เล่าทีละเรื่องเมืองนครปฐม: #1 องค์พระรัดรอบด้วยโซ่ คือ อย่างไร

ภาพลายเส้นชื่อเรียกส่วนต่าง ๆ ของพระปฐมเจดีย์ จากส่วนที่ 1 ยอดมงกุฎ ถึงส่วนฐานที่ 17
โซ่ 2 ¼ นิ้ว ยาวข้อละ 30 ซม. กว้าง 15 ซม. รัดรอบฐาน เลขที่ 15 ป้องกันการขยายตัว

พระปฐมเจดีย์ ชาวบ้านในจังหวัดนครปฐม มักเรียกสั้นๆ ว่า องค์พระ ซึ่งพระเจดีย์องค์เดิมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จธุดงค์มาพบเมื่อยังทรงผนวช โดยทรงเชื่อว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกในสยามซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิจึงนับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์

ลักษณะรูปแบบเจดีย์องค์เดิม เป็นทรงโอหรือขันน้ำคว่ำคล้ายสถูปสาญจีในประเทศอินเดีย เมื่อพบในสมัยรัตนโกสินทร์พระเจดีย์มีลักษณะเป็นทรงกลมมีพระปรางค์ซ้อนอยู่ข้างบน (หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล, 2512, หน้า 7-12) ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 4 เสวยราชสมบัติได้ 2 ปี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ เมื่อจุลศักราช 1214 (พ.ศ.2395) ปีชวดจัตวาศก โดยให้ช่างทหารในต่อตัวอย่างถวายเป็นรูปพระเจดีย์กลมไม่มีฐานทักษิณ
แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพระเจดีย์เป็นทรงระฆังโดยสร้างครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ภายในดังที่เห็นในปัจจุบัน

เหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพระเจดีย์เนื่องด้วยการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกพังทลายลง สรุปความจาก เรื่องพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ได้เรียบเรียงเมื่อปีฉลู 2408 (ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา (ขำ บุนนาค), 2516, หน้า 8-10) กล่าวคือ พระเจดีย์ที่ก่อขึ้นไปได้สูง 17 วา 2 ศอก (35 เมตร) เมื่อถึงปีวอกโทศก เดือน 8
ขึ้น 13 ค่ำ (ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2403)

“เพลากลางคืน ได้ยินเสียงร้องไห้เซ็งแซ่ในที่องค์พระ จนชาวบ้านตกใจ
ครั้นรุ่งขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ ฝนตกหนักทั้งกลางวันกลางคืน
อิฐที่ก่อนั้นหนักตัวก็เลื่อนทรุดลงมารอบตัว เพราะฐานทักษิณไม่มี
ข้างบนหนัก ข้างล่างบางเพียง 3 ศอก 4 ศอก ทรงกันไว้ไม่อยู่ ต้องรื้อออกเสียทำใหม่”

จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ ธรรมวรยุติ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) และกรมขุนราชสีหวิกรม คิดตัวอย่างแบบรูปพระเจดีย์ใหม่ให้ฐานใหญ่ขึ้นเพื่อรับน้ำหนักข้างบนได้ และโปรดเกล้าฯ ให้ถมพื้นที่ลุ่มดอนขึ้นมาให้เสมอกัน โดยพระเจดีย์ตั้งแต่พื้นดินถึงยอดมงกุฎ
มีความสูง 3 เส้น คืบ 6 นิ้ว (3 เส้น=120 ม. 1 คืบ=0.25 ม. 6 นิ้ว=0.15 ม. รวม 120.40 ม.) ก่อฐานใหญ่รอบ 5 เส้น 16 วา 3 ศอก นิ้ว (5 เส้น=200 ม. 16 วา=32 ม. 3 ศอก=1.5 ม. รวม 233.5 ม.) เมื่อตัวอย่างพระเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ฯ และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
ไปก่อพระฤกษ์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 5 ค่ำ จ.ศ.1222 ปีวอกโทศก (ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2403) พระเจดีย์ที่ก่อขึ้นใหม่นี้มีการเสริมเพิ่มความแข็งแรง ดังความกล่าวว่า

“องค์พระปฐมเจดีย์นั้นก่อขึ้นแล้ว ที่ชั้นทักษิณที่ 1 ปักเสานางเรียงรอบองค์
แล้วมีเสาปักเป็นขาทรายค้ำเสานางเรียงด้วย
ชั้นทักษิณที่ 2 มีแต่ขาทรายค้ำ ไม่มีเสานางเรียง
ที่ตรงบัวถลาลงไป มีเสานางเรียงปักไม้ซุงทั้งต้นถึงพื้น
อีกรอบหนึ่ง
รัดด้วยซุงทั้งต้นแล้วเอาสายโซ่ใหญ่รัดที่หน้ากระดานท้องไม้บัวถลาแห่งหนึ่ง
รัดหลังบัวถลาแห่งหนึ่ง
รัดตั้งแต่ท้องไม้ลูกแก้ว ถึงบัวคลุมถูกปากระฆังอีก 5 ชั้น
ที่กลางองค์ระฆังมีเสานางเรียงรัดสายโซ่อีกสามรอบ
ที่คอถลามีเสานางเรียง
ตีนเสาเชิงเรียงนั้นใส่ปลอกไม้ซากชั้นหนึ่ง แล้วรัดสายโซ่อีก 5 รอบ
ปลายเสานั้นเอาไม้ซาก 10 นิ้วสี่เหลี่ยม สับปากกันเป็นปลอกปลายเสาอีกชั้นหนึ่ง

ลูกแก้วปล้องไฉน หลังฝาละมีรัดสายโซ่ที่ท้องไม้อีก 8 รอบ แล้วก่ออิฐถือปูนหุ้ม”

ข้อความที่กล่าวถึงการนำสายโซ่ใหญ่มารัดส่วนต่าง ๆ ผู้เขียนเกิดความสงสัยมาช้านานว่า สายโซ่ที่ว่าใหญ่นั้นจะต้องใหญ่สักเพียงใด จึงจะสามารถช่วยเสริมเพิ่มความแข็งแรงแก่พระเจดีย์ขนาดใหญ่โตมโหฬารองค์นี้ได้
กระทั่งราว พ.ศ. 2545 ได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการที่หอศิลป์เจ้าฟ้าฯ จำได้ราง ๆ ว่าเป็นผลงานภาพถ่าย
และจำได้ไม่ถนัดนักว่าเป็นของศิลปินชื่อกาลิเลโอ คินี หรือไม่ การชมนิทรรศการครั้งนั้น ก่อนเดินออกจากนิทรรศการมีภาพเดียวที่ผู้เขียนจดจำได้ เพราะสะดุดตายิ่งนักกับภาพโซ่อันมหึมาที่ฐานระฆังองค์พระปฐมเจดีย์ ประกอบกับขนาดของภาพที่อัดขยายค่อนข้างใหญ่ ทำให้เห็นชัดเจนว่ากระเบื้องและปูนตรงบริเวณนั้นผุกร่อนจนเห็นสายโซ่ และภาพนี้นับเป็นแรงจูงใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความสนใจในการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ
พระปฐมเจดีย์ที่บ้านเกิด แต่เป็นที่น่าเสียดายขณะค้นหาข้อมูลทั้งเอกสารและภาพถ่าย และได้พยายามติดตามเพื่อจะขอสำเนาภาพดังกล่าวกลับไม่พบในหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับเหตุขัดข้องบางประการทำให้มีเวลาในการค้นหาข้อมูลครั้งนั้นไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง และไม่สามารถหาภาพที่จะให้ข้อมูลเรื่อง
สายโซ่ได้อย่างชัดเจน มีเพียงภาพเดียวที่พบในขณะนั้น คือ ภาพที่ 47 ในบทที่ 3 เรื่องอารยธรรมน้ำ ในหนังสือเรื่อง น้ำ: บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย ของ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา (สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, 2539, หน้า 89) ซึ่งภาพแสดงให้เห็นสายโซ่เพียงไม่เต็ม 2 ข้อดีนัก โดยมีคำบรรยายภาพว่า

“โซ่รัดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อครั้งบูรณะพระปฐมเจดีย์ ในปีพ.ศ. 2512
วิศวกรพบลูกโซ่ขนาดใหญ่รัดองค์พระเจดีย์ไว้เป็นชั้น ๆ 
ในระดับที่ตรงกันกับแรงดันออกสูงสุดซึ่งคำนวณด้วยวิธีสมัยใหม่”

ผู้เขียนไม่มีความรู้เชิงช่างจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าโซ่รัดบริเวณตรงไหน รัดอย่างไร กระทั่งมาทำหน้าที่ใน
งานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก และได้นำหนังสือที่ระลึกงานนมัสการพระปฐมเจดีย์ฉบับเก่า ๆ มาจัดทำเป็น e-book จึงได้พบข้อมูลเรื่องสายโซ่ที่รัดองค์พระ ซึ่งแม้จะเป็นคนละภาพ กับทั้งอาจจะเป็นสายโซ่ที่รัดคนละส่วนกันกับภาพที่พบในนิทรรศการ แต่ก็ทำให้ได้เห็นภาพสายโซ่ส่วนหนึ่งที่รัดรอบองค์พระปฐมเจดีย์บริเวณฐานเลข 15 ได้ค่อนข้างชัดเจน ภาพดังกล่าวพบจากหนังสือที่ระลึกปี 2518 ในส่วนของภาพนำเรื่อง โครงการบูรณะและปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ (วัดพระปฐมเจดีย์, 2518, หน้า 1-5) โดยภาพลำดับที่ 1 เป็นภาพลายเส้น
พระปฐมเจดีย์ อธิบายส่วนต่าง ๆ ของพระเจดีย์พร้อมชื่อเรียก นับจากส่วนที่ 1 ยอดมงกุฎ จนถึงส่วนฐานที่ 17 และภาพลำดับที่ 6 เป็นภาพโซ่ขนาดใหญ่มีความยาวนับได้ 8 ข้อ มีคำบรรยายว่า

“โซ่ 2 ¼ นิ้ว ยาวข้อละ 30 ซม. กว้าง 15 ซม. รัดรอบฐาน (เลข 15) ป้องกันการขยายตัว”

ภาพสายโซ่รัดองค์พระบริเวณฐานเลข 15 นี้ ไม่ทราบชัดว่าเป็นบริเวณเดียวกับที่อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง น้ำฯ ที่กล่าวถึงการที่วิศวกรตรวจพบสายโซ่เมื่อคราวบูรณะ พ.ศ.2512 หรือไม่ และการพบสายโซ่รัดองค์พระในจุดต่าง ๆ นั้น เมื่อครั้งที่ทางวัดพบการชำรุดขององค์พระ และแจ้งให้กรมศิลปากรมาสำรวจเมื่อ พ.ศ.2509 และผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายประเวศ ลิมปรังษี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะสำรวจ ก็ได้ให้ข้อมูลว่าพบโซ่ขนาดใหญ่ข้อโซ่หนาประมาณ 1 นิ้วเศษ โดยมองเห็นจากบริเวณรูที่ถูกเจาะไว้บางส่วน ที่บังเอิญตรงกับระดับที่มีการผูกโซ่รัดซุงไว้เป็นชั้น ๆ โดยรัด 5 รอบบ้าง 7 รอบบ้าง ตั้งแต่ชั้นลูกแก้ว มาลัยเถา ถึงปล้องไฉน (นฤมล บุญญานิตย์, 2548, หน้า 122-123)

ขนาดโซ่ที่ใหญ่มากเกินความคุ้นเคยที่พบเห็นได้ทั่วไปนี้แม้เห็นภาพแล้วก็ยังลางเลือน ผู้เขียนจึงลองหาวัสดุใกล้ตัวที่มีขนาดใกล้เคียงเปรียบเทียบ คือ กระดาษ 80 แกรม A4 จำนวน 1 รีม จะมีความหนา 2 1/8 นิ้ว ใกล้เคียงกับความหนาของโซ่ 2 ¼ นิ้ว ความยาวข้อละ 30 ซม. เท่ากับความยาวของกระดาษ A4 ส่วนความกว้าง 15 ซม. น้อยกว่าความกว้างของกระดาษ A4 ประมาณ 2.5 นิ้ว ส่วนน้ำหนักโซ่แต่ละข้อนั้น น้ำหนักของกระดาษ 1 รีม ไม่อาจเทียบเท่าโซ่ซึ่งเป็นโลหะแน่นอน เรื่องของสายโซ่รัดรอบองค์พระปฐมเจดีย์เพียงนี้คงให้ความกระจ่างแก่ผู้สนใจได้พอประมาณ ในฐานะลูกหลานนครปฐมหรือแม้แต่ชาวไทยทั้งประเทศ เชื่อว่าทุก ๆ ท่านไม่คาดหวังที่จะได้เห็นสายโซ่ยาวถึง 8 ข้อ ซึ่งเท่ากับความยาว 240 ซม. หรือ 2.40 เมตร อันมองเห็นได้เพราะความผุกร่อนของพระเจดีย์ที่อาจจะมีมากกว่านั้น จะด้วยเหตุจากสภาวะตามธรรมชาติ หรือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม

บรรณานุกรม
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2516). เรื่องพระปฐมเจดีย์. นครปฐม: สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์.
นฤมล บุญญานิตย์. (2548). การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ : กรณีศึกษาจากเอกสารจดหมายเหตุ. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
วัดพระปฐมเจดีย์. (2518). ที่ระลึกงานเทศกาลนมัสการพระปฐมเจดีย์. นครปฐม: วัดพระปฐมเจดีย์.
สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. (2539). น้ำ : บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมสถาปนิกสยาม.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2512). เรื่องพระปฐมเจดีย์กับนำเที่ย. นครปฐม: สำนักงานจัดหาประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *