เจริญศรัทธา…สะพานแห่งศรัทธาของผู้เจริญ


การประดับประดา “สะพานเจริญศรัทธา” ในวันพระราชพิธีเปิดสะพาน

    
ซุ้มประตู (ภาพขวา หากสังเกตจากภาพนำเรื่องจะเห็นอยู่ตำแหน่งกลางภาพไกลๆ) 
ซุ้มนี้สร้างขึ้นประดับในโอกาสเสด็จฯ เปิด “สะพานเจริญศรัทธา” และเสด็จฯ ข้ามมานมัสการพระปฐมเจดีย์ 
เป็นซุ้มที่สร้างด้วยไม้แกะสลัก เลียนแบบซุ้มประตูทิศเหนือ (ภาพซ้าย) ที่สถูปสาญจี อินเดีย

รำลึก ๑๐๐ ปี แห่งสะพานเจริญศรัทธา
จากประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๕ หน้า ๒๘๒๕ – ๒๘๒๗ วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๖๑ เรื่อง พระราชวังสนามจันทร์ ลงวันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แจ้งว่าเวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ แปรพระราชสำนักโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งพิเศษมา ประทับแรม ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา ซึ่งได้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เนื่องในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา ในพุทธศักราช ๒๔๖๑

  
คำกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานขึ้นในจังหวัดนครปฐม

ธ เสด็จขบวนม้า…คราเปิดสะพาน
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟมาทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา เมื่อรถไฟพระที่นั่งเทียบสถานีนครปฐม มีข้าราชการฝ่ายทหาร เสือป่าและพลเรือนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จางวางตรีพระยามหินทรเดชานุวัตน์[1] สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรีทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชสาตราประจำมณฑลนครไชยศรี จากนั้นทรงเสด็จฯ ด้วยขบวนรถม้าพระที่นั่งจากถนนรถไฟถึงสะพานเจริญศรัทธา ทรงเสด็จขึ้นประทับบนพลับพลา


พลับพลาที่ประทับ พระราชพิธีทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา    


ภาพล้อฝีพระหัตถ์ รัชกาลที่ ๖ พระยามหินเดชานุวัตน์
แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการกรมมหาดเล็ก ยศชั้นจางวางตรี
มือขวาถือคำกราบบังคมทูลพระกรุณาอัญเชิญทรงเปิดสะพานเจริญศรัทธา

            จางวางตรีพระยามหินทรเดชานุวัตน์ อ่านคำกราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานคอนกรีต เป็นถาวรวัตถุขึ้นในจังหวัดนครปฐม จากนั้นทรงมีพระราชดำรัสตอบแสดงความพอพระทัยที่การสร้างสะพานสำเร็จลุล่วง และการที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานอันเป็นถาวรวัตถุนอกพระนครขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดนครปฐมนั้น ด้วยเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ ทรงโปรดฯ ใช้จังหวัดนครปฐมเป็นที่แปรพระราชสำนัก ทรงพักผ่อนพระราชอริยาบถ และอีกประการที่สำคัญ คือ จังหวัดนครปฐมเป็นที่ประดิษฐานพระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน การเปิดสะพานนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการคมนาคมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการพาณิชย์ และที่สำคัญพุทธศาสนิกชนต่างได้อาศัยสะพานแห่งนี้ข้ามไปบูชาพระปฐมเจดีย์
            จากนั้นทรงเสด็จฯ ไปยังสะพาน ทรงตัดแพรแถบขึงสะพานด้วยรูปธรรมจักร ทรงเปิดผ้าคลุมนามสะพาน และเสด็จพระราชดำเนินข้ามสะพานด้วยขบวนรถม้าพระที่นั่งเป็นปฐมฤกษ์ไปทรงสักการบูชาพระปฐมเจดีย์ และเสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชวังสนามจันทร์ ประทับแรม ณ พระที่นั่งวัชรีรมยา และย้ายมาประทับที่พระที่นั่งพิมานปฐม ในวันที่ ๑๕ มกราคม จนถึงเวลาที่เสือป่าเริ่มเข้าค่ายประจำปี ในวันที่ ๒๑ มกราคม จึงเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ทรงตรวจพลเสือป่าเป็นการเริ่มฤดูการซ้อมรบ สภาพพระราชวังที่ประทับจึงพลันเปลี่ยนเป็นค่ายหลวงเพื่อการซ้อมรบเสือป่าประจำปี

สะพาน “เจริญ”
เฉลิมพระชันษา
            ในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์สร้างถาวรวัตถุเนื่องในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำทุกปี ดังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงกล่าวเกี่ยวกับพระราชนิยมในการสร้างสะพานของพระราชบิดาปรากฎความในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖”[2] ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนได้นำต้นฉบับมาพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ มีข้อความหน้า ๑๓๑ – ๑๓๒ กล่าวถึงช่วงปลาย พ.ศ. ๒๔๕๓ ว่า ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน เวลาบ่ายได้เสด็จฯ เปิดสะพานเฉลิมเดช ๕๗ ซึ่งค้างมาแต่รัชกาลที่ ๕ และกล่าวถึงเหตุแห่งการสร้างสพาน “เฉลิม” ว่าเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นปลายรัชกาลที่ ๕ ด้วยทรงเห็นว่าการพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทานแก่คนจน ซึ่งเฉลี่ยได้เพียงคนละเล็กน้อยตามประเพณีในรัชกาลก่อนนั้น ไม่เกิดผลจริงจังอะไร จึงทรงเปลี่ยนมาพระราชทานเงินเป็นก้อนเพื่อสร้างสะพานแทน


ถนนจากสถานีรถไฟนครปฐม ก่อนสร้างสะพานเจริญศรัทธา และยังไม่ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
อาคารขวามือของภาพคือโฮเต็ลพระปฐม


ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการสร้างถาวรวัตถุเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศอันประจักษ์ชัดแจ้งด้วยสายตา ดังเห็นได้ว่าในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารต่างๆ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนทั้งในพระนครและหัวเมืองต่างๆ ให้ประชาชนได้สัญจรโดยสะดวก แต่การตัดถนนเมื่อมาจรดคูคลองก็มักจะหยุดลงเพียงนั้นด้วยยังไม่มีวิทยาการทัดเทียมต่างประเทศการจะสร้างสะพานถาวรจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย กระทั่งถึงคราวเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างสะพานอันมีนามขึ้นต้นว่า “เฉลิม” ลงท้ายด้วยตัวเลขบอกพระชนมพรรษา นับแต่ทรงเจริญพระชันษาได้ ๔๒ พรรษากระทั่งเสด็จสวรรคต  สะพานชุด “เฉลิม” ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระนคร มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๗ สะพาน[3]  ดังนี้ สะพานเฉลิมศรี ๔๒ สะพานเฉลิมศักดิ์ ๔๓ สะพานเฉลิมเกียรติ ๔๔ สะพานเฉลิมยศ ๔๕ สะพานเฉลิมเวียง ๔๖ สะพานเฉลิมวัง ๔๗ สะพานเฉลิมกรุง ๔๘ สะพานเฉลิมเมือง ๔๙ สะพานเฉลิมภพ ๕๐ สะพานเฉลิมพงษ์ ๕๑ สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ สะพานเฉลิมภาคย์ ๕๔ สะพานเฉลิมโลก ๕๕ สะพานเฉลิมหล้า ๕๖[4] สะพานเฉลิมเดช ๕๗[5] และสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘[6] สะพานชุด “เฉลิม” นี้ ต่อมาเมื่อมีการถมคลองเพื่อขยายถนนส่วนใหญ่ได้ถูกรื้อถอนไป บางสะพานคงอยู่แต่รูปทรงถูกเปลี่ยนไป เช่น สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ สะพานเฉลิมโลก ๕๕ สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ (นิยมเรียกว่า สะพานหัวช้าง) เป็นต้น


สะพานเจริญรัช ๓๑

            พระราชนิยมในการสร้างสะพาน และใช้ชื่อเป็นชุดนี้ เมื่อล่วงเข้ารัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระราชบิดา ในการสร้างสะพานโดยขนานนามขึ้นต้นด้วย “เจริญ” ตามด้วยตัวเลขพระชนมพรรษา และมีพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ประดับที่ราวสะพานทั้งสองฝั่ง เช่นเดียวกับพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ของสะพานชุด “เฉลิม” โดยสะพานชุด “เจริญ” ได้สร้างขึ้นในพระนคร จำนวนทั้งสิ้น ๖ สะพาน[7] เริ่มตั้งแต่พระชนมายุ ๓๑ พรรษา ดังนี้ สะพานเจริญรัช ๓๑ สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ สะพานเจริญศรี ๓๔ สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ และสะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖
            ภายหลังจากทรงสร้างสะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ แล้ว ทรงมีพระราชดำริว่าสะพานในพระนครมีมากเพียงพอต่อการใช้งานในขณะนั้นแล้ว จึงยุติการสร้างสะพานเจริญในพระนคร ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๕๙ ปีถัดมาในพุทธศักราช ๒๔๖๐ เมื่อพระชนมมายุ ๓๗ พรรษา ทรงมีพระราชดำรัสขณะเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ พระราชวังสนามจันทร์ ให้จางวางตรีพระยามหินทรเดชานุวัตน์ สร้างสะพานนาม “เจริญ” ที่จังหวัดนครปฐม ชื่อว่า “สะพานเจริญศรัทธา” และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดช่างผู้ชำนาญจากพระนครมาร่วมสร้าง สะพาน อันเป็นสะพานนาม “เจริญ” แห่งเดียวที่สร้างขึ้นในหัวเมือง และอาจนับได้ว่าเป็นสะพานชุด “เจริญ” ลำดับสุดท้าย ในช่วงท้ายๆ รัชกาล โดยทรงเปิดสะพาน ๗ ปี ก่อนสิ้นรัชกาล
            นอกจากจะทรงยุติการสร้างสะพาน “เจริญ” ในกรุงเทพฯ และมาสร้างสะพาน “เจริญ” นอกพระนครที่นครปฐมแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยังประโยชน์ด้านอื่นๆ บ้าง เพื่อให้เกิดความสุขแก่ประชาชนโดยถ้วนหน้า จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมการสร้างสะพานในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสาธารณะกุศลอย่างอื่นแทน โดยทรงเริ่มจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อครั้งเสด็จฯ เลียบมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๖๐ พระราชทานนามว่า “วชิระพยาบาล”

นครปฐมมีสะพานทรงพระศรัทธาสง่างาม…แต่ไร้ถนนหนทางถึงพระนคร
            ความผูกพันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับจังหวัดนครปฐม ในฐานะองค์รัชทายาทที่ทรงทำหน้าที่ดูแลการบูรณะพระปฐมเจดีย์ที่ยังคงไม่แล้วเสร็จโดยทรงงานต่อจากรัชสมัยของพระอัยกา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น นอกจากลายพระราชหัตเลขาซึ่งปรากฎในเอกสาร เรื่อง การแก้ไขวิหารหลวงตอนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “ในรัชกาลที่ ๕ ฉันได้ออกไปพักอยู่ที่เมืองนครปฐมบ่อยๆ จึงได้ใฝ่ใจในองค์พระนั้นมากแต่นั้นมา”[8]แล้ว ประจักษ์พยานอีกอย่าง คือ ทรงเสด็จแปรพระราชสำนักมาที่นครปฐมอยู่เสมอ ด้วยเหตุแห่งชัยภูมิที่เป็นมงคลและเหมาะในวิถีแห่งการยุทธ์ที่ทรงมุ่งมั่นที่จะสร้างนครปฐมเป็นเมืองหลวงสำรองที่สองหากเกิดวิกฤตการณ์ใดใดในพระนคร ดังจะเห็นได้ว่า ตลอดรัชสมัยพระราชกิจสำคัญในนครปฐมเกี่ยวกับกิจการเสือป่า คือ การซ้อมรบเสือป่าโดยมีพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่บัญชาการตราบจนสิ้นรัชกาล
            ทั้งนี้ ในการสร้างสะพานเจริญศรัทธานั้น มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า อาจเป็นความตั้งพระทัยปรับปรุงทางคมนาคมด้านสถานีรถไฟนครปฐมให้สง่างาม เป็นเส้นทางหลักรองรับการคมนาคมจากกรุงเทพฯ มายังนครปฐม ดังมีเหตุให้สันนิษฐานข้อสนับสนุนว่าไม่มีพระราชประสงค์ให้มีถนน หรือ การคมนาคมใดใดจากกรุงเทพฯ มายังพระปฐมเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศสำคัญในครั้งรัชกาลก่อนๆ ที่จะทรงเสด็จขึ้นนมัสการพระปฐมเจดีย์ในทิศนี้ จึงทรงหันเหความสำคัญไปสู่ทิศเหนือภายหลังการตัดเส้นทางรถไฟสายใต้สมัยรัชกาลที่ ๕ ในพุทธศักราช ๒๔๔๕ เป็นต้นมา กล่าวคือ ถนนจากพระปฐมเจดีย์ไปทิศตะวันออกซึ่งจะเชื่อมต่อถึงกรุงเทพฯ แม้เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยพระองค์ก็ยังคงสิ้นสุดเพียงบริเวณพระประโทน ขณะแม้บริเวณดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียงจะทรงแสวงหาที่ดินส่วนพระองค์สำหรับใช้เป็นที่ประทับ โดยการซื้อที่ดินจากชาวบ้านและสร้างพระตำหนักขึ้นถึง ๒ แห่งด้วยกัน คือ พระตำหนักสวนนันทอุทยาน[9] และพระตำหนักราชฤดี[10] ก็ตาม
            ข้อสังเกตอีกประการเรื่องการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ เห็นได้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ให้มีถนนหนทางขึ้นในจังหวัดธนบุรีเช่นกัน คงปล่อยให้เป็นยุทธภูมิธรรมชาติไว้ต้านทานข้าศึกและเมื่อมีการกราบบังคมทูลฯ การเตรียมงบประมาณสร้างสะพานข้ามแม่น้ำคือ สะพานพุทธยอดฟ้าในปัจจุบันก็ไม่ทรงเห็นด้วย แต่กลับให้สร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำ คือ สะพานพระราม ๖ แทน เนื่องจากไม่ทรงพระประสงค์จะขยายเมืองด้วยเกรงว่าประโยชน์จะตกแก่พวกล่าเมืองขึ้น และแม้ภายหลังต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๗ จะได้สร้างสะพานพุทธยอดฟ้าขึ้นแล้ว ความเจริญในฝั่งธนบุรีก็มีมากขึ้น แต่การตัดถนนเชื่อมต่อมายังนครปฐมก็เพิ่งเกิดขึ้นหลังรัชสมัยล่วงมามากกว่า ๓๐ ปี ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปประเทศมหาอำนาจเริ่มปลดปล่อยอิสระภาพแก่เมืองขึ้นต่างๆ โดยลำดับ
            ทั้งนี้ หากจะหันกลับมองสถานการณ์ในช่วงพระชนม์ชีพของรัชกาลที่ ๖ ก็อาจจะทำความเข้าใจในน้ำพระทัยต่อชาติบ้านเมืองได้ไม่ยากนัก ความฝังพระทัยขณะพระชันษาเพียง ๑๓ พรรษา เมื่อเกิดวิกฤต ร.ศ.๑๑๒ ขึ้นในสยามประเทศ ขณะเดียวกันพระองค์ก็จำต้องทรงจากอ้อมกอดแผ่นดินแม่ไปศึกษาเล่าเรียนยังดินแดนตะวันตก ณ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลายาวนานนั้นมิอาจเลือนระลึกจำครั้งเยาว์วัย วิกฤตการณ์แห่งความสูญเสียนั้นคงตราตรึงในพระราชหฤทัยอย่างไม่มีวันลืม ดังทรงรับสั่งในการซ้อมรบเสือป่า ที่บ้านโป่งครั้งหนึ่งว่า

“ถ้าถึงเวลาคับขันเมื่อใด จะเลือกเอาการเสียชาติ หรือ เสียชีวิต
เมื่อนั้นเจ้าทั้งหลายที่ยืนอยู่นี้ จะไม่ได้เห็นเรามีชีวิตภายหลังเสียชาติเลย”

   
สมัยรัชกาลที่ ๕ สะพานข้ามคลองเจดีย์บูชาเป็นสะพานไม้                                                     งานนมัสการฯ มีประชาชนเดินทางมานมัสการทั้งทางบกและทางเรืออย่างคับคั่ง 

สะพานข้ามคลอง…ในครั้งเก่าเป็นเพียงสะพานไม้
            สะพานเจริญศรัทธา ที่ชาวนครปฐมมักคุ้นในนาม สะพานยักษ์ เป็นสะพานที่สร้างข้ามคลองเจดีย์บูชาจากฝั่งสถานีรถไฟนครปฐมมายังฝั่งทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ด้านวิหารโถงซึ่งประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ แต่เดิมสมัยรัชกาลที่ ๕ แม้จะทรงสร้างทางรถไฟมายังนครปฐมแล้ว แต่ก็มิได้มีการตัดถนนจากสถานีรถไฟคงมีเพียงสะพานไม้ข้ามคลองเจดีย์บูชา ดังปรากฏหลักฐาน อาทิ ภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตลอดจนหนังสือลงวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) จากศาลาว่าการมหาดไทย ลงนามโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ว่าได้รับใบบอกของพระยาสุนทรบุรี ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี เรื่อง วัดพระปฐมเจดีย์[11]ซึ่งมีหมู่กุฏิสงฆ์[12]ตั้งอยู่ริมองค์พระปฐมเจดีย์ชำรุดทรุดโทรม ยากต่อการซ่อมแซมใหม่ให้งดงาม ทั้งยังกีดขวางในที่ที่จะสร้างสวน และสนามรอบองค์พระตามแปลนของกระทรวงโยธา กับกีดขวางการที่คิดจะตัดถนนจากพระปฐมเจดีย์ตรงไปสถานีรถไฟ ในครั้งนั้นพระยาสุนทรบุรีได้เสนอความเห็นให้ย้ายกุฏิสงฆ์ไปสร้างทางถนนสายเหนือ
            นอกจากนี้พบรายงานของเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์[13] เรื่อง การปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ รายงานเรื่องการบำรุงพระปฐมเจดีย์ในด้านต่างๆ ที่ดำเนินการไป คือ ซ่อมพระวิหาร ๔ ทิศ รวมพระระเบียงและพื้นพระระเบียงชั้นบน ซ่อมหอระฆัง ๒๔ หลัง ซ่อมอักษรขอมที่ผนังพระระเบียงชั้นบน ซ่อมพระที่นั่งทรงโปรย ซ่อมศาลาการเปรียญชั้นล่าง เปลี่ยนพระระเบียงชั้นล่างเป็นกำแพงแก้ว ๔ ทิศพร้อมประตู สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ บริจาคสร้างโฮเต็ล[14]ถวายเป็นสมบัติของพระปฐมเจดีย์เพื่อเก็บเงินค่าเช่าบำรุงองค์พระฯ และกล่าวถึงการย้ายวัดพระปฐมเจดีย์ซึ่งตั้งกีดขวางการตัดถนนจากสถานีรถไฟมายังวิหารโถง ซึ่งในการครั้งนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ได้ทรงรับเรี่ยรายพระบรมวงษานุวงศ์ฝ่ายในเพื่อย้ายกุฎิสงฆ์ พร้อมเสนาสนะอื่นๆ มาสร้างที่ถนนขวาพระ กับทั้งพระราชทานเงินสร้างบันใดนาคอีกตอนหนึ่ง


บันไดนาคหัวเดียว หน้าวิหารพระประสูติ ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นวิหารโถงเพื่อประดิษฐานพระร่วงฯ
และก่อนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ จะพระราชทานเงินสร้างบันใดนาคอีกตอนหนึ่ง
สังเกต หน้าวิหารยังมีเสาตามประทีปซ้าย – ขวา (ต้นไม้บังด้านขวา)
และซ้ายมือของภาพมีเสาแขวนระฆังโบราณซึ่งยังคงอยู่ในปัจจุบัน


อาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ขวามือภาพ คือ โฮเต็ลพระปฐม ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ
บริจาคเงินสร้างถวายเป็นสมบัติของพระปฐมเจดีย์เพื่อเก็บเงินค่าเช่าบำรุงองค์พระฯ

            กระทั่ง พุทธศักราช ๒๔๖๐ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระดำริให้สร้างสะพานถาวรข้ามคลองขึ้นใหม่ คือ สะพานเจริญศรัทธา โดยสร้างด้วยคอนกรีต มีลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตแท่งเดียว ประดับลวดลายปูนปั้นเลียนแบบศิลปกรรมสมัยทวารวดีที่พบตามโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากในเขตจังหวัดนครปฐม สะพานเจริญศรัทธามีขนาดกว้าง ๔ วา ๑ ศอก ยาว ๑๗ วา ๑ ศอก มีพนัก ๒ ข้าง มีซุ้มโคมไฟฟ้าอยู่บริเวณปลายสะพานทั้ง ๒ ด้าน ข้างละ ๒ ซุ้ม ในการก่อสร้างใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ประมาณ ๔๙,๕๓๗.๕๕ บาท โดยเสด็จฯ เปิดสะพานเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๑

ธ ทรงบัญชา ส่งช่างชำนาญจากกรุง…มุ่งนิรมิตรสะพาน
            คำกราบบังคมทูลของจางวางตรีพระยามหินทรเดชานุวัตน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ในการเสด็จฯ เปิดสะพาน คัดจากหนังสือพิมพ์ไทย ลงวันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๑[15] ตอนหนึ่งกล่าวว่า

            “…เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดสร้างสพานนี้ แต่ทรงพระราชดำริห์ด้วยพระราชวิจารณ์อันแน่ชัดว่าในจังหวัดมณฑลนี้ไม่มีช่างที่ชำนาญการก่อสร้างถาวรวัดถุเช่นนี้ให้งดงามถาวรมั่นคงได้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ท่านเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดช่างที่ชำนาญออกมาแต่กรุงเทพพระมหานครช่วยข้าพระพุทธเจ้า เพื่อให้ทำเปนสพานอันถาวรอยู่ชั่วกาลนาน ท่านเจ้าพระยายมราชก็ได้ส่งนายช่างในกรมศุขาภิบาล[16]ผู้ชำนาญมาช่วยข้าพระพุทธเจ้าทำการก่อสร้างตามพระบรมราชประสงค์ แลท่านเจ้าพระยายมราชได้ช่วยตรวจตราการต่อมาด้วย…”

            จากคำกราบบังคมทูลในการเสด็จฯ เปิดสะพานข้างต้น ให้ข้อมูลการส่งนายช่างโยธามาร่วมสร้างสะพาน แต่มิได้กล่าวถึงบุคคลผู้ออกแบบ เมื่อสืบค้นเพิ่มเติมพบข้อมูล โครงการบูรณะและปรับปรุงสะพานเจริญศรัทธา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีผู้รับผิดชอบ คือ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ภายใต้โครงการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ปีงบประมาณ ๒๕๑๘ ปรากฏชื่อสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ อยู่ในส่วนหลักการและเหตุผล กล่าวว่า

            สะพานเจริญศรัทธา หรือ “สะพานยักษ์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ และทรงมีพระราชดำรัสให้สร้างเป็นการถาวรข้ามคลองเจดีย์บูชาเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา โปรดเกล้าฯ ให้จัดช่างชำนาญจากกรุงเทพฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ออกแบบสะพานอย่างสวยสดงดงามด้วยลวดลายศิลปะโบราณแบบทวาราวดีอันมีต้นกำเนิดอารยธรรมที่จังหวัดนครปฐม และได้พระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรัทธา””

            นอกจากนี้พบการกล่าวถึงว่า “ปรากฏพระนามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่าเป็นผู้ออกแบบสะพานแห่งนี้” ใน รายงานการวิจัย เรื่อง งานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่จังหวัดนครปฐม โดย สุพิชฌาย์ แสงสุขเอี่ยม หน้า ๓๘-๓๙ โดยอ้างถึง รายงานการอนุรักษ์สะพานเจริญศรัทธา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๕๔๘ ฉบับอัดสำเนา โดย สำนักศิลปากรที่ ๒ จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งนี้ รายงานวิจัยดังแจ้งยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า

            “แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ปรากฏนามของผู้ออกแบบในเอกสารใดอย่างชัดเจน ซึ่งหากพิจารณาร่วมกับช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเข้ารับตำแหน่งทางราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในทางการช่างการออกแบบจนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๖๕ จึงทรงเปลี่ยนไปรับตำแหน่งกรรมการสภาการคลัง จึงอาจเป็นไปได้ว่าทรงมีส่วนในการให้คำปรึกษาในการออกแบบสะพานเจริญศรัทธา ซึ่งเป็นสะพานที่จัดสร้างขึ้นในวโรกาสสำคัญของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นได้”

ศิลปกรรมกรรมแห่งสะพาน…ส่องทางจากทวารวดี
            ลวดลายประดับบนสะพานเจริญศรัทธา จากข้อมูลรายงานวิจัยฉบับเดิม ยังทำให้ทราบรายละเอียดของลวดลายต่างๆ ซึ่งผู้วิจัยให้ความเห็นว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมเนื่องในศาสนาสมัยทวารวดี ดังจะยกมากล่าวโดยย่อ ดังนี้

  • เสารองรับตัวสะพาน ส่วนหัวเสา ซึ่งสร้างในลักษณะคานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไล่ระดับ ๓ ชั้น แต่ละชั้นประดับลายกระหนกที่ปลายคานทั้ง ๓ ด้วยลายพันธุ์พฤกษา ลายประจำยามก้ามปู ปิดลายด้วยลายเม็ดประคำ และคั่นแต่ละชั้นด้วยลายกระจัง ซึ่งผู้วิจัยให้ความเห็นว่าเป็นลายที่ได้รับอิทธิพลจากลายทวารวดี โดยลายเม็ดประคำเป็นลายที่นิยมใช้ตามอิทธิพลของศิลปะอินเดียสมัยคุปตะซึ่งมักใช้เป็นกรอบลาย ส่วนลายประจำยามก้ามปู เป็นลายเก่าแก่ที่พบทั่วไปในศิลปะโบราณ ด้านหน้าคานทั้ง ๓ ชั้น ประดับด้วยรูปยักษ์แบก ซึ่งผู้วิจัยสันนิษฐานว่า ลักษณะท่าทางและการนุ่งผ้าของยักษ์แบก น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากลายนรสิงห์[17]แบกบนฐานธรรมจักรที่พบในจังหวัดนครปฐม โดยปรับเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัย เช่น ยักษ์สมัยทวารวดีมีลักษณะคล้ายคนแคระ ส่วนยักษ์ที่สะพานนี้มีลักษณะทางกายวิภาคที่ถูกต้อง ใบหน้ายักษ์ของเดิมสะแหยะปากเห็นเขี้ยวเล็กน้อย ส่วนที่สะพานทำเขี้ยวออกมานอกริมฝีปากอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าลักษณะของยักษ์ที่สะพานนี้ มีลักษณะสอดคล้องกับจิตรกรรมภาพเทพชุมนุมที่ฝาผนังวิหารทิศตะวันออก ที่เขียนโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) บริเวณพื้นที่ว่างของคาน ประดับด้วยลายดอกบัวบาน เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา
  • ราวสะพาน สะพานแห่งนี้แม้จะสร้างด้วยคอนกรีตแต่ได้ออกแบบโดยเลียนแบบเครื่องไม้ ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นต่างๆ บริเวณกลางสะพานทำเป็นกระเปาะยื่นออกจากแนวราวสะพาน ประดับด้วยลายกระหนกและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสมัยทวารวดี ตรงกลางกระเปาะด้านบนประดับซุ้มโค้งลายหน้ากาล[18]คายวงโค้งส่วนปลายประดับลายมกรคายสิงห ตรงกลางซุ้มโค้งลายหน้ากาลด้านในสะพานมีคำจารึก “สพานเจริญศรัทธา” อีกด้านหนึ่งมีจารึกตัวเลขปีพระชนมพรรษา “๓๘” ราวสะพานซึ่งมีลักษณะคล้ายรั้วไม้นี้ สร้างเลียนรั้วสถูปในศิลปะอินเดียโบราณซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา โดยในวันเปิดสะพานได้มีการสร้างซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ เลียนแบบซุ้มโทรณะตามอย่างศิลปะอินเดียโบราณด้วย
  • เสาประดับสะพาน จำนวน ๓๑ ต้น ประดับด้วยลายดอกบัวและสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา โดยลายแนวตั้งด้านบนและล่าง เป็นลายดอกบัวครึ่งดอกอยู่ในรูปครึ่งวงกลม ลายตรงกลางมีลายต่างๆ คือ ลายบุรุษสวมเครื่องประดับศรีษะแบบชาวอินเดีย ลายดอกไม้ ลายช้าง ลายต้นไม้ และลายกวางมอบกับตรีรัตนะ ประดับตรงกลางดอกบัวบานอยู่ในรูปวงกลม ลายกลางแต่ละแบบมีรายละเอียดของลวดลายแทนสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ดังนี้
    • ลายบุรุษสวมเครื่องประดับศรีษะแบบชาวอินเดีย เป็นรูปบุรุษสวมผ้าโพกศรีษะ ผ้าพาดบ่าและต่างหูขนาดใหญ่ มีลักษณะเช่นเดียวกับศิลปะอินเดียโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๓-๖ ต่างกับภาพบุรุษสมัยทวารวดีที่พบในประเทศไทยที่ไม่นิยมโพกผ้าพันศีรษะ ความแตกต่างของรูปแบบศิลปะในบางส่วนนี้ ผู้วิจัยให้ความเห็นเช่น การพาดผ้าที่บ่าแทนการสวมสร้อยลูกปัดหลายเส้นแบบอินเดียโบราณนั้น แสดงถึงความไม่เข้าใจลักษณะการแต่งกายแบบโบราณที่แท้จริง ภาพบุรุษในอินเดียโบราณอาจสร้างขึ้นด้วยแนวคิดการเป็นผู้รักษาศาสนา ซึ่งลายบุรุษที่สะพานแห่งนี้อาจนำรูปแบบและแนวคิดดังกล่าวมาออกแบบก็เป็นได้
    • ลายช้าง เป็นรูปช้างหันข้าง ๑ เชือก โดยช้างเป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ สายน้ำ หรือผู้ค้ำจุนพุทธศาสนา พบการใช้สัญลักษณ์ช้างนี้มาแต่สมัยอินเดียโบราณในทุกแห่งที่นับถือพุทธศาสนา ประเทศไทยพบตั้งแต่รอยต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์กับสมัยประวัติศาสตร์ โดยสมัยทวารวดีพบการใช้สัญลักษณ์รูปช้างจำนวนมาก
    • ลายต้นไม้ เป็นรูปต้นไม้แผ่กิ่งก้านอยู่กลางลาย ถัดลงมาเป็นบัลลังก์เปล่า ถัดจากบัลลังก์เป็นลายสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน ๓ ดอก ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าอาจเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๓-๙ ก่อนสร้างรูปพระพุทธเจ้าในสมัยต่อมา
    • ลายกวางมอบกับตรีรัตนะ หมายถึงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งผู้วิจัยสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการผสมผสานสัญลักษณ์และเรื่องราวในคัมภีร์พุทธศาสนาขึ้นใหม่ เนื่องจากไม่ปรากฎสัญลักษณ์ตอนปฐมเทศนาเช่นที่สะพานนี้ในศิลปะวัตถุของอินเดียโบราณ ลายดังกล่าวมีส่วนประกอบลาย คือ รูปดอกไม้บานเหนือบัลลังก์อยู่ตรงกลางแทนพระพุทธเจ้า ด้านซ้ายและขวาประดับด้วยรูปกวางแทนป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ด้านบนมีรูปดอกไม้บานลอยอยู่เหนือตรีรัตนะสามดอก แทนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเกิดขึ้นครบในวันปฐมเทศนา
  • ฐานหน้ากระดานแถวล่างสุด ประดับด้วยลายกระหนกแบบทวารวดี มีลักษณะคล้ายลายสมัยทวารวดีที่พบ ณ วัดพระปฐมเจดีย์
  • ซุ้มโคมไฟ ซุ้มทรงปราสาทตั้งบนฐานสูง ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับด้วยลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะทวารวดี ซึ่งพบในเมืองนครปฐมโบราณ มีรายละเอียด ดังนี้
    • ส่วนฐาน ชั้นที่ ๑ เป็นฐานบัวคว่ำหงาย บริเวณท้องไม้ประดับลายพวงอุบะ เหนือขึ้นไปเป็นบัวคว่ำประดับท้องไม้ประดับลายลูกแก้ว เหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานเขียง ประดับลายมกร ท้องไม้เจาะช่องประดับลายยักษ์แบกภายในกรอบเสาติดผนัง หัวเสาและฐานประดับด้วยลายดอกสี่กลีบอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส
    • ลายมกร[19] ประดับฐานซุ้มโคมไฟ มี ๒ แบบ คือ ลายมกรถือพวงอุบะ ลักษณะเป็นลายธรรมชาติ มกรโผล่เพียงส่วนหัวเป็นรูปช้างชูงวงถือพวงอุบะ และลายมกรคู่ ลักษณะเป็นลายประดิษฐ์ มีมกรทั้ง ๒ หันหน้าเข้าหาชูงวงชนกัน เหนืองวงเป็นดอกบัวบาน ลายมกรได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยคุปตะ – หลังคุปตะ พบทั่วไปในศิลปะทวารวดี
    • ลายกุฑุ เป็นภาพบุคคลสวมเครื่องประดับศีรษะและต่างหูขนาดใหญ่ อยู่ภายในซุ้มโค้งด้านบนเป็นลายดอกบัวบาน ปลายกรอบซุ้มเป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายกุฑุมักใช้เป็นสัญลักษณ์ของชั้นวิมานที่สูงขึ้นตามจำนวนชั้นของกุฑุ นิยมในศิลปะอินเดียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๓ เป็นต้นมา และมีอิทธิพลต่อลายทวารวดี
    • ลายพวงอุบะ ประดับฐานซุ้มโคมไฟ มี ๒ แบบ คือ แบบแรกบริเวณเหนือลายยักษ์แบก เป็นลายพวงอุบะที่ประกอบด้วยลายเม็ดประคำเรียงกันคล้ายลายรักร้อยเป็นพวงมาลัยภายในช่องว่างของวงโค้งประดับด้วยรูปดอกไม้บาน มีลายดอกบัวบานและพู่อุบะคั่นลายเม็ดประคำเป็นช่วงๆ แบบที่สองประกอบด้วยลายรักร้อยและลายเม็ดประคำเรียงกันเป็นพวงอุบะ
    • ลายดอกสี่กลีบ เป็นลายดอกไม้สี่กลีบอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม ลายลักษณะนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นลายพื้นฐานที่พบโดยทั่วไปทุกยุคสมัยไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ลายดอกสี่กลีบสมัยทวารวดีที่เจดีย์จุลประโทนก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน
    • ลายยักษ์แบก เป็นรูปยักษ์สวมกระบังหน้า สร้อยคอ ต่างหูขนาดใหญ่ สวมรัดแขน กำไลข้อมือ – ข้อเท้า คาดเข็มขัด นุ่งผ้ายาวถึงหน้าแข้ง อยู่ในท่าแบกนั่งเอียงตัวชันเข่าข้างซ้ายขึ้นข้างหนึ่งอยู่ภายในช่องท้องไม้ การประดับด้วยลายยักษ์แบกนี้ภายในช่องท้องไม้นี้นิยมมากในลายทวารวดี แต่รูปลายยักษ์ที่สะพานแห่งนี้มีการปรับกายวิภาคให้เหมือนจริงตามความนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๖
  • ซุ้มประดับโคมไฟ ฐานของซุ้มเป็นฐานเขียงประดับลายพวงอุบะ เหนือขึ้นไปภายในซุ้มประดับโคมไฟ มุมทั้ง ๔ ทิศของฐานซุ้มประดับลายมกรคายพวงอุบะ ตรงกลางด้านทั้ง ๔ ประดับลายกุฑุภายในมีรูปใบหน้าบุคคล ฐานเสาประดับลายพันธุ์พฤกษาภายในกรอบสี่แหลี่ยม ตัวเสาเป็นแปดเหลี่ยม หัวเสาทรงหม้อน้ำลายซี่ฟันเฟือง เหนือขึ้นไปส่วนรองรับปลายกรอบซุ้ม เป็นฐานบัวหงายประดับลายพวงอุบะและลายพันธุ์พฤกษาตามลำดับ
  • ยอดซุ้ม เหนือซุ้มประดับโคมไฟเป็นซุ้มโค้งลายหน้ากาลคายวงโค้ง ปลายวงโค้งประดับลายมกรคายพวงอุบะ ด้านนอกวงโค้งประดับลายกระหนก[20]ผักกูด เหนือขึ้นไปเป็นประสาทซ้อน ๓ ชั้น ใช้ระบบเสาและคานทุกชั้น ประดับปลายส่วนฐานทั้ง ๔ ด้าน ด้วยลายมกรคายพวงอุบะ บริเวณกึ่งกลางแต่ละด้านประดับด้วยลายกุฑุ ส่วน ยอดซุ้มประดับลายพระปรมาภิไธยย่อ “รร ๖” ในรัชกาลที่ ๖ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้สร้างสะพานแห่งนี้ ในการบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา ๓๘ พรรษา

งดงามแห่งสะพาน…คุณค่ามรดกที่ควรอนุรักษ์และเชิดชู
            จากข้อมูลด้านศิลปกรรมของสะพานเจริญศรัทธาดังได้กล่าวมานั้น เห็นได้ว่าผู้ออกแบบนอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์และหน้าที่การใช้งาน โดยผสานกับเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบคอนกรีตที่เป็นของใหม่ในขณะนั้นแล้ว ยังมีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าครั้งหนึ่งนครปฐมเคยเป็นดินแดนที่รุ่งเรืองในวัฒนธรรมทวารวดี การนำลวดลายศิลปะจากโบราณวัตถุ ตลอดจนแนวคิดด้านพุทธประวัติ พุทธศาสนามาผสมผสานด้วยทัศนะอันแยบคาย แสดงถึงความเข้าใจเรื่องราวที่สะท้อนผ่านลวดลายโบราณ ตลอดจนความหมายและหน้าที่ของลายต่างๆ เป็นอย่างดี ผู้ออกแบบจึงสามารถสร้างสรรงานการออกแบบให้เกิดมิติแห่งความหมายและความงามได้อย่างสวยงามสมบูรณ์ยิ่ง
            ตำแหน่งที่ตั้งของสะพานซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนักโดยห่างออกมาราว ๑๓๐ เมตร ในอดีตนั้นเมื่อมองจากหน้าสถานีรถไฟนครปฐมมายังพระปฐมเจดีย์ จะเห็นภาพฉากที่โอ่โถงสง่างามเนื่องต่อกันเป็นทอดๆ นับแต่ภาพยักษ์แบกบุษบกทั้ง ๔ ต้นเสาของสะพาน ถัดมาเป็นฉากหลัง คือ พระปฐมเจดีย์ที่ตั้งเด่นอยู่กลางภาพ มองเห็นซุ้มวิหารโถงซึ่งประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ในเรือนแก้ว หลังบันไดขนาดกว้างใหญ่ซึ่งมีพนักนาคทอดลงมาสองข้างบันได เป็นภาพที่งดงามตระการตาสร้างความประทับใจและก่อให้เกิดเลื่อมใสศรัทธาต่อมหาเจดีย์เบื้องหน้าแก่ผู้พบเห็นเป็นอันมาก ดังเห็นได้ว่าแม้ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสมาเยือน ต่างเกิดความประทับใจนำทิวทัศน์อันงดงามที่เห็นในเบื้องหน้าถ่ายทอดเป็นภาพวาดและภาพถ่าย จัดทำเป็นภาพโปสการ์ดสวยงาม นอกจากนี้รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ ๘ และ รัชกาลที่ ๙ ยังใช้ภาพ “สะพานเจริญศรัทธา” ตีพิมพ์ลงบนธนบัตร ฉบับละ ๑ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท และ ๑๐๐ บาท จึงนับเป็นเกียรติประวัติในมรดกอันล้ำค่าเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้แก่ชาวนครปฐมทั้งยังได้เผยแพร่เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก           

๑๐๐ ปี แห่งสะพานอันเรืองรอง คงเหลือเพียงร่องรอยอันรางเลือน
            ในวาระที่สะพาน “เจริญศรัทธา” มีอายุครบ ๑๐๐ ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ นี้ ผู้เขียนในฐานะลูกยอดแหลมคนหนึ่งที่ในวัยเยาว์ ยังทันได้สัมผัสและรับรู้ถึงงดงามแห่งสะพาน กลับรู้สึกเศร้าใจในภาพอดีตอันเรืองรองที่คงเหลือไว้เพียงร่องรอยอันรางเลือน ด้วยในปัจจุบันทัศนียภาพแวดล้อมโดยรอบล้วนถูกบั่นทอนทำลายลงแทบสิ้นเชิง ดังมีข้อมูลจากผังเมืองรวมจังหวัดนครปฐมระบุว่า พื้นที่บริเวณนี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง อันหมายถึงเขตพาณิชยกรรมหรือที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ในขณะที่ “สะพานเจริญศรัทธา” แห่งนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ ง วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ หน้า ๖ ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ในลำดับที่ ๖
            “เจริญศรัทธา” สะพานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอนุสรณ์แห่งศรัทธาขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีน้ำพระทัยปรารถนาดี ต่อความเจริญอันงดงามแก่จังหวัดนครปฐม แต่เมื่อการล่วงมาถึงวันนี้ความเจริญของชุมชนด้านหนึ่ง กลับส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของโบราณสถานอันทรงคุณค่าอย่างยากที่จะทำใจยอมรับ แม้นในวันนี้หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างระลึกรู้ได้ และหาแนวทางในการเร่งปรับปรุงผังเมืองในอนาคตให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่สีน้ำตาลอ่อนเพื่อการอนุรักษ์ การส่งต่อความเป็นเมืองซึ่งถูกสร้างด้วยวัฒนธรรมและศรัทธาอันงดงาม สมดังนามสะพาน “เจริญศรัทธา” ความงดงามดังเดิมก็อาจหวนคืนเป็นจริงได้ไม่ยากนัก ขึ้นอยู่ที่ว่า ใคร? หน่วยงานใด? จะขันอาสาเข้ามาทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่พึงกระทำโดยความตระหนักรู้และเข้าใจอย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง
กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์. (๒๕๕๔). พระอัจฉริยภาพราชปราชญ์ : สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า. กรุงเทพฯ: บ้านดวงดาว.
จมื่น อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช ). (๒๕๑๔). เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ รัชสมัยของพรบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๑. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
นามแฝง ประติสมิต. (๒๕๒๓). มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเขษม.
นามแฝง ราม. วชิราวุธ. (2545). ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ: มติชน.
นามแฝง ส. พลายน้อย. (๒๕๕๕). แม่น้ำลำคลอง . กรุงเทพฯ: มติชน.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง. (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑). คลังวิชาการ. เข้าถึงได้จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง: http://www.finearts.go.th/ramkhamhaengmuseum/index.php/parameters/km/item/เกียรติมุขหรือหน้ากาล
ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี. (๒๕๔๙). สมุดแสดงภาพที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘. กรุงเทพฯ: สามลดา.
ราชกิจจานุเบกษา. (๑๙ มกราคม ๒๔๖๑). พระราชวังสนามจันทร์ ลงวันอังคารที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ . ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๕, หน้า ๒๘๒๕ – ๒๘๒๗.
ราชกิจจานุเบกษา. (๑๖ มีนาคม ๒๔๖๖). ข่าวในพระราชสำนัก ลงวันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ . ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๐, หน้า ๔๓๘๕.
โรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์. (๑ เมษายน ๒๕๕๔). ประวัติโรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ (มหินทรศึกษาคาร). เรียกใช้เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ จาก โรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์: https://watyai.wordpress.com/เกี่ยวกับโรงเรียน
วรชาติ มีชูบท. (2559). เบื้องลึกเบื้องหลังในพระราชบันทึกเรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6”. กรุงเทพฯ: มติชน.
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (๒๕๔๖). ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน.
สัตว์ในตำนาน. (๖ มิถุนายน ๒๕๖๐). เข้าถึงได้จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี: https://th.wikipedia.org/wiki/มกร
สุพิชฌาย์ แสงสุขเอี่ยม. (๒๕๕๗). รายงานการวิจัยเรื่องงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่จังหวัดนครปฐม. นครปฐม: คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เชิงอรรถ
[1] จางวางตรีพระยามหินทรเดชานุวัตน์ (ใหญ่ ศยามานนท์) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็น พระศรีวิชัย เป็นปลัดเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ต่อมาเป็นพระยาศิริชัยบุรินทร แล้วจึงเป็นพระยามหินทรเดชานุวัตน์ ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหินทรเดชานุวัตน์ เป็นผู้มีอุปการะคุณต่อโรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ ให้เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกเพื่อสอนหนังสือไทยแก่ชาวนครปฐม กระทั่งรัชกาลที่ ๖ ทรงประกาศใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔  ในระยะแรกอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่เรียน  ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๕ จางวางตรีพระยามหินทรเดชานุวัตน์ เลื่อนขึ้นเป็นจางวางโท ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี ได้รวบรวมเงินบริจาค  ๑๕,๘๐๐ บาท  สร้างอาคารเรียนเป็นเรือนปั้นหยา ๒ ชั้น ให้โรงเรียนและขอพระราชทานนามชื่ออาคารเรียน “มหินทรศึกษาคาร” จากรัชกาลที่ ๖ มีนายโสภณ (เฮง) ศุขหมอก  เป็นครูใหญ่คนแรก โดยถือเอาวันที่ ๑๔  มิถุนายน ๒๔๖๕เป็นวันก่อตั้งโรงเรียน ต่อมากระทรวงศึกษาธิการประกาศระเบียบการเรียกชื่อโรงเรียนใหม่ใช้ชื่อว่า  โรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ (มหินทรศึกษาคาร) อาคารหลังนี้ภายหลังจากใช้เป็นอาคารเรียนถึง ๔๑ ปี ได้รื้อลงเมื่อ ๖ มกราคม ๒๕๐๗

[2] ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นี้ เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ ทรงไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ ราว ๒ ปี ก่อนเสด็จสวรรคต เนื้อหาเป็นการคัดเลือกเรื่องน่ารู้จากสมุดจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่เพื่อความต่อเนื่องของแต่ละเรื่องราวพิมพ์เป็นต้นฉบับตัวพิมพ์ดีด หน้าปกของเอกสารมีชื่อเรื่อง และรายละเอียดว่า ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ราม วชิราวุธ จัดไว้ให้แด่ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) ผู้เปน ศุภมิตร เล่ม ๑ กล่าวตั้งแต่ปลายรัชกาลก่อนจนสิ้นปี พ.ศ.๒๔๕๓ (มีบัญชีเรื่องอยู่ท้ายสมุด, แต่น่า ๔๐๑ ไป)
[3]
สะพานชุด “เฉลิม” มีที่ตั้ง ดังนี้ สะพานเฉลิมศรี ๔๒ ข้ามคลองบางขุนพรหม ถ.สามเสน (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมศักดิ์ ๔๓ ข้ามคลองอรชร (คลองริม ถ.สนามม้า หรือ ถ.อังรี ดูนังต์ ในปัจจุบัน)  กับ ถ.หัวลำโพงนอก (ถ.พระราม ๔ ในปัจจุบัน – รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมเกียรติ ๔๔ ข้ามคลองหัวลำโพง ที่ปลายถนนสาทรฝั่งใต้ (บริเวณแยกวิทยุในปัจจุบัน – รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมยศ ๔๕ ข้ามคลองวัดพระพิเรนทร์  ถ.วรจักร (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมเวียง ๔๖ ข้ามคลองตรอกเต๊า ถ.เยาวราช (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมวัง ๔๗ ข้ามคลองสะพานถ่าน หรือ คลองหลอดวัดราชบพิธ ถ.อุนากรรณ์ (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมกรุง ๔๘ ข้ามคลองวัดจักรวรรดิ ถ.เจริญกรุง (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมเมือง ๔๙ ข้ามคลองสาทร ถ.เจ้าพระยาสุรศักดิ์ (บริเวณแยกสาทร-สุรศักดิ์ในปัจจุบัน – รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมภพ ๕๐ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลาย ถ.สุรวงษ์ เชื่อมถนนหัวลำโพง (บริเวณแยกอังรีดูนังต์ในปัจจุบัน – รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมพงษ์ ๕๑ ข้ามคลองสะพานถ่าน หรือ คลองหลอดวัดราชบพิธ ถ.เฟื่องนคร (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมเผ่า ๕๒ ข้ามคลองอรชร ถ.ปทุมวัน (ถ.พระราม ๑ ในปัจจุบัน) หรือ บริเวณแยกเฉลิมเผ่าในปัจจุบัน (รื้อถอนแล้ว แต่ยังปรากฏราวสะพานให้เห็นอยู่) สะพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓ ข้ามคลองวัดสามจีน หรือ วัดไตรมิตร ถ.เจริญกรุง หรือ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปัจจุบัน  สะพานเฉลิมภาคย์ ๕๔ ข้ามคลองสีลม ถ.เจริญกรุง หรือบริเวณแยกบางรักในปัจจุบัน (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมโลก ๕๕ ข้ามคลองบางกะปิ (คลองแสนแสบใต้ ในปัจจุบัน) ถ.ราชดำริห์ และ ถ.ประแจจีน หรือ บริเวณแยกประตูน้ำในปัจจุบัน สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ ข้ามคลองบางกะปิ (คลองแสนแสบ ในปัจจุบัน) ถ.พญาไท หรือบริเวณแยกปทุมวันในปัจจุบัน สะพานเฉลิมเดช ๕๗ ข้ามคลองหัวลำโพง ปลาย ถ.สี่พระยา เชื่อมถนนหัวลำโพง หรือ บริเวณแยกสามย่านในปัจจุบัน (รื้อถอนแล้ว) สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ข้ามคลองหลอด ปลาย ถ.ราชินี (รื้อถอนแล้ว)
[4] สะพานเฉลิมหล้า ๕๖ เป็นสะพานสุดท้ายที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ทรงเปิด เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน   ๒๔๕๒
[5] สะพานเฉลิมเดช ๕๗ เป็นสะพานที่สร้างคงค้างและพระราชทานนามไว้แต่รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ ทรงเปิด เมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๓
[6] สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ เป็นสะพานสุดท้ายที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่จะทรงเลือกสถานที่ก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศุขาภิบาลจัดสร้างสะพานนี้ข้ามคลองหลอดปลาย ถ.ราชินี และพระราชทานนามสะพานอันเป็นที่สุดแห่งชุดเฉลิมนี้ว่า “เฉลิมสวรรค์ ๕๘” และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๕
[7] สะพานชุด “เจริญ” มีทำเลที่ตั้ง ดังนี้ สะพานเจริญรัช ๓๑ ข้ามคลองคูเมืองเดิม ต.ปากคลองตลาด สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ข้ามคลองมหานาค ถ.กรุงเกษม สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ถ.อิสรภาพ สะพานเจริญศรี ๓๔ ข้ามคลองคูเมืองเดิม บริเวณหน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ ข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม ถ.บำรุงเมือง สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม หน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ถ.เจริญกรุง
[8] อ้างอิงจาก หน้า ๕๘  เรื่อง ซื้อที่ทำพระราชวังสนามจันทร์ ในหนังสือเสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๑ ของ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช ) ผู้เป็นน้องคนสุดท้องของตระกูลสุนทรเวช ๓ คน ที่รับราชการในรัชกาลที่ ๖ โดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ เป็นมหาดเล็กรับใช้ มีพี่คนโต คือ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) เป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุล “สุนทรเวช” และใช้เป็นนามสกุลนี้ร่วมกับน้อง ๆ ของท่าน และพี่ชายคนรองที่รับราชการอยู่ด้วยอีกคน คือ พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช)ผู้เป็นบิดาของคุณสมัคร สุนทรเวช จมื่นอมรดรุณารักษ์นั้น นอกจากจะเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดที่รู้และบันทึกเรื่องราวในรัชสมัยไว้มากแล้ว ท่านยังเป็นเสือป่าด้วยจึงได้รับมอบหมายจากคณะบุคคลผู้จงรักภักดีต่อรัชกาลที่ ๖ นำโดย ม.ล. ปิ่น มาลากุล ร่วมกันวิจัยศึกษาพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยรับเป็นผู้เรียงเรียง เรื่อง ดุสิตธานี เมืองแห่งประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ และท่านได้เสนอให้มีการจัดตั้ง ”ห้องสมุดพระมงกุฎเกล้าฯ” ขึ้นในปีเดียวกันนั้น ต่อมา พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงพระราชกรณียกิจสำคัญเกี่ยวกับกิจการเสือป่าและลูกเสือ ซึ่งขณะนั้นเวลาผ่านมาถึง ๖๐ ปีเต็ม ทำให้มีความยุ่งยากในการค้นหาชื่อตัวบุคคล ด้วยต้นรัชสมัยการพระราชทานบรรดาศักดิ์มิได้กำกับนามเดิมและยังไม่มีนามสกุลใช้
[9] พระตำหนักสวนนันทอุทยาน ตั้งอยู่ละแวกใกล้กับโบราณสถานพระเมรุ พบหลักฐานโฉนดที่ดินที่ทรงซื้อจากคนในบังคับสยาม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ โดยทรงใช้ประทับบางขณะเมื่อแปรพระราชสำนักมาที่นครปฐม ดังมีความกล่าวไว้ในหนังสือ “เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๑” ของ จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ (๒๕๑๔) เรื่อง ซื้อที่ทำพระราชวังสนามจันทร์ หน้า ๕๔ ว่า “…เมื่อเสด็จออกไปประทับที่เมืองนครปฐมเมื่อตอนที่ยังไม่ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ก็จะประทับที่พระตำหนักบังกาโล สร้างอยู่ตรงมุมถนนขวามือเพราะใกล้กับสถานีตำรวจ (ตำหนักหลังนี้ได้รื้อลงแล้ว) โปรดการทรงม้าพระที่นั่งสำรวจตามท้องที่เป็นอย่างมาก บางครั้งก็เสด็จไปที่ตำบลวัดทุ่งพระเมรุจนถึงกับให้สร้างพระตำหนักทรงไทยขึ้น พระราชทานชื่อว่า “สวนนันทอุทยาน”
[10] พระตำหนักราชฤดี รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสร้างให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในพุทธศักราช ๒๔๖๔ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม ตรงข้ามวัดพระประโทน จังหวัดนครปฐม พบหลักฐานโฉนดที่ดินปรากฎพระนามเจ้าของโฉนด คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ และที่ดินแปลงนี้ในเวลาต่อมามีการจัดสรรแบ่งขาย ดังพบข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นายนิยม ปานปรีชา เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในจำนวนบุคคลที่ซื้อที่ดินไว้ และมีประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๖๖ เล่ม ๔๐ หน้า ๔๓๘๕ เรื่อง ข่าวในพระราชสำนัก วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ แจ้งว่า “วันนี้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีคฤหาศนมงคลเฉลิมพระตำหนักราชฤดีซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใกล้พระประโทน เพื่อพระราชทานสมเด็จพระบรมราชินี”
[11] วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นคำเรียกหมายถึง ส่วนสังฆาวาส ส่วนคำเรียก พระปฐมเจดีย์ หมายถึง ส่วนที่เป็นพุทธาวาส คือ ตัวองค์พระเจดีย์ ซึ่งชาวนครปฐม มักเรียกสั้นๆ ว่า “องค์พระ”
[12] หมู่กุฏิสงฆ์ ซึ่งตั้งริมองค์พระนี้ ข้อมูลจากหนังสือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๖ หน้า ๓ ระบุว่ากุฏิสงฆ์ตั้งอยู่บริเวณหน้ากระเปาะข้างทิศใต้ เข้าใจว่าก่อนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการเคลื่อนย้ายมาทางด้านทิศเหนือนี้ จึงกีดขวางการตัดถนน และเมื่อจะตัดถนนจากสถานีรถไฟตรงมายังวิหารพระร่วงฯ จึงได้ย้ายกุฎิสงฆ์ พร้อมเสนาสนะอื่นๆ มาสร้างที่ถนนขวาพระอีกครั้งในรัชสมัย
[13] เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๕ ให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๘ และในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ เลื่อนขึ้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี
[14] โฮเต็ล ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงบริจาคเงินนั้นสร้างในนามหม่อมเฉื่อย ๑ หลัง ชื่อ โฮเต็ลพระปฐม ปัจจุบันคือบริเวณธนาคารกรุงไทย สาขาสะพานเจริญศรัทธา และถนนจากสถานีรถไฟนครปฐม มายังสะพานนี้ เรียกมาแต่เดิมว่าถนนโฮเต็ล
[15] ความบางส่วนจากคำกราบบังคมทูลเสด็จฯ เปิดสะพานเจริญศรัทธา จากหนังสือ เรื่อง  พระอัจฉริยภาพราชปราชญ์ : สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๔ หน้า 52-56 โดย กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ ต้นฉบับแจ้งว่าคัดจาก นสพ.ไทย ลงวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑
[16] กรมสุขาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ปัจจุบัน คือ กรมโยธาธิการ เริ่มมีการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๒ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ยกฐานะเป็น “กระทรวงโยธาธิการ” พ.ศ. ๒๔๔๑ มีการโอนกรมโยธาธิการ จากกระทรวงโยธาธิการไปรวมอยู่ในกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล และเปลี่ยนชื่อกรมสุขาภิบาล เป็นกรมนคราทร ไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ และเปลี่ยนชื่อเป็น กรมโยธาเทศบาล ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล กระทั่งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมโยธาธิการ อีกครั้ง
[17] นรสิงห์ หรือ นรสีห์ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ หน้า ๕๖๓ อธิบายเพียงสั้นๆ ว่า คนปานสิงห์, นักรบผู้มหาโยธิน (นร- หมายถึง คน, ชาย ,เพศหญิงใช้ว่า นรี หรือ นารี นิยมใช้เป็นคำสมาส) คำอธิบายจากวิกิพีเดีย กล่าวว่า นรสิงห์ หรือ นรสีห์ เป็นอวตารร่างที่ ๔ ของพระนารายณ์ตามคัมภีร์ปุราณะ อุปนิษัท และคัมภีร์อื่นๆ ของศาสนาฮินดู มีร่างกายท่อนล่างเป็นมนุษย์ ท่อนบนเป็นสิงโต นรสิงห์เป็นผู้สังหารหิรัณยกศิปุซึ่งเป็นอสูรตนหนึ่งซึ่งที่บำเพ็ญตบะเป็นเวลานาน จนได้รับพรจากพระพรหมว่าจะไม่ถูกสังหารโดยมนุษย์หรือสัตว์ ให้เป็นผู้ที่ฆ่าไม่ตายจากมนุษย์, สัตว์, เทวดา ให้ฆ่าไม่ตายทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ให้ฆ่าไม่ตายทั้งจากอาวุธและมือ ให้ฆ่าไม่ตายทั้งในเรือนและนอกเรือน หิรัณยกศิปุได้อาละวาดสร้างความเดือดร้อนไปทั่วทั้งสามภพ พระอินทร์จึงทูลเชิญพระนารายณ์อวตารเกิดมาเป็นนรสิงห์ คือ มนุษย์ครึ่งสิงห์ และได้สังหารหิรัณยกศิปุด้วยการฉีกอกโดยกรงเล็บบริเวณกึ่งกลางบานประตู ในเวลาโพล้เพล้ ก่อนตาย นรสิงห์ได้ถามหิรัณยกศิปุว่า สิ่งที่ฆ่าเจ้าเป็นมนุษย์หรือสัตว์หรือเทวดาหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ สิ่งที่สังหารเป็นมือหรืออาวุธหรือไม่ คำตอบ ก็คือ ไม่ ในเรือนหรือนอกเรือนหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ และเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ นรสิงห์จึงประกาศว่า บัดนี้ พรที่ประทานจากพระพรหมได้สลายไปสิ้นแล้ว เทวดาทั้งสามภพจึงยินดี รูปประติมากรรมหรือรูปวาดของนรสิงห์ตอนสังหารหิรัณยกศิปุ จึงมักสลักมีรูปเทวดาองค์เล็ก ๆ ๒ องค์อยู่ข้างล่างแสดงกิริยายินดี

[18] หน้ากาล หน้ากาฬ กาฬมุข หรือ เกียรติมุข (อ่านว่า เกียดมุก) หมายถึง อมนุษย์บริวารพระศิวะ ลักษณะเป็นรูปหน้ายักษ์ปนสิงห์ หรือใบหน้าอสูรที่มีลักษณะดุร้าย คิ้วขมวด ตากลมโตถลน จมูกใหญ่ ไม่มีคาง ปากกว้างแสยะเห็นฟันบนและมีเขี้ยว ไม่มีริมฝีปากล่าง ไม่มีลำตัว มีแขนออกมาจากด้านข้างของศีรษะสวมเครื่องประดับศีรษะลักษณะเป็นกระบังหน้า เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้ารักษาธรณีประตู เป็นเครื่องป้องกันบ้านเรือน ขับไล่เสนียดจัญไร และคอยคุ้มครอง เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แถบประเทศอินเดีย ซึ่งเชื่อว่าหน้ากาล คือ “เวลา” ซึ่งกลืนกินสรรพสิ่งทั้งมวล จึงเป็นผู้ครอบครองเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นชื่อของพระยม ผู้พิพากษาคนตายในอาถรรพเวทของศาสนาฮินดู ต่อมามีความเชื่อว่าการสร้างหน้ากาลไว้เหนือประตูทางเข้าศาสนสถานเป็นเสมือนสิ่งคุ้มครองปกปักรักษามิให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาสู่ศาสนสถานนั้น จึงมักพบเป็นรูปแกะสลักหรือปูนปั้นประดับในส่วนของซุ้มจระนำ ประดับยอดซุ้มทับหลังปราสาทหินบางแห่ง ซุ้มปรางค์ หรือเจดีย์ และที่ฐานพระพุทธรูป
[19] มกร เป็นสัตว์ตามความเชื่อของพม่า ล้านนา สยาม และเขมร เรียกอีกอย่างว่า ตัวสำรอก เนื่องจากในงานศิลปะ มกรมักจะคายหรือสำรอกเอาวัตถุใด ๆ ออกมาทุกครั้ง เช่น มกรคายนาค
[20] กระหนก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๒ หน้า ๖๐ หมายถึง ชื่อแบบลายไทยประเภทหนึ่ง ใช้ผูกเขียนเป็นลวดลาย มีทั้งระบายสี ปิดทองรดนํ้า ปั้น หรือแกะสลัก เป็นต้น มีหลายชนิด เช่น กระหนกเปลว กระหนกก้านขด กระหนกเครือ (เดิมเขียนเป็น กนก ก็มี)

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *