังข์อย่างละคู่
และมีหม้อน้ำปูรณกลศอยู่ด้านล่าง ตรงมุมทั้ง 4 ทำเป็นรูปดอกบัวเสี้ยวเดียว
ซึ่งสันนิษฐานว่า ใช้สำหรับรองรับหม้อน้ำปูรณกลศ เพื่อใช้สรงน้ำเทพ
และเทพีในพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ทวารวดี”

ลายต้นแบบ สำหรับผ้าทอมัดหมี่
ลายต้นแบบลงสี สำหรับผ้าทอมัดหมี่
ตัวอย่างผ้าทอมัดหมี่
ลายต้นแบบให้สี สำหรับผ้าจกก่อนทอจริง
ตัวอย่างผ้าจก

แนวคิดการออกแบบ
นายเก่งกาจ ต้นทองคำ อาจารย์สาขาศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบ
ลายผ้าที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของจังหวัดนครปฐม ได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ
และเล็งเห็นว่าอาณาจักรทวารวดีซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน
เป็นดินแดนที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มีการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผา
และเครื่องใช้โบราณมากมาย และโบราณวัตถุบางส่วนพบว่ามี
ลวดลายปูรณฆฏะปรากฏบนเหรียญตรา อีกทั้งประติมากรรมประดับบนโบราณวัตถุ
สมัยทวารวดี บ่งบอกถึงความเจริญ ความอุดมสมบูรณ์ในยุคนั้น จึงนำมาเป็นแนวทาง
ในการออกแบบลาย “ปูรณฆฏาศรีทวารวดี” โดยนำมาประยุกต์ร่วมกับ
ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา เพื่อเป็นผ้าต้นแบบของจังหวัดนครปฐม
นอกจากนี้คณะทำงานเลือกใช้สีที่ได้มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิ
ใบส้มโอ เปลือกมะพร้าวน้ำหอม ผลสาละ ดอกดาวเรือง ใบมะเดื่อ
ซึ่งนอกจากจะหาได้ในท้องถิ่นแล้ว ยังปลอดภัยกับผู้ใช้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ลายพระราชทาน เพื่อใช้ประยุกต์ร่วมเป็นผ้าต้นแบบของจังหวัด
นางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม  ให้เกียรติถ่ายภาพ แสดงผ้าตัวอย่าง “ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดี”

เบื้องหลังแห่งรังสรรค์ผ้าอัตลักษณ์ “ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดี”
ในการดำเนินการเพื่อให้ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐมเกิดเป็นรูปธรรมขึ้น
บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้สนับสนุนงบประมาณ
สำหรับผลิตผ้าตันแบบ เป็นเงินจำนวน 28,500 บาท โดยใช้เทคนิคการผลิต 2 แบบ
คือ แบบที่ 1 เทคนิคการมัดหมี่ ผ้าฝ้ายพื้นสีคราม ลายสีขาว ขนาด 90 x 200 เซนติเมตร
มอบหมายให้นายกมนพรรธน์ บ่อแก้ว ผู้นำกลุ่มผ้าทอมือศรีอุทุมพร ซึ่งตั้งอยู่
ณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม วัดโพรงมะเดื่อ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม
เป็นผู้ทอ และแบบที่ 2 เทคนิคการจก ผ้าฝ้ายพื้นสีฟ้าจกด้วยไหม ขนาด 35 x 90 เซนติเมตร
มอบหมายให้นายวรุฒม์ มั่นพรม ผู้นำกลุ่มวงเตือน ผ้าจกไท-ยวน
ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้าที่บ้านท่าเสา ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน
จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ทอ

ผู้เขียนขณะสัมภาษณ์ นางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

ภายหลังการออกแบบลายผ้าแล้วเสร็จ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้รับมอบผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดนครปฐม
“ลายปูรณฆฏาศรีทวารวดี” จากนางณัฏฐ์ปภาณ จันทร์ละมูล
ประธานบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 โดยมีการส่งมอบผ้าต้นแบบ ทอลายมัดหมี่
จำนวน ๒ ผืน และทอลายจก จำนวน ๒ ผืน ให้แก่จังหวัดนครปฐมนำไปเป็นต้นแบบ
ในการผลิต เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนได้สวมใส่ผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัด
อย่างกว้างขวาง อันจะส่งผลให้เกิดการสืบสาน รักษา พัฒนา ต่อยอด
ตลอดจนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทอผ้า
และชุมชนในจังหวัดนครปฐมต่อไป

หมายเหตุ: ขอขอบคุณข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม จากการสัมภาษณ์
นางสาวอรพร คัมภีรศาสตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ณ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม


บรรณานุกรม
อรพร คัมภีรศาสตร์. (การสื่อสารส่วนบุคคล, 9 พฤษภาคม 2565).

ณัฐิกานต์ จันต๊ะยอด. (25 สิงหาคม 2561). ปูรณกลศ : สัญลักษณ์มงคลในสมัยทวารวดี. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2565,
จาก http://coinmuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=152

คอลัมน์ท้องถิ่น. (4 พฤษภาคม 2565). นครปฐมชู ‘ปูรณฆฏาศรีทวารวดี’ ผ้าลายอัตลักษ์จังหวัด ใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น.
เดลินิวส์ ออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2565, จาก https://www.dailynews.co.th/news/1014447/?fbclid=IwAR01Ygatn3A5ihJ2zV-ur9I1HRlkyO05Yv4PV9XSy2pIUYiycRbACDKtAo4

Thailand Plus Online. (4 พฤษภาคม 2565). วธ.ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นออกแบบลายผ้าประจำจังหวัด. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2565,
จาก  https://www.thailandplus.tv/archives/528276?fbclid=IwAR3As3JX-tREV7apZ4w2rEzVWEE0XiHc5Rh0IJmR1bkSsddMLyv_OKezkZk

ผ้าทอ ไฮโซ วัดโพรงมะเดื่อ. (2565, 14 กุมภาพันธ์). หน้าหลัก. [ลวดลายอัตลักษณ์จังหวัดนครปฐม “ปูรณฆฏาศรีทวารดี”]. เฟสบุ๊ค.
เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/ผ้าทอ-ไฮโซ-วัดโพรงมะเดื่อ-486499915203054/photos/pcb.1318908048628899/1318908028628901

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *